นโยบายการเงินแบบปกติ ในโลกที่ยังไม่ปกติ  
POLICY NORMALIZATION ในสายตาเมธี สุภาพงษ์

          ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งที่ 4 ประจำปี 2565 คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติ 6 : 1 ให้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% (ปรับจาก 0.5% เป็น 0.75%) นับเป็นการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบสามปี และเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกหลังจากที่โลกและสังคมไทยเผชิญวิกฤตโควิด 19

 

นโยบายการเงินแบบปกติ ในโลกที่ยังไม่ปกติ   POLICY NORMALIZATION ในสายตาเมธี สุภาพงษ์

 

          ท่ามกลางสถานการณ์เงินเฟ้อที่เริ่มสูงมาตั้งแต่ต้นปี การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายนัก กระนั้นหลายคนก็ยังคงกังวลว่า การขึ้นดอกเบี้ยอาจทำให้ภาระหนี้หนักขึ้นเมื่อรายได้ที่หดหายไปในช่วงโควิด 19 ยังไม่กลับมาฟื้นตัวดีเท่าระดับเดิม การปรับดอกเบี้ยมีวิธีคิดที่อยู่เบื้องหลังอย่างไร อะไรคือประโยชน์ของนโยบาย และกลุ่มผู้มีรายได้น้อยจะได้รับผลกระทบมากแค่ไหน

          เมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และรองประธานคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คือ หนึ่งในคนที่ตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุด ทั้งในฐานะผู้มีส่วนในการกำหนดดอกเบี้ยนโยบายโดยตรง และในฐานะคนที่สั่งสมความรู้ด้านเศรษฐกิจการเงินโลกและไทยมาอย่างยาวนาน
         

          และนี่คือบทสนทนาระหว่าง BOT พระสยาม MAGAZINE กับคุณเมธี ในประเด็นเศรษฐกิจที่สังคมสนใจมากที่สุดในช่วงที่ผ่านมา

 

การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายรอบล่าสุด แม้ไม่ผิดไปจากที่คาดการณ์ของสังคมส่วนใหญ่มากนัก เพราะหลายธนาคารกลางทั่วโลกขึ้นดอกเบี้ยกันไปแล้ว และบางแห่งขึ้นกันสูงมากด้วย เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็ขึ้นไปก่อนหน้าแล้ว 1.5% อะไรคือเหตุผลที่ทำให้นโยบายการเงินไทยต่างจากที่อื่นในโลก 


          "ประเทศไทยอยู่ในภาวะที่ดอกเบี้ยต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์มาสักระยะหนึ่งแล้ว โดยเป็นนโยบายที่ ธปท. ใช้รับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 แต่ในปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนไปจนถึงปีหน้า ประกอบกับเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ต้นปี 2565 ทำให้ กนง. ประเมินว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องปรับดอกเบี้ยนโยบายสู่ภาวะปกติ หรือที่เรียกว่า policy normalization 

         

          "แต่เหตุผลที่เราไม่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสูงเหมือนธนาคารกลางอื่น เพราะบริบทของเศรษฐกิจไทยต่างออกไป  เศรษฐกิจประเทศอื่นฟื้นตัวกลับไปช่วงก่อนโควิด 19 กันหมดแล้ว นโยบายการเงินของเขาเลยมีเพื่อหยุดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ ส่วนเศรษฐกิจไทยแม้จะฟื้นตัวแล้ว แต่ก็ช้ากว่าที่อื่น ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับไปอยู่ในช่วงก่อนโควิด 19 ในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ดังนั้น โจทย์เศรษฐกิจของเราคือทำอย่างไรการฟื้นตัวจะไม่สะดุด การค่อย ๆ ปรับอัตราดอกเบี้ยจะทำให้ภาคธุรกิจและประชาชนมีเวลาปรับตัว หากใช้คำของผู้ว่าการเศรษฐพุฒิ  สุทธิวาทนฤพุฒิ คือ โจทย์เศรษฐกิจของประเทศอื่นคือ "soft landing" แต่ของประเทศเราเป็น "smooth takeoff"

 

แต่การขึ้นดอกเบี้ยก็ทำให้คนจำนวนมากเดือดร้อน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤต


          "ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ ธปท. ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และ กนง. ก็ถกเรื่องนี้กันเยอะมาก แต่ต้องอธิบายเพิ่มเติม ดังนี้
         

          "ประการแรก เงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นปัญหาต่อประชาชนมากเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเพราะราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายครัวเรือนโดยตรง ดังนั้น การแก้ปัญหาเงินเฟ้อกลุ่มคนรายได้น้อยจะได้ประโยชน์ด้วย ซึ่ง ธปท. ก็ชั่งน้ำหนักตรงนี้และเห็นว่า ประโยชน์ที่จะได้รับจากการควบคุมเงินเฟ้อนั้นมากกว่าภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ต้องเรียนย้ำว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยรอบนี้เป็นการปรับจากภาวะที่ต่ำที่สุด และการขึ้น 0.25% นั้นเป็นการขึ้นที่ 'ไม่มาก' ซึ่งเป็นอัตราที่ ธปท. เชื่อว่า สามารถสร้างสมดุลระหว่างการช่วยชะลอเงินเฟ้อและภาระที่ภาคธุรกิจและประชาชนต้องรับได้
         

          "ประการที่สอง การปรับขึ้นดอกเบี้ยไม่ใช่นโยบายเดียวที่ ธปท. ทำ เราเห็นความจำเป็นในการออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ยังไม่ฟื้นตัวดีจากวิกฤต โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการ ซึ่งมาตรการเหล่านี้ก็ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงการระบาดของโควิด 19 เช่น การลดอัตราผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิต การปรับโครงสร้างหนี้ การให้ความช่วยเหลือกับภาคธุรกิจและประชาชนรายย่อย"

 

แต่การขึ้นดอกเบี้ยก็ทำให้คนจำนวนมากเดือดร้อน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤต

 

หลังจากประชุม กนง. จะมีการแถลงผลการประชุมเสมอ แต่ประชาชนจะทราบเฉพาะข้อสรุป ในฐานะที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการ กนง. จะอธิบายเพิ่มเติมถึงเรื่องที่ประชุมได้อย่างไรบ้าง


          "การประชุม กนง. หลัก ๆ คือติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อวิเคราะห์และประเมิน จากการประชุมรอบที่ผ่านมา กนง. เห็นตรงกันว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยดีขึ้นอย่างชัดเจน เช่น ภาคการท่องเที่ยวเดิมคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยว 6.5 ล้านคน แต่ตอนนี้ประมาณ 8 ล้านคน ก็ดีกว่าที่คาดไว้ แม้ตัวเลขจะยังห่างไกลจาก 40 ล้านคน ช่วงก่อนโควิด 19  แต่ก็ทำให้เรามั่นใจได้ว่า เศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ประมาณการล่าสุดแสดงให้เห็นว่าปี 2566 เศรษฐกิจจะกลับมาโต 4% นิด ๆ ก็เป็นตัวเลขที่ดูดีทีเดียว

         

          "เรื่องที่คุยและใช้เวลาถกกันเยอะมากคือ การฟื้นตัวที่ยังไม่เท่าเทียม ยังมีอีกหลายภาคเศรษฐกิจที่ยังไม่กลับมา ซึ่งส่งผลให้แรงงานจำนวนไม่น้อยยังค่อนข้างลำบาก หัวข้อที่คุยกันเรื่องนี้คือ เรื่องความจำเป็นของมาตรการช่วยเหลือและการผ่อนปรนภาระหนี้ต่าง ๆ

         

          "อีกเรื่องที่คุยกันค่อนข้างลึกก็คือเงินเฟ้อ ซึ่งพิจารณากันทั้งเงินเฟ้อทั่วไป (headline inflation) และเงินเฟ้อพื้นฐาน (core inflation) เรามีข้อมูลวิชาการที่ดีพอที่จะทำความเข้าใจว่า สาเหตุเงินเฟ้อแต่ละตัวมาจากไหน แนวโน้มเป็นอย่างไร และดูได้ด้วยว่าการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ผลิตไปผู้บริโภคเป็นอย่างไร ซึ่งเหตุผลหนึ่งในการตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยรอบนี้ เพราะเริ่มเห็นแล้วว่าผู้ผลิตสินค้า ซึ่งเดิมมีกำไรส่วนเพิ่มอยู่บ้าง และใช้กำไรตรงนี้ดูดซับต้นทุนที่สูงขึ้นเริ่มมาถึงขีดจำกัดแล้ว เราจึงเริ่มเห็นการขึ้นราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคมากขึ้นในสินค้าหลายประเภท

         

          "คนที่เรียนเศรษฐศาสตร์มักจะคุ้นเคยกับปัญหาที่เรียกว่า 'เงินเฟ้อติดลมบน (wage-price spiral)' ซึ่งเป็นปัญหาที่แก้ยากมาก เพราะถ้าปล่อยให้เงินเฟ้อสูงขึ้นไปนาน ๆ ทั้งนักธุรกิจและผู้บริโภคก็จะเปลี่ยน การคาดการณ์ในอนาคต เช่น เดิมคิดว่าเงินเฟ้อประมาณ 2-3% แต่ถ้าเห็นเงินเฟ้อ 7% ต่อเนื่องกันไปก็อาจปรับพฤติกรรม แรงงานจะขอขึ้นค่าแรง ผู้ผลิตสินค้าก็จะขึ้นราคาสินค้า เงินก็ยิ่งเฟ้อเกิดเป็นวัฏจักรไม่มีที่สิ้นสุด ในเชิงจิตวิทยาถ้าเงินเฟ้อติดลมบนแล้วเอาลงยากมาก  คล้ายกับที่เกิดขึ้นในประเทศละตินอเมริกา"

 

อาวุธที่ทรงพลังที่สุดในการสู้กับเงินเฟ้อคือ "การสื่อสาร" กล่าวคือ ธปท. ต้องทำให้สาธารณชนเชื่อให้ได้ว่ากำลังเอาจริงกับปัญหาเงินเฟ้อ และการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็คือการส่งสัญญาณให้ภาคเศรษฐกิจรับรู้ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ กนง. มีมติออกมา ก็มีข่าวทันทีว่า รัฐบาลอยากให้ธนาคารพาณิชย์ตรึงดอกเบี้ยไว้เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง นักวิเคราะห์บางคนจึงตั้งคำถามว่า ทิศทางของนโยบายควรเป็นอย่างไร


          "ภาครัฐแต่ละส่วนมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งต่างคนก็ทำหน้าที่ของตัวเอง ในกรณีนี้ การทำความเข้าใจสถานการณ์ร่วมกันจะเป็นประโยชน์มาก ถึงตรงนี้ ภาครัฐมีความเข้าใจตรงกันแล้วว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ไม่ได้กระทบเศรษฐกิจมาก เป็นเพียงการถอนคันเร่งออกจากเศรษฐกิจ ไม่ได้เป็นการแตะเบรก แต่จะช่วยแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่กระทบประชาชนด้วยเช่นกัน ในอนาคต ธปท. พยายามที่จะสื่อสารให้ชัดเจนมากขึ้น ถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและแนวโน้มนโยบาย เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจมากขึ้นและสามารถปรับตัวได้อย่างสอดคล้องกัน"

 

 

กระบวนการกำหนดนโยบายการเงินของไทยใช้เครื่องมือใหม่ ๆ ในการวิเคราะห์สถานการณ์บ้างไหม


          "การทำนโยบายในปัจจุบันใช้ข้อมูลใหม่ ๆ เป็นฐานในการตัดสินใจเพิ่มมากขึ้น นอกจากข้อมูลเศรษฐกิจที่ใช้เป็นประจำอยู่แล้ว ตอนนี้ ธปท. ใช้เครื่องชี้เศรษฐกิจใหม่ ๆ หลายตัวในการช่วยวิเคราะห์และทำความเข้าใจเศรษฐกิจด้วย เช่น Google mobility index  ซึ่งสามารถดูแบบรายวันได้เลยว่า คนเคลื่อนที่อย่างไร เกิดอะไรขึ้นช่วงล็อกดาวน์ คนเดินทางไปจังหวัดไหน ภาคไหน และกลับมาใหม่หรือเปล่าหลังจากคลายล็อกดาวน์แล้ว หรือข้อมูลธุรกรรมการเงินก็ช่วยทำให้เราเข้าใจและเห็นอะไรใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

         

          "ในอนาคต การนำข้อมูลมาใช้ในการตัดสินใจเชิงนโยบายจะกลายเป็นแนวโน้มใหม่ และ ธปท. ก็เตรียมตัวด้านนี้ไว้พอสมควรแล้ว เรามีสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่มีเครือข่ายนักวิชาการที่ทำงานร่วมกันกว่า 100 คนทั่วประเทศ และยังทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศอีกจำนวนมาก ทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ และสถาบันวิจัยชั้นนำ ดังนั้น หากเกิดอะไรขึ้นที่ประเทศไหน หรือมีวิทยาการใหม่ ๆ เราจะสามารถติดตามได้หมด

 

Khun Mathee

 

ธปท. ตีโจทย์สถานการณ์เศรษฐกิจโลกอย่างไร เพราะเศรษฐกิจไทยถือว่ามีขนาดเล็กและค่อนข้างเปิด ความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในเศรษฐกิจการเงินโลก ย่อมส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจการเงินไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


          "เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกผ่านประเทศคู่ค้าและการลงทุนจากต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งต้องพิจารณาเป็นรายประเทศไป ในช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวค่อนข้างเร็วและอัตราเงินเฟ้อสูง เดิมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) คิดว่า เงินเฟ้อมีสาเหตุมาจากด้านอุปทานและมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจบ้าง โดยมองว่าเป็นเรื่องชั่วคราว ซึ่งทั่วโลกก็มองแบบนั้น แต่กลับกลายเป็นว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ รุนแรงและยาวนานกว่าที่คิด ดังนั้น Fed จึงต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อหยุดเงินเฟ้อ ซึ่งก็ทำให้หลายคนจับตามองว่าจะเกิดการหดตัวของเศรษฐกิจไหม อันนี้เป็นความเสี่ยงที่ ธปท. กำลังจับตาอยู่

         

          "ยุโรปเผชิญปัญหาคล้ายสหรัฐฯ คือ เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวแต่ปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงกว่าเดิมมาก เพราะสงครามรัสเซียกับยูเครนทำให้ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหลักสูงขึ้นมาก แต่ปัญหานี้ก็เหมือนจะทุเลาลงไป เพราะอุปทานของพลังงานที่กังวลว่าจะหายไปเยอะ ก็ไม่ได้เยอะเท่าที่คาด ด้วยเหตุผล 2 ประการ ประการแรกคือ เศรษฐกิจหลายประเทศเริ่มชะลอตัวลง ความต้องการใช้พลังงานจึงลดลง ประการที่สองคือ หลายประเทศไม่ได้ตัดขาดการซื้อน้ำมันจากรัสเซียเหมือนที่เคยคาดการณ์กันไว้ ดังนั้น ราคาพลังงานจึงเริ่มปรับลงมาบ้างแล้ว

         

          "อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องจับตาในระยะใกล้คือ ปริมาณการใช้พลังงานในฤดูหนาว ซึ่งน่าจะทำให้ราคาพลังงานกลับมาสูงขึ้น แต่หากผ่านตรงนี้ไปได้ราคาพลังงานก็น่าจะลดลง ปัญหาเงินเฟ้อในภาพรวมก็น่าจะทุเลาลงด้วย

         

          "ส่วนสถานการณ์ในประเทศจีนกระทบเศรษฐกิจไทยโดยตรงผ่านนโยบาย Zero-COVID เพราะตราบเท่าที่จีนยังปิดประเทศ นักท่องเที่ยวก็กลับมาไม่ได้ ก่อนโควิด 19 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามา 10-12 ล้านคน รายได้ตรงนี้จึงหายไปเยอะมาก แต่ยังโชคดีว่าการส่งออกของไทยไปจีนไม่ได้กระทบมาก ซึ่งตอนนี้ต้องถือว่าเป็นข่าวดี แต่สิ่งที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดคือ วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในจีนซึ่งอาจลุกลามบานปลายไปสู่วิกฤตอื่นได้

         

          "กลุ่มเศรษฐกิจสุดท้ายที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยมากคือ อาเซียน ซึ่งอยู่ในระยะที่มีการฟื้นตัวจากโควิด 19 เช่นเดียวกับไทย ตอนนี้การส่งออก-นำเข้าที่เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลักก็ดำเนินไปด้วยดี ยังไม่มีประเด็นอะไรที่ต้องกังวลมากนัก อย่างไรก็ดี ช่วงนี้ประเทศในอาเซียนมีความเสี่ยงสำคัญจากสถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะความตึงเครียดกรณีไต้หวันและสถานการณ์ในพม่า ซึ่งจำเป็นต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด"

 

นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า สถานการณ์ในโลกตอนนี้ไม่ใช่เรื่องชั่วคราว แต่เป็นการเปลี่ยนระเบียบเศรษฐกิจการเมืองครั้งใหญ่ คุณเมธีมองเรื่องนี้อย่างไร และปรากฏการณ์นี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเงินไทยอย่างไร


          "การแยกค่ายแยกขั้วระหว่างสหรัฐฯ กับจีนไม่ใช่แค่เรื่องความแตกต่างของอุดมการณ์ทางการเมือง แต่มีมิติของเศรษฐกิจและการเงินอยู่มาก หลายคนบอกว่าเมื่อจีนผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกผ่านองค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2543 จีนไม่ได้ส่งออกแค่สินค้าราคาถูกเท่านั้น แต่ส่งออกเงินเฟ้อต่ำไปทั่วโลกด้วย ถ้าเศรษฐกิจค่ายจีนกับสหรัฐฯ แยกจากกัน ก็อาจจะกระทบเงินเฟ้อโลกด้วย ยิ่งถ้าการแบ่งค่ายรุนแรงมากขึ้น หลักคิดในการบริหารห่วงโซ่อุปทานของการชำระเงินระหว่างประเทศจะเน้นป้องกันความเสี่ยงด้านการเมือง และให้ความสำคัญกับการพึ่งพาประเทศอื่นน้อยลง ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์แล้วถือว่า 'ประสิทธิภาพ' น้อยลง สินค้าและบริการก็อาจแพงขึ้นได้

         

          "ความขัดแย้งกรณีไต้หวันเป็นอีกหนึ่งกรณีที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหาศาล แม้เศรษฐกิจไต้หวันจะมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับจีน แต่ความสำคัญของไต้หวันคือการเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จีนยังมีน้อย ดังนั้น ถ้าไต้หวันไปรวมกับจีน เศรษฐกิจจีนจะแข็งแกร่งขึ้นมาก ในขณะที่สหรัฐฯ ก็คงยอมให้เรื่องนี้เกิดขึ้นไม่ได้ หากต้องการรักษาความเป็นมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจอันดับหนึ่งไว้

         

          "นี่เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น ยังมีอีกหลายเหตุปัจจัยที่ความเปลี่ยนแปลงในภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการเงิน ซึ่งต้องใช้เวลาศึกษาดูว่า ประเด็นเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงและคลี่คลายอย่างไร"

 

Khun Mathee

 

ถ้าหันมาโฟกัสที่เศรษฐกิจไทย แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังเป็นอย่างไร อะไรคือโอกาสและความเสี่ยงที่รออยู่


          "ภาคการท่องเที่ยวเป็นโอกาสที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย เพราะเรายังเป็นประเทศที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกให้ความสนใจอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อไม่ได้เที่ยวมาหลายปี  จะเห็นว่าแม้นักท่องเที่ยวจีนและรัสเซียซึ่งเคยเป็นกลุ่มหลักจะยังไม่กลับมา เนื่องจากสถานการณ์ในประเทศของพวกเขา แต่นักท่องเที่ยวจากชาติอื่น เช่น อาเซียนและอินเดีย ก็กลับเข้ามากันค่อนข้างมาก ซึ่งหากภาคท่องเที่ยวฟื้น ภาคบริการอื่น ๆ ก็จะฟื้นตามด้วย  

         

          "ความเสี่ยงในระยะสั้นของเศรษฐกิจไทยคือ แรงกระตุ้นจากภาครัฐที่อาจมีข้อจำกัด เนื่องจากตลอดสองปีที่ผ่านมา รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจเยอะมาก หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจากกว่า 40% มาเป็น 60% ทำให้มีการเพิ่มเพดานหนี้จาก 60% เป็น 70% ของจีดีพี และมีการออกพระราชกำหนดสองฉบับของรัฐบาลเพื่อปรับวินัยการเงินการคลังของรัฐบาลจาก 30% เป็น 35%

         

          "ในช่วงที่ผ่านมา ภาครัฐใช้เงินไปเยอะมากกับการเยียวยาและกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงโควิด 19  ดังนั้น จึงยากที่เราจะเห็นการอัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบเหมือนช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับนโยบายเพื่อเข้าสู่ภาวะปกติเช่นกัน เพื่อรักษาวินัยทางการคลังในระยะยาว

         

          "อย่างไรก็ตาม หากมองภาพใหญ่และระยะยาวมากขึ้น ต้องย้ำว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในความเสี่ยงมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่สังคมสูงวัย การลงทุนในประเทศต่ำ ปัญหาผลิตภาพต่ำ ปัญหาหนี้ครัวเรือน ฯลฯ ซึ่งมีการพูดกันไปมากแล้ว ปัญหาเหล่านี้จะเป็นแรงฉุดสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยยกระดับต่อไปได้ยาก"

 

นักเศรษฐศาสตร์มักจะพูดว่า การทำนโยบายเศรษฐกิจช่วงที่โควิด 19 ระบาดต้องฉีกตำราเศรษฐศาสตร์ทิ้ง ตอนนี้เรากลับมาใช้ตำราได้หรือยัง หรือว่าต้องหาวิธีการใหม่ไปเรื่อยๆ


          "ตอนเกิดวิกฤต เป็นธรรมดาที่เราจำเป็นต้องก้าวข้ามอะไรบางอย่าง เช่น ทฤษฎีหรือกระบวนการปกติที่ใช้อยู่ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วทันการณ์ เพราะยิ่งช้าเท่าไหร่ ความเสียหายยิ่งรุนแรงและแก้ไขได้ยากขึ้น ช่วงสองปีที่ผ่านมา ธปท. เองก็ทำงานด้วยวิธีคิดนี้ เช่น การออกพระราชกำหนดซึ่งเป็นเครื่องมือพิเศษ ที่เน้นความเร็วในการช่วยเหลือธุรกิจและประชาชน หรือในต่างประเทศ เราเห็นการทำนโยบาย Quantitative Easing (QE) ที่ตำราสมัยเรียนสอนไว้เลยว่า ธนาคารกลางไม่ควรทำนโยบายแบบนี้ หรือการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยติดลบก็ไม่มีตำราเศรษฐศาสตร์ที่ไหนเคยสอนไว้ เพราะในทางทฤษฎีมันไม่มีสมมติฐานที่ว่าคนเอาเงินไปฝากธนาคารแล้วต้องจ่ายดอกเบี้ยให้ธนาคาร แต่เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ปกติ หากตำราและทฤษฎีสามารถนำกลับมาใช้ได้ ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะไม่ใช้" 

 

มีหนังสือหรือเอกสารแนะนำให้อ่านเพื่อทำความเข้าใจเศรษฐกิจการเงินโลกและไทยในช่วงนี้ไหม


          "หากลองสังเกตจะเห็นว่า หนังสือและเอกสารวิชาการต่าง ๆ ก็เริ่มมีการแบ่งค่ายมากขึ้น แม้จะเป็นชุดข้อมูลเดียวกัน แต่ค่ายตะวันตกกับค่ายตะวันออกตีความไม่เหมือนกันเลย เช่น ปัญหาอสังหาริมทรัพย์ในจีน ทางตะวันตกมีแนวโน้มจะบอกว่า รัฐบาลจีนเอาไม่อยู่แน่ ๆ ต้องยอมปล่อยให้ฟองสบู่แตก แต่หากอ่านของทางจีนก็ฟันธงว่า เศรษฐกิจจีนยังโอเค ฟื้นได้แน่นอน  ดังนั้น การอ่านหนังสือของนักเขียนคนใดคนหนึ่งหรือสื่อใดสื่อหนึ่งนั้นอาจทำให้มองมุมเดียว ถ้าจะแนะนำคงต้องบอกว่า อ่านให้หลากหลาย อ่านแล้วใช้วิจารณญาณดู"

 

ความเห็นต่อคำกล่าวของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ในการประชุมที่ Jackson Hole


          การประชุม Jackson Hole ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้มีความเห็นว่า การจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อและการทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงสู่เป้าหมายร้อยละ 2 ต่อปี เป็นเรื่องที่ Fed ให้น้ำหนักมากที่สุด แม้ว่าอาจทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือสร้างปัญหาในตลาดแรงงาน ความเห็นนี้มีลักษณะที่ Hawkish กว่าที่ตลาดการเงินคาด โดยตลาดคาดว่าเมื่อ Fed เห็นว่าเศรษฐกิจหรือตลาดแรงงานมีปัญหา ก็จะลดอัตราการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายลง และจะหยุดการขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า และอาจจะเริ่มลดดอกเบี้ยฯ ในการประชุมครั้งถัดๆ ไป 

         

          คำกล่าวของประธาน Fed ทำให้ราคาสินทรัพย์ในตลาดต่าง ๆ ลดลงอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน ก็ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งขึ้นต่อเนื่อง มีผลให้ค่าเงินสกุลต่าง ๆ รวมถึงค่าเงินบาทได้อ่อนลงทันที  ซึ่งทำให้โลกรอคอยผลการประชุม FOMC ในวันที่ 20-21 กันยายนนี้*อย่างใจจดใจจ่อ ว่าจะเป็นอย่างไร ตามที่ตลาดคาดการณ์หรือไม่

 

*เรียบเรืยงบทสัมภาษณ์นี้เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565