เงินเฟ้อโลก เงินเฟ้อไทย

และทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลาง

image

 

เงินเฟ้อเป็นหนึ่งในหัวข้อที่มีคนพูดถึงกันมากในขณะนี้ หลังจากเห็นทิศทางที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในหลายประเทศ (รูปที่ 1) ไม่เพียงแต่เงินเฟ้อในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก (Advanced Economies: AEs) ที่ทำสถิติสูงสุดในรอบหลายปี แต่ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets: EMs) ก็เริ่มเห็นการปรับเพิ่มขึ้นหลังเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวเช่นกัน สถานการณ์ดังกล่าวสร้างความกังวลต่อทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางในระยะข้างหน้า BOT พระสยาม MAGAZINE ฉบับนี้ จึงขอพาไปทำความรู้จักกับสาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อโลกปรับสูงขึ้น ตลอดจนผลกระทบต่อนโยบายการเงินแต่ละประเทศรวมถึงไทยว่าเป็นอย่างไร

 

image

 

ทำไมเงินเฟ้อโลกจึงพุ่งสูงขึ้น

 

        อัตราเงินเฟ้อโลกที่สูงขึ้นเป็นผลจากอุปสงค์และอุปทานเกิดความไม่สมดุลกัน ซึ่งยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยด้านอุปสงค์มีทิศทางเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากที่หลายประเทศให้ความสำคัญกับการแจกจ่ายวัคซีนแทนการใช้มาตรการคุมเข้มการระบาดเพื่อรับมือกับโควิด 19 ประกอบกับครัวเรือนได้รับเงินเยียวยาผลกระทบของโควิด 19 จากภาครัฐ ทำให้ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน อุปสงค์จึงกลับมาอย่างรวดเร็ว

 

        ขณะเดียวกัน ภาคการผลิตที่เคยหยุดชะงักลงในช่วงแรกของการระบาดเริ่มทยอยกลับมาแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่ออุปสงค์ ส่งผลให้ราคาสินค้าโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นมาก อาทิ สินค้ากลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ (semiconductor) และสินค้าโภคภัณฑ์ (commodity) ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในห่วงโซ่การผลิตสินค้าอื่น ๆ

image

 

        นอกจากนี้ ภัยธรรมชาติและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ยังส่งผลให้การผลิตโดยรวมหยุดชะงัก สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อเนื่องไปถึงระบบการขนส่งโลก เห็นได้จากราคาตู้คอนเทนเนอร์และค่าขนส่งที่ปรับสูงขึ้น 4 เท่า[1] ตามอุปสงค์และปริมาณการค้าโลกที่เพิ่มขึ้น ขณะที่จำนวนตู้คอนเทนเนอร์มีไม่เพียงพอ รวมถึงความแออัดของท่าเรือที่ทำให้ไม่สามารถขนถ่ายสินค้าได้เร็วเท่าที่ควร ซึ่งเป็นผลจากปัญหาการปิดท่าเรือ และการขาดแคลนแรงงานในช่วงแรกของการระบาดของโควิด 19

 

เงินเฟ้อที่สูงขึ้นส่งผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอย่างไร

 

         ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกแตกต่างกันตามบริบทของเงินเฟ้อและเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ เนื่องจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอาจเกิดเพียงชั่วคราว (transitory) หรืออาจเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (persistent) โดยต้องพิจารณาภาวะทางเศรษฐกิจประกอบด้วยว่า ร้อนแรงใกล้ถึงจุดที่เต็มกำลังการผลิตจนทำให้ต้นทุนการผลิตอื่น ๆ ปรับสูงขึ้นและส่งผลให้ราคาสินค้าก็ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่

 

         หากมองว่าเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเป็นแบบชั่วคราว อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไม่มาก เนื่องจากเงินเฟ้อในลักษณะนี้ มักเกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจมีการเปลี่ยนผ่านจากภาวะหดตัว (contraction) ไปสู่ภาวะขยายตัว (expansion) และเมื่อเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวกลับมาผลิตเพื่อตอบสนองอุปสงค์เหล่านี้ได้อย่างเพียงพอโดยไม่สร้างแรงกดดันต่อค่าจ้างอย่างรวดเร็วแล้ว เงินเฟ้อจะเริ่มชะลอลง การใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดของธนาคารกลางกับเงินเฟ้อในลักษณะนี้ อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากกว่าการช่วยชะลอเงินเฟ้อลง

 

        หากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นมีแนวโน้มเป็นแบบต่อเนื่อง ราคาสินค้าที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้การคาดการณ์เงินเฟ้อของภาคธุรกิจและประชาชนเพิ่มสูงขึ้น กอปรกับหากภาวะแรงงานตึงตัวจะทำให้ค่าแรงปรับเพิ่มขึ้น ยิ่งทิ้งไว้นาน ราคาสินค้าต่าง ๆ ก็จะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นรอบ 2 รอบ 3 กลายเป็นวัฏจักรเงินเฟ้อซึ่งจะบั่นทอนความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภค ซึ่งส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ในสถานการณ์ดังกล่าว ธนาคารกลางจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดในการควบคุมเงินเฟ้อ

 

         จึงเป็นที่มาของคำถามสำคัญว่า ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในหลายประเทศขณะนี้มีลักษณะเป็นแบบชั่วคราวหรือต่อเนื่อง การดำเนินนโยบายของแต่ละธนาคารกลางเพื่อตอบสนองต่อเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นก็มีความแตกต่างกัน (monetary policy divergence) เนื่องจากธนาคารกลางอาจพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วยนอกเหนือจากเงินเฟ้อ อาทิ ระดับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายในประเทศที่จะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อในอนาคต หรือแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักโดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)

 

การตอบสนองต่อเงินเฟ้อของธนาคารกลาง 3 กลุ่ม

 

 จากสถานการณ์เงินเฟ้อในปัจจุบัน ธนาคารกลางมีการตอบสนองที่แตกต่างกันโดยแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม

 

        กลุ่มแรก Entering the hiking cycle กลุ่มประเทศที่เริ่มใช้นโยบายการเงินเข้มงวดขึ้น เนื่องจากภาวะอัตราเงินเฟ้อที่สูงในขณะที่เศรษฐกิจขยายตัวดี และเริ่มมีสัญญาณตลาดแรงงานที่ตึงตัวขึ้น อาจส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อให้ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องยาวนานได้ ธนาคารกลางจึงให้น้ำหนักกับเสถียรภาพราคาและเสถียรภาพระบบการเงินมากขึ้น อาทิ สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มที่ใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดจากปัจจัยเฉพาะภายในประเทศ อาทิ กลุ่มที่เริ่มทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย (foreign capital flow) อย่างนอร์เวย์ นิวซีแลนด์ และกลุ่มที่เป็นผู้นำเข้าสุทธิของสินค้าโภคภัณฑ์ (net commodity importer) ที่เงินเฟ้อได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานสูง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในทวีปอเมริกาใต้

 

        กลุ่มที่สอง Wait and see before hiking :  กลุ่มประเทศที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ยังให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจก่อนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาทิ กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัว แต่ยังเปราะบางและมีความเสี่ยงอยู่ ทำให้ในธนาคารกลางยังคงดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลาย แต่เริ่มมีแผนในการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดในอนาคต 

 

        กลุ่มที่สาม Late hiking cycle : กลุ่มประเทศที่แรงกดดันเงินเฟ้อยังต่ำเมื่อเทียบกับโลกแม้จะปรับสูงขึ้นจากเดิมแล้ว รวมถึงประเมินว่ามีความเป็นไปได้สูงที่อัตราเงินเฟ้อโลกและของประเทศเองจะปรับสูงขึ้นเพียงชั่วคราว อาทิ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ทำให้ธนาคารกลางยังสามารถใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจต่อไปได้ และยังไม่มีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคตอันใกล้   

 

image

 

        เมื่อกลับมามองบริบทของไทย แม้เงินเฟ้อไทยจะปรับสูงขึ้นและล่าสุด ณ เดือนธันวาคม 2564 อยู่ที่ 2.17% แต่ก็ยังเคลื่อนไหวต่ำกว่าเงินเฟ้อในต่างประเทศพอสมควร โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว สาเหตุหลักมาจากวัฏจักรเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน

 

สาเหตุที่เงินเฟ้อไทยต่ำกว่าเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

 

         สาเหตุที่แรงกดดันเงินเฟ้อของไทยจากปัจจัยด้านอุปสงค์และปัจจัยด้านอุปทานต่ำกว่าหลายประเทศ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวและกว่าจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด 19 ได้คาดว่าจะเป็นช่วงต้นปี 2566 เนื่องด้วยเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวสูง และเผชิญกับการฟื้นตัวที่ไม่เท่าเทียมกันทั้งในมิติรายได้ พื้นที่ และสาขาเศรษฐกิจ รวมถึงการจ้างงานและรายได้แรงงานยังคงเปราะบาง ส่งผลให้แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่เศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนโควิด 19 ระบาดแล้ว ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์เร่งตัวสูง

 

image

 

        นอกจากนี้ แรงกดดันด้านอุปทานต่อเงินเฟ้อไทยยังต่ำกว่าที่ประเทศอื่นเผชิญ แม้ปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่การผลิต (global supply chain disruption) จะส่งผลทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกสูงขึ้น แต่เนื่องจากไทยพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศในการผลิตสินค้าและบริการในประเทศค่อนข้างต่ำ คือประมาณ 16% ในตะกร้าเงินเฟ้อไทย[2] ต้นทุนที่ปรับสูงขึ้นจึงไม่มากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น นอกจากนี้ ราคาสินค้าหมวดพลังงานยังมีกลไกภาครัฐดูแลตรึงราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม และค่าไฟฟ้า เพื่อบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพได้ในระดับหนึ่ง ในขณะเดียวกัน กำลังซื้อในประเทศยังไม่เข้มแข็งมากนัก จึงทำให้ผู้ประกอบการส่งผ่านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นไปยังผู้บริโภคได้ยาก

 

เงินเฟ้อไทยเพิ่มขึ้นจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นสำคัญ แต่ยังกระจุกตัวในบางกลุ่มสินค้า

 

         แรงกดดันเงินเฟ้อของไทยในช่วงที่ผ่านมาเป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทานมากกว่าด้านอุปสงค์ โดยปัจจัยด้านอุปทานที่ทำให้เงินเฟ้อไทยปรับเพิ่มขึ้นมาจากทั้งต่างประเทศและในประเทศ ปัจจัยต่างประเทศอย่างแรก คือ ราคาพลังงานโลก ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสูงขึ้นต่อเนื่องจากอุปสงค์น้ำมันโลกที่เพิ่มขึ้นภายหลังการคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ ประกอบกับอุปทานน้ำมันโลกที่ลดลงจากปัญหาชั่วคราวด้านการผลิต และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่มาซ้ำเติม ทำให้ราคาน้ำมันในประเทศไทยเพิ่มขึ้นแม้ภาครัฐจะตรึงราคาน้ำมันไว้ระดับหนึ่งแล้ว

 

 

image

        อย่างไรก็ดี คาดว่าราคาน้ำมันจะทยอยลดลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 2565 ตามอุปทานที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นแหล่งเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าและก๊าซหุงต้มยังอยู่ในระดับสูง และคาดว่ามีโอกาสที่ภาครัฐอาจไม่ต่ออายุการใช้มาตรการตรึงราคาที่ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 ทำให้ต้องทยอยปรับขึ้นราคาเพื่อให้สะท้อนต้นทุนมากขึ้นและลดภาระทางการคลัง ซึ่งจะเห็นได้จากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า ft) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 และตรึงราคาก๊าซหุงต้มถึงแค่สิ้นเดือนมีนาคม 2565 โดยจะทยอยปรับขึ้นราคาในช่วงที่เหลือของปี

 

        ปัจจัยต่างประเทศที่สอง คือ ปัญหาการชะงักงันของห่วงโซ่การผลิต ที่ส่งผลให้ต้นทุนราคาวัตถุดิบนำเข้าในบางอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มโลหะ กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี แต่ราคาสินค้าและบริการในประเทศโดยรวมยังไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นชัดเจน เนื่องจาก (1) สินค้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับอุตสาหกรรมเหล่านี้มีสัดส่วนน้อยในตะกร้าเงินเฟ้อไทย และ (2) ผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ยังคงแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นไว้อยู่ แม้ในระยะต่อไปผู้ประกอบการอาจส่งผ่านต้นทุนเพิ่มขึ้นบ้างแต่คาดว่าจะอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศยังไม่ฟื้นตัวมากนัก

 

         สำหรับปัจจัยด้านอุปทานในประเทศ คือ ราคาอาหารสดที่เพิ่มขึ้น อาทิ ราคาผักสดที่สูงขึ้นชั่วคราวจากปัญหาอุทกภัยในช่วงปลายปี 2564 และราคาเนื้อหมูที่เพิ่มขึ้นตามการลดลงของอุปทานจากโรคระบาด ประกอบกับต้นทุนในการป้องกันโรคและต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 10 เดือน จึงจะคลี่คลายปัญหานี้ได้ รวมถึงราคาเนื้อสัตว์อื่นที่อาจเพิ่มขึ้นตามต้นทุนอาหารสัตว์และการบริโภคเพื่อทดแทนเนื้อหมู โดยราคาเนื้อสัตว์ที่สูงขึ้นประกอบกับราคาก๊าซหุงต้มที่จะทยอยเพิ่มขึ้นในปีนี้ มีส่วนทำให้ราคาอาหารสำเร็จรูปมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย    

image

    

         อย่างไรก็ดี การปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการของไทยยังกระจุกอยู่ในบางกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะราคาพลังงาน ราคาอาหารสด และราคาอาหารสำเร็จรูป โดยจำนวนสินค้าและบริการที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2564 คิดเป็น 50 - 55% ของจำนวนสินค้าในตะกร้าเงินเฟ้อ ต่างจากราคาสินค้าและบริการในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นพร้อมกันเป็นวงกว้าง อาทิ ในสหรัฐฯ มีสัดส่วนจำนวนสินค้าและบริการที่ราคาเพิ่มขึ้นสูงเกิน 90% จนทำให้เงินเฟ้อของสหรัฐฯ เร่งสูงขึ้นมาก (รูปที่ 2)

 

image

 

แนวโน้มเงินเฟ้อไทยสูงขึ้นชั่วคราวและมีความเสี่ยงด้านสูง[3] จึงต้องติดตามใกล้ชิด

 

         มองไปข้างหน้า เงินเฟ้อไทยจะสูงขึ้นชั่วคราวในปีนี้และยังมีความเสี่ยงด้านสูงอยู่ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เงินเฟ้อโลกปรับขึ้นเร็ว และอาจเกิดการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการไปยังผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ปัจจุบัน การดำเนินนโยบายการเงินของไทยยังคงเป็นแบบผ่อนคลาย โดยเน้นให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

 

         สำหรับในระยะข้างหน้า เมื่อเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวกลับเข้าสู่ระดับปกติชัดเจนขึ้นและมีความเสี่ยงลดลง การให้น้ำหนักแต่ละเป้าหมายของการดำเนินนโยบายการเงินอาจปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเฉพาะในกรณีที่ความเสี่ยงต่อแนวโน้มเงินเฟ้อหรือต่อเสถียรภาพระบบการเงินปรับสูงขึ้น เพื่อให้สามารถรักษาเสถียรภาพราคา การเติบโตของเศรษฐกิจ และเสถียรภาพระบบการเงินอย่างเหมาะสมและทันการณ์ต่อไป

 

หมายเหตุ : บทความนี้เขียนและเรียบเรียงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565

 

[1] ดัชนีค่าขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต (ที่มา : Bloomberg)

[2] ตะกร้าเงินเฟ้อไทย หมายถึง สินค้าและบริการที่ครัวเรือนส่วนใหญ่บริโภคเป็นประจำ ณ ปี 2562 ซึ่งเป็นปีฐานสำหรับการคำนวณอัตราเงินเฟ้อ

[3] ความเสี่ยงที่เงินเฟ้ออาจปรับสูงขึ้นกว่าที่ประเมินไว้ในกรณีฐาน

image