"เพราะความรู้ทางการเงินคือทักษะในการจัดการชีวิต"
เบื้องหลังการออกแบบหลักสูตรสำหรับนักเรียนยุคใหม่
ตามแบบโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อคุณภาพระบบการศึกษาไทย ชื่อของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือสาธิต มธ. นั้นเป็น "แรงบันดาลใจ" ในหลายมิติ โดยเฉพาะหลักสูตรที่เน้นไปที่แก่นของการเรียนรู้ และการออกแบบรายวิชาเพื่อตอบโจทย์โลกแห่งอนาคต
ภายใต้วิชาและทักษะที่หลากหลาย สาธิต มธ. เลือกวิชา "ความรู้ทางการเงิน" เป็นหนึ่งในวิชาพื้นฐานของระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ด้วยเชื่อว่า ความรู้ทางการเงินเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างทักษะในการจัดการชีวิตให้กับเด็ก
BOT พระสยาม MAGAZINE สนทนาแบบกระชับกับครูเปิ้ล-อธิษฐาน์ คงทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมทั้งครูไก่โต้ง-วีรพล แก้วพันธ์อ่ำ และครูซัน-ธีรภาพ แซ่เซีย ครูประจำวิชารู้ทันการเงิน ถึงวิธีคิดและแรงบันดาลใจที่ได้จากการสอนวิชาความรู้ทางการเงินในโรงเรียน และกลุ่มนักเรียนที่น่าสนใจที่สุดกลุ่มหนึ่งในประเทศไทย
ครูเปิ้ล : เราออกแบบหลักสูตรของสาธิต มธ. โดยมองไปที่แก่นของการเรียนรู้ เพราะเราเชื่อว่า การเรียนรู้ไม่ใช่แค่การให้ข้อมูลกับนักเรียนแต่เป็นชุดประสบการณ์ ดังนั้น คำถามที่เราพยายามตอบคือ จะสร้างชุดประสบการณ์เรียนรู้แบบไหนให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละช่วงชั้นและแต่ละช่วงวัยได้
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา โรงเรียนปรับตัวและถอดบทเรียนเยอะมาก ตอนสร้างหลักสูตรใหม่เรามีความฝันเกี่ยวกับเด็กเต็มไปหมดโดยคาดหวังว่า เด็กของเราต้องมีทักษะโน่นนั่นนี่เยอะมาก แต่สุดท้ายก็ตกผลึกออกมาเป็นสมรรถนะ 6 ด้านที่คิดว่าจำเป็นสำหรับการเรียนรู้ในโลกใหม่
ครูเปิ้ล-อธิษฐาน์ คงทรัพย์
สมรรถนะแรกคือการกำกับตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิต สมรรถนะที่สองคือ สมรรถนะในการเรียนรู้ (learn how to learn) เด็กจำเป็นต้องรู้จักวิธีเข้าถึงการเรียนรู้ที่หลากหลาย หากเราสอนให้เขารู้จักแค่ตัวความรู้ ซึ่งเปลี่ยนแปลงและล้าสมัยได้ตลอดเวลา เมื่อออกจากรั้วโรงเรียนไปก็ไปต่อได้ยาก สมรรถนะที่สามคือ สมรรถนะการคิด ซึ่งหมายรวมถึงการคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ และคิดในเชิงสังเคราะห์และวิพากษ์ด้วย
สมรรถนะที่สี่คือ การสื่อสาร ในฐานะผู้ส่งสารต้องใช้สื่อที่เหมาะสม ในฐานะผู้รับสารต้องรู้เท่าทันสื่อ ซึ่งสมรรถนะเหล่านี้เกี่ยวข้องกับสมรรถนะทางภาษา และความเข้าใจความหลากหลายของวัฒนธรรมด้วย สมรรถนะที่ห้าคือ การทำงานเป็นทีม ซึ่งรวมถึงการทำความเข้าใจผู้อื่น เข้าใจตัวเอง รู้จักวิธีอยู่ร่วมกันกับคนที่แตกต่างจากเราและสามารถทำงานร่วมกันได้ และสมรรถนะสุดท้ายคือ ความเข้าใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ สมรรถนะนี้สำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเด็กจะต้องเป็นคนที่รับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงขึ้น คนรุ่นใหม่จะต้องเป็นคนรับภาระและรับผิดชอบโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ครูเปิ้ล : หนึ่งในความท้าทายของการทำหลักสูตรคือการทำความเข้าใจต่อคนในสังคม เราไม่ปฏิเสธว่า มีหลายคนตั้งคำถามกับแนวทางของเรา เช่น เรื่องไม่สอนวิชาลูกเสือ ซึ่งเป็นหนึ่งในดราม่าที่เกิดขึ้น แต่ถ้าดูให้ดีจะเห็นว่า เราไม่ได้ละเลยการสอนลูกเสือ แต่ให้ความสำคัญกับแก่นของวิชา ซึ่งก็คือการเอาตัวรอด เราดึงแก่นนี้มาออกแบบกระบวนการเรียนรู้และวิชาใหม่เป็นวิชา "อยู่รอดปลอดภัย"
เมื่อมีคำถาม เราพร้อมที่จะพูดคุยและสื่อสารกับสังคม โดยเฉพาะกับพ่อแม่ผู้ปกครอง เราเชื่อโดยพื้นฐานอยู่แล้วว่า การพูดคุยเป็นเรื่องสำคัญมากในสังคม
ครูซัน : ความรู้ทางการเงินเป็นทักษะชีวิต ถ้าใครไม่มีความรู้ทางการเงิน การใช้ชีวิตก็มีโอกาสที่จะสะดุดและมีปัญหาได้ง่าย สาธิต มธ. มองว่าวิชานี้มีความสำคัญมากและจัดวิชานี้เป็นวิชาพื้นฐานของระดับมัธยมปลาย มีจุดประสงค์เพื่อให้เด็กได้ติดตั้งเครื่องมือในการจัดการทางการเงิน เพื่อที่จะนำไปใช้วางแผนอนาคตได้ โดยนอกจากจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินแล้ว ยังช่วยให้พวกเขารับมือกับปัญหาได้ดียิ่งขึ้นในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินไม่คาดฝัน
ครูซัน-ธีรภาพ แซ่เซีย
ครูไก่โต้ง : ความรู้ทางการเงินเป็นวิชาพื้นฐานของชีวิต คงไม่เกินจริงเท่าไหร่ถ้าจะบอกว่า การวางแผนชีวิตก็คือการวางแผนทางการเงิน เพราะไม่มีจังหวะไหนในชีวิตเลยที่เราไม่ต้องเกี่ยวข้องกับเงิน คนรุ่นอายุ 30-40 ปีหลายคน กว่าจะรู้ว่าการวางแผนการเงินสำคัญกับชีวิตก็มาอยู่ในสถานการณ์ที่รัดตัวแล้ว
ครูไก่โต้ง : เราไม่ได้เอาหลักการมาสอนเด็กตรง ๆ แต่เริ่มจากสอนให้เด็กวิเคราะห์รูปแบบการใช้ชีวิตของตัวเองก่อน พยายามชวนให้เด็กเห็นภาพกว้างและชวนเด็กมองอนาคตว่า ท้ายที่สุดเขาอยากมีชีวิตแบบไหน มีอาชีพอะไร แล้วอาชีพสะท้อนความชอบและตัวตนเขาอย่างไร จากนั้นก็ทำให้เด็กเข้าใจว่า บนเส้นทางที่พวกเขาเลือกเดินไม่ได้มีมิติแค่เรื่องการชอบหรือไม่ชอบเพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องมองมิติเรื่องการเงิน เช่น เงินเดือน และการหารายได้เสริมอีกด้วย
ต้องบอกตรงนี้ว่า การที่เด็กสักคนจะเลือกอาชีพที่ตัวเองชอบโดยไม่สนใจรายได้ไม่ใช่เรื่องผิด หากเขาเลือกและต้องการอย่างนั้นจริง ๆ แต่สิ่งที่เราช่วยเขาได้คือ กระตุ้นให้เขาคิดเรื่องการเงินด้วย ซึ่งหากเขาสามารถเปลี่ยนสิ่งที่ตัวเองชอบและสนใจให้มีรายได้ด้วย ชีวิตเขาก็จะลงตัวและราบรื่นมากยิ่งขึ้น
ครูไก่โต้ง-วีรพล แก้วพันธ์อ่ำ
ครูไก่โต้ง : เด็กแต่ละคนมีความรู้ทางการเงินไม่เท่ากัน เด็กบางคนรู้เรื่องการลงทุนแล้ว เพราะพ่อแม่เขามีพอร์ตหุ้น บางคนสนใจคริปโตเคอร์เรนซีเพราะเป็นเทรนด์ บางคนรู้เรื่องเหล่านี้จำกัดมาก ดังนั้น การสอนต้องมองให้ออกว่าแต่ละคนสนใจอะไร แค่ไหน อย่างไร ซึ่งเป็นที่มาของการให้วิเคราะห์รูปแบบชีวิตของตัวเองก่อน
ครูซัน : ข้อสังเกตคือ เด็กมักจะสนใจอะไรที่เป็นเทรนด์ของอนาคต ซึ่งความรู้ของทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็เข้ามาช่วยเสริมตรงนี้ได้ค่อนข้างดี
ครูซัน : ธปท. คือแหล่งอ้างอิงที่ทำให้มั่นใจว่า สิ่งที่เรานำมาสอนนั้นถูกต้องตามหลักวิชาการ ที่สำคัญคือ ธปท. มีชุดความรู้ที่หลากหลาย ทันสมัย และครบถ้วน หลายเรื่องก็เป็นเรื่องที่เราไม่เคยรู้มาก่อน หรือไม่ก็เป็นเรื่องที่เราคิดไม่ถึง เช่น เรื่องการออมก่อนเกษียณ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราคิดว่า เด็กคงไม่สนใจเพราะเป็นเรื่องไกลตัว แต่พอสอนแล้วได้รับเสียงตอบรับดีมาก อีกเรื่องคือการจัดการหนี้ ซึ่งเดิมเราคิดว่าเด็กอาจไม่สนใจเพราะพวกเขาไม่ได้เป็นหนี้ แต่ความร่วมมือกับ ธปท. ก็ทำให้ตระหนักว่า อย่างน้อยเด็กควรจะรู้ว่าอะไรคือหนี้ดี หรือหนี้ไม่ดี
ครูไก่โต้ง : ประโยชน์จริง ๆ คือ องค์ความรู้ที่อัปเดตและทันสมัย เรื่องที่เป็นประโยชน์มากคือ ความเสี่ยงทางการเงินใหม่ ๆ ซึ่งเราก็ไม่ได้รู้ทั้งหมด อันที่จริงเรามองว่า ตัวเองเป็นหนึ่งในช่องทางที่ทำหน้าที่เอาความรู้ที่ถูกต้องของผู้เชี่ยวชาญตัวจริงไปถ่ายทอดให้กับคนฟังมากกว่า
ครูซัน : ถ้ามีเนื้อหาที่เชื่อมโยงกับชีวิตช่วงมหาวิทยาลัยก็น่าจะตอบโจทย์มากขึ้น เพราะช่วงวัยนี้เป็นวัยที่ใช้เงินมากขึ้น และเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการตัดสินใจเลือกอาชีพ ซึ่งน่าจะช่วยให้เด็กสามารถตอบโจทย์ความฝัน ความชอบ และความเป็นไปได้ในทางการเงินได้ดียิ่งขึ้น
ครูไก่โต้ง : สิ่งที่อยากฝากจริง ๆ คือ ความรู้ทางการเงินที่ตอบโจทย์กลุ่มคนฐานราก เด็กสาธิต มธ. เป็นกลุ่มที่มีความพร้อมในเศรษฐฐานะอยู่แล้ว การสอนก็เป็นแบบหนึ่ง แต่หากเราต้องไปสอนที่ชุมชนหรือโรงเรียนเล็ก ๆ ก็ยังนึกภาพไม่ออกว่า การจัดการการเงินควรจะเป็นแบบไหน เพราะครัวเรือนไทยส่วนใหญ่รายได้น้อยมาก เงินที่หาได้แต่ละวันก็ใช้หมดวันต่อวัน ไม่ได้มีเหลือมาวางแผน อันนี้นึกไม่ออกจริงๆ
ครูไก่โต้ง : ในชั้นเรียนเราชวนเด็กให้คำนวณต้นทุนชีวิตที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดจนถึงภาพอนาคต เมื่อทำเสร็จเด็กคนหนึ่งโทรไปขอโทษคุณแม่ว่า "แม่ลงทุนกับหนูเยอะจังเลย เหนื่อยไหม" ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เราเห็นจริง ๆ ว่า ความรู้ทางการเงินสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงไปได้ไกลมากกว่าแค่เรื่องการจัดการเงิน
อีกเรื่องที่เซอร์ไพรส์เราคือ การที่เด็กคุยกันว่าอยากเกษียณแบบไหนในวงกินข้าว ในขณะที่เด็กกลุ่มนี้กำลังเรียนชั้นมัธยมปลาย
ครูซัน : สิ่งที่ประทับใจมากที่สุดแต่เรียบง่ายมากคือ การที่เด็กที่ไม่เคยวางแผนทางการเงินเลย หันมาเริ่มวางแผนทางการเงิน ที่จำได้คือมีเด็กคนหนึ่งเขาไม่มีบัญชีเงินออม เมื่อเรียนเสร็จแล้วเขาก็ไปเปิดบัญชีเงินออมทันที
ครูเปิ้ล : งานการศึกษาเป็นงานที่ยากและเต็มไปด้วยข้อจำกัด ไม่มีใครปฏิเสธว่า การมีทรัพยากรช่วยให้การทำงานการศึกษาสะดวก ราบรื่น และง่ายขึ้น แต่เงินอย่างเดียวไม่เพียงพอ สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน หรืออาจจะสำคัญกว่าคือ วิธีคิดที่ต้องกล้าปลดล็อกตัวเอง กล้าที่จะเป็นอิสระจากระบบที่เป็นอยู่
จริง ๆ แล้ว เราไม่ได้ทำงานแค่กับสาธิต มธ. เท่านั้น แต่ยังมีโครงการ "ก่อการครู" ที่ทำงานร่วมกับครูในระบบข้างนอก เช่น ครูอาชีวะ ครูสอนเด็กเล็ก ครูในโรงเรียนขนาดเล็ก ครูในโรงเรียนขยายโอกาส[1] ที่ทรัพยากรไม่ได้เยอะ ซึ่งในช่วงแรกครูที่เข้ามาในโครงการฯ ก็ตั้งคำถามว่า เขาจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริงหรือ เพราะต้องเจอกับข้อจำกัดมหาศาล แต่พอเราช่วยให้เขาปลดล็อกวิธีคิดและปลดล็อกตัวเองได้ พลังของการสร้างการเปลี่ยนแปลงก็มาทันที โดยอาจเริ่มต้นจากสิ่งเล็ก ๆ อย่างวิธีการปฏิสัมพันธ์กับเด็ก เมื่อทำสำเร็จและเห็นผล เพื่อนครูในโรงเรียนก็เริ่มเปลี่ยน จนเกิดเครือข่ายการทำงานและสร้างความเปลี่ยนแปลงข้ามโรงเรียนได้
เราพบว่าพอครูได้ปลดล็อกจากข้างใน เขาจะมีดวงตาใหม่ที่จะมองเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ที่จะไปทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ ให้ห้องเรียนกลายเป็นพื้นที่ของความสุข และให้เด็กได้เรียนจริง ๆ พอครูเห็นมุมตรงนี้ก็จะกลับไปสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบใหม่ที่สนุกและเติมเต็มความเป็นครูขึ้นมา ทำให้มีแรงไปสอนและขยับไปสร้างสิ่งดี ๆ ต่อได้
ครูไก่โต้ง : เห็นด้วยที่ต้องเริ่มจากครูก่อน การบอกต่อผ่านโครงการก่อการครูเป็นจุดรวมพลของครูที่สนใจ วันที่เขากลับไปสอนที่โรงเรียน แทนที่จะสามารถพาเด็กไปไกลเท่าที่เคยไปถึง แต่ถ้าเราขยับครูให้ไปได้ไกลขึ้นอีกหน่อย หมายความว่าเราขยับทั้งห้องเรียนให้ไปไกลขึ้นด้วย
ภายใต้ความจำกัดของทรัพยากร การสร้างความเปลี่ยนแปลงทำได้หลายระดับและหลายรูปแบบ โครงการ "ก่อการครู" เชื่อว่า ครูเป็นผู้นำในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา เพราะเป็นคนที่อยู่หน้างานและเป็นตัวเชื่อมตรงกลางระหว่างเด็กกับโรงเรียน ดังนั้น ถ้าเราพอขยับตรงนี้ได้ ความเปลี่ยนแปลงจากฐานรากก็สามารถเกิดขึ้นได้เหมือนกัน
[1] โรงเรียนขยายโอกาส หมายถึง โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลศึกษาปีที่ 1 หรือชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรณรงค์ให้เด็กที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ทุกคนได้เรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับ