"สภาพัฒน์" ในห้วงยามแห่งความท้าทาย 

เร่งแก้วิกฤต ปูทางพลิกโฉมเศรษฐกิจไทย

image

 

            สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นหน่วยงานสำคัญที่มีบทบาทในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายใต้วิกฤตโควิด 19 ในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา โอกาสนี้ BOT พระสยาม MAGAZINE ได้รับเกียรติจาก คุณดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ "สภาพัฒน์" มาเปิดใจถึงบททดสอบที่ท้าทายที่สุดในชีวิตการทำงานกว่า 20 ปีในหน่วยงานเศรษฐกิจแห่งนี้ ในการแก้ "โจทย์ยากเฉพาะหน้า" ที่รุมเร้า ควบคู่ไปกับการเร่งรัดวางโครงสร้างเพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่เส้นทางแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน อันจะนำไปสู่การแก้ไข "ปัญหาเรื้อรัง" ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

 

 

5 โจทย์ใหญ่เศรษฐกิจไทยปี 2565

 

          จากวันแรกที่ทั่วโลกเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด 19 เข้าสู่ปี 2565 นับเป็นปีที่ 3 แล้ว โดยเลขาธิการสภาพัฒน์ยอมรับว่า ในช่วงแรกเขาเองก็คาดไม่ถึงว่าวิกฤตโควิด 19 จะยืดเยื้อมาถึงทุกวันนี้ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ต้องเผชิญกับโจทย์ใหญ่ถึง 5 ประการด้วยกัน

 

          โจทย์ที่ 1 สถานการณ์การแพร่ระบาดที่มีแนวโน้มยืดเยื้อท่ามกลางการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส แม้ข้อมูลจะระบุว่า ไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์โอมิครอนไม่ได้สร้างความรุนแรงกับระบบสาธารณสุขมากเท่ากับสายพันธุ์เดลตาที่ระบาดในช่วงไตรมาส 3 ปีที่แล้ว แต่ถึงอย่างนั้น การแพร่ระบาดของโควิด 19 ก็ยังเป็นตัวแปรที่ฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

 

          โจทย์ที่ 2 การฟื้นตัวของภาคธุรกิจที่ไม่เท่าเทียมกัน (uneven recovery) โดยเฉพาะในภาคบริการและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นสัดส่วนค่อนข้างสูงในโครงสร้างเศรษฐกิจไทย แต่กลับเป็นภาคธุรกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้า เพราะกว่าที่ระดับนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด 19 อาจต้องใช้เวลาอีก 3 - 5 ปี

 

          โจทย์ที่ 3 หนี้ภาคครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจ ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ระดับหนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างมากจากการที่ภาวะแรงงานยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่มีข้อจำกัดในการฟื้นตัว ปัญหาดังกล่าวนี้ สะสมกลายเป็นความเปราะบางที่ก่อตัวเป็นเสมือน "ระเบิดเวลา" ในระบบเศรษฐกิจไทย

 

          โจทย์ที่ 4 การเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อ เป็นอีกแรงกดดันที่อาจฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้ โดยคุณดนุชามองว่า แม้เงินเฟ้อเฉลี่ยของไทยยังอยู่ในกรอบเงินเฟ้อที่ตั้งเป้าไว้ที่ 1 - 3% และหลายฝ่ายมองว่าเป็นสถานการณ์ชั่วคราว แต่ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงในหลายประเทศ จึงจำเป็นต้องจับตามองการดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางในประเทศเศรษฐกิจหลักอย่างใกล้ชิด เพราะส่งผลต่อต้นทุนทางการเงิน

 

          โจทย์ที่ 5 ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายการเงินของประเทศมหาอำนาจ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และเสถียรภาพทางการเมืองระหว่างประเทศ "สงครามการค้า" ตลอดจนการกีดกันทางการค้า ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้ อย่างไรก็ดี คุณดนุชาเชื่อว่า หากประเทศไทยปรับตัวได้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่การผลิต (supply chain) ในวิกฤตย่อมมีโอกาสสำหรับเศรษฐกิจไทย

 

image

 

        "โจทย์ทั้ง 5 ข้อ ท้าทายการทำงานของสภาพัฒน์หมดทุกข้อ โดยเฉพาะเรื่องการฟื้นตัวที่ไม่เท่าเทียม เพราะเราต้องพยายามทำให้กราฟการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีลักษณะเป็นตัว K ไม่ให้ขาล่างของ K ดิ่งไปมากกว่านี้ ที่ผ่านมา มีการออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเพื่อรักษาระดับการจ้างงาน พร้อมกับสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับแรงงานที่กลับภูมิลำเนา เพื่อทำให้เศรษฐกิจชุมชนมีความเข้มแข็ง อีกปัญหาสำคัญคือ หนี้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่เป็นเหมือน 'ระเบิดเวลา' แม้ว่าวันนี้ หนี้เสีย (NPL) อาจดูไม่สูงมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการปรับเกณฑ์พิจารณา NPL แต่เมื่อใดที่กลับไปใช้เกณฑ์เดิม ตัวเลขก็จะพุ่งขึ้น ส่งผลต่อสถาบันการเงิน นับเป็นความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยที่สามารถฉุดรั้งให้เศรษฐกิจไทยเดินช้าลง ขณะที่การระบาดก็ยังน่ากังวล เพราะหากมีการระบาดเป็นวงกว้าง กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวก็จะหยุดชะงักไปอีก"

 

 

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยขยายตัว 4%

 

          ปลายปี 2564 สภาพัฒน์ออกมาประกาศตัวเลขคาดการณ์แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 2565 โดยมองว่า ปีนี้เศรษฐกิจน่าจะขยายตัวได้ในช่วง 3.5 - 4.5% หรือเฉลี่ยค่ากลางที่ 4% คุณดนุชาย้ำว่า ตัวเลขดังกล่าวประกาศก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอนเพียง 10 วัน จึงยังไม่รวมผลกระทบของไวรัสสายพันธุ์ใหม่

 

          "ผมก็มานั่งคุยกับทีมว่าต้องจับตามองดี ๆ เพราะการระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่นี้ น่าจะกระทบกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน ทำให้อาจจะต้องมีการปรับตัวเลขคาดการณ์กันใหม่ และประกาศในช่วงเดือนกุมภาพันธ์"

 

          เลขาธิการสภาพัฒน์ ย้ำว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ 4% จะเกิดขึ้นได้ภายใต้เงื่อนไขสำคัญข้อแรกคือ ประเทศไทยต้องสามารถควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัดได้ เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเคลื่อนตัวไปได้เรื่อย ๆ โดยเฉพาะการดูแลฐานการส่งออกไม่ให้เกิดการระบาด เพื่อไม่ให้การผลิตเพื่อการส่งออกต้องหยุดชะงัก เนื่องจากการส่งออกจะเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีนี้ โดยมีแรงส่งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก ตลอดจนมีแรงเสริมจากเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจอย่างการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มเร่งขยายตัวมากขึ้น และการบริโภคภายในประเทศที่ฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เป็นปัจจัยสนับสนุนที่จะพยุงเศรษฐกิจไทยให้ขยับไปถึงเป้า

 

          "โครงสร้างเศรษฐกิจไทยจะมีเรื่องการผลิตและการส่งออกเป็นหลัก แต่หากเราสามารถสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างประเทศให้เขามาลงทุนในไทยช่วงครึ่งปีหลัง ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้นได้ อาทิ มาตรการวีซ่าสำหรับผู้พำนักระยะยาว (Long-Term Resident Visa: LTR) เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศ มาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับธุรกิจบริการด้านเทคโนโลยีและสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนอุตสาหกรรมใหม่ ๆ อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้เรามีการลงทุนเพิ่มขึ้นในประเทศจากภาคเอกชนต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ก็ต้องมีมาตรการเพื่อส่งเสริมภาคเอกชนไทยที่อาจจะอ่อนแรงไปบ้าง ให้กลับมาเป็นส่วนสำคัญที่จะนำในการลงทุนต่าง ๆ"

 

          คุณดนุชามองว่า มาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ ของภาครัฐยังคงจำเป็นต้องมี เพียงแต่อาจต้องทบทวนให้ดีว่ามาตรการที่ออกมาแล้วในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะมาตรการทางการเงินดำเนินไปอย่างมีประสิทธิผลหรือไม่ และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่เพียงไร หรือต้องปรับมาตรการอย่างไร เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและเกิดประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้งมาตรการรักษาระดับการจ้างงาน โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและบริการ และการสร้างเศรษฐกิจชุมชนพื้นที่ต่าง ๆ ตลอดจนมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ เพื่อทดแทนรายได้ที่หายไปจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ

 

          "ขอเรียนย้ำว่า มาตรการช่วยเหลือยามวิกฤตเป็นมาตรการชั่วคราว ต้องออกมาในเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้เศรษฐกิจเดินได้และเพื่อช่วยเหลือประชาชน ไม่ใช่มาตรการถาวรที่จะทำตลอดไป ยกตัวอย่างมาตรการ 'คนละครึ่ง' ได้ประโยชน์ทั้งเรื่องการกระตุ้นการบริโภคและการลดค่าครองชีพ แต่หากทำมาตรการเช่นนี้บ่อย ๆ จนเกิดความคุ้นชิน กลายเป็นว่า 'ต้องมี' สถานการณ์เช่นนี้ถือว่าเป็นอันตราย เพราะจะกลายเป็นภาระงบประมาณภาครัฐ

 

 

image

 

          "สำหรับมาตรการ 'เราเที่ยวด้วยกัน' คงต้องเดินต่อ โดยสิ่งที่ต้องทำในปีนี้คือ เปิดพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ให้มากขึ้น เพื่อดึงเม็ดเงินต่างประเทศเข้ามา แต่ก็ต้องเปิดด้วยระบบที่มีการควบคุม ติดตาม และจำกัดการแพร่ระบาดที่ดี แต่ปัจจัยความสำเร็จในการทำแซนด์บ็อกซ์ด้านการท่องเที่ยว สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ภาครัฐเป็นคนทำ แต่เกิดจากผู้ประกอบการในพื้นที่รวมตัวกันเพื่อทำเรื่องนี้ร่วมกับภาครัฐ โดยที่ภาครัฐมีหน้าที่สนับสนุนโมเดลแซนด์บ็อกซ์ในพื้นที่นั้น จึงจะเดินหน้าได้เร็วขึ้น"

 

 

"แผนฯ 13" ปักหมุดพลิกโฉมประเทศ

 

          ขณะที่ "โจทย์เศรษฐกิจเฉพาะหน้า" จากวิกฤตโควิด 19 นับเป็นความเจ็บป่วยทางเศรษฐกิจที่ไม่ง่ายต่อการรักษา และต้องการความเร่งด่วนเพื่อกระตุ้นชีพจรเศรษฐกิจขึ้นมา แต่ทว่ายังมีความท้าทายสำคัญอีกด้านสำหรับสุขภาพเศรษฐกิจไทย นั่นคือ การยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ที่ก้าวทันพลวัตของโลก ซึ่งนับเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันสังคมไทยให้ก้าวหน้าและขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน

 

          "ตอนนี้สิ่งที่ผมและทีมกำลังทำอยู่คือ การยกร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13  (พ.ศ. 2566 - 2570) โดยหัวใจสำคัญของแผนฯ คือการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมากำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศพร้อมกับปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ จากที่เราอยู่กับการผลิตและการบริการแบบไม่ค่อยมีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปเพิ่มมูลค่า ในแผนฯ 13 กำหนดว่า ต้องมีอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เข้ามาต่อยอดสิ่งที่เรามี เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือทางการแพทย์ เกษตรมูลค่าสูง โดยใช้งานวิจัยเข้าไปเพิ่มมูลค่า อีกส่วนคือการทำให้ธุรกิจ SMEs และเศรษฐกิจชุมชนสามารถสร้างรายได้อย่างมั่นคงและเป็นธรรม โดยสร้างเครือข่ายการค้าร่วมกับธุรกิจขนาดใหญ่ควบคู่กับการส่งเสริมการสร้างแพลตฟอร์มต่อยอดธุรกิจชุมชน เพื่อทำให้เศรษฐกิจชุมชนสามารถรองรับวิกฤตและการเปลี่ยนแปลงภายใต้บริบทโลกใหม่ได้

 

          "ไม่เพียงเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม อีกทิศทางสำคัญของเศรษฐกิจไทย คือการผลิตสินค้าและบริการ รวมถึงการดำเนินธุรกิจต้องมุ่งสู่การลดคาร์บอน (decarbonization) และการใช้พลังงานสะอาด ทั้งหมดนี้นำไปสู่ความจำเป็นที่ต้องวางโครงสร้างการซื้อขายคาร์บอนเครดิต และการปรับตัวของภาคธุรกิจเพื่อป้องกันการกีดกันทางการค้า"

 

          เลขาธิการสภาพัฒน์มองว่า แผนฯ 13 ไม่ใช่แค่เพื่อการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่เพื่อยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจที่จะนำไปสู่ "การพลิกโฉมประเทศไทย" ซึ่งการเปลี่ยนผ่านในหลายเรื่องไม่ง่าย ทั้งในมุมของสิ่งที่ต้องปรับตัวและบริบทของสังคมไทย โดยเฉพาะการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยที่จะส่งผลกระทบในหลากมิติ ทั้งภาระทางการคลังที่เพิ่มขึ้น ภาวะพึ่งพิงในภาคครัวเรือนที่สูงขึ้น และผลิตภาพของประเทศที่ลดลง

 

          "ในช่วง 5 ปีของแผนฯ 13 จึงต้องมีเรื่องของการพัฒนาคน (upskill - reskill) รวมอยู่ด้วย เพื่อสร้างผลิตภาพของคนของเราขึ้นมา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการปรับโครงสร้างประเทศ รวมถึงต้องมีการปรับโครงสร้างการศึกษาเพื่อผลิตแรงงานที่ตอบสนองโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ซึ่งต้องใช้เวลา แต่การปรับโครงสร้างประเทศรอไม่ได้แล้ว เราไปฟังความเห็นหลาย ๆ ฝ่าย หลายคนบอกว่ารอไม่ได้ เมื่อรอไม่ได้แล้ว ก็ต้องดูว่าประเทศไทยมีอะไรอยู่ในมือบ้าง ซึ่งพบว่าภาคอุตสาหกรรมเริ่มปรับตัวไปบ้างแล้ว แต่แน่นอนว่า ต้องมีคนเจ็บปวดจากการปรับตัวไม่ทันบ้าง เราต้องมีมาตรการช่วยเหลือเขาในการปรับตัว แต่ถ้าเราไม่เปลี่ยนตอนนี้หรือมัวแต่ค่อย ๆ ปรับ ประเทศไทยเราจะไม่ทันคนอื่น เพราะเวลานี้เราถูกบังคับโดยบริบทโลกให้ต้องพลิกโฉมแล้วจริง ๆ"

 

          คุณดนุชาเชื่อว่า แผนฯ 13 จะเป็นแผนที่นำทางประเทศไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development) และจะสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจไทยในระยะยาว แต่การดำเนินการตามแผนฯ 13 จะสำเร็จมากน้อยแค่ไหน "กุญแจแห่งความสำเร็จ" อยู่ที่ความร่วมใจในการบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐกับภาคเอกชนในหลายภาคส่วน เพื่อผลักดันการพัฒนาให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

 

 

บททดสอบสุดท้าทายในชีวิตการทำงาน

 

          คุณดนุชาถือเป็น "ลูกหม้อ" ของสภาพัฒน์ โดยเข้าทำงานมาตั้งแต่ปี 2540 เริ่มจากตำแหน่งลูกจ้าง จากนั้นค่อย ๆ เติบโตขึ้นมาจนก้าวมาสู่ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานเศรษฐกิจแห่งนี้ ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีในการทำงาน เขาเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่มาแล้ว ทั้งวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2552 วิกฤตน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 จนมาถึงวิกฤตโควิด 19 ซึ่งเขายอมรับว่า วิกฤตครั้งนี้ท้าทายที่สุดในชีวิตการทำงานของเขา

 

image

 

          "กว่า 24 ปีในการทำงาน สิ่งที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้ท้าทายที่สุดแล้ว เพราะวิกฤตโควิด 19 เป็นวิกฤตที่ไม่เคยเจอมาก่อน อย่างวิกฤตต้มยำกุ้งและวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ต่างก็เป็นวิกฤตที่เกิดในกลุ่มประเทศบางกลุ่มเท่านั้น ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังเดินไปได้ และเศรษฐกิจไทยก็สามารถฟื้นตัวได้เร็วจากภาคการส่งออก มาตรการกระตุ้นการบริโภค และการอัดฉีดเม็ดเงินลงทุนในบางกลุ่มธุรกิจ ประกอบกับวิกฤตครั้งนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนเป็นรองเลขาฯ จนขึ้นมาเป็นเลขาธิการสภาพัฒน์มีหน้าที่ต้องคิดและทำเพื่อแก้วิกฤตไปให้ได้ ผมคิดว่า ถัดจากนี้ก็ไม่น่าจะมีอะไรท้าทายเท่านี้แล้วในชีวิตการทำงานของผม"

 

          ไม่เพียงแค่ความซับซ้อนและความยากในการแก้โจทย์ที่เกิดจากวิกฤตโควิด 19 แต่ระหว่างการแก้วิกฤตยังต้องเผชิญกับอีกความท้าทายสำคัญคือ ข่าวลวงและข่าวบิดเบือนจากสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งทำให้การแก้ปัญหายุ่งยากและยืดเยื้อกว่าที่ควรจะเป็น เพราะต้องเสียเวลาและทรัพยากรบางส่วนไปกับการแก้ไขความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง

 

          "ความท้าทายตรงนี้ก็ทำให้การทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานมีความจำเป็นมากขึ้น เพื่อจะได้รับทราบและร่วมกันออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง เพื่อแก้ไขข่าวลวงและข่าวบิดเบือนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ฉะนั้น ในช่วงที่ขึ้นมาเป็นเลขาธิการสภาพัฒน์ ผมพยายามปรับวิธีการทำงานให้เอื้อกับการทำงานร่วมกันทั้งภายในสภาพัฒน์ และหน่วยงานภายนอกได้ดีขึ้น"

 

          ธปท. เป็นหนึ่งในหน่วยงานเศรษฐกิจที่คุณดนุชามองว่า จะต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับสภาพัฒน์มากยิ่งขึ้น แม้ว่าปัจจุบันจะมีการประสานงานร่วมกันอยู่แล้วหลายเรื่องก็ตาม เพื่อมุ่งไปสู่การกำหนดมาตรการทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวได้อย่างครอบคลุม และเหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศในแต่ละช่วงเวลา

 

          นอกจากนี้ คุณดนุชามองว่า สภาพัฒน์จำเป็นต้องสร้างคนขึ้นมาเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับกระแสโลกที่นับวันจะยิ่งผันผวนและคาดการณ์ได้ยาก ด้วยการเพิ่มศักยภาพให้บุคลากรสามารถทำงานได้หลากหลายหน้าที่มากขึ้น โดยปรับรูปแบบเป็นทีมการทำงานข้ามสายงาน (cross functional team) ให้มากขึ้น เพื่อให้บุคลากรสามารถทำงานทดแทนซึ่งกันและกันได้ เพราะวันข้างหน้า ไม่เพียงภารกิจประจำด้านการจัดทำร่างแผนพัฒนาฯ และการจัดทำและทบทวนแผนยุทธศาสตร์ชาติเท่านั้น สภาพัฒน์ยังมีภารกิจในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่จะเข้ามากระทบเพิ่มขึ้นและมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

 

          "ตลอด 2 ปีกว่านี้ คนสภาพัฒน์เหนื่อยกันทุกคน แต่ก็เป็นหน้าที่ที่ต้องทำ เพราะเรามีหน้าที่ต้องช่วยเหลือคน ต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ต้องลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ทั้งในด้านโอกาส รายได้ การศึกษา และกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาเรื้อรังของสังคมไทย ซึ่งในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่รุมเร้า พร้อมกับต้องวางรากฐานสู่การแก้ปัญหาที่มีมานาน เป็นเรื่องท้าทาย ต้องใช้พลังกายและพลังใจสูงมาก อีกหน้าที่สำคัญของผมคือต้องพยายามปลุกใจและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ของเรา ซึ่งผมเชื่อว่า ธปท. และหน่วยราชการอื่น ๆ ก็คงเหนื่อยไม่ต่างกัน เพราะทุกคนต่างก็มีเป้าหมายเดียวกัน คือช่วยให้ประเทศผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้ และเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนได้ในระยะยาว" คุณดนุชาทิ้งท้าย