ของฝากจากงาน WORLD ECONOMIC FORUM

World Economic Forum (WEF) เป็นองค์กรระหว่างประเทศ มีการจัดงานประชุมประจำปี ณ เมืองดาวอส สหพันธรัฐสวิส เป็นเวลากว่า 50 ปีที่ WEF เป็นเวทีใหญ่ที่บุคคลสำคัญ ในหลากหลายด้าน ทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ นักวิชาการ สื่อมวลชน และบุคคลที่มีชื่อเสียงชั้นนำของโลกมาร่วมงานเพื่อแลกเปลี่ยนและนำเสนอแนวคิด รวมถึงสร้างความร่วมมือทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาระหว่างประเทศ เพื่อรองรับความท้าทายระดับโลกพร้อมทั้งกำหนดทิศทางที่ยั่งยืนในอนาคต

         

สำหรับปีนี้มีการจัดงานประชุมประจำปีในวันที่ 22-26 พฤษภาคม 2565 ภายใต้ธีม History at a Turning Point: Government Policies and Business Strategies โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 2 พันคนจากหลายประเทศทั่วโลก งาน WEF ในครั้งนี้กลับมาจัดงานในรูปแบบพบหน้ากันอีกครั้ง หลังจากต้องจัดงานผ่านระบบออนไลน์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจากผลกระทบของโรคโควิด 19  และมีการหารือในทิศทางสำคัญ 6 ประเด็น ดังนี้

 

1. สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน


รัสเซียรุกรานประเทศยูเครนตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์และยังคงยืดเยื้อไปถึงช่วงการจัดงาน WEF ในปีนี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนชาวยูเครนจำนวนมาก โดยผู้จัดงาน WEF ไม่ได้เชิญประธานาธิบดี Vladimir Putin ของรัสเซียมาร่วมงานเหมือนอย่างทุกครั้งที่ผ่านมา แต่ในขณะเดียวกันได้มีการเชิญประธานาธิบดี Volodymyr Zelenskyy ของยูเครนให้มากล่าวผ่าน live session พิเศษถึงข้อเรียกร้องให้ทุกประเทศมีมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจแก่ประเทศรัสเซียในระดับสูงสุด ซึ่งสะท้อนถึงท่าทีของนานาชาติที่มีต่อการรุกรานในครั้งนี้ ตลอดจนมีการหารือถึงผลกระทบอื่น ๆ ที่ตามมา เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่มีท่าทีแตกต่างกันต่อความขัดแย้งครั้งนี้ รวมไปถึงข้อเรียกร้องให้ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรนานาชาติ ร่วมมือแก้ไขความขัดแย้งและนำสันติภาพกลับมาอีกครั้ง

 

2. วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ วิกฤตอาหาร และวิกฤตพลังงาน


Oil pump cold winter and snow. Back light, white cloudy and blue sky background, sunlight

แม้ว่าจะมีการหารือเรื่องวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในงาน WEF มาอย่างต่อเนื่อง แต่จะเห็นได้ว่าปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร ข้อมูลปี 2564 พบว่าการปล่อยมลพิษทั่วโลกยังไม่ลดลงแต่กลับเพิ่มสูงขึ้น 6% ขณะที่มีการใช้ถ่านหินเพิ่มสูงขึ้น 9%  และยังส่งผลกระทบต่อวิกฤตการณ์อาหารโลก เนื่องจากหลายประเทศได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิ หรือระดับน้ำทะเลที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรลดน้อยลง ในขณะเดียวกันพบว่า กระบวนการผลิตอาหารปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าหนึ่งในสามของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดทั่วโลก วิกฤตทั้งสองจึงเชื่อมโยงกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

          

ปัจจุบันประชากรกว่า 1 พันล้านคน มีปัญหาการขาดแคลนสารอาหาร และคาดการณ์ว่าในปี 2593 ทั่วโลกต้องเพิ่มผลผลิตทางอาหารมากกว่า 60% ถึงจะเพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตอาหารและเทคโนโลยีสำหรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงจะเป็นทางออกสำหรับความมั่นคงทางอาหารในอนาคต

          

วิกฤตพลังงานอาจส่งผลให้ให้วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความรุนแรงขึ้น จะเห็นได้จากสงครามในประเทศยูเครนทำให้เกิดปัญหาด้านพลังงานในหลายประเทศของภูมิภาคยุโรป การลงโทษทางเศรษฐกิจแก่รัสเซียส่งผลให้รัสเซียในฐานะผู้ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติตอบโต้กลับ โดยการลดปริมาณการส่งออกให้แก่ประเทศในยุโรปสำหรับการผลิตไฟฟ้า ทำให้หลายประเทศทบทวนการกลับมาใช้ถ่านหินสำหรับผลิตไฟฟ้า สาเหตุดังกล่าวมีผลต่อปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างมลภาวะให้กับสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น

         

จะเห็นว่าวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ วิกฤตอาหาร และวิกฤตพลังงานมีความสัมพันธ์กัน และทุกปัญหามีความรุนแรงกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้คนจำนวนมาก หากทุกคนไม่ร่วมมือกันอย่างตั้งใจและเห็นอกเห็นใจต่อผู้ได้รับผลกระทบ ปัญหาเหล่านี้จะไม่ได้รับการแก้ไขและจะส่งผลกระทบต่อมนุษยชาติรุ่นต่อไป

 

3. ความกังวลที่จะเกิด Recession



Lviv, Ukraine - March 3, 2022: A crowd of people transiting through Lviv stand outside the Lviv train station.

อีกประเด็นที่มีการหารือในการประชุม WEF คือการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกจากปัญหาเงินเฟ้อสูงเนื่องจากวิกฤตในประเทศยูเครน ที่ส่งผลต่อต้นทุนราคาพลังงานทั่วโลก โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก และภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดน่าจะเป็นในยุโรป ที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียเกิดเงินเฟ้อจากราคาพลังงาน ทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งพยายามควบคุมเงินเฟ้อด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและมีความกังวลที่แต่ละประเทศอาจจะต้องเผชิญปัญหาเศรษฐกิจถดถอยจากการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลาง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศยุโรป

 

4. การเตรียมพร้อมสำหรับการแพร่ระบาดครั้งหน้า


Coronavirus Asian flu ncov over Earth background and its blurry hologram. Concept of cure search and global world. 3d rendering toned image. Elements of this image furnished by NASA

สำหรับการแพร่ระบาดของโควิด 19 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นำไปสู่การหารือระหว่างผู้นำถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะเรื่องความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคระบาดอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดในอนาคต โดยจากวิกฤตโควิด 19 ที่ผ่านมาพบว่า ประชาชนในประเทศรายได้สูงได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงประมาณ 75% แต่ขณะเดียวกัน สถานการณ์กลับแตกต่างออกไปในประเทศที่มีรายได้ต่ำ มีประชาชนเพียง 13% เท่านั้นที่ได้รับวัคซีน ยิ่งไปกว่านั้น มีการเปรียบเทียบว่า "การไม่จัดสรรวัคซีนโควิด 19 อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมก็ไม่ต่างจากการเหยียดเชื้อชาติ"

         

ในการประชุมครั้งนี้ Pfizer บริษัทยาชั้นนำซึ่งเป็น strategic partner ของ WEF ได้มีข้อตกลงร่วมกัน (accord for a healthier world) โดยนำเสนอยาและวัคซีนที่ได้รับการคุ้มครองสิทธิบัตรทั้งหมดของทางบริษัท รวมถึงวัคซีนป้องกันโควิด 19 บนพื้นฐานของการไม่แสวงหาผลกำไรให้กับ 45 ประเทศที่มีรายได้น้อยด้วย เพื่อเตรียมการสำหรับการแพร่ระบาดของโรคในอนาคต

 

5. อนาคตของการทำงาน (Future of Work)


Young design team in a modern looking office having an informal meeting and looking at information on a digital tablet. Bangkok, Thailand. April 2017

การแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน จากการศึกษาพบว่าหากทำสิ่งใดเป็นเวลา 60 วันติดต่อกัน จะทำให้คนเราเปลี่ยนพฤติกรรมได้ การระบาดของโควิด 19 ที่กินระยะเวลากว่า 2 ปีจึงส่งผลให้คนจำนวนมากเปลี่ยนพฤติกรรมให้คุ้นเคยกับการทำงานจากบ้าน และเมื่อหลายบริษัทให้พนักงานกลับไปทำงานในสำนักงานตามรูปแบบปกติ ทำให้พนักงานไม่คุ้นชิน ซึ่งอาจจะเป็นหนึ่งในสาเหตุของการลาออกของคนจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา (the great resignation) และยังพบว่าการทำงานในรูปแบบไฮบริดทั้งทำงานที่สำนักงานและทำงานจากที่อื่น ๆ นอกจากจะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ประมาณ 5% พนักงานยังมีความสุขจากการทำงานเพิ่มขึ้น เพราะสามารถจัดสรรเวลาการทำงานได้และมี work-life balance เพิ่มมากขึ้น

         

นอกจากนี้ ได้มีการพูดถึงความสำคัญของการ reskill แรงงานเพื่อเพิ่มทักษะที่เป็นที่ต้องการในปัจจุบัน โดยเฉพาะทักษะดิจิทัลที่ยังขาดแคลน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนควรต้องร่วมมือ เพื่อให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรแรงงานที่ดีขึ้น และส่งผลดีต่อโอกาสทางเศรษฐกิจในภาพรวม นอกจากนี้ ได้มีการออก white paper เรื่อง Jobs of Tomorrow: The Triple Returns of Social Jobs in the Economic Recovery ที่พูดถึงการสร้างงานที่เกี่ยวกับงานบริการสังคม เช่น งานดูแลผู้สูงอายุหรือเด็กเล็ก โดยคาดว่า ในปี 2573 ประชากรโลกจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นไปแตะ 8.5 พันล้านคน ทำให้มีความขาดแคลนแรงงานด้านบริการสังคม โดยเห็นว่าภาครัฐหรือผู้กำหนดนโยบายควรให้ความสำคัญและส่งเสริมงานประเภทดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลดีต่อสภาพสังคมและเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

 

6. เทคโนโลยีดิจิทัล



Man wearing VR glasses virtual Global Internet connection metaverse with a new experience in metaverse virtual world."nMetaverse technology concept Innovation of futuristic.

เป็นที่ยอมรับว่าเทคโนโลยีดิจิทัลมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของโลกเป็นอย่างมาก งานประชุม WEF ครั้งนี้ จึงมีการหารือเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ การเงิน และการศึกษาได้มากยิ่งขึ้นด้วยต้นทุนที่ถูกลง นอกจากนี้ ยังมีการหารือถึงเรื่องกฎระเบียบในการกำกับดูแลเทคโนโลยีดิจิทัลในอนาคต เพราะเห็นว่าเทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทในชีวิตของผู้คนทั่วโลกเป็นอย่างมาก ซึ่งหากมีกฎเกณฑ์ที่จะมากำกับดูแลในอนาคต บริษัทเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดก็ควรยอมรับและปรับตัวให้เข้ากับกฎเกณฑ์ที่จะมากำกับดูแล นอกจากนี้ ได้มีการพูดถึงแนวทางการพัฒนา Metaverse ในอนาคตว่า การพัฒนา Metaverse ควรต้องมีเรื่องของธรรมาภิบาลควบคู่กับการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

World Economic Forum | weforum.org

6 themes at Davos 2022 that will define what happens next | weforum.org

กระทรวงการต่างประเทศ | mfa.go.th

Recession fears cast shadow over Davos gathering | bbc.com
Hong Kong shares down nearly 3%, Asia markets drop as geopolitical tensions rise over Pelosi visit | cnbc.com