เรื่องวุ่นวายของนายเงินเฟ้อ

นาย A

          นายเอเป็นนักศึกษาอายุ 20 ปี ที่บ้านทำธุรกิจหอพักให้เช่าและเปิดร้านโชห่วยใต้หอด้วย ปกติเขาจะมาช่วยเฝ้าร้านในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บริษัทที่ขายสินค้าให้กับทางร้านติดต่อมาว่าจะขึ้นราคาสินค้าเกือบทุกรายการที่เขาซื้อมาขายต่อ โดยอ้างว่าเพราะเงินเฟ้อ เอโมโหมาก เขาหาเบอร์ผู้จัดการแล้วโทรไปต่อว่าอย่างหนัก ผู้จัดการสัญญาว่าจะส่งคนมาอธิบายสาเหตุให้เขาฟังถึงที่ร้าน เอจึงคลายโมโหลงแล้วรอให้ถึงวันเสาร์ที่นัดไว้  

         

          เมื่อถึงเวลานัด มีรถเก๋งมาจอดที่หน้าร้าน ชายสองคนเดินลงมา คนหนึ่งตัวใหญ่ คนหนึ่งผอมเพรียว

          

          "สวัสดีครับคุณเอ พวกผมมาจากบริษัทเพื่ออธิบายสาเหตุที่ต้องขึ้นราคาสินค้าครับ ผมชื่อนายเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ครับ" ชายร่างใหญ่แนะนำตัว

          

          "ส่วนผมชื่อนายเงินเฟ้อด้านอุปทานครับ" ชายร่างผอมแนะนำตัวต่อมา

          

          "พวกคุณรู้ไหมว่าการที่บริษัทขึ้นราคาสินค้าทำความเดือดร้อนมากขนาดไหน ร้านผมขายของให้กับนักศึกษาที่พักอยู่บนหอ ช่วงโควิด 19 ครอบครัวเขาก็เดือดร้อนมากอยู่แล้ว ขาดรายได้มา 2 ปี พอโควิด 19 เริ่มหาย เศรษฐกิจเริ่มดี พวกคุณก็มาขึ้นราคาสินค้าอีก" เอเปิดเข้าใส่ก่อนด้วยอารมณ์คุกรุ่น

          

          "ครับ ผมเข้าใจดี แต่เรื่องนี้เป็นไปตามกลไกตลาด" ชายร่างใหญ่ตอบ

          

          "อ้างกลไกตลาด ใคร ๆ ก็พูดได้ คุณอธิบายมาเลยดีกว่า" เอรุกต่อ

 

เงินเฟ้อแต่ละด้าน

 

          "ใจเย็น ๆ ก่อนนะครับ ผมขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพละกัน เมื่อปี 2564 ผมไปทำงานที่อเมริกามา ที่โน่นเขาเปิดเมืองอยู่ร่วมกับโควิด 19 ตั้งแต่ช่วงปลายปีแล้ว "นายเงินเฟ้อด้านอุปสงค์เริ่มเล่า"ก่อนหน้านั้นในช่วงโควิด 19 ระบาด ทุกคนอยู่กันแต่ในบ้าน ไม่ออกไปจับจ่ายซื้อสินค้าข้างนอก ห้างร้านที่ขายสินค้าและอาหารต่างก็ปิดตัวชั่วคราวไปเยอะ และลดพนักงานลง พูดง่าย ๆ คือโดนไล่ออก รายได้ก็ไม่มี คนจึงต้องประหยัดขึ้น อะไรไม่จำเป็นก็ไม่ใช้จ่าย เพราะไม่มีใครรู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น อุปสงค์หรือความต้องการซื้อสินค้าและบริการก็ลดลง

          

          "แต่พอโควิด 19 เริ่มหายไป ห้างที่ขายสินค้าและร้านอาหารเริ่มกลับมาเปิด คนเริ่มออกนอกบ้านมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจาก pent-up demand หรืออุปสงค์ที่เคยอั้นเอาไว้ก่อนหน้าแล้วออกมาใช้จ่ายกันตอนนี้ คนรวยและคนชั้นกลางเขามีเงินเก็บออมที่ไม่ได้ใช้ตอนปิดเมืองช่วงโควิด 19 ความต้องการซื้อสินค้าและบริการจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บริษัทกลับมาจ้างงานมากขึ้น รายได้คนเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจเริ่มขยายตัวดีขึ้น ความต้องการเพิ่มขึ้นจนกระทั่งผลิตสินค้าแทบไม่ทันเลย แบบที่เขาเรียกว่าอุปสงค์มากกว่าอุปทาน" นายเงินเฟ้อด้านอุปสงค์เล่าเป็นฉาก ๆ

          

          เอคิดในใจว่า "ถ้าเมืองไทยพ้นโควิด 19 แล้วเป็นแบบอเมริกาบ้างก็ดีสิ ตอนนี้ยอดขายร้านเราเริ่มฟื้นแล้ว แต่ก็ไม่ได้ดีเท่าช่วงก่อนโควิด 19"

          

          "ที่บอกว่าเป็นไปตามกลไกตลาด คือ ราคาสินค้าจะเปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการซื้อและจำนวนสินค้าที่มีอยู่ สมมติว่าที่ร้านเหลือสินค้าอยู่ชิ้นเดียว แต่มีลูกค้าอยากซื้อ 2 คน ถ้าคุณเอเป็นคนขาย คงอยากขายให้กับคนที่จ่ายเงินแพงกว่าใช่ไหมครับ" "แน่นอนอยู่แล้ว" เอยักไหล่ตอบ "ทีนี้ ราคาสินค้าและบริการจำนวนมากก็เริ่มขึ้นราคากันยกแผง คนขายก็อ้างว่าของมีน้อยบ้าง ต้นทุนเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ขึ้นราคาอย่างไรก็ขายได้อยู่แล้วเพราะมีคนต้องการซื้อเยอะมาก เงินเฟ้อก็เลยเพิ่มขึ้นจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ครับ" นายเงินเฟ้อด้านอุปสงค์สรุป

          

          "แต่เรื่องที่เล่ามามันเกิดที่อเมริกา เศรษฐกิจไทยเพิ่งฟื้น ลูกค้าผมเพิ่งกลับมาซื้อของ แล้วคุณจะมาขึ้นราคาสินค้าในไทยได้อย่างไร" เอคาดคั้นต่อ

 

ของราคาขึ้น

 

          "งั้นขออธิบายจากมุมมองของผมนะครับ" นายเงินเฟ้อด้านอุปทานเริ่มพูดครั้งแรก หลังจากเงียบมานาน

          

          "ผมไปทำงานที่ยุโรปมาเมื่อต้นปี 2565 นี่ก็เพิ่งกลับไทยมาไม่นาน ผมยังจำเหตุการณ์ช็อกโลกตอนปลายเดือนกุมภาพันธ์ได้ดี นั่นคือรัสเซียบุกยูเครน ถึงแม้จะมีคนคาดไว้บ้างแต่มีน้อยมากที่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นจริง"

          

          "เรื่องนี้ผมก็รู้ครับ เป็นข่าวใหญ่ทั่วโลก" เอบอกเป็นนัยว่าเขาก็ไม่ได้ตกข่าวเช่นกัน

          

          "งั้นคุณคงรู้ว่าทั้งสองประเทศเป็นผู้ส่งออกพลังงานและวัตถุดิบหลายชนิดให้กับตลาดโลก รัสเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และปุ๋ยเคมีรายใหญ่ของโลก ส่วนยูเครนก็เป็นผู้ส่งออกข้าวสาลี น้ำมันเมล็ดทานตะวัน และแร่เหล็กรายใหญ่เช่นกัน พอทั้งสองประเทศรบกันก็ส่งออกสินค้าไม่ได้ ยุโรปก็คว่ำบาตรรัสเซียด้วย หลังจากนั้น ราคาน้ำมัน ปุ๋ยเคมี และสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ ก็ถีบตัวสูงขึ้นแบบติดจรวด พวกยางพารา ปาล์มน้ำมัน ที่ราคามีความสัมพันธ์กับราคาน้ำมันก็พลอยสูงขึ้นไปด้วย

          

          "เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ก่อนเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ผู้ผลิตทั่วโลกประสบปัญหาด้านอุปทานอยู่ก่อนแล้ว เรียกว่า global supply chain disruption มีทั้งปัญหาเรื่องการผลิต เช่น การขาดแคลนชิปอิเล็กทรอนิกส์ทำให้ผลิตรถยนต์หรือสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไม่ทันต่อความต้องการ ราคาสินค้าก็สูงขึ้น มีทั้งปัญหาเรื่องการขนส่ง เช่น จำนวนเรือและตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้ามีไม่เพียงพอ เนื่องจากไปติดค้างอยู่ตามท่าเรือต่าง ๆ ที่คับคั่งหรือปิดชั่วคราวเพราะโควิด 19 นั่นก็ทำให้ค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศสูงขึ้นมาก

          

          "อันที่จริง บริษัทพวกผมก็ไม่ได้อยากขึ้นราคาสินค้าหรอกครับ ยอดขายเราจะตกด้วย แต่ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นจริง ๆ ราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทำให้ต้นทุนการผลิตของโรงงานเพิ่มขึ้น ค่ารถขนส่งก็เพิ่มขึ้น และคงไม่ได้เป็นเพียงแค่สินค้าของบริษัทเท่านั้น ต่อไปค่าปุ๋ยที่เพิ่มขึ้นคงส่งผ่านไปสู่ราคาข้าวและพืชผักผลไม้ ข้าวสาลีแพงขึ้นทำให้อาหารสัตว์แพงขึ้น ต่อไปเนื้อหมูเนื้อไก่คงขึ้นราคาเช่นกัน การที่วัตถุดิบขาดแคลนและต้นทุนต่าง ๆ เพิ่มขึ้นจนผู้ผลิตอย่างเราอั้นไม่ไหว ต้องขึ้นราคาสินค้ายกแผง อันนี้เรียกเงินเฟ้อจากแรงกดดันด้านอุปทานครับ" เขาเล่ายาวจนเสียงเริ่มแหบแต่ก็ยังเล่าต่อ

          

          "นอกจากนี้ ต้นทุนค่าแรงก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วยครับ ผมมีเพื่อนคนหนึ่งอยู่บริษัทนายหน้าจัดหาแรงงาน เขาเล่าว่าพอไทยเปิดเมืองหลังโควิด 19 บริษัทห้างร้านต่าง ๆ เริ่มหาลูกจ้างเพิ่ม ตลาดแรงงานเหมือนจะคึกคักแต่แรงงานกลับหายาก เพราะกลับต่างจังหวัดหรือได้งานใหม่แล้ว บางบริษัทจึงขึ้นค่าจ้างเพื่อดึงดูดคนงานมากขึ้น" เอพยักหน้าพลางคิดว่า "ช่วงที่โรงเรียนกลับมาเปิด เด็กเริ่มกลับเข้าหอ เราต้องจ้างแม่บ้านเพิ่มเพื่อดูแลหอ ตอนนั้นก็หาคนยากเหมือนกัน ที่หาได้ก็เรียกค่าจ้างสูงกว่าก่อนโควิด 19 อีก"

          

          ทันใดนั้น มีมอเตอร์ไซค์รับจ้างขับมาจอดหน้าร้าน หนุ่มที่ซ้อนท้ายจ่ายเงินพี่วินเสร็จก็เดินตรงเข้ามาหา "ขอโทษที่มาสายครับ ผมชื่อนายเงินเฟ้อคาดการณ์ พี่ ๆ เล่ากันถึงไหนแล้วครับ" "แกมาทีหลังคนอื่นทุกที ตอนนี้พี่เงินเฟ้อด้านอุปทานเพิ่งเล่าจบ" ชายร่างใหญ่ดุ

          

          "ขอโทษครับ เป็นนิสัยไปแล้วที่ผมมาทีหลังคนอื่น แต่ถ้าเริ่มทำงานแล้วผมอยู่ได้ยาว ๆ นะครับ ปกติแล้วคนก็ไม่ค่อยนึกถึงผมนักหรอกครับ แต่พอพี่อุปสงค์หรือพี่อุปทานไปทำงานที่ไหนสักพักจนเงินเฟ้อสูงเป็นเวลานาน ๆ หลายคนจะเริ่มนึกถึงผมขึ้นมา ผมก็เลยต้องตามไปด้วย ขอเล่าอย่างนี้ครับ พอต้นทุนและราคาวัตถุดิบสูงขึ้นนาน ๆ จนถึงเวลาที่ผู้ผลิตต้องวางแผนซื้อวัตถุดิบล่วงหน้าและตั้งราคาขายสำหรับปีถัดไป หากผู้ผลิตคิดว่าปีหน้าต้นทุนและวัตถุดิบจะแพงขึ้นอีก ก็ต้องบวกเข้าไปในราคาขายปีหน้าด้วยเพื่อไม่ให้ขาดทุน ส่วนทางฝั่งผู้บริโภคหากคาดว่าปีหน้าราคาสินค้าจะแพงขึ้นอีก เงินเฟ้อจะสูงต่อเนื่อง ก็จะไปต่อรองขอขึ้นค่าจ้างเงินเดือนเพื่อให้อยู่ได้ พอนายจ้างเห็นว่าต้นทุนค่าแรงจะสูงขึ้น ก็อาจต้องปรับราคาสินค้าขึ้นอีก กลายเป็นวงจรที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า wage-price spiral ทีนี้ล่ะ การคาดการณ์ของธุรกิจและประชาชนก็จะผลักดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้นจริง ๆ และเงินเฟ้อจะค้างอยู่ในระบบเศรษฐกิจไปอีกนาน" นายเงินเฟ้อคาดการณ์เล่าไปยิ้มไป แต่เอกลับรู้สึกเสียวสันหลังวาบ เขาคิดว่าคงไม่มีใครอยากให้เงินเฟ้อสูงไปนาน ๆ โดยเฉพาะคนหาเช้ากินค่ำที่รายได้น้อย

 

นายเงินเฟ้อคาดการณ์

 

          "ฟังพวกคุณสามคนอธิบาย ผมสรุปได้ว่าเมืองไทยตอนนี้มีแค่ปัญหาเงินเฟ้อด้านอุปทาน เงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังแทบไม่มี ส่วนการคาดการณ์เงินเฟ้อแม้จะมีคนพูดถึงอยู่บ้าง แต่ไม่รู้จะมาจริงไหม แล้วบริษัทเอาเหตุผลแค่นี้มาขึ้นราคาหรือ แล้วทางการไม่ทำอะไรเลย?" เอเริ่มหาเหตุผลเพื่อคัดค้านการขึ้นราคาของบริษัท

          

          นายเงินเฟ้อด้านอุปทานตอบว่า "รัฐบาลก็มีมาตรการบรรเทาปัญหาชั่วคราวนะครับ เช่น การใช้กองทุนน้ำมันตรึงราคาน้ำมันดีเซล แต่งบประมาณมีจำกัด ในที่สุดก็ต้องทยอยปล่อยราคาน้ำมันตามกลไกตลาดอยู่ดี แล้วใช้มาตรการดูแลเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุแทน อีกอย่างกระทรวงพาณิชย์ก็คอยดูแลราคาสินค้าควบคุมอยู่ด้วย"

          

          นายเงินเฟ้อคาดการณ์รีบแย่งตอบต่อ "ยังมีผู้ดูแลอีกคนหนึ่งคือ แบงก์ชาติ เขาจะใช้นโยบายการเงินเพื่อดูแลให้อัตราเงินเฟ้อระยะปานกลางอยู่ในกรอบเป้าหมายที่กำหนดไว้ 1-3% ครับ หากแบงก์ชาติขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะทำให้ธุรกิจชะลอการกู้ยืมเพื่อลงทุน ครัวเรือนชะลอการกู้ยืมเพื่อบริโภค รวมถึงหันมาออมเงินมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ในอนาคตไม่ให้สูงเกินไป รวมทั้งยึดเหนี่ยวให้ประชาชนมั่นใจว่าแบงก์ชาติจะดูแลเงินเฟ้อเต็มที่ เงินเฟ้อคาดการณ์ก็จะไม่สูงขึ้นในอนาคต" เขาพูดจบแล้วก็หันไปสบตากับรุ่นพี่เงินเฟ้อด้านอุปสงค์ ซึ่งพยักหน้ายืนยันว่าเนื้อหาถูกต้อง

          

          "ขึ้นดอกเบี้ย คนกู้เงินก็แย่สิ" เอโพล่งออกมา พลางคิดถึงครอบครัวเขาที่กู้เงินมาสร้างหอพักแล้วยังผ่อนไม่หมด

          

          นายเงินเฟ้อด้านอุปสงค์อธิบายต่อว่า "แต่เทียบผลกระทบในภาพรวมแล้ว ผลกระทบจากเงินเฟ้อรุนแรงกว่าผลกระทบจากดอกเบี้ยที่จะสูงขึ้นนะครับ เงินเฟ้อสูงระดับ 6-8% หากเกิดขึ้นติดต่อกันหลายปีแล้ว ผลเสียจะเกิดขึ้นกับทุกคน รายได้แรงงานที่หักเงินเฟ้อแล้วลดลงอย่างมาก ต้นทุนการผลิตที่แพงขึ้นก็จะลดความสามารถในการแข่งขันและการลงทุนของภาคเอกชน เทียบกับการทยอยขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เศรษฐกิจยังพอปรับตัวได้ ไม่กระทบต่ออุปสงค์มากนัก"

         

          "ปัญหาเงินเฟ้อไม่มีทางแก้ทางอื่นแล้วหรือ" เอพูดพลางถอนหายใจเฮือกใหญ่

          

          นายเงินเฟ้อด้านอุปทานยิ้มอ่อนแล้วกล่าวว่า "ราคาสินค้าบางอย่างขึ้นแล้วก็ลงครับ เช่น ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ หลังจากเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความขาดแคลนผ่านพ้นไปแล้ว ราคาก็จะลดลงได้เอง แต่ราคาสินค้าบางอย่างขึ้นแล้วไม่ลงก็มี  เช่น ราคาข้าวแกงและอาหารสำเร็จรูป ทางบริษัทพวกเราเองก็จะพยายามควบคุมราคาสินค้า โดยลดต้นทุนส่วนอื่น ๆ ลงด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การใช้เทคโนโลยีและระบบดิจิทัลเข้ามาช่วย รวมถึงการฝึกอบรมพนักงานให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับการขึ้นเงินเดือน"

          

          หลังจากนั้น เอพยายามต่อรองไม่ให้บริษัทขึ้นราคาอยู่นาน แต่สุดท้ายได้ผลเพียงว่า บริษัทจะคิดราคาเดิมให้ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนปรับขึ้นราคาในการสั่งซื้อครั้งหน้า เขาส่งชายทั้งสามคนขึ้นรถกลับบริษัทไป พร้อมกับคิดในใจว่า "วันนี้เราได้รู้จักเงินเฟ้อมากขึ้นก็จริงอยู่ แต่ขอเถอะ รอบหน้าอย่ามาพร้อมกันทั้ง 3 คนเลยนะ หรือถ้าไม่มาสักคนเลยได้ก็ยิ่งดี"

 

ผู้เขียน นิธิสาร พงศ์ปิยะไพบูลย์