PAYMENT DIARY เจาะลึกพฤติกรรมการชำระเงินประจำวันของคนไทย

image

เชื่อว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยรู้จักและใช้บริการ PromptPay หรือ QR payment รวมทั้งเคยใช้ e-payment บางอย่าง เช่น โอนเงินให้แม่ค้าออนไลน์ผ่าน mobile banking รูดบัตรชอปปิงเสื้อผ้า เติมเงินในบัตรรถไฟฟ้าโดยใช้ e-money รับเงินสวัสดิการ รับคืนภาษีผ่านบัญชีธนาคาร หรือล่าสุดที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากคือการรับ - จ่ายเงินตามโครงการคนละครึ่ง

 

          แม้ e-payment จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น แต่ยังมีคนไทยจำนวนมากที่คุ้นชินกับการใช้เงินสดในชีวิตประจำวัน จึงเกิดคำถามที่สำคัญว่า จริง ๆ แล้วพฤติกรรมการชำระเงินของคนไทยส่วนใหญ่เป็นอย่างไรกันแน่ และคนไทยนิยมใช้จ่ายด้วยวิธีใดเป็นหลัก รวมถึงเหตุผลเบื้องหลังว่าทำไมจึงเลือกใช้วิธีนั้น  

 

          เพื่อตอบคำถามดังกล่าว ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงริเริ่มโครงการสำรวจการบันทึกพฤติกรรมการชำระเงินประจำวันของประชาชน (Payment diary) ผ่านการสัมภาษณ์แบบ face-to-face และทางโทรศัพท์จากกลุ่มตัวอย่าง รวมทั้งสิ้น 6,020 ตัวอย่าง กระจายตัวตามเพศ ช่วงอายุ พื้นที่อยู่อาศัย และอาชีพ ครอบคลุม 7 พื้นที่ทั่วประเทศไทย ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ โดยสำรวจในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน 2564 ก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด 19 ระลอก 3

 

          นับว่าเป็นครั้งแรกในเอเชียที่มีการประยุกต์ใช้โมเดลเชิงสังคม - จิตวิทยา "Payment Behavior with Socio-Psychological Factors" ของ Cruijsen และ Horst (2019) ในการสำรวจ ทั้งการวางโครงสร้างแบบสอบถาม การออกแบบเนื้อหา และลำดับในการถาม ผลสำรวจจะสะท้อนความสัมพันธ์ของตัวแปรต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการชำระเงินของคนไทยในเชิงลึก ทั้งการใช้เงินสดและ e-payment ซึ่งจะช่วยไขข้อข้องใจในหลายเรื่องที่เรายังไม่รู้

 

 

คนไทยยังใช้แต่เงินสดในชีวิตประจำวัน ?

 

image

 

          ประเด็นที่น่าสนใจประเด็นแรกที่พบได้จากการสำรวจ คือกลุ่มตัวอย่างทุกคนยังคงพกเงินสดติดตัว โดย 50% ของกลุ่มตัวอย่าง ยังคงใช้เฉพาะเงินสดเพื่อจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่ใช้ที่ตลาดสด ตลาดนัด ร้านอาหารริมทาง และร้านรถเข็น แต่ก็พบว่ากลุ่มตัวอย่างอีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนน้อยกว่า มีการใช้ e-payment เป็นทางเลือกหลัก จึงอาจตีความได้ว่าปริมาณการใช้ e-payment ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องนั้น น่าจะกระจุกตัวอยู่ในบางกลุ่มเท่านั้น การส่งเสริมการใช้ e-payment ให้แพร่หลายและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น จึงเป็นโจทย์สำคัญ เพื่อให้คนไทยโอนจ่ายหรือรับเงินได้สะดวกขึ้น ทำธุรกรรมได้ทุกที่ทุกเวลา ลดความเสี่ยงจากการพกเงินสดจำนวนมาก ตลอดจนช่วยลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการใช้เงินสดได้

 

 

คนไทยมีความพร้อมในการใช้ e-payment ?

 

image

 

          เราอาจจะเคยคิดว่า สาเหตุที่คนไทยส่วนใหญ่ยังคงใช้เงินสดเป็นหลัก เพราะขาดความพร้อมด้านอุปกรณ์ เช่น สมาร์ตโฟน หรือเพราะไม่เคยใช้ e-payment มาก่อน แต่ผลการสำรวจกลับชี้ให้เห็นว่าคนไทยในกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่กว่า 92% มีอุปกรณ์ที่รองรับการชำระเงินผ่าน e-payment และเคยทดลองใช้แล้วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นับได้ว่าคนไทยมีความพร้อม ถ้าอย่างนั้น อะไรเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนไทยยังไม่ใช้ e-payment เป็นวิธีการชำระเงินหลัก

 

 

โครงการภาครัฐส่งผลต่อการใช้ e-payment ของคนไทย ? 

 

image

 

          การสำรวจ Payment diary เผยให้เห็นชัดว่า โครงการช่วยเหลือของภาครัฐในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยเฉพาะโครงการ "คนละครึ่ง" เป็นแรงจูงใจสำคัญในการส่งเสริมให้คนไทยทำความรู้จัก ทดลองใช้ และเปลี่ยนพฤติกรรมให้หันมาชำระเงินด้วยช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้ร้านค้าปรับตัวเพื่อรับชำระเงินด้วย e-payment ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร โชห่วย หาบเร่แผงลอยในตลาดนัด หรือฟูดดิลิเวอรี ทำให้สัดส่วนปริมาณการใช้แอปฯ เป๋าตังในช่วงของการสำรวจสูงกว่าการใช้ e-payment ช่องทางอื่น อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจพบข้อมูลที่น่าแปลกใจว่า หากโครงการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐสิ้นสุดลง มีกลุ่มตัวอย่างเพียง 27% ที่จะยังใช้แอปฯ เป๋าตังต่อ และอีก 36% จะใช้ mobile banking เพิ่มขึ้น ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างกว่า 65% จะกลับไปใช้เงินสด

 

 

ทำไมคนจำนวนมากยังไม่เลือกใช้ e-payment เป็นทางเลือกหลัก

 

image

 

          Payment diary เจาะลึกถึงเหตุผลเบื้องหลังของพฤติกรรมการชำระเงินของคนไทย และพบว่าตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการชำระเงินที่สำคัญ ได้แก่ ความเคยชินในการชำระเงิน โดยมีกลุ่มตัวอย่างจำนวนไม่น้อยที่บอกว่า เมื่อก่อนเคยจับจ่ายใช้สอยด้วยเงินสด ก็เลยมักจะหยิบเงินสดมาใช้ชำระก่อนเสมอ และเจตนาในการชำระเงินซึ่งได้รับผลร่วมจากตัวแปรอื่น และส่งผลต่อเนื่องมาถึงพฤติกรรมการชำระเงินที่สำคัญ ได้แก่

 

"แฟนและเพื่อนใช้เงินสด ก็เลยใช้แต่เงินสดตามเขา"     

 

          พฤติกรรมการชำระเงินตามคนรู้จักใกล้ชิดและกลุ่มคนที่มีลักษณะใกล้เคียงกับตนเอง เช่น แฟนหรือคู่สมรส เพื่อน หรือกลุ่มคนที่มีช่วงอายุ รูปแบบการใช้ชีวิตใกล้เคียงกัน มีอิทธิพลต่อการเลือกใช้สื่อการชำระเงินของกลุ่มตัวอย่าง มากกว่าพ่อ แม่ ลูก หรือหลาน

 

"เพราะคิดว่าร้านค้าน่าจะอยากรับเงินสด เลยชำระด้วยเงินสด"

 

          การยอมรับหรือความต้องการของร้านค้าในเรื่องช่องทางการจ่ายเงิน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มตัวอย่างเลือกใช้สื่อการชำระเงินตามช่องทางที่ยอมรับ เช่น ในตลาดหรือร้านอาหารข้างทางรับเงินสด แม้จะเป็นกลุ่มตัวอย่างที่คุ้นเคยกับการใช้ e-payment ก็ยังคงต้องใช้เงินสดในการชำระเงิน

 

"ได้รับค่าจ้างเป็นเงินสด ก็ใช้จ่ายด้วยเงินสด"

 

          ช่องทางการรับรายได้ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ เมื่อกลุ่มตัวอย่างได้รับเงินช่องทางไหน ก็มักใช้จ่ายด้วยช่องทางนั้น 

 

"คิดว่าใช้เงินสดมันเร็วกว่า เลยมักจะใช้แต่เงินสด"

 

          ทัศนคติต่อการเลือกวิธีจ่ายเงินของแต่ละคน แม้ในกลุ่มคนที่ใช้ e-payment เป็นหลักเอง ก็ยังคงมีความคิดว่าการใช้เงินสดทำได้รวดเร็วกว่าการใช้ e-payment

 

          ทั้งหมดนี้ เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนไทยยังเลือกใช้เงินสด แม้มีความพร้อมด้านอุปกรณ์ หรือเคยมีประสบการณ์ทดลองใช้ e-payment มาแล้วก็ตาม การเปลี่ยนความเคยชินและปรับพฤติกรรมยังอาจต้องใช้เวลา จึงจำเป็นต้องวางแนวทางการส่งเสริม การสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความมั่นใจ รวมถึงกระตุ้นการใช้ e-payment ของประชาชนไทยในระยะยาวต่อไป

 

ทำอย่างไรให้คนไทยใช้ e-payment แพร่หลายขึ้น

 

          Payment diary ยังบอกด้วยว่า การส่งเสริมการใช้ e-payment สามารถส่งเสริมได้ในหลายด้านเพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมการชำระเงินที่สำรวจได้ และเพื่อสนับสนุนให้ใช้จ่ายด้วย e-payment ในชีวิตประจำวันมากขึ้นและเอื้อต่อการปรับพฤติกรรมในระยะยาวที่สำคัญ ได้แก่

 

image

 

อนาคตของเงินสดจะเป็นอย่างไร ถ้าคนใช้ e-payment กันมากขึ้น  

 

          แม้ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันคนไทยยังคงใช้เงินสดเป็นสื่อการชำระเงินหลัก และกลุ่มตัวอย่างบางส่วนมองว่า ธนบัตรยังคงมีบทบาทเรื่องของการเก็บเพื่อความมั่งคั่ง ทำให้ธนบัตรจะมีรอบระยะเวลาหมุนเวียนในระบบยาวขึ้น ก่อนจะกลับเข้ามาที่ศูนย์จัดการธนบัตรของ ธปท. แต่กลุ่มคนรุ่นใหม่ก็หันไปใช้ e-payment ในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น จึงคาดการณ์ได้ว่าในระยะยาวความต้องการเงินสดน่าจะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

image

 

          ส่วนหนึ่งของผลการสำรวจข้างต้น สามารถนำมาใช้ประกอบการกำหนดนโยบายการผลิตและบริหารจัดการธนบัตรได้ เช่น การปรับปรุงคุณภาพธนบัตรให้ทนทานต่อการใช้งาน คงความสะอาด น่าใช้ เพื่อรองรับการหมุนเวียนในระบบนานขึ้น และลดค่าใช้จ่ายในการผลิตธนบัตรใหม่ทดแทนธนบัตรที่เสื่อมสภาพ รวมถึงการผลักดันให้มีการรวมศูนย์เงินสดกลางที่ทำหน้าที่นับคัดและกระจายธนบัตร เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณธุรกรรมธนบัตรที่ลดลง และลดค่าใช้จ่ายในการจัดการธนบัตรของประเทศ ตลอดจนดูแลให้คนไทยบางส่วนที่อาจยังจำเป็นต้องใช้เฉพาะเงินสดเป็นสื่อการชำระเงินเพียงอย่างเดียว ให้มีเงินสดเบิกใช้ได้อย่างเพียงพอภายใต้สถานการณ์ที่ธนาคารพาณิชย์ทยอยลดจำนวนสาขาลงอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

 

          Payment diary ได้เจาะลึกพฤติกรรมการชำระเงินของคนไทยในปัจจุบันว่ายังคงมีการใช้เงินสดเป็นหลัก แต่ได้สะท้อนแนวโน้มที่ดีของการใช้ e-payment มากขึ้น ซึ่งสนับสนุนการเดินทางของประเทศไทยในการมุ่งเข้าสู่การเป็นสังคมที่ใช้เงินสดน้อยลง (less-cash society) การเดินทางดังกล่าวคงต้องใช้เวลาและอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน ในการส่งเสริมและปรับพฤติกรรมในระยะยาวของคนไทยให้หันมาใช้ e-payment กันอย่างแพร่หลายและครอบคลุมมากขึ้น ทำให้คนไทยสามารถทำธุรกรรมได้สะดวก รวดเร็ว ทุกที่ทุกเวลา ปลอดภัย ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม และช่วยลดต้นทุนในการจัดการเงินสดของประเทศได้ในที่สุด