POLICY NORMALIZATION การดำเนินมาตรการทางการเงินภายใต้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

          ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเผชิญกับผลกระทบที่รุนแรงและยืดเยื้อจากการระบาดของโควิด 19 ภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงต้องผสมผสานนโยบายการคลังและการเงินอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวได้ไม่สะดุดและระบบสถาบันการเงินยังทำงานได้ตามปกติ

 

POLICY NORMALIZATION การดำเนินมาตรการทางการเงินภายใต้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

 

ผสมผสานนโยบายการคลังและการเงินที่เหมาะสม


          สถานการณ์โควิด 19 ในระยะแรกส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไปในวงกว้าง การหยุดงานและรักษาระยะห่างทางสังคม ทำให้ผู้ประกอบการและพนักงานที่ได้รับผลกระทบมีรายได้ลดลงและไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ ภาครัฐได้ดำเนินนโยบายการคลัง เช่น มาตรการเยียวยาเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง มาตรการลดค่าใช้จ่ายของครัวเรือน ผ่านการลดค่าสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของครัวเรือนที่มีรายได้และยังต้องการจับจ่ายใช้สอย รวมถึงมาตรการเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจและช่วยบรรเทาผลกระทบ ในขณะเดียวกัน ธปท. ก็ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่องเพื่อให้ทันการณ์และมากเพียงพอ จึงได้ลดและคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับต่ำ ควบคู่กับการปรับลดอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงิน เข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ซึ่งเป็นต้นทุนหนึ่งของสถาบันการเงิน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการกู้ยืมผ่านสถาบันการเงินจะมีดอกเบี้ยที่ต่ำลงเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้

         

          นอกจากการดำเนินนโยบายการเงินข้างต้นแล้ว ธปท. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้มาอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมลูกหนี้ทุกประเภท ทั้งรายย่อย SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่ สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วง ผ่านการแก้ไขหนี้เดิมและการเติมเงินใหม่ โดยในระยะแรกเน้นออกมาตรการวงกว้างแบบระยะสั้น เช่น การพักชำระหนี้ 6 เดือน สำหรับ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท และ 3-6 เดือน สำหรับลูกหนี้รายย่อย เพื่อรองรับสถานการณ์ที่มีความรุนแรงและเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในระยะสั้น อย่างไรก็ดี ในระยะถัดมา สถานการณ์มีแนวโน้มยืดเยื้อและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นแบบไม่เท่าเทียม (K-shape) จึงได้ออกมาตรการที่ตอบโจทย์เฉพาะกลุ่มมากขึ้น (targeted) เพื่อให้ระบบการเงินสามารถจัดสรรทรัพยากรช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบหนักได้เพียงพอ ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการสร้างแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสม (moral hazard)

 

สู่การทยอยปรับใช้นโยบายกลับสู่ภาวะปกติ


ภาพรวมมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้

 

          ภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวชัดเจนในปัจจุบัน นโยบายหรือมาตรการทางการเงินแบบวงกว้างจึงมีความจำเป็นลดลง และสามารถทยอยปรับนโยบายกลับสู่ภาวะปกติได้ (policy normalization) เพราะหากทำมาตรการที่เป็นวงกว้างนานเกินไป จะส่งผลข้างเคียงต่อระบบการเงินในระยะยาวได้ ประกอบกับฐานะของสถาบันการเงินยังแข็งแกร่ง มีเงินกองทุน สภาพคล่อง และเงินสำรองที่สูงเพียงพอในการรองรับความเสี่ยงในระยะข้างหน้า ดังนั้น ธปท. จึงปรับมาตรการให้กลับมาเป็นปกติมากขึ้น ได้แก่ (1) ยกเลิกการจำกัดอัตราจ่ายเงินปันผล โดยยังให้สถาบันการเงินยึดหลักความระมัดระวัง โดยพิจารณาอัตราจ่ายเงินปันผลให้สอดคล้องกับฐานะผลการดำเนินงานและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า (2) ปรับอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF กลับมาที่ 0.46% ต่อปี ให้มีผลตั้งแต่ปี 2566 รวมถึงล่าสุด (3) กนง. ได้มีมติให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจาก 0.5% เป็น 0.75% แล้วเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565

         

          การทยอยปรับการใช้นโยบายสู่ภาวะปกติอาจมีผลข้างเคียงแต่ชั่งน้ำหนักแล้วคุ้มค่า เนื่องจากผู้ฝากเงินจะได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น ขณะที่กลุ่มลูกหนี้ประเภทดอกเบี้ยลอยตัว แม้จะต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้น แต่ผลของดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นต่อค่าใช้จ่ายของครัวเรือนจะน้อยกว่าผลของเงินเฟ้อที่จะลดทอนกำลังซื้อของประชาชน อย่างไรก็ดี ยังมีลูกหนี้กลุ่มเปราะบางจากรายได้ที่ยังไม่กลับมาเต็มที่ เช่น ลูกหนี้รายย่อยรายได้น้อยที่มีสินเชื่อไม่มีหลักประกัน และภาคธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ก่อสร้าง รวมถึงเกษตรกรรม ธปท. จึงยังต้องดำเนินมาตรการเฉพาะจุดเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง ดังนี้

         

          1. ผลักดันมาตรการเฉพาะจุดที่ยังมีผลอยู่ ทั้งการแก้หนี้เดิมผ่านมาตรการหลัก คือ มาตรการแก้หนี้ระยะยาว 3 กันยายน ซึ่งยังมีผลใช้ได้จนถึงสิ้นปี 2566 และโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ที่มีผลถึงสิ้นเดือนเมษายน 2566 การเติมเงินใหม่อย่างมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูฯ ที่ยังมีผลถึงสิ้นเดือนเมษายน 2566 ตลอดจนช่องทางเสริมให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้ เช่น คลินิกแก้หนี้ โครงการไกล่เกลี่ยหนี้ โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน จะเห็นได้ว่า มาตรการส่วนใหญ่มีผลบังคับใช้ "อย่างน้อย" ถึงปี 2566 สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้น

         

          2. เพิ่มมาตรการดูแลลูกหนี้รายย่อยกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะลูกหนี้ในกลุ่มสินเชื่อไม่มีหลักประกัน ซึ่งได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ยังกลับมาไม่เต็มที่และค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยเพิ่มมาตรการให้ตรงกับปัญหาของลูกหนี้แต่ละกลุ่ม สำหรับกลุ่มที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย ให้คงการลดอัตราการผ่อนชำระหนี้บัตรเครดิตขั้นต่ำที่ 5% ถึงปี 2566 และคงการขยายระยะเวลาชำระหนี้ของสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลที่ 12 เดือนออกไปอีก 1 ปี ถึงปี 2566 ส่วนกลุ่มที่เป็นหนี้เสีย จะปรับปรุงโปรแกรมการจ่ายหนี้ของคลินิกแก้หนี้ โดยเพิ่มทางเลือกการผ่อนชำระเพื่อให้ลูกหนี้ที่ยังมีกำลังชำระสามารถจบหนี้ได้เร็วขึ้น ซึ่งลูกหนี้ที่เลือกแผนการชำระหนี้ที่มีระยะเวลาสั้น จะได้รับดอกเบี้ยที่ผ่อนปรนขึ้น รวมทั้งจะมีการจัดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2565 เป็นต้นไป เพื่อเป็นช่องทางเสริมให้ลูกหนี้กลุ่มเปราะบางสามารถขอรับความช่วยเหลือได้

         

          นอกจากนี้ สำหรับกลุ่มที่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวและพร้อมจะปรับปรุงธุรกิจเพื่อรองรับบริบทโลกใหม่ ซึ่งได้รับแรงผลักดันจากกระแสดิจิทัล การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนวัตกรรรมแห่งโลกอนาคต ธปท. ได้ปรับปรุงเงื่อนไขของสินเชื่อฟื้นฟูเพื่อสนับสนุนการปรับตัวของผู้ประกอบธุรกิจให้สามารถเข้าถึงเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ในขนาดวงเงินที่เหมาะสมกับการลงทุน ปรับปรุง พัฒนาหรือเสริมศักยภาพธุรกิจ โดยเน้นการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันที่สอดรับกับบริบทโลกใหม่ ภายใต้เงื่อนไขการค้ำประกันที่ยืดหยุ่น (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 กันยายน 2565)

 

ภาพรวมมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีอยู่

ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรเพื่อดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง


          ธปท. สมาคมธนาคารไทย (TBA) สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ (GFA) และผู้ประกอบธุรกิจ ได้จับมือร่วมกันดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ลูกหนี้ SMEs และประชาชนรายย่อยที่ยังได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ภายใต้มาตรการช่วยเหลือโดยเฉพาะมาตรการแก้หนี้ระยะยาวที่ยังมีผลบังคับใช้ โดยการปรับดอกเบี้ยในช่วงขาขึ้น ธนาคารพาณิชย์จะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะมีต่อกลุ่มเปราะบางให้น้อยที่สุด ทั้งนี้ ธปท. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยการปรับนโยบายและมาตรการทางการเงินของ ธปท. ในระยะต่อไป จะยังเน้นการมองภาพเศรษฐกิจการเงินที่เชื่อมโยงอย่างรอบด้าน และมีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ เพื่อให้การทยอยปรับนโยบายเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและยังไม่ทั่วถึงนี้ได้ผลตามที่ต้องการ คือ เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ไม่สะดุด และมีผลกระทบข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์น้อยที่สุด