SWIFT เครื่องมือสื่อสารในโลกการโอนเงินและหลักทรัพย์ระหว่างประเทศ

ภาพประกอบ

 

          ในช่วงที่ผ่านมา เราน่าจะได้ยินคำว่า SWIFT อยู่บ่อย ๆ จากข่าวสถานการณ์ปัจจุบันว่าถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจในกรณีสงครามระหว่างรัสเซีย - ยูเครน แล้ว SWIFT มีบทบาทต่อการโอนเงินและมีความสำคัญต่อธนาคารอย่างไร เราจะมาทำความรู้จักกับความสำคัญของระบบ SWIFT ในการโอนเงินระหว่างประเทศ รวมถึงระบบอื่น ๆ ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ตลอดจนบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการส่งเสริมด้านการเชื่อมโยงระบบการโอนเงินระหว่างประเทศ

 

โอนเงินระหว่างประเทศได้อย่างไร


 

          เมื่อมีการค้าขายระหว่างประเทศ ย่อมมีการชำระราคากัน นั่นคือการโอนเงินจากฝ่ายผู้ซื้อสินค้าไปยังผู้ขายสินค้า เช่น ถ้าผู้นำเข้าคนไทยนำเข้าเมล็ดกาแฟจากผู้ส่งออกชาวบราซิล ผู้นำเข้าก็จะมีหน้าที่ชำระราคา หรือโอนเงินจากธนาคารของผู้นำเข้าในไทยไปยังบัญชีธนาคารของผู้ส่งออกในบราซิล ซึ่งระบบการชำระราคาหรือการโอนเงินนี้ไม่ได้มีการส่งเงินในรูปแบบส่งธนบัตรไปจริง ๆ แต่จะใช้การส่งข้อความไปหักบัญชีระหว่างธนาคารที่มีบัญชีของผู้ซื้อสินค้า และเครดิตเงินไปยังบัญชีของธนาคารที่ผู้ขายสินค้าเปิดไว้ ซึ่งการหักและเครดิตบัญชีนี้จำเป็นต้องมีการสื่อสารระหว่างธนาคารของผู้ซื้อและผู้ขาย ว่าจะหักเงินเป็นจำนวนเท่าไร จากธนาคารใด และเครดิตเงินเข้าที่ธนาคารใด นี่จึงเป็นเหตุให้ระบบส่งข้อความทางการเงินระหว่างธนาคารถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อสื่อสารขั้นตอนต่าง ๆ ตามกระบวนการชำระราคานั่นเอง

 

แผนภาพแสดงการเงินระหว่างประเทศ

   

          จากแผนภาพตัวอย่างนี้ เมื่อผู้ซื้อเมล็ดกาแฟที่ไทยจะโอนเงินไปให้ผู้ขายที่บราซิล ปัญหาที่เกิดขึ้นคือธนาคาร A ของผู้ซื้อไทยไม่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับธนาคาร D ของผู้ขายบราซิล จึงจำเป็นต้องหาตัวกลางมาเชื่อม โดยทั่วไปมักจะเป็นธนาคารในประเทศที่เป็นศูนย์กลางทางการเงิน เช่น สหรัฐอเมริกา (ในกรณีตัวอย่างมีถึงสองธนาคาร คือ B และ C) เมื่อมีการตัดและนำเงินเข้าบัญชีของแต่ละธนาคารเป็นทอด ๆ จนถึงบัญชีของผู้ขายก็จะสิ้นสุดกระบวนการชำระราคา การทำงานร่วมกันของธนาคาร A B C และ D นั้น เป็นความสัมพันธ์แบบ correspondent banking ซึ่งจะทำหน้าที่ประสานงาน และชำระบัญชีเพื่อการโอนเงินระหว่างประเทศตามคำสั่งโอนเงินนั่นเอง แต่คำถามคือ แล้วธนาคาร A B C และ D สื่อสารระหว่างกันด้วยระบบอะไร

 

การถือกำเนิดของระบบการสื่อสาร SWIFT


 

          ในช่วงแรก การโอนเงินต้องอาศัยระบบ correspondent banking ผ่านโครงสร้างสายโทรเลขที่ธนาคารผู้ส่งเงินและผู้รับเงินใช้ เพื่อรับส่งข้อความสื่อสารคำสั่งในการโอนเงิน แม้ว่าระบบโทรเลขจะใช้งานได้ดีในช่วงแรก แต่ข้อเสียคือรับส่งข้อความได้ค่อนข้างช้า รับส่งข้อความได้ไม่เกิน 10,000 รายการต่อวัน และไม่มีมาตรฐานข้อความ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการผิดพลาด

 

          ต่อมา เมื่อพัฒนาการด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ทำให้ในแวดวงการเงินการธนาคารเกิดเป็นกระแสเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ธนาคารในยุโรปและในสหรัฐฯ หลายแห่งจึงรวมกลุ่มกันสร้างระบบ SWIFT หรือ "Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication" ขึ้นในปี 2516 เพื่อให้เป็นระบบมาตรฐานในการรับส่งข้อความ โดยปัจจุบันมีธนาคารแห่งชาติเบลเยียม ซึ่งร่วมมือกับธนาคารกลางกลุ่มประเทศ G-10 อาทิ ธนาคารกลางสหรัฐฯ แคนาดา ญี่ปุ่น และหลายประเทศในยุโรปเป็นผู้กำกับดูแลระบบ SWIFT

 

          SWIFT เป็นแพลตฟอร์มที่มีรูปแบบข้อความเป็นของตัวเอง เพื่อให้ธนาคารสมาชิกใช้บริการรับส่งข้อความทางการเงินระหว่างประเทศที่มีระบบเป็นมาตรฐานสากล รวดเร็ว และปลอดภัย 

 

          ระบบนี้จึงสามารถสื่อสารกับธนาคารและองค์กรสมาชิกกว่า 11,000 แห่ง ใน 200 ประเทศและเขตการปกครอง ในปี 2564 มีการรับส่งข้อความเฉลี่ย 42 ล้านข้อความต่อวัน[1] และล่าสุดมีการเติบโตจากต้นปี 2565 (growth year-to-date) ที่ 8.99%[2] ซึ่งแสดงถึงศักยภาพที่เหนือกว่าระบบโทรเลขดั้งเดิมหลายเท่า โดยมีความเสถียรของระบบ (network availability) ที่ 99.999%[3] ซึ่งความครอบคลุมของระบบ SWIFT นี้เอง ทำให้ SWIFT เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของระบบการโอนเงินระหว่างประเทศ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจค้าขายข้ามชาติ ด้วยเหตุนี้ หลายครั้ง SWIFT จึงถูกใช้เป็นเครื่องมือกดดันเพื่อขู่คว่ำบาตร และตัดช่องทางในการทำธุรกิจ

 

ภาษาที่ใช้ในระบบ SWIFT


 

          ระบบส่งข้อความมาตรฐาน SWIFT Bank Identifier Codes (BIC) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า SWIFT Code คือ ภาษาในระบบ SWIFT เป็นรูปแบบมาตรฐานของรหัสธนาคารที่ใช้ในการโอนเงินระหว่างประเทศ ประกอบด้วย

 

          (1) รหัสธนาคาร 4 หลัก

          (2) รหัสประเทศ 2 หลัก

          (3) รหัสที่อยู่ธนาคาร 2 หลัก

          (4) รหัสสาขาธนาคาร 3 หลัก (optional)

 

ภาษาที่ใช้ในระบบ SWIFT

          SWIFT Code จำเป็นสำหรับการส่งคำสั่งในการโอนเงินระหว่างธนาคาร เพราะการโอนเงินแต่ละครั้ง ผู้โอนจะต้องแจ้งรายละเอียดของผู้รับเงิน และ SWIFT Code ของธนาคารผู้รับเงินต่อธนาคารผู้โอน เช่น หากต้องการโอนเงินไป Bank of America สาขาสำนักงานใหญ่ ที่นครนิวยอร์ก ต้องระบุรายละเอียดของผู้รับเงิน เช่น ชื่อบัญชี เลขที่บัญชี ที่อยู่ของผู้รับเงิน และ SWIFT Code "BOFAUS3NXXX" ทั้งนี้ ยังมีข้อมูลรายละเอียดอื่น ๆ ที่จะส่งไปพร้อมกันด้วย อาทิ หมายเลขอ้างอิง และรูปแบบของการโอน โดยรหัสทั้งหมดอยู่ในรูปแบบมาตรฐานของ SWIFT

 

SWIFT เป็นที่นิยม แต่ยังคงมีค่าธรรมเนียมสูงและใช้เวลานาน


 

          การโอนเงินระหว่างประเทศผ่าน SWIFT มักมีค่าธรรมเนียมสูง (เช่น โอนเงินจำนวน 200 ดอลลาร์สหรัฐจากไทยไปบางประเทศมีค่าธรรมเนียมสูงถึง 1,650 บาท หรือคิดเป็นประมาณ 28% ของยอดเงินที่โอน) เนื่องจากเป็นบริการที่มีหลายขั้นตอน บางกรณีอาจผ่านธนาคารหลายทอด ทำให้ค่าธรรมเนียมรวมต่อครั้งค่อนข้างสูง และใช้เวลาในการโอนเงินต่อครั้งอย่างน้อย 3 - 5 วันทำการ ด้วยต้องอิงกับเวลาทำการของธนาคารที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีเวลาเปิดปิดไม่ตรงกัน SWIFT จึงเหมาะสมกับผู้ใช้ที่เป็นภาคธุรกิจที่ต้องโอนเงินเป็นจำนวนมาก และไม่ค่อยพบลูกค้ารายย่อยอย่างเช่นกลุ่มแรงงานข้ามชาติโอนเงินผ่านระบบ SWIFT  

 

มีระบบโอนเงินอื่นหรือไม่ ถ้าไม่ใช้ SWIFT


 

          แม้ SWIFT จะเป็นระบบโอนเงินที่ใช้กันแพร่หลายในกลุ่มสถาบันการเงิน แต่การทำธุรกรรมระหว่างประเทศ ผู้ซื้อและผู้ขายยังคงมีทางเลือกอื่น เช่น การทำธุรกรรมผ่านระบบ web-based หรือแอปพลิเคชันของธนาคาร หรือในกรณีเป็นการโอนเงินของรายย่อยที่มีวงเงินไม่มากนักสามารถทำผ่านเครือข่ายบริษัทเอกชน เช่น Wise, Ripple และ MoneyGram ได้

 

          นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายขนาดใหญ่อื่น ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะให้เป็นทางเลือกนอกเหนือจาก SWIFT เช่น ระบบ SPFS (System for Transfer of Financial Messages) ของธนาคารกลางรัสเซีย เพื่อใช้ตอบโต้กรณีที่สหรัฐฯ ขู่จะถอนธนาคารรัสเซียออกจากระบบ SWIFT ในปี 2557 หรือระบบ CIPS (Cross-Border Interbank Payment System) ของประเทศจีน ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการค้าขายด้วยสกุลเงินหยวน อย่างไรก็ตาม ทั้งสองระบบยังมีการใช้งานและประเทศที่เข้าร่วมอยู่ในวงจำกัด และยังมีข้อจำกัดในเรื่องเวลาทำการด้วย

 

          สำหรับประเทศไทยเอง ขณะนี้ยังไม่มีธนาคารเป็นสมาชิกในระบบ SPFS และส่วนใหญ่ธนาคารในไทยที่เข้าร่วมระบบ CIPS ก็เข้าในฐานะสมาชิกทางอ้อม (indirect member) ซึ่งในทางปฏิบัติ การทำธุรกรรมด้านชำระเงินของ indirect member ก็ยังต้องส่งข้อมูลผ่านระบบ SWIFT ไปยังธนาคารพาณิชย์ที่เป็นสมาชิกทางตรง (direct member) ที่อยู่ในระบบ ทว่า CIPS ก็เป็นอีกหนึ่งระบบที่น่าจับตามองในการยกระดับขึ้นมาเป็นคู่แข่งของ SWIFT ในอนาคต จากการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของธุรกรรมและจำนวนธนาคารที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก     

 

 

PromptPay - PayNow การโอนเงินระหว่างรายย่อยครั้งแรกของโลก


 

          นอกจากนี้ การพัฒนาโครงการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินระหว่างประเทศในลักษณะทวิภาคีจัดเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการโอนเงินรายย่อย เช่น การโอนเงินระหว่างไทย - สิงคโปร์ภายใต้โครงการ PromptPay - PayNow จัดเป็นนวัตกรรมใหม่ที่สร้างสรรค์ในการโอนเงินระหว่างประเทศ ที่สามารถทำได้แบบทันทีครั้งแรกของโลก และมีค่าธรรมเนียมต่ำกว่าการโอนเงินทั่วไป ล่าสุดนวัตกรรมนี้ได้รับรางวัล "Initiative of the Year" ประจำปี 2565 จากวารสาร "Central Banking" และขณะนี้ ธปท. อยู่ระหว่างการผลักดันให้มีการเชื่อมต่อกับประเทศอื่น ๆ ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกการใช้บริการที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

 

SWIFT

 

          เชื่อว่าระบบ SWIFT น่าจะยังคงอยู่กับวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีทางการเงินในด้านการโอนเงินระหว่างประเทศไปอีกระยะหนึ่ง เพื่อรองรับการทำธุรกรรมระหว่างธนาคารที่ยังคงเป็นผู้เล่นหลัก แต่ด้วยพัฒนาการด้านเทคโนโลยีทางการเงินที่ไม่หยุดนิ่งจะทำให้มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามามีบทบาทและปิดช่องว่างของระบบ SWIFT ได้มากขึ้น ทั้งเรื่องค่าธรรมเนียมและเวลาในการดำเนินการ ซึ่งในอนาคตจะกลายเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์แก่ผู้ใช้บริการทั้งด้านราคาที่ต่ำกว่า การใช้งานที่สะดวกและการดำเนินการที่รวดเร็ว ต้องติดตามกันต่อไปว่าธนาคารและ SWIFT จะมีการปรับบทบาทตัวเองอย่างไร หรือสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ อะไรให้รองรับกับเรื่องดังกล่าวได้  

 

          หมายเหตุ : บทความนี้ได้นำเนื้อหาบางส่วนมาจาก Payment Insight: Bi-monthly Report ซึ่งนำเสนอบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับการชำระเงินของประเทศไทย มีกำหนดเผยแพร่ทุก 2 เดือน 

 

          [1] ในปี 2564 มูลค่าการชำระเงินข้ามพรมแดน (ทั้ง B2B, B2C, C2B และ C2C) รวมกันประมาณ 150 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคิดเป็นกว่า 1.5 เท่าของมูลค่ารวมของ GDP โลกซึ่งมีมูลค่าประมาณ 94 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

          [2] ข้อมูลจาก https://www.swift.com/ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565

 

          [3] หมายความว่า โดยเฉลี่ยระบบจะหยุดทำงานเพื่อการปรับปรุงหรือเหตุอื่น ๆ เพียง 5 นาทีต่อปี (ข้อมูลจาก https://www.swift.com/ และ https://www.swift.com/about-us/discover-swift/fin-traffic-figures)

 

ผู้เขียน:ธนธรรศ บำเพ็ญบุญ