แบงก์ชาติกับการสื่อสารแบบ "เข้าถึง เข้าใจ ใกล้ชิดท้องถิ่น"
เพื่อความกินดีอยู่ดีของคนไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงมุ่งดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินเพื่อคนไทยทั่วประเทศ และเพื่อเข้าถึงประชาชนในทุกภูมิภาคจึงมีการจัดตั้งสำนักงานภาคขึ้น 3 แห่ง เพื่อประสานนโยบายและส่งผ่านไปสู่ท้องถิ่น การดำเนินงานที่สำคัญของสำนักงานภาคทั้งสาม ล้วนต้องผ่านเครื่องมือหลักที่เรียกว่า "การสื่อสาร" ทั้งสิ้น คอลัมน์เศรษฐกิจติดดินในครั้งนี้ จึงขอพาทุกท่านมาร่วมเจาะลึกถึงวิธีการทำงานด้านการสื่อสารของสำนักงานภาค
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สำนักงานภาคมุ่งเน้นการสื่อสารเชิงรุกแบบสองทางเพื่อความเข้าถึงและเข้าใจ โดยการขยายกลุ่มเป้าหมายและเครือข่ายความร่วมมือออกไปในวงกว้างมากขึ้น ผ่านการลงพื้นที่เพื่อรับฟังและช่วยเหลือผู้ประกอบการภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจและภาวะธุรกิจ (Business Liaison Program: BLP)
นอกจากนี้ ยังมีการให้คำปรึกษาด้านเศรษฐกิจและการเงิน และการให้ความรู้ทางการเงิน ควบคู่ไปกับการเปิดใจรับฟังเสียงสะท้อนจากหน่วยงานและองค์กรสำคัญในภูมิภาค ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการศึกษา ผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน เพื่อเป็นข้อมูลเชิงลึกให้กับแบงก์ชาติในการออกมาตรการได้ตรงจุดมากขึ้น แต่บริบทความเป็นอยู่และการใช้ชีวิตในแต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างกันออกไป ทั้งปัญหาที่เผชิญ การใช้ภาษา สื่อที่คนในท้องถิ่นนิยมใช้ หรือวิธีการสื่อสารแบบไหนให้ได้ใจชาวบ้านจึงเป็นอีกโจทย์ใหญ่ของ ธปท.
ภาคเหนือมีความหลากหลายในแง่ของพื้นที่ ทำให้ภาคเหนือตอนบนและตอนล่างค่อนข้างแตกต่างกันในด้านโครงสร้างเศรษฐกิจ ภาคเหนือตอนบนจะเน้นขับเคลื่อนโดยภาคบริการ ขณะที่ภาคเหนือตอนล่างขับเคลื่อนโดยภาคเกษตรเป็นหลัก สำนักงานภาคเหนือ (สภน.) จึงให้ความสำคัญกับการสื่อสารสองทางและการสื่อสารเชิงรุกมาอย่างต่อเนื่องด้วยการลงพื้นที่เพื่อเพิ่มการเข้าถึงและความเข้าใจผ่านการพูดคุยกับคนในพื้นที่
สภน. ลงพื้นที่เกษตรกรผู้ปลูกผักและขายปุ๋ยตามแนว Smart Farming จ.เพชรบูรณ์
อย่างไรก็ดี ในช่วงการระบาดของโควิด 19 มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการในภาคบริการที่อยู่ภาคเหนือตอนบน และประชาชนที่อาจจะไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ดังนั้น การให้ความรู้ทางการเงินและการพูดคุยปรึกษาด้านการแก้หนี้แบบ face-to-face จึงมีความจำเป็น ในช่วงที่ผ่านมา สภน. จึงเน้นการสื่อสาร 2 เรื่องคือ การลงพื้นที่เพื่อประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจ และการให้ความรู้ทางการเงิน
สำหรับการลงพื้นที่เพื่อเข้าถึงผู้ประกอบการและประชาชนนั้น ถือเป็นการสื่อสารในด้านเศรษฐกิจที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม โดย สภน. ลงพื้นที่ในหลายจังหวัดเพื่อรับฟังปัญหา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหน่วยงานราชการ ผู้ประกอบการ และเกษตรกรในพื้นที่ อย่างการลงพื้นที่ในจังหวัดพิษณุโลกและนครสวรรค์ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวในภาคเหนือ แล้วนำข้อมูลที่ได้มาประกอบการประเมิน วิเคราะห์ และออกแบบนโยบายภาครัฐที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาให้เกษตรกร ตลอดจนทำงานศึกษาเชิงลึกเรื่อง "ส่องฐานะเศรษฐกิจครัวเรือน : ก้าวข้ามความท้าทาย สู่นโยบายที่ยั่งยืน" เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับผู้ที่สนใจ
สภน. ลงพื้นที่พูดคุยกับสำนักงานเกษตรจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการประเมินและออกแบบนโยบาย ตลอดจนทำงานศึกษาเชิงลึกเรื่อง “ส่องฐานะเศรษฐกิจครัวเรือนชาวนาไทย : ก้าวข้ามความท้าทาย สู่นโยบายที่ยั่งยืน”
อีกตัวอย่างของการลงพื้นที่คือ การสำรวจการค้าชายแดนในจังหวัดเชียงราย เพื่อติดตามภาวะการค้าขายบริเวณชายแดน ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเทศเมียนมา สปป. ลาว และจีนตอนใต้ ทั้งยังเป็นที่ตั้งของโครงการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเชื่อมโยงรถไฟจีน - ลาว รวมถึงอุปสรรคและโอกาสในระยะต่อไป
สำหรับการให้ความรู้ทางการเงินนั้น สภน. มุ่งเน้นการสื่อสารเชิงรุกเพื่อเพิ่มการเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือทางการเงินได้อย่างรวดเร็วและทันการณ์มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 สภน. จึงลงพื้นที่ให้คำปรึกษาลูกหนี้รายย่อยเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้สิน และชี้ช่องทางที่ลูกหนี้สามารถขอความช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน ผ่านการออกบูธหมอหนี้เพื่อประชาชนตามโอกาสต่าง ๆ
สภน. ร่วมออกบูธให้คำปรึกษาทางการเงินในงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือนให้แก่กลุ่มประชาชนรายย่อย จ.สุโขทัย
ยกตัวอย่างงาน Lanna Expo 2021 จังหวัดเชียงใหม่ งาน Chiang Rai Money Fair จังหวัดเชียงราย งานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน และยุติธรรมพบประชาชน ทั้งภาคเหนือตอนบน คือ จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำปาง และภาคเหนือตอนล่าง คือ จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดสุโขทัย
สภน. ให้ความรู้ทางการเงินเรื่อง วางแผนดี...มีตังค์ แก่กลุ่มกลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน จ.เชียงใหม่
นอกจากนี้ สภน. ได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน อาทิ การปกครองส่วนท้องถิ่น ข้าราชการตำรวจ อัยการ บุคลากรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด สำนักงานสหกรณ์จังหวัด สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ และกลุ่ม MOC Biz Club เพื่อให้คำปรึกษาลูกหนี้แบบกลุ่ม และให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการแก้หนี้ของแบงก์ชาติเพื่อให้นำไปขยายผลต่อกับกลุ่มเป้าหมายต่อไป
ภาคอีสานมีพื้นที่กว้างใหญ่และมีจำนวนประชากรมากถึง 1 ใน 3 ของประเทศ ครัวเรือนส่วนใหญ่ยังอยู่นอกเขตเทศบาล และจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ[1] พบว่าเป็นภาคที่มีทักษะทางการเงินต่ำกว่าภาคอื่น ๆ ความท้าทายในการสื่อสารจึงมุ่งตอบโจทย์ในเชิงกว้างเพื่อให้เกิดความทั่วถึงไปยังประชาชนทุกกลุ่มทุกจังหวัด และโจทย์ในเชิงลึกเพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจต่อสื่อที่เผยแพร่ออกไป สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตให้ตอบโจทย์การสื่อสารอย่างทั่วถึง หัวใจสำคัญจึงอยู่ที่ความร่วมมือจากทุกส่วน สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (สภอ.) จึงสร้างเครือข่ายสื่อสาร 5 กลุ่ม ในทุกจังหวัดของภาคอีสาน เพื่อเป็นช่องทางสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ ได้แก่
กลุ่มภาครัฐ เป็นช่องทางการสื่อสารผ่านกลไกการทำงานของภาคราชการในเวทีต่าง ๆ เช่น การประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดขอนแก่น เพื่อสรุปเศรษฐกิจของภาคทุกเดือน มีการสื่อสารเตือนภัยทางการเงินผ่านหอกระจายข่าวหมู่บ้าน ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญเพื่อให้กำนันและผู้ใหญ่บ้านส่งต่อข่าวสารความรู้ไปยังลูกบ้านให้รู้เท่าทันภัยทางการเงิน
สภอ. ประชุมความร่วมมือในการสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเป็นช่องทางเตือนภัยทางการเงิน สื่อสารมาตรที่สำคัญของ ธปท. และแลกเปลี่ยนข้อมูลในระดับพื้นที่
กลุ่มผู้ประกอบการ เป็นช่องทางการสื่อสารประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจทางด้านเศรษฐกิจและการเงิน โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ผ่านการประชุมหอการค้าหรือสภาอุตสาหกรรม และการออกรายการ "คุยกับหอการค้าขอนแก่น" ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ที่มุ่งให้ความรู้กับกลุ่มสมาชิกที่เป็นผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป
กลุ่มตำรวจ เป็นช่องทางในการส่งข้อมูลข่าวสารเตือนภัยทางการเงิน และรับข้อมูลข่าวสารด้านภัยการเงินในพื้นที่ของแต่ละจังหวัด
กลุ่มสถาบันการเงิน เป็นช่องทางการทำงานร่วมกันในการประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจมาตรการความช่วยเหลือทางการเงินในช่วงโควิด 19 ผ่านชมรมธนาคารภาค และชมรมธนาคารจังหวัด
กลุ่มสื่อมวลชน เพื่อใช้เป็นช่องทางในการกระจายข้อมูลข่าวสารไปยังประชาชนในพื้นที่ผ่านเพจของสื่อมวลชน เช่น เฟซบุ๊กไลฟ์เรื่อง "สูงวัยไร้หนี้" ผ่านเพจอ้ายแคนบอกข่าว เฟซบุ๊กไลฟ์เรื่อง "ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย" ผ่านสื่ออีสานบิซ การออกรายการวิทยุ "ผู้ว่าราชการขอนแก่นพบประชาชน" เรื่อง "รู้จักภัยการเงินกับแบงก์ชาติอีสาน" การให้สัมภาษณ์ผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) จังหวัดขอนแก่น รายการ "ทีวีอีสานรวมใจคนไทยไม่ทิ้งกัน" ที่ออกอากาศครอบคลุมพื้นที่ภาคอีสานตอนบน การให้สัมภาษณ์ผ่าน NBT จังหวัดอุบลราชธานีที่ครอบคลุมภาคอีสานตอนล่าง รายการ "อีสานเช้านี้" เรื่อง "ธปท. กับการแก้หนี้สินของคนอีสาน"
สภอ. ให้สัมภาษณ์รายการ “อีสานเช้านี้” เรื่อง ธปท. กับการแก้ปัญหาหนี้สินของคนอีสานเพื่อประชาสัมพันธ์มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย รวมทั้งช่องทางการติดต่อขอคำปรึกษาหมอหนี้เพื่อประชาชน
นอกจากนี้ ยังมีสื่อวิทยุกระจายเสียงของชุมชนประมาณ 160 แห่ง ทั่วภาคอีสานที่ใช้เป็นช่องทางการกระจายข้อมูลข่าวสารของแบงก์ชาติให้เข้าถึงประชาชนในชุมชนต่าง ๆ ในแต่ละจังหวัดในภาคอีสาน รวมทั้งใช้เป็นช่องทางในการรับข้อมูลข่าวสารที่เป็นกระแสในแต่ละชุมชนของจังหวัดต่าง ๆ เพื่อจับควันเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงินได้ทันท่วงที
สภอ. ร่วมกับ 8 องค์กรเศรษฐกิจ จ.ขอนแก่น จัดโครงการช่วยเหลือให้คำปรึกษาธุรกิจในภาวะที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 เพื่อประชาสัมพันธ์มาตรการต่าง ๆ ของ ธปท. และช่องทางขอสินเชื่อ และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
ด้านการตอบโจทย์การสื่อสารเชิงลึกหรือการผลิตสื่อที่ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถเข้าใจง่าย สภอ. ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตสื่อให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ลดความซับซ้อนของเนื้อหา และมุ่งเน้นประเด็นสำคัญที่ต้องการให้ประชาชนและภาคธุรกิจได้เข้าใจโดยใช้เวลาไม่มาก เช่น การเขียนบทความความรู้และเตือนภัยทางการเงินด้วยภาษาง่าย ๆ การสรุปสภาพเศรษฐกิจด้วยอินโฟกราฟิกหรือคลิปวิดีโอ การผลิตคลิปเสียงความรู้และเตือนภัยทางการเงินเป็นภาษาอีสาน เพื่อสร้างความใกล้ชิดเป็นกันเองกับประชาชน รวมถึงการลดความยาวของรายงานและสื่อคลิปเสียงให้สั้นกระชับ ได้ใจความ สอดคล้องกับวิถีการรับข้อมูลข่าวสารในปัจจุบัน
ในภาวะปกติ สภอ. จะสื่อสารด้านเศรษฐกิจและลงพื้นที่ให้ความรู้ เพื่อยกระดับทักษะทางการเงินของชาวอีสาน แต่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 สภอ. เพิ่มเติมการประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจต่อมาตรการสำคัญของแบงก์ชาติในการช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น ทางด่วนแก้หนี้ คลินิกแก้หนี้ และโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน รวมถึงเตือนภัยทางการเงิน เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการของภาคอีสานรับทราบข้อมูลที่ถูกต้องอย่างทั่วถึง นำมาปรับใช้กับการดำเนินชีวิต
สภอ. ลงพื้นที่โครงการมูลนิธิปิดทองหลังพระ ต.ทุ่งโป่ง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เพื่อส่งเสริมกิจกรรมออมเงิน “ลดรายจ่าย ย้ายมาออม” และให้ความรู้ทางการเงินกลุ่มเกษตรกร
ภาคธุรกิจท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของภาคใต้ที่มีประชาชนทำงานอยู่จำนวนมาก จึงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สำนักงานภาคใต้ (สภต.) เล็งเห็นถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้สินของทั้งผู้ประกอบการภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไป จึงได้จัดงานสัมมนาออนไลน์ร่วมกับผู้ประกอบการและสมาคมธุรกิจหลายภาคส่วน เพื่อสื่อสารมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของแบงก์ชาติและสถาบันการเงิน ไปยังลูกหนี้ภาคธุรกิจและประชาชนให้ได้รับทราบอย่างทั่วถึงและทันท่วงที โดย สภต. ได้จัดงานสัมมนาดังกล่าวขึ้นหลายครั้งทั้ง 14 จังหวัดในภาคใต้ เพื่อครอบคลุมกลุ่มลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบให้มากที่สุด และกระจายให้ทั่วถึงในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะผู้ประกอบการโรงแรม รีสอร์ต ธุรกิจนำเที่ยว ขนส่ง ร้านนวด สปา ตลอดจนร้านค้าและร้านอาหาร
สภต. ให้สัมภาษณ์ Facebook Live รายการแลบ้านแลเมือง เรื่องมาตรการแก้หนี้ระยะยาวเพิ่มเติมด้วยการรีไฟแนนซ์และการรวมหนี้
อีกเหตุผลสำคัญในการจัดงานสัมมนาดังกล่าว คือเป็นช่องทางสำหรับรับฟังความคิดเห็นจากภาคธุรกิจและประชาชนที่มีต่อการดำเนินนโยบายของแบงก์ชาติและสถาบันการเงิน ทั้งในด้านข้อเสนอแนะ อุปสรรค และปัญหาในการติดต่อขอรับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน เพื่อส่งต่อให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องนำไปปรับปรุงหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงต่อไป
สภต. สื่อสารแก้หนี้ออนไลน์กับกลุ่มต่าง ๆ ทั้งรายย่อยและภาคธุรกิจ
นอกจากนี้ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 เริ่มคลี่คลายลง เพื่อให้การช่วยเหลือลูกหนี้ครอบคลุมถึงประชาชนในวงกว้างมากยิ่งขึ้น ประกอบกับประชาชนบางส่วนอาจไม่ได้รับข่าวสารจากช่องทางออนไลน์ สภต. จึงสานต่อภารกิจช่วยเหลือลูกหนี้เชิงรุกอย่างต่อเนื่อง โดยการออกบูธและจัดกิจกรรมนอกสถานที่ เพื่อให้คำปรึกษาในการแก้ไขปัญหาหนี้สินภายใต้โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน ณ ตลาดนัดต่าง ๆ และเข้าร่วมงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือนซึ่งจัดขึ้นในแต่ละจังหวัด โดยมีลูกหนี้เข้ามาขอรับคำปรึกษาจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังได้จัดทำแผ่นพับเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ รวมทั้งช่องทางการติดต่อขอรับความช่วยเหลือ เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนในภาคใต้ได้ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมด้วยตนเอง
สภต. ออกบูธหมอหนี้ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาหนี้
สำหรับงานด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางออนไลน์ ปัจจุบัน สภต. ใช้ Line Official Account ในชื่อว่า "มา.Fin.กัน" โดยแบ่งตามกลุ่มของผู้รับข้อมูลข่าวสาร ได้แก่ (1) กลุ่มสื่อมวลชน (2) กลุ่มประชาชนทั่วไป (3) หน่วยงานภาครัฐและราชการ (4) สถาบันการเงิน และ (5) กลุ่มครูและนักศึกษา ซึ่งเนื้อหาที่สื่อสารจะมีความแตกต่างกันไปตามกลุ่มผู้รับด้วยเช่นกัน นอกจากส่งสารแล้ว Line Official Account ยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ประชาชนสามารถสื่อสารกลับมายังสำนักงานภาคใต้ โดยเฉพาะการแจ้งภัยทางการเงิน ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคเป็นอย่างยิ่ง
สภต. กับงานส่งเสริมความรู้ทางการเงินในกลุ่มนักเรียน นักศึกษาในโครงการ Fin. ดี We Can Do!!!
[1] ดูรายละเอียดได้ที่รายงานผลการสำรวจทักษะทางการเงินของไทย ปี 2563 l 1213.or.th