รู้จักกลุ่มงานยุทธศาสตร์การสื่อสาร ธปท.
"กลุ่มงานยุทธศาสตร์การสื่อสาร" เป็นชื่อทีมใหม่ที่มักจะได้รับมอบหมายให้เข้าไปร่วมฟังการระดมสมองงานสำคัญของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ต้องใช้การสื่อสารช่วยเพิ่มประสิทธิผลของนโยบาย บทบาทการทำงานของทีมจึงต้องมองภาพใหญ่ ทำงานประสานและเชื่อมโยงกับทีมอื่น ๆ และคิดให้รอบว่าจะสื่อสาร "อะไร" "อย่างไร" และ "เมื่อไร" กับคนแต่ละกลุ่ม ทั้งภายนอกและภายในแบงก์ชาติ เพื่อสนับสนุนให้การสื่อสารของ ธปท. สามารถเพิ่มประสิทธิผลของนโยบาย สร้างการรับรู้ และความเชื่อมั่นใน ธปท. ให้ได้มากที่สุด
สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจการเงินที่เปลี่ยนแปลงเร็ว เทคโนโลยีและความตื่นตัวภายใต้การสื่อสารในยุคโซเชียลมีเดีย รวมถึงความคาดหวังต่อการทำงานของธนาคารกลางที่มีมากขึ้น ทำให้แบงก์ชาติต้องเร่งปรับกระบวนการและรูปแบบการสื่อสารต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง โดยต้องคำนึงถึงการสื่อสารในหลากหลายมิติและต้องทันต่อสถานการณ์มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด 19 ที่มีความไม่แน่นอนสูง ความเชื่อมั่นเปราะบาง และข้อมูลความช่วยเหลือต่าง ๆ ต้องชัดเจน เข้าใจและเข้าถึงง่าย การสื่อสารและการเข้าถึงผู้เกี่ยวข้องกลุ่มต่าง ๆ จึงกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือเชิงนโยบายที่ช่วยสร้างความเข้าใจ เพิ่มความโปร่งใสและความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการทำหน้าที่ของแบงก์ชาติ คงไม่มากเกินไปที่จะพูดว่า แม้การดำเนินนโยบายจะผ่านการคิดอย่างถี่ถ้วนเพื่อประโยชน์สูงสุดของส่วนรวม แต่หากขาดการสื่อสารที่ดี ประสิทธิผลของนโยบายก็อาจไม่เป็นไปตามที่คาดไว้
เพื่อตอบโจทย์ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว การสื่อสารของผู้บริหารแบงก์ชาติจึงสำคัญยิ่งขึ้น ทั้งในเรื่องกลยุทธ์และเนื้อหาหลักที่จะสื่อสาร ซึ่งต้องปรับให้เหมาะกับช่องทางและกลุ่มผู้รับสาร "กลุ่มงานยุทธศาสตร์การสื่อสาร" จึงถูกตั้งขึ้นเมื่อปี 2564 เพื่อทำหน้าที่เชื่อมโยงและประสานระหว่างสายงานเจ้าของคอนเทนต์กับสายงานสื่อสารเพื่อการจัดเตรียมประเด็นการสื่อสารเชิงนโยบายให้ผู้บริหารระดับสูงโดยเฉพาะผู้ว่าการ และรวบรวมประเด็นเชิงนโยบายจากสายงานต่าง ๆ เพื่อปรับใช้ในการสื่อสารแบบ ONE BOT ร่วมกับสายงานด้านสื่อสารในการวางกลยุทธ์การสื่อสาร ทั้งด้านภาพลักษณ์ แนวทางการนำเสนอหรือโทนของเนื้อหา ช่องทาง และจังหวะเวลา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารในภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
ด้วยลักษณะงานที่ต้องพิจารณาประเด็นและช่วยวางกลยุทธ์เพื่อสื่อสารนโยบายต่าง ๆ ของแบงก์ชาติให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย สมาชิกของทีมจึงต้องเริ่มจากกลุ่มที่มีประสบการณ์ในสายงานหลักที่หลากหลายมารวมกัน เช่น นโยบายการเงิน ตลาดการเงิน สถาบันการเงิน เสถียรภาพระบบการเงิน ปัจจุบันมีสมาชิก 8 คน (สมาชิก 5 คน ทำงานกับกลุ่มงานแบบเต็มเวลา และอีก 3 คน มาช่วยงานแบบ 50%) ซึ่งในการทำงานจริง กลุ่มงานนี้ต้องทำงานร่วมกับสายงานด้านนโยบายอย่างใกล้ชิด รวมทั้งต้องประสานกับผู้บริหารระดับสูง เพื่อให้การสื่อสารของแบงก์ชาติสอดคล้องกันทั้งหมด มีเนื้อหาหรือรายละเอียดเป็นไปตามที่สายงานตั้งไว้ และที่ขาดไม่ได้ คือ การทำงานร่วมกับฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กรซึ่งมีหน้าที่หลักในการวางแผนและประสานงานกับสื่อมวลชน ติดตามกระแสข่าว รวมทั้งดูแลช่องทางการสื่อสารทั้งหมดของแบงก์ชาติ การทำงานร่วมกับทุกสายงานดังกล่าวเปรียบได้กับการต่อจิกซอว์ เพื่อให้ท้ายสุดเกิดเป็นภาพเดียวที่แบงก์ชาติตั้งใจจะสื่อสารออกไป (ONE BOT)
ปัจจุบัน การแบ่งงานมี 2 ทีมย่อยที่แยกกันดูแลเรื่องสื่อสารภายนอกกับภายในองค์กร โดยแบ่งตามประสบการณ์ ความถนัดและความสนใจของสมาชิก ซึ่งแต่ละคนจะมีโพรเจกต์ที่รับผิดชอบหลัก และคนอื่น ๆ จะช่วยกันให้ความเห็นเพิ่มเติมในฐานะ fresh eyes เพื่อช่วยให้งานออกมาสมบูรณ์มากที่สุด
นอกเหนือจากงานที่เป็นการเตรียมประเด็นสื่อสารให้ผู้ว่าการเพื่อใช้ในเวทีทั้งในและต่างประเทศแล้ว ทีมยังทำงานอีก 2 ด้าน ด้านแรกคืองานสื่อสารภายนอก ทั้งการวางกลยุทธ์ภาพรวมการสื่อสารทั้งปีร่วมกับสายงานที่เป็นเจ้าของคอนเทนต์และฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร การวางแผนสื่อสารนโยบายและภารกิจสำคัญของแบงก์ชาติ เช่น มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงวิกฤตโควิด 19 และแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน (financial landscape) จนถึงการวางแผนประเมินผลการสื่อสารที่ได้ทำไปแล้ว เพื่อนำมาปรับปรุงรูปแบบ เนื้อหา และช่องทาง ให้ตอบโจทย์ผู้รับสารได้ตรงจุดและครอบคลุมมากขึ้น และงานอีกด้านคืองานสื่อสารภายใน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารในองค์กร เช่น การปรับรูปแบบการสื่อสาร โดยเฉพาะนโยบายสำคัญที่อาจกระทบต่อพนักงานแบงก์ชาติเป็นวงกว้าง และทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการสร้าง two-way communication มากขึ้น เพื่อเพิ่ม engagement กับพนักงานที่หลากหลายภายใต้รูปแบบการทำงานและความคาดหวังที่เปลี่ยนไปหลังโควิด 19 เพื่อให้ทุกคนยังสามารถขับเคลื่อนงานตามพันธกิจของแบงก์ชาติได้อย่างเต็มกำลัง
นอกเหนือจากงานที่เป็นการเตรียมประเด็นสื่อสารให้ผู้ว่าการเพื่อใช้ในเวทีทั้งในและต่างประเทศแล้ว ทีมยังทำงานอีก 2 ด้าน ด้านแรกคืองานสื่อสารภายนอก ทั้งการวางกลยุทธ์ภาพรวมการสื่อสารทั้งปีร่วมกับสายงานที่เป็นเจ้าของคอนเทนต์และฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร การวางแผนสื่อสารนโยบายและภารกิจสำคัญของแบงก์ชาติ เช่น มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงวิกฤตโควิด 19 และแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน (financial landscape) จนถึงการวางแผนประเมินผลการสื่อสารที่ได้ทำไปแล้ว เพื่อนำมาปรับปรุงรูปแบบ เนื้อหา และช่องทาง ให้ตอบโจทย์ผู้รับสารได้ตรงจุดและครอบคลุมมากขึ้น และงานอีกด้านคืองานสื่อสารภายใน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารในองค์กร เช่น การปรับรูปแบบการสื่อสาร โดยเฉพาะนโยบายสำคัญที่อาจกระทบต่อพนักงานแบงก์ชาติเป็นวงกว้าง และทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการสร้าง two-way communication มากขึ้น เพื่อเพิ่ม engagement กับพนักงานที่หลากหลายภายใต้รูปแบบการทำงานและความคาดหวังที่เปลี่ยนไปหลังโควิด 19 เพื่อให้ทุกคนยังสามารถขับเคลื่อนงานตามพันธกิจของแบงก์ชาติได้อย่างเต็มกำลัง