ระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ ทางเลือกใหม่ในช่วงเปิดประเทศ

ระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ ทางเลือกใหม่ในช่วงเปิดประเทศ

หลังจากที่ประเทศไทยประกาศยกเลิกระบบ Test & Go[1] ไปเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ตามมาด้วยการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ[2] เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 การท่องเที่ยวระหว่างประเทศก็กลับมาคึกคักอย่างเห็นได้ชัด ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทางท่องเที่ยวในต่างแดน คือการมีรูปแบบการชำระเงินที่แสนง่าย ไม่ต้องพกเงินสดก็สามารถสแกนจ่ายเงินซื้อของจากร้านค้า หรือชำระค่าบริการตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ผ่าน mobile banking ของธนาคารที่ร่วมโครงการได้เลย ซึ่งต้องบอกว่าตอนนี้สามารถทำได้แล้วใน 6 ประเทศ

         

ตั้งแต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารกลางอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียนร่วมกันผลักดันโครงการ ASEAN Payment Connectivity  ในปี 2562 เพื่อให้บริการชำระเงินระหว่างประเทศในภูมิภาคมีความสะดวก ปลอดภัย และต้นทุนต่ำ ผลสำเร็จที่เห็นชัดคือ ประเทศไทยสามารถเชื่อมโยงระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ (cross-border payment) สองรูปแบบคือ (1) การชำระเงินด้วย QR payment และ (2) การโอนเงินระหว่างประเทศ จนกล่าวได้ว่าประเทศไทยเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียนในเรื่องนี้จากการมีจำนวนการเชื่อมโยงที่มากที่สุด

 

การชำระเงินระหว่างประเทศด้วย QR Payment


Image of an Asian Chinese man making a contactless payment with E-wallet on smartphone to cafe worker. E-wallet, mobile payment, contactless payment, cashless transaction at cafe.

เป็นการต่อยอดมาจากการพัฒนา Thai QR payment ภายใต้ระบบ PromptPay ทำให้ไทยมี QR code ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ โดยไม่ต้องแบ่งแยกว่าเป็นธนาคารใด และได้กลายมาเป็นบริการชำระเงินที่คนไทยคุ้นเคยในทุกวันนี้ เมื่อนำไปต่อยอดให้สามารถใช้ได้ในต่างประเทศ ครอบคลุม 6 ประเทศ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวและการค้าระหว่างกันเป็นจำนวนมาก ได้แก่ ญี่ปุ่น กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ การชำระเงินด้วย QR payment ก็กลายมาเป็นทางเลือกใหม่ที่มีข้อดีหลายอย่างสำหรับผู้ใช้บริการ เพราะสะดวกสบาย ไม่ต้องแลกเงินสดไปต่างประเทศคราวละมาก ๆ เมื่อสแกนแล้วสามารถเห็นอัตราแลกเปลี่ยนที่แสดงได้ทันที แถมได้เรทราคาที่ดีกว่าการใช้บัตรเครดิต และมีอัตราค่าธรรมเนียมที่ต่ำอีกด้วย จากข้อได้เปรียบข้างต้นทำให้มีแนวโน้มจำนวนผู้ใช้และผู้ให้บริการหลังจากเปิดประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ประเทศเวียดนามมีการใช้บริการเพิ่มขึ้นจาก 8 แสนบาทในเดือนพฤษภาคม เป็น 4.8 ล้านบาทในเดือนมิถุนายน และ 3 ล้านบาทในเดือนกรกฎาคมตามลำดับ  และล่าสุดประเทศอินโดนีเซียที่เพิ่งเปิดตัวบริการอย่างเต็มรูปแบบไปเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา มีผู้ให้บริการชำระเงินระหว่างทั้งสองประเทศถึง 76 รายแล้ว[3]

          

นอกจากบริการนี้จะเหมาะสำหรับการท่องเที่ยวแล้ว ยังพบว่ามีการนำวิธีนี้ไปประยุกต์ใช้ในการทำธุรกิจรายย่อยด้วย โดยธนาคารพาณิชย์ได้ไปสอบถามผู้ใช้บริการที่มียอดการชำระต่อบิลเฉลี่ย 80,000 บาท ซึ่งถือว่าสูงมาก พบว่าเป็นการสแกน QR code เพื่อซื้อสินค้าในประเทศญี่ปุ่นคราวละมาก ๆ ไปขายต่อแบบปลีกให้คนไทยผ่านแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ หรือหิ้วกลับมาขายที่ไทย เนื่องจากต้นทุนค่าธรรมเนียมที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับช่องทางอื่น ถือเป็นการต่อยอดธุรกิจจากข้อได้เปรียบของบริการนี้

          

หากพูดถึงขั้นตอนการเตรียมตัวและการใช้งานก็ถือว่าไม่ยาก เพียงผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศสอบถามธนาคารที่ตนมี mobile banking อยู่ว่าถ้าจะเดินทางไปประเทศนี้ สามารถใช้บริการได้หรือไม่ ต้องสแกน QR code หน้าตาแบบใด[4] ธนาคารอะไร วงเงินเท่าไร (ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร) บางประเทศผู้ใช้เป็นผู้สแกน QR code ของร้านค้า แต่บางประเทศอย่างญี่ปุ่น ร้านค้าจะมีเครื่องอ่านที่ใช้กันอย่างแพร่หลายตามร้านสะดวกซื้อ เพื่อสแกน QR code ของเรา เป็นต้น

          

ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นลูกค้าของธนาคารกรุงเทพและต้องการจะเดินทางไปเวียดนาม ก็สามารถชำระเงินที่ร้านค้าในเวียดนามที่วาง QR ของธนาคาร TP Bank และ BIDV ในวงเงินไม่เกิน 100,000 บาทต่อรายการ และ 500,000 บาทต่อวัน (ในทางกลับกัน ร้านค้าไทยที่วาง QR ของธนาคารกรุงเทพก็สามารถรับชำระเงินจากลูกค้าของ TP Bank และ Sacombank ของเวียดนามได้เช่นกัน)

          

ขั้นตอนการชำระเงินเริ่มจากเปิด mobile banking ของธนาคารตนเอง แล้วสแกน QR code ใส่จำนวนเงินสกุลต่างประเทศที่ต้องการชำระ หน้าจอจะแสดงจำนวนเงินสกุลต่างประเทศและสกุลเงินบาท ให้ตรวจสอบก่อนกดยืนยันรายการ เงินก็จะเข้าบัญชีผู้ขายทันที

การชำระเงินด้วย qr payment

 

การโอนเงินระหว่างประเทศ


บริการโอนเงินระหว่างประเทศแบบทันทีคู่แรกของโลก ที่เรียกว่า PromptPay-PayNow ซึ่งไทยทำกับสิงคโปร์นั้น ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก กลุ่มเป้าหมายเป็นแรงงานข้ามชาติที่ต้องการโอนค่าแรงกลับประเทศ รวมทั้งผู้ปกครองที่ต้องการโอนเงินค่าใช้จ่ายให้บุตรหลานที่ไปเรียนในต่างประเทศ ซึ่งนับตั้งแต่เปิดตัวไปเมื่อเดือนเมษายน 2564 - เดือนกรกฎาคม 2565 ผลตอบรับดีทั้งในด้านมูลค่าโอนที่มากกว่า 3.1 พันล้านบาท หรือเฉลี่ย 194 ล้านบาทต่อเดือน และปริมาณธุรกรรมสูงกว่าที่คาดหวังไว้มาก เนื่องจากระบบมีความปลอดภัย ใช้งานง่ายคล้ายการโอน PromptPay ภายในประเทศ มีต้นทุนต่ำ (กำหนดเพดานค่าธรรมเนียมไว้ไม่เกิน 150 บาทต่อรายการ เทียบกับการโอนเงินรูปแบบอื่นที่มีค่าธรรมเนียมตั้งแต่ 800-1,000 บาท) ผู้รับได้รับเงินทันที ผู้โอนก็ไร้กังวล โอนได้ทุกที่ทุกเวลา ภายในวงเงินไม่เกิน 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์/รายการ/วัน/ธนาคาร

โอนเงินด้วยหมายเลขโทรศัพท์ของผู้รับ

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย 

          

ขั้นตอนการโอนเงินเริ่มจากการเปิด mobile banking application ของธนาคารพาณิชย์ที่ร่วมให้บริการ ไปที่ฟังก์ชัน PromptPay International ระบุหมายเลขโทรศัพท์มือถือของผู้รับโอน โดยไม่ต้องใส่ข้อมูลอื่น ๆ เหมือนบริการโอนเงินระหว่างประเทศทั่วไป ใส่จำนวนเงินที่จะโอน ระบบจะแสดงอัตราแลกเปลี่ยนให้ทราบทันที จากนั้นให้ตรวจสอบชื่อผู้รับ จำนวนเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนก่อนกดยืนยัน เงินจะเข้าผู้รับทันทีพร้อมแสดงค่าธรรมเนียมให้เราทราบด้วย

Asian man holding a smartphone and looking around in Tokyo famous neighborhood - Shibuya

 

แผนการพัฒนาในอนาคต


ความพยายามที่จะเชื่อมโยงการชำระเงินระหว่างประเทศให้ไร้รอยต่อยังคงไม่หยุดยั้ง ธปท. มีแผนจะขยายจำนวนธนาคารพาณิชย์ที่ให้บริการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้ครอบคลุมร้านค้ามากขึ้นและเป็นการส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นอีกด้วย รวมถึงขยายการเชื่อมโยงไปยังประเทศอื่น ๆ ทั้งในและนอกอาเซียน โดยพิจารณาจากปริมาณนักท่องเที่ยว มูลค่าการค้า และจำนวนแรงงานข้ามชาติ

          

ล่าสุด ธปท. อยู่ระหว่างการเชื่อมโยงการชำระเงินด้วย QR payment กับฮ่องกงและอินเดีย และการโอนเงินระหว่างประเทศกับมาเลเซีย ภายใต้ชื่อ PromptPay-DuitNow ซึ่ง BOT พระสยาม MAGAZINE จะนำเสนอความคืบหน้าต่อไป

 

[1] Test & Go เป็นมาตรการที่เปิดให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจาก 63 ประเทศเข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว โดยต้องลงทะเบียนในระบบ Thailand Pass ต้องได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์อย่างน้อย 14 วันก่อนเดินทาง และต้องมีผลตรวจโควิด 19 แบบ RT-PCR อย่างน้อย 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง เริ่มใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ส่วนการยกเลิกระบบ Test & Go ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 คือ ให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้วสามารถเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องตรวจ RT-PCR แต่ยังคงต้องลงทะเบียนผ่าน Thailand Pass และต้องมีประกันสุขภาพอยู่

 

[2] ยกเลิก Thailand Pass และประกันสุขภาพด้วย แสดงเพียงเอกสารรับรองการได้รับวัคซีนครบ หรือผลตรวจ RT-PCR ที่ออกภายใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง

 

[3] ข้อมูล ณ วันที่ 29 สิงหาคม 2565

 

[4] แต่ละประเทศจะมี standard QR payment ของตัวเอง เช่น ประเทศเวียดนาม เรียกว่า VietQR ประเทศมาเลเซีย เรียกว่า DuitNow QR หรือประเทศอินโดนีเซีย เรียกว่า QRIS ผู้ใช้บริการควรสอบถามข้อมูลจากธนาคารที่ตนใช้บริการก่อนการเดินทาง

ผู้แต่ง ผู้เรียบเรียง