BACK TO NORMAL ก้าวต่อไปนโยบายการเงินไทยภายใต้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

BACK TO NORMAL ก้าวต่อไปนโยบายการเงินไทยภายใต้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

          ในช่วงวิกฤตโควิด 19 เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบรุนแรงเป็นวงกว้าง และฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาค หัวใจสำคัญของการดำเนินนโยบายการเงินและมาตรการทางการเงินจึงเน้นไปที่การบรรเทาผลกระทบและดูแลให้เศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวได้ ในขณะที่ระบบสถาบันการเงินยังทำงานได้อย่างปกติที่สุด แบงก์ชาติจึงได้ออกมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ รวมทั้งผ่อนเกณฑ์การกำกับดูแลเพื่อลดภาระให้สถาบันการเงินสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้มากขึ้น ที่สำคัญ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ลดดอกเบี้ยนโยบายลงไปในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.5% ต่อปี เพื่อดูแลให้ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลาย และต้นทุนทางการเงินไม่สูงจนเกินไป

 

          ล่าสุด เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 กนง. มีมติให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 0.5% เป็น 0.75% ต่อปี ถือเป็นการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกหลังคงดอกเบี้ยไว้กว่า 2 ปี BOT พระสยาม MAGAZINE ฉบับนี้ จึงขอพาไปหาคำตอบของคำถามสำคัญว่า ทำไม กนง. จึงได้เริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ย และแนวทางการปรับนโยบายจะเป็นอย่างไร

 

3 เหตุผลหลักในการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.


          เหตุผลแรก เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวชัดเจนขึ้นและมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการใช้จ่ายของภาคเอกชนและการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ หลังภาครัฐผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ส่วนตลาดแรงงานทยอยปรับดีขึ้น จำนวนผู้ว่างงานและเสมือนว่างงาน[1] มีแนวโน้มปรับลดลง ขณะที่รายได้เกษตรกรและแรงงานนอกภาคเกษตรกลับมาเพิ่มขึ้น

 

          มองไปข้างหน้า คาดว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดย กนง. คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้และปีหน้าจะโต 3.3% และ 4.2% ตามลำดับ[2] สูงกว่าปี 2564 ที่โตเพียง 1.5% ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อไปได้ คือ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่คิดเป็นสัดส่วนถึง 12% ของจีดีพี และ 20% ของการจ้างงานรวม หากไม่มีการกลายพันธุ์ของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือมีการกลับมาใช้มาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศอีก คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้น จากความต้องการเดินทางที่ถูกจำกัดมานานในช่วงโควิด 19

 

          เหตุผลที่สอง ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีมากขึ้น ในช่วงที่ผ่านมาเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่มาจากปัจจัยด้านอุปทานตามราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อเป็นหลัก โดยเห็นการส่งผ่านต้นทุนในประเทศเพิ่มมากขึ้นและกระจายไปยังสินค้าหลายหมวด รวมถึงสินค้าในกลุ่มเงินเฟ้อพื้นฐาน (เงินเฟ้อที่ไม่รวมพลังงานและอาหารสด) เช่น ราคาอาหารสำเร็จรูป ราคาของใช้ส่วนตัว ล่าสุด เงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2565 อยู่ที่ 7.61% แม้จะปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า แต่ยังอยู่ในระดับสูง โดย กนง. คาดว่า เงินเฟ้อทั่วไปปี 2565 จะอยู่ที่ 6.2% สูงกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% ก่อนจะปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 2566 ที่ 2.5%[3] ในระยะต่อไป ยังมีความเสี่ยงที่เงินเฟ้ออาจสูงขึ้นอีกซึ่งอาจเป็นผลจากต้นทุนสินค้าและบริการหลายประเภทที่อาจปรับเพิ่มขึ้นพร้อมกัน และผลของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่อาจทำให้การส่งผ่านต้นทุนในประเทศไปยังราคาสินค้าและบริการมากและเร็วกว่าคาด รวมทั้งแรงกดดันจากความต้องการซื้อสินค้าและบริการ (อุปสงค์) ที่น่าจะเร่งขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ทั้งหมดนี้ อาจส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐานและเงินเฟ้อคาดการณ์ปรับสูงขึ้นได้

 

"บริบทเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปมากเทียบกับช่วงวิกฤตโควิด 19
ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินต้องปรับให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจการเงิน
และสมดุลความเสี่ยงใหม่ที่ให้น้ำหนักกับเงินเฟ้อมากขึ้น"

 

          แม้ที่ผ่านมาเงินเฟ้อจะสูงขึ้นจากปัจจัยด้านอุปทาน ซึ่งการใช้นโยบายดอกเบี้ยไม่สามารถจัดการได้โดยตรง แต่การขึ้นดอกเบี้ยจะช่วยสร้างความมั่นใจกับประชาชนว่าภาวะเงินเฟ้อจะทยอยปรับลดลงได้ในระยะข้างหน้า ในทางกลับกัน หากปล่อยให้เงินเฟ้อสูงขึ้นและสูงนานต่อเนื่อง จะยิ่งกระทบกำลังซื้อของประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย อีกทั้งคนจะมองว่าเงินเฟ้อจะสูงต่อไปเรื่อย ๆ และเริ่มปรับราคาสินค้าและขอขึ้นค่าแรงตาม กลายเป็นการสตาร์ตเครื่องยนต์ด้านเงินเฟ้อ ทำให้เงินเฟ้อยิ่งเพิ่มขึ้นเร็ว และปรับลดลงได้ยาก จนเป็นวงจรเงินเฟ้อสูง-ค่าแรงแพงไม่รู้จบ (wage-price spiral)

 

          เหตุผลที่สาม ระบบการเงินโดยรวมยังคงมีเสถียรภาพ ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนสภาพคล่อง และเงินสำรองสูงเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงในระยะข้างหน้า ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ยังมีกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย และผู้ประกอบการ SMEs ในสาขาธุรกิจที่ฟื้นตัวช้า ซึ่งต้องอาศัยมาตรการทางการเงินเฉพาะจุดเพื่อช่วยเหลือกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่อง

Bangkok, Thailand, February 12, 2020-travelers  at Bangkok International Airport walking with luggage, wearing surgical masks following the Coronavirus outbreak.

การท่องเที่ยวระหว่างประเทศเริ่มกลับมาคึกคัก ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญญาณว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว

 

 

          การขึ้นดอกเบี้ยแม้จะเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือนที่มีหนี้ แต่เมื่อเปรียบเทียบผลที่ได้ต่อเศรษฐกิจโดยรวมแล้วยังเหมาะสมที่จะทำ เนื่องจากแบงก์ชาติประเมินว่าผลของดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นต่อค่าใช้จ่ายของครัวเรือนจะน้อยกว่าผลของเงินเฟ้อที่จะลดทอนกำลังซื้อของประชาชนถึง 7 เท่า นอกจากนี้ ลูกหนี้รายย่อยกว่า 60% ได้รับดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่ (fixed rate) อยู่แล้ว จึงไม่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ย

 

          เมื่อชั่งน้ำหนักปัจจัยต่าง ๆ ทั้งจากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน ระบบการเงินยังเข้มแข็ง ขณะที่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อสูงขึ้น กนง. จึงเห็นว่าการคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับผ่อนคลายมากเป็นพิเศษ เพื่อรองรับผลกระทบจากวิกฤตโควิด 19 มีความจำเป็นลดลง และสามารถทยอยปรับกลับสู่ระดับปกติได้

GDP and Inflation ของไทย

 

แนวทางการปรับนโยบายกลับสู่ภาวะปกติของไทย


          ด้วยบริบทของเศรษฐกิจไทยที่กำลังฟื้นตัว เป้าหมายสำคัญของการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงนี้คือ ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ไม่สะดุด หรือที่เรียกว่ามี smooth takeoff และเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ สิ่งสำคัญที่ต้องทำให้เกิดคือดูแลเงินเฟ้อไม่ให้กระทบกำลังซื้อของประชาชน จนสร้างผลเสียต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และดูแลให้ระบบสถาบันการเงินยังเข้มแข็ง สามารถทำหน้าที่จัดสรรเงินทุนให้แก่ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน รวมทั้งส่งผ่านการช่วยเหลือไปยังลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวในระยะต่อไปได้

 

          สำหรับคำถามที่ว่า แล้วการปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ระดับปกติควรดำเนินการอย่างไร เพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ คำตอบสั้น ๆ คือ ต้องปรับมาตรการทางการเงินแบบวงกว้างให้เข้าสู่ภาวะปกติควบคู่ไปกับการปรับนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป และให้สอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจการเงินในระยะข้างหน้า

 

"การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทยเพื่อค่อย ๆ กลับสู่ระดับปกติ
เปรียบเหมือนการเริ่มถอนคันเร่ง แต่ยังไม่ได้เหยียบเบรก"

 

          นอกจากจะปรับนโยบายการเงินให้กลับสู่ระดับปกติแล้ว ต้องปรับมาตรการทางการเงินแบบวงกว้าง (broad-based) ให้เข้าสู่ภาวะปกติด้วย ด้านดอกเบี้ยนโยบาย การขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูแลเงินเฟ้อตั้งแต่เนิ่น ๆ ถือว่าเหมาะสม เพราะการส่งผ่านนโยบายการเงินต้องใช้เวลา หากช้าเกินไป อาจทำให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อติด และต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงในภายหลัง ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจและประชาชนมากขึ้น ส่วนมาตรการทางการเงินที่ส่งผลเป็นวงกว้าง ควรปรับมาตรการให้กลับสู่ระดับปกติตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวแล้ว เพราะหากคงมาตรการแบบวงกว้างไว้นานเกินไป จะส่งผลข้างเคียงต่อระบบการเงินในระยะยาว เช่น บิดเบือนกลไกการทำงานและลดทอนประสิทธิภาพของระบบสถาบันการเงิน (อ่านรายละเอียดการปรับมาตรการทางการเงินในคอลัมน์ The Knowledge เรื่อง Policy Normalization การดำเนินมาตรการทางการเงินภายใต้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง)

 

Motion blur of crowded Asian people walking on elevated public walkway. Commuter lifestyle, Asia city life, or pedestrian transportation concept

ผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติ โดยจะเห็นการรวมตัวกันในที่สาธารณะมากขึ้น ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด 19

 

 

          การปรับนโยบายควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไป และสอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจการเงินในระยะข้างหน้า (gradual and measured) ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงแรกของการฟื้นตัว และยังมีความแตกต่างกันในแต่ละภาคเศรษฐกิจ การเร่งขึ้นดอกเบี้ยในขนาดที่มากอาจไม่เหมาะสม เนื่องจากจะทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นเร็วเกินไป จนประชาชนและภาคธุรกิจปรับตัวไม่ทัน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะสะดุดได้ นอกจากนี้ การปรับทิศทางนโยบายในระยะต่อไปยังต้องมีความยืดหยุ่น พร้อมปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์เศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงินในประเทศเป็นสำคัญ เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว

 

          โดยสรุป การปรับนโยบายในระยะต่อไปจะยังเน้นการมองภาพเศรษฐกิจการเงินที่เชื่อมโยงอย่างรอบด้าน และมีความยืดหยุ่นตามบริบทเศรษฐกิจการเงินของประเทศ เพื่อให้การทยอยปรับนโยบายเข้าสู่ภาวะปกติบรรลุผลตามที่ต้องการ คือ เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ไม่สะดุด และมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด

 

ไขข้อสงสัย : การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของไทย ช้าเกินไปหรือไม่

 

[1] ผู้เสมือนว่างงาน คือ ผู้มีงานทำแต่ไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน

[2] ข้อมูลจากรายงานนโยบายการเงินฉบับเดือนมิถุนายน 2565

[3] ข้อมูลจากรายงานนโยบายการเงินฉบับเดือนมิถุนายน 2565