เปิดประตูการขนส่งเส้นทางใหม่

คว้าโอกาสให้การค้าไทยจากรถไฟจีน - ลาว

image

 

รถไฟจีน - ลาวเปิดให้บริการไปแล้วเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 นับเป็นหนึ่งในโครงการที่อยู่ภายใต้ "ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI)" ของรัฐบาลจีน ที่ครอบคลุมระยะทางยาวถึง 1,035 กิโลเมตรจากนครคุนหมิงถึงนครหลวงเวียงจันทน์[1]และใช้ระยะเวลาในการขนส่งเพียง 8 ชั่วโมง โดยสถานีปลายทางสุดท้ายสิ้นสุดที่นครหลวงเวียงจันทน์ สปป. ลาว ห่างจากจังหวัดหนองคายเพียง 24 กิโลเมตร เส้นทางนี้จะเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าไปยังประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกผ่านโครงการรถไฟจีน - ยุโรป ทำให้มีการเดินทางของผู้คนเพิ่มมากขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจไทยในภาพรวมและเศรษฐกิจภูมิภาคทั้งในด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการขนส่ง[2]

 

          การค้าจะเป็นด้านแรกที่ได้รับผลกระทบและโอกาสจากการทะลักของสินค้าขาเข้าทันทีจากเส้นทางรถไฟจีน - ลาว ที่ผ่านมา การขนสินค้าทางถนนมีบทบาทสำคัญ โดยสัดส่วนการขนส่งเพิ่มขึ้นจากประมาณ 8% ในปี 2560 เป็น 12% ในปี 2564[3] หากมีเส้นทางรถไฟจีน - ลาวเข้ามาจะเพิ่มช่องทางการขนส่ง ที่ช่วยเสริมด้านความเร็วและการกระจายความเสี่ยงของการขนส่งได้ดีขึ้น แม้ว่าในช่วงแรกไทยต้องเผชิญความท้าทายของสินค้านำเข้าจากจีนที่เพิ่มขึ้น แต่หากมองกลับกัน โอกาสในการขายสินค้าของไทยก็เพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะมณฑลยูนนานซึ่งเป็นสถานีปลายทางและบริเวณใกล้เคียง ที่แต่เดิมไทยส่งสินค้าส่วนใหญ่ไปขายทางเรือ

 

          คอลัมน์เศรษฐกิจติดดินฉบับนี้ จึงขอฉายภาพผลกระทบของการเปิดเส้นทางการขนส่งใหม่เส้นนี้ ทั้งด้านการนำเข้าและการส่งออกสินค้าต่อภาคการค้า รวมถึงโอกาสของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs ในการแข่งขันบนเส้นทางที่ท้าทายนี้ 

 

คว้าโอกาสจากการนำเข้าและส่งออก เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

 

          ด้านการนำเข้า ไทยต้องเผชิญกับความท้าทายจากสินค้านำเข้าของจีนที่จะมีมากกว่าสินค้าส่งออกจากไทย อย่างไรก็ดี ไทยสามารถคว้าโอกาสจากการเข้ามาของสินค้ากลุ่มนี้ได้จากการขนส่งผ่านทางราง ที่ทำให้ต้นทุนทั้งระยะเวลาและค่าขนส่งถูกลง โดยสินค้ากลุ่มนี้ประกอบด้วย

 

          1) กลุ่มวัตถุดิบต่าง ๆ และกลุ่มผลผลิตทางการเกษตร อาทิ เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์โทรคมนาคม ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และผักผลไม้เมืองหนาว ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยนำเข้าเดิมอยู่แล้ว การขนส่งผ่านทางรางจะยิ่งทำให้ต้นทุนของวัตถุดิบถูกลง จึงเป็นโอกาสในการนำเข้าสินค้าเพื่อเป็นซัพพลายเชน (supply chain) ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อาทิ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยสามารถผลักดันเพิ่มเติมได้ และ (2) กลุ่มสินค้าอีคอมเมิร์ซ อาทิ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าแฟชั่น สินค้ากีฬาและการเดินทาง ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญของไทยในการประกอบธุรกิจการค้าและบริการอื่น ๆ เช่น ธุรกิจคลังสินค้า การบริการโลจิสติกส์ รวมถึงการเป็นตัวแทนจำหน่าย (dealer)

 

          ทั้งนี้ ไทยควรมีการตั้งรับให้ดี เนื่องจากจีนมีมาตรฐานในการดำเนินธุรกิจที่ค่อนข้างเข้มงวด เพื่อลดโอกาสที่นักธุรกิจจีนจะเข้ามาดำเนินการในไทยเอง

 

          ด้านการส่งออก ไทยมีโอกาสในการส่งออกสินค้าไปจีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการขยายตลาดไปยังมณฑลยูนนาน รวมทั้งมณฑลใกล้เคียง โดยระยะแรก คาดว่าสินค้าส่งออกจะเป็นสินค้าที่เคยส่งออกไปมณฑลยูนนานหรือสินค้าที่มีการขนส่งทางถนนอยู่เดิม ซึ่งจากการวิเคราะห์ความต้องการสินค้าของจีนและศักยภาพการส่งออกของสินค้าไทย[4] โดยพิจารณาจากอัตราการเติบโตเฉลี่ยของตลาดและอัตราการขยายตัวของส่วนแบ่งตลาดเฉลี่ยของไทยในทุกรูปแบบการขนส่งเทียบกับค่าเฉลี่ยระหว่างปี 2559 - 2563 ซึ่งสามารถแบ่งสินค้าออกได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มแชมเปียน (2) กลุ่มที่พัฒนาได้ (3) กลุ่มที่ไทยส่งออกไปจีนเยอะแต่ความต้องการจากจีนน้อย และ (4) กลุ่มที่ไทยส่งออกไปจีนน้อยและความต้องการจากจีนน้อย (รูปที่ 4) พบว่า กลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกไปจีนมีเพียง 2 กลุ่ม ดังนี้

 

          (1) กลุ่มแชมเปียน ได้แก่ ผลไม้ พลาสติกและผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบรถยนต์ ทองแดงและผลิตภัณฑ์ และเนื้อสัตว์เพื่อการบริโภค รวมทั้งอาหารทะเล ซึ่งเป็นสินค้ากลุ่มที่ตลาดมีความต้องการและส่วนแบ่งตลาดของสินค้าไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ย ยกตัวอย่างเช่น ผลไม้ จากเดิมจีนมีการนำเข้าจากไทยอยู่แล้ว อีกทั้งด่านหนองคายได้รับอนุมัติเป็นด่านที่อยู่ในพิธีสารการส่งออกและนำเข้าผลไม้ทางบกของจีนเพิ่มเมื่อกันยายน 2564 ทำให้ต่อไป ไทยจะสามารถส่งออกผลไม้สดผ่านด่านหนองคายได้สะดวกมากขึ้น และกลุ่มเนื้อสัตว์เพื่อการบริโภค เดิมจีนมีการนำเข้าเนื้อไก่แช่แข็งจากไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี ซึ่งสามารถขยายประเภทสินค้าไปยังเนื้อสัตว์อื่น ๆ ที่ไทยมีศักยภาพได้ เช่น เนื้อโค และอาหารทะเล เนื่องจากมณฑลของจีนด้านตะวันตกมีประชากรชาวมุสลิมจำนวนมาก อีกทั้งไม่มีเขตติดทะเลและค่อนข้างห่างไกล ทำให้ต้องซื้ออาหารทะเลในราคาที่สูง

 

          (2) กลุ่มที่พัฒนาได้ เช่น เครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์ธัญพืช อาหารปรุงแต่งเบ็ดเตล็ดที่บริโภคได้ (อาทิ กะทิสำเร็จรูป ซอสปรุงรส) น้ำตาลและผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล รวมถึงเครื่องหอม / เครื่องสำอาง เป็นต้น ซึ่งเป็นสินค้าที่ตลาดมีความต้องการสูง แต่ส่วนแบ่งของตลาดของสินค้าไทยลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ย หากไทยสามารถเพิ่มช่องทางการขายสินค้ากลุ่มนี้ไปเป็นกลุ่มสินค้าอีคอมเมิร์ซจะทำให้สินค้ามีศักยภาพมากขึ้นและสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดได้ในอนาคต เนื่องจากทางการจีนมีการส่งเสริมการค้าผ่านช่องทางนี้

 

image

 

ต่อยอดจุดแข็งของอีสานจาก 4 กลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกไปจีน

 

          ภาคอีสานเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากรถไฟจีน - ลาวชัดเจนที่สุด นอกจากอยู่ใกล้กับเส้นทางรถไฟเพียงไม่กี่กิโลเมตร อีสานซึ่งมีสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออก คือ กลุ่มผลผลิตทางการเกษตรและปศุสัตว์ รวมถึงเกษตรแปรรูป ซึ่งเป็นสินค้าในกลุ่มแชมเปียนที่มีความต้องการนำเข้ามาก และยังมีจุดแข็งในการเป็นแหล่งผลิตสินค้าทางการเกษตรและปศุสัตว์ที่สำคัญของประเทศอีกด้วย ทั้งนี้ภาคอีสานจะมีกลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกมากที่สุด ดังนี้

 

          1. อาหารแปรรูป ได้แก่ ผลไม้แปรรูป อาทิ สับปะรดกระป๋อง ซึ่งได้ประโยชน์เพิ่มเติมจากข้อตกลงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) และอาหารแปรรูปพร้อมทาน (ready to eat) โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ฮาลาล เนื่องจากคนจีนด้านตะวันตกเป็นชาวมุสลิมกว่า 22 ล้านคน จึงเป็นโอกาสในการเปิดตลาดใหม่ด้านนี้มากขึ้น

 

          2. ปศุสัตว์แปรรูป อาทิ เนื้อไก่แปรรูป และเนื้อโคขุน ซึ่งมีอัตราการเติบโตของตลาดเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังในจีนสูงถึงกว่า 2,000% อย่างไรก็ดี ปัจจุบันอีสานยังไม่ได้ส่งออกเนื้อโคประเภทนี้มากนัก ทำให้สามารถพัฒนามาตรฐานการผลิตเพื่อคว้าโอกาสจากความต้องการนำเข้าของจีนที่มากขึ้นได้ 

 

          3. สินค้าของที่ระลึก โดยการพัฒนาต่อยอดจากสินค้า OTOP ที่มีอยู่เดิมให้มีรูปลักษณ์ที่ทันสมัยขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากผ้าไหม ผ้าฝ้าย ของใช้ทำจากยางพารา สินค้าความงามประเภทสปา ครีมขัดผิวที่ทำจากสมุนไพร เนื่องจากชาวจีนนิยมใช้สินค้าที่ทำมาจากธรรมชาติมากขึ้น

 

          4. ผลไม้สด ได้แก่ ทุเรียนภูเขาไฟ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง แต่ปัจจุบัน อีสานมีปริมาณผลไม้น้อย ซึ่งเป็นโอกาสให้เกษตรกร ซึ่งเดิมปลูกพืชไร่ เช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ที่มีความผันผวนด้านราคา ปรับเปลี่ยนมาปลูกไม้ผลเพื่อการส่งออกมากขึ้น

 

          นอกจากนี้ การขนส่งสินค้าเกษตรหลักของภาคอีสาน ได้แก่ ข้าว น้ำตาล ยางพารา และมันสำปะหลัง จะเปลี่ยนไปจากเดิมขนส่งผ่านทางเรือไปจีน อาจเปลี่ยนมาขนส่งทางรถไฟเพื่อลดระยะเวลาการขนส่งตามพื้นที่ตั้งของคู่ค้า

 

 

 

3 ความท้าทายในระยะเริ่มต้น

 

          แม้ว่ารถไฟจีน - ลาวจะช่วยให้การขนส่งสินค้าทางรางสะดวกและมีต้นทุนที่ถูกลง แต่ในระยะแรกการขนส่งสินค้าอาจยังดำเนินการได้ไม่สะดวกนัก เนื่องจากยังมีการปิดพรมแดนทั้งฝั่ง สปป. ลาว และจีน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 รวมทั้งมีความท้าทาย  3 เรื่อง ได้แก่ (1) โครงสร้างพื้นฐานใน สปป. ลาว อาทิ ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าใน สปป. ลาว (Vientiane Logistics Park: VLP)  และด่านรถไฟโม่ฮานในจีนที่ยังดำเนินการได้ไม่สมบูรณ์ (2) มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีของจีน เช่น ความเข้มงวดด้านการนำเข้าสินค้าของจีน เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโคโรนาไวรัส โดยเฉพาะอาหารสดและผลไม้ และ (3) มาตรการกีดกันทางการค้าด้านภาษีศุลกากร อาทิ ระเบียบพิธีการด้านการขนส่งทั้งใน สปป. ลาวและจีน อย่างไรก็ดี ข้อตกลง RCEP ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 จะมีส่วนช่วยบรรเทาข้อจำกัดด้านภาษีศุลกากรได้บ้าง และไทยควรมีการหารือเรื่องการขนส่งร่วมกันระหว่าง สปป. ลาว และจีนเพิ่มเติม เพื่อให้การขนส่งสินค้าไปจีนมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ใน สปป. ลาว คาดว่าการขนส่งสินค้าจะสะดวกมากขึ้น ในช่วงกลางปี 2565 เป็นต้นไป

 

 

2 กุญแจสำคัญในการปลดล็อกข้อจำกัดในการทำการค้ากับจีน

 

          ระหว่างนี้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs อาจต้องเผชิญกับข้อจำกัดหลายด้านในการส่งออกสินค้าไปจีน ทำให้ต้องมีการเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทาย ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง พบว่า มี 2 กุญแจสำคัญ ที่จะนำไปสู่การปลดล็อกข้อจำกัดในการทำการค้ากับจีน 

 

          1. ระบบการชำระเงิน[5] สำหรับช่องทางการชำระเงิน ผู้ประกอบการสามารถรับชำระเงินสกุลหยวนแบบ e-payment ผ่านแอปพลิเคชัน WeChat Pay หรือ Alipay ซึ่งมีบทบาทในช่องทางการขายออนไลน์มากขึ้น เพราะมีความสะดวก รวดเร็ว ซึ่งช่องทางการโอนเงินกลับไทย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกสินค้าไปจีนอย่างเป็นทางการ ส่วนใหญ่จะใช้ตัวแทนในการโอนเงินข้ามประเทศ อาจมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียและต้นทุนที่สูง ดังนั้น ผู้ประกอบการสามารถใช้บริการผ่านตัวกลาง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท. แล้ว จำนวน 29 แห่ง อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน มีเพียงบางรายที่ได้รับอนุญาตจากทางการจีนให้สามารถให้บริการรับชำระเงินข้ามประเทศจากจีนมายังไทยได้

 

          2. การเริ่มต้นค้าขายกับจีนสำหรับผู้ประกอบการมือใหม่

 

          KNOW WHO (รู้ว่าใคร)  ติดต่อหอการค้าไทยในจีน สมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย - จีน หรือสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ในภูมิภาคจีน เพื่อรับข้อมูลพื้นฐานของจีน สร้างเครือข่ายธุรกิจ และสร้างสัมพันธ์กับหน่วยงานรัฐบาล / สมาคม รวมทั้งมีโอกาสได้พบปะกับนักธุรกิจไทย - จีน เพื่อสร้างความเข้าใจแนวทางในการทำธุรกิจระหว่าง 2 ประเทศมากขึ้น

 

          KNOW HOW (รู้ว่าทำอย่างไร)

          1. ตรวจสอบกฎระเบียบในการส่งออกสินค้าไปจีนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

          2. ศึกษาตลาดจีน โดยอาศัยการเดินทางรถไฟที่สะดวกเพื่อเข้าไปดูช่องทางการค้าในจีน การดูงานแสดงสินค้า รวมทั้งสร้างตราสินค้าเป็นของตัวเอง และผสมผสานสินค้าให้มีเอกลักษณ์เข้ากับวัฒนธรรมจีน

 

          ท้ายที่สุดนี้ การสร้างความร่วมมือที่ดีกับ สปป. ลาว จะเป็นข้อต่อสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้การค้าผ่านเส้นทางนี้เติบโตไปด้วยกัน โดยเฉพาะความร่วมมือด้านการค้า และการลงทุนในการผลิตสินค้า เนื่องจากจีนมีข้อตกลงด้านการค้ากับ สปป. ลาว ร่วมกันในหลายด้าน

 

image
image
image

[1] อ้างอิงจากสำนักข่าวซินหัว (Xinhua Thai Service) เรื่อง เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับ "ทางรถไฟจีน - ลาว" เผยแพร่ ณ วันที่ 3 ธ.ค. 64

[2] อ้างอิงงานศึกษา "เปิดหวูดรถไฟจีน – ลาว : นัยต่อเศรษฐกิจไทย" ทั้งนี้ ด้านการขนส่งยังไม่ได้รับผลกระทบทันที เนื่องจากยังไม่มีการเชื่อมโยงมายังไทยได้อย่างสมบูรณ์

[3] ที่มา : กรมศุลกากร คำนวณโดยผู้ศึกษา สัดส่วนช่องทางการขนส่งหลัก เฉลี่ย 2560 - 2564 ทางเรือ 73% ทางอากาศ 11% ทางบก 9% อื่น ๆ 7%

[4] ประยุกต์จาก Boston Consulting Group Matrix (BCG Matrix) ที่มา : สถิติการนำเข้าส่งออกจาก Trade map (ปี 2559 - 2563) คำนวณโดยผู้ศึกษา

[5] ที่มา : ข้อมูลจากสำนักงานตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทย ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน