SFIs ทางออกของลูกหนี้อย่างยั่งยืน

 

SFIs ทางออกของลูกหนี้อย่างยั่งยืน

 

        ประชาชนบางกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้จากธนาคารจึงจำเป็นต้องพึ่งเงินกู้นอกระบบเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ โดยหวังว่าจะสามารถสร้างรายได้และจ่ายคืนเงินกู้ได้ แต่ก็เกิดเหตุการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ เช่น น้ำท่วม ฝนแล้ง หรือการเกิดโรคระบาดต่าง ๆ อย่างโควิด 19 ที่มาแบบไม่ทันตั้งตัวในหลายระลอก ทำให้หลายธุรกิจขาดรายได้จนต้องกู้ยืมเพิ่มเพื่อเริ่มต้นใหม่หรือต่อลมหายใจ อันเป็นวัฏจักรที่ทำให้เกิดปัญหาหนี้สินสะสมของลูกหนี้ไปไม่สิ้นสุด

 

        ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ดูแลเสถียรภาพระบบการเงินและเศรษฐกิจของประเทศ ได้ติดตามปัญหาด้านหนี้สินของประชาชนมาโดยตลอด โดยเฉพาะตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด 19 ช่วงต้นปี 2563 ธปท. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เร่งออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งการแก้ปัญหาหนี้เดิมและการให้สินเชื่อเพิ่ม เพื่อให้ลูกหนี้และภาคธุรกิจสามารถดำเนินการต่อไปได้

 

        อย่างไรก็ดี ยังคงมีลูกหนี้อีกจำนวนมาก โดยเฉพาะลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจขนาดเล็กของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ[1] (SFIs) ซึ่งมีจำนวนถึง 1 ใน 4 ของระบบสถาบันการเงินไทย ลูกหนี้กลุ่มนี้มีความเปราะบางและยังไม่สามารถฟื้นตัว อีกทั้งยังต้องการความช่วยเหลือเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ ดังนั้น SFIs จึงมีบทบาทสำคัญในการเข้ามาให้ความช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มดังกล่าว แม้ว่าที่ผ่านมา SFIs จะได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้มาโดยตลอด แต่ส่วนใหญ่เป็นการพักชำระหนี้ หรือการขยายระยะเวลาชำระหนี้มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่ใช่การแก้ไขหนี้ที่ตรงจุด เนื่องจากภาระหนี้ไม่ได้ลดลงและกลายเป็นปัญหาหนี้สินสะสมเรื่อยมา

 

 

ติดตาม แก้ปัญหา อย่างเหมาะสม

 

        คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย จึงได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง ธปท. และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐร่วมกันแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงานเห็นร่วมกันว่าให้ ธปท. ออกมาตรการและสร้างกลไกผลักดันให้ SFIs เร่งให้ความช่วยเหลือและปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบระยะยาว เพื่อให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากปัญหาหนี้สินที่มีอยู่ มีภาระการจ่ายหนี้ที่เหมาะสมกับรายได้ และสามารถวางแผนการเงินได้ชัดเจน ตัวอย่างเช่น การกำหนดงวดการจ่ายคืนหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลงของลูกหนี้ และให้ลูกหนี้ทยอยจ่ายชำระหนี้เพิ่มขึ้นเมื่อรายได้เริ่มกลับมา ทำให้มีทางเลือกที่หลากหลายและมีวิธีแก้ไขปัญหาร่วมกันหลายวิธีเพื่อให้เหมาะสมกับลูกหนี้แต่ละรายอย่างตรงจุด อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือดังกล่าวต้องเร่งทำให้ได้จำนวนมากและรวดเร็ว เพื่อให้ลูกหนี้สามารถดำเนินธุรกิจหรือใช้ชีวิตประจำวันต่อไปได้ อันจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวม ซึ่งแนวทางดังกล่าวมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565

 

image

 

        เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น ขอยกตัวอย่างสถานการณ์และวิธีการแก้ไขปัญหาของลูกหนี้ SFIs 3 ราย ซึ่งเป็นแม่ค้าหาบเร่แผงลอย เกษตรกร และข้าราชการ ดังนี้

 

image
image

 

          เห็นปัญหาของทั้งสามคนแบบนี้แล้วอย่าเพิ่งท้อแท้หมดหวัง เพราะ SFIs ทุกแห่งได้จัดให้มีมาตรการช่วยเหลือและแก้ปัญหาของลูกหนี้ที่หลากหลายตามความสามารถที่แท้จริงของลูกหนี้ตามมาตรการแก้ไขหนี้ระยะยาวของ ธปท. อย่างไรก็ดี เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินได้อย่างรวดเร็วและสำเร็จลุล่วง ลูกหนี้ควรเตรียมพร้อม ดังนี้

 

          1. หาข้อมูลมาตรการช่วยเหลือที่เหมาะสมกับตนเองจาก SFIs ที่เป็นเจ้าหนี้ และจัดเตรียมข้อมูลการเงิน ไม่ว่าจะเป็นรายรับ - รายจ่าย ทรัพย์สิน - หนี้สิน รวมถึงเอกสารที่เกี่ยวข้อง และแผนการประกอบอาชีพ เพื่อใช้สมัครเข้าร่วมมาตรการ

 

          2. นำข้อมูลที่เตรียมไว้มาลองวางแผนการชำระหนี้ที่คิดว่าเป็นไปได้และสอดคล้องกับความสามารถที่แท้จริงในปัจจุบัน ในบางกรณีควรหาอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้สำหรับนำเงินมาชำระหนี้ด้วย

 

          3. รีบติดต่อเจ้าหนี้เพื่อขอสมัครเข้าร่วมมาตรการ หรือขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยต้องให้ความร่วมมือด้วยการบอกข้อมูลที่แท้จริงอย่างครบถ้วน เมื่อตกลงกันได้ให้ตั้งใจจ่ายหนี้ตามเงื่อนไขใหม่ที่ได้รับ แต่หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดในภายหลังทำให้ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ตามที่ตกลงไว้ ให้รีบแจ้งเจ้าหนี้เพื่อขอทบทวนเงื่อนไขโดยเร็วที่สุด

 

image

 

          หลังจากเตรียมข้อมูลที่จำเป็นแล้ว ป้าอำภาได้เข้าไปติดต่อธนาคารเจ้าหนี้เพื่อขอปรับแผนการชำระหนี้ โดยหลังจากที่ธนาคารได้ตรวจสอบข้อมูลที่ป้าอำภานำไปยื่นประกอบการเจรจา และวิเคราะห์ศักยภาพในการชำระหนี้แล้ว แม้ว่าป้าอำภาจะอยู่ในช่วงที่มีรายได้ลดลงจากผลกระทบของโควิด 19 แต่ก็ได้แสดงถึงความพยายามเก็บออมและหาแหล่งรายได้เพิ่มเติม จึงตกลงปรับแผนการชำระหนี้โดยพักชำระหนี้เงินต้นเป็นเวลา 6 เดือน แล้วค่อยทยอยจ่ายค่างวดแบบขั้นบันได (Step-up) จากเดิมที่ต้องจ่ายเดือนละ 10,000 บาท ลดเหลือ 3,000 บาท แล้วปรับเพิ่มขึ้นเดือนละ 1,000 บาท ตามลำดับ จนกลับมาจ่ายค่างวดเท่าเดิมเมื่อรายได้กลับมา เพื่อให้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ที่แท้จริงในปัจจุบัน นอกจากนี้ ป้าอำภาได้นำแผนประกอบอาชีพที่ทำไว้คือจะเปิดขายที่บ้านและเน้นขายแบบซื้อกลับบ้านและดิลิเวอรีไปเสนอธนาคารเพื่อขอสินเชื่อเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติม โดยนำบ้านที่อยู่อาศัยของตนไปจดจำนองเป็นหลักประกัน

 

          ในกรณีของลุงสิระได้ไปเจรจากับธนาคารเจ้าหนี้เพื่อขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และปรับงวดการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง โดยแม้ว่าลุงสิระจะประสบปัญหาซ้ำซ้อนหลายระลอก แต่ก็ยังมีความพยายามที่จะหาช่องทางในการสร้างรายได้เพิ่มเติมโดยการเลี้ยงหมูเพื่อที่จะนำเงินมาชำระหนี้คืน ธนาคารจึงพักชำระหนี้เงินต้นให้เป็นเวลา 1 ปี และให้จ่ายชำระเงินต้นในอัตราที่ต่ำในช่วงแรก แล้วทยอยชำระเพิ่มขึ้นเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรได้ อีกทั้งธนาคารได้พิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยและขยายระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปอีก 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับแหล่งรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ที่แท้จริง และหากลุงสิระสามารถชำระได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด ธนาคารจะพิจารณาลดภาระหนี้ดอกเบี้ยที่ค้างชำระในอดีตทั้งหมดหรือบางส่วนให้ด้วย นอกจากนี้ ธนาคารได้ให้สินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการเพาะปลูก โดยจดจำนองที่ดินหลักประกันเดิมเพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ของธนาคาร ลุงสิระมีความหวังว่าสถานการณ์ในปีนี้จะดีขึ้น อีกทั้งลุงสิระได้สมัครขอเข้าร่วมอบรมเสริมความรู้ในการทำการเกษตรให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและปลอดภัยจากศัตรูพืช ที่ธนาคารได้จัดขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เกษตรกรด้วย

 

          ส่วนพี่กระถิน เนื่องจากมีหนี้บ้าน (หนี้ที่มีหลักประกัน) ที่มูลค่าหนี้ไม่เกินมูลค่าหลักประกัน และหนี้บัตรเครดิต (หนี้ที่ไม่มีหลักประกัน) จึงตัดสินใจเจรจากับธนาคารเจ้าหนี้เพื่อขอเข้าโครงการรวมหนี้ (debt consolidation) ซึ่งจะทำให้หนี้บัตรเครดิตกลายเป็นหนี้ที่มีหลักประกัน และถูกคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าเดิมมาก อีกทั้งเจรจาขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้ เพื่อปรับลดยอดการจ่ายหนี้ในแต่ละงวดลงให้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ ทั้งนี้ กระถินมีความตั้งใจที่จะชำระหนี้ให้ได้ตามเงื่อนไขใหม่เพื่อให้สามารถรอดพ้นจากสถานการณ์ในครั้งนี้ จึงมีแผนที่จะรับสอนพิเศษและขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อนำรายได้มาใช้ในการชำระหนี้ด้วย

 

image
image

 

             สำหรับลูกหนี้รายใดที่ต้องการความช่วยเหลือ แก้ไขหนี้เดิม หรือต้องการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติม สามารถติดต่อ SFIs ที่ใช้บริการอยู่ผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อขอรับความช่วยเหลือหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ตลอดจนขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับการแก้ไขหนี้ได้ผ่านทางศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ช่องทางหมอหนี้เพื่อประชาชน โทร. 1213 นอกจากนี้ สำหรับลูกหนี้ที่ยังมีความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ SFIs หลายแห่งได้ออกมาตรการบรรเทาภาระหนี้สำหรับลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระหนี้ที่ดี เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้ลูกหนี้ที่มีวินัยทางการเงิน ดังนั้น สำหรับลูกหนี้ที่ยังชำระหนี้ได้ การจ่ายหนี้อย่างต่อเนื่องและตรงเวลาจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวลูกหนี้ด้วย

 

             สุดท้ายนี้ ธปท. ยังมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาหนี้สินของคนไทยผ่านมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้สถาบันการเงินที่กำกับดูแลสามารถส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังลูกหนี้ได้อย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง และมุ่งหวังว่ามาตรการการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของ ธปท. ในครั้งนี้ จะทำให้ลูกหนี้ของ SFIs ได้รับความช่วยเหลืออย่างตรงจุด ทันการณ์ ทำให้ลูกหนี้สามารถวางแผนรับมือกับความไม่แน่นอนและผ่านวิกฤตต่าง ๆ ไปได้ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินของคนไทยได้ในระยะยาว

 

[1] สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions: SFIs) คือสถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม