การเปลี่ยนแปลงภาคการท่องเที่ยวไทย กับก้าวต่อไปหลังเปิดประเทศ

          ตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด 19 ภาคการท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงมากและผันผวนตามสถานการณ์การแพร่ระบาดและมาตรการของภาครัฐ โดยเฉพาะช่วงล็อกดาวน์ที่จำกัดการเดินทางทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี หลังจากสถานการณ์เริ่มบรรเทาลง ภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ และเริ่มเปิดประเทศในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ในครึ่งแรกของปี 2565 จำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทย[1] กลับมาอยู่ที่ประมาณ 93 ล้านคน หรือ 40% ของช่วงก่อนโควิด 19 ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ[2] กลับมาอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านคน หรือราว 5% ของช่วงก่อนโควิด 19 แต่การฟื้นตัวนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความท้าทายใหม่เท่านั้น

airplane

 

ที่ผ่านมาพฤติกรรมหรือความต้องการของนักท่องเที่ยวเป็นอย่างไร


          ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาสูงถึง 40 ล้านคนต่อปี จากหลากหลายสัญชาติ แต่ละกลุ่มมีพฤติกรรมการใช้จ่ายแตกต่างกันออกไป อาทิ นักท่องเที่ยวชาวจีน ที่มักเดินทางเป็นกลุ่มใหญ่กับกลุ่มทัวร์ ชอบชอปปิงและมียอดซื้อของฝากสูงกว่านักท่องเที่ยวชาติอื่น ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวยุโรปต้องการมาพักตากอากาศ เพื่อหลีกเลี่ยงอากาศหนาว ชื่นชอบการเดินทางด้วยตัวเอง พักแรมอยู่ที่ใดที่หนึ่งเป็นระยะเวลานาน นิยมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และท่องเที่ยวยามค่ำคืน เป็นต้น

          

          ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด 19 ลูกค้าหลักของธุรกิจท่องเที่ยวไทยเปลี่ยนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่อหัวต่อทริปน้อยกว่า และยังมีพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวที่แตกต่างจากนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างชัดเจน โดยลูกค้าชาวไทยส่วนใหญ่มีระยะเวลาการเข้าพักที่ค่อนข้างสั้นในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ ท่องเที่ยวข้ามภูมิภาคหรือจังหวัดใกล้เคียง และมักเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวหรือเดินทางเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เพราะกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด 19 ดังนั้น ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่จึงถูกใช้ไปกับเฉพาะค่าที่พักและค่าอาหารในระยะสั้น ๆ แตกต่างจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีค่าใช้จ่ายต่อหัวต่อทริปสูงกว่า เนื่องจากเดินทางมาไกลกว่า จึงมีระยะเวลาการเข้าพักที่ยาวกว่า และยังเดินทางต่อเนื่องตามเส้นทางท่องเที่ยว เข้าชมแหล่งท่องเที่ยวและร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ดูช้าง ชมคาบาเรต์โชว์ เป็นต้น ซึ่งช่วยกระจายรายได้ไปยังหลากหลายพื้นที่และธุรกิจนอกเหนือจากโรงแรมและร้านอาหาร พฤติกรรมการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ต่างจากชาวต่างชาติจึงส่งผลให้ธุรกิจส่วนใหญ่ในภาคการท่องเที่ยวไทยที่มีลูกค้าเป็นชาวต่างชาติเป็นหลัก อาทิ ธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจรถทัวร์/รถตู้ ธุรกิจขายของฝาก และธุรกิจสถานบันเทิงยังคงปิดกิจการชั่วคราว โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยวหลักของประเทศ

 

Bangkok, Thailand - March 24, 2020: Travelers Getting Ready To Depart From The Airport With Their Suitcases And Wearing Protective Clothing During The Coronavirus Epidemic

ตั้งแต่ไทยยกเลิกการลงทะเบียนผ่านระบบ Test & Go เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวแล้วกว่า 1.2 ล้านคน (ข้อมูล ณ 30 มิถุนายน 2565)

 

เส้นทางสู่ความปกติใหม่ (Journey to Next Normal) ของธุรกิจท่องเที่ยว


          แม้ว่าหลังจากทางการไทยและต่างประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศ นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มทยอยกลับมาเที่ยวประเทศไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแต่ยังคงมีสัดส่วนน้อย คิดเป็นเพียงราว 5% ของช่วงก่อนโควิด 19 เท่านั้น สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการหายไปของนักท่องเที่ยวชาวจีน เมื่อปี 2562 นักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาไทยมากเป็นอันดับ 1 มีสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด แต่เนื่องจากนโยบายคุมเข้ม Zero-COVID ของรัฐบาลจีน ทำให้ยังไม่มีวี่แววว่านักท่องเที่ยวชาวจีนจะกลับมาเมื่อใด

 

Shanghai.China-Feb.2021: crowded Chinese people walking on street in face mask to prevent coronavirus

นักท่องเที่ยวชาวจีนยังไม่กลับมาเที่ยวไทย จากมาตรการควบคุมโรคโควิด 19 ของรัฐบาลจีน

 

 

          นอกจากนี้ การระบาดของโควิด 19 ยังทำให้มีการปรับใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารเพิ่มขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวเชิงธุรกิจที่เคยอยู่ในรูปแบบของ MICE (Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions) เปลี่ยนไปด้วย จากเดิมที่ต้องเดินทางมาพบปะสังสรรค์สร้างเครือข่าย มีค่าใช้จ่ายต่อทริปสูง เปลี่ยนเป็นการประชุมออนไลน์ที่ไม่ต้องจองห้องพัก หอประชุม หรือยานพาหนะ เมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังกลับมาไม่มากพอ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวส่วนใหญ่จึงยังไม่กลับมาเปิดดำเนินการตามปกติ มีเพียงธุรกิจโรงแรมที่ทยอยกลับมาเปิดให้บริการตามจำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

          

          การเดินทางไปสู่ยุค next normal ของภาคการท่องเที่ยวไทยยังมีอุปสรรคให้ภาคธุรกิจต้องฝ่าฟันอีกมาก ทั้งจากจำนวนและความต้องการของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ซึ่งเป็นผลจากนโยบายการเปิดประเทศของประเทศต้นทาง และความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด 19 ของลูกค้าแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกันออกไป ประกอบกับความไม่แน่นอนที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและคาดการณ์ผลกระทบได้ยากจาก (1) สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่มีการกลายพันธุ์และสร้างความกังวลเป็นระยะ (2) ภาวะเงินเฟ้อสูงที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญ ฉุดรั้งบรรยากาศการท่องเที่ยว ต้นเหตุเกิดจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและคาดเดาได้ยากว่าจะจบลงเมื่อไร (3) ภาวะโลกรวน (climate change) อาจส่งผลให้ฤดูกาลท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไป ทำให้สถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งไม่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เช่นเดิม

 

ธุรกิจปรับตัวเพื่อรองรับการท่องเที่ยวแบบใหม่


          จากการหารือกับผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยว รวมถึงการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำร่วมกับสมาคมโรงแรมไทยตลอด 2 ปีที่ผ่านมา พบว่าคุณสมบัติสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจท่องเที่ยวสามารถปรับตัวรองรับความปกติใหม่ได้ ประกอบด้วย 3 ประการ ดังนี้

          

          1. การหาโอกาสเพิ่มรายได้ จับเทรนด์ใหม่ให้ทันและปรับตัวให้เร็ว เพราะการทำธุรกิจโดยอ้างอิงจากพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวในอดีตอาจจะไม่ได้ผลดีเท่าเดิม ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจึงต้องปรับตัวและเรียนรู้ให้เท่าทันความต้องการของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง เช่น กลุ่ม Staycation และ Workation ที่ต้องการทำงานในขณะท่องเที่ยวไปด้วย ต่อยอดมาจากกระแส work from anywhere

 

Young woman freelancer traveler working online using laptop and enjoying the beautiful nature landscape with mountain view at sunrise

หลังการระบาดของโควิด 19 คนบางกลุ่มต้องการทำงานในขณะท่องเที่ยวไปด้วย จึงเกิดการท่องเที่ยวแบบ staycation และ workation

 

 

          หนึ่งในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางมาไทยมากที่สุดหลังจากเริ่มเปิดประเทศ ได้แก่ ชาวอินเดีย ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่มีพฤติกรรมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือ นิยมเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวกันเองเป็นครอบครัว บางรายมาจัดงานแต่งงานในไทย และวัฒนธรรมการแต่งงานของชาวอินเดียจะจัดงานยิ่งใหญ่ ทำให้มีครอบครัว ญาติ และเพื่อนฝูง เดินทางมาร่วมงานด้วย สำหรับพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่น่าสนใจคือ คนอินเดียจะชื่นชอบการรับประทานอาหารอินเดีย และนิยมดูการแสดงหรือกิจกรรมที่สร้างความบันเทิง เช่น เที่ยวซาฟารีเวิลด์ และล่องเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่เน้นชอปปิงสินค้าเหมือนกับนักท่องเที่ยวชาวจีน แต่นิยมซื้อของที่มีเรื่องราวและเอกลักษณ์ของท้องถิ่นมากกว่า เทรนด์นี้จึงอาจเป็นโอกาสหนึ่งในการเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการได้

          

          นอกจากนี้ ผู้ประกอบการต้องพร้อมปรับตัวตลอดเวลาเพื่อตอบรับความต้องการของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง อย่างในช่วงแรกของการเปิดประเทศ นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มาจากทวีปยุโรป พักเป็นเวลาหลายวัน แต่เมื่อความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนปะทุขึ้น ส่งผลให้นักท่องเที่ยวยุโรปชะลอการเดินทาง นักท่องเที่ยวหลักจึงเปลี่ยนไปเป็นกลุ่มที่เข้ามาเป็นระยะเวลาสั้น ๆ จากประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย อินเดีย รวมถึงกลุ่มประเทศตะวันออกกลางแทน หากธุรกิจพร้อมปรับตัวก็จะสามารถเปิดรับตลาดใหม่ที่อาจเป็นกลุ่มลูกค้าสำคัญในอนาคตได้

 

The bride and groom at the Indian wedding garlands or Jaimala ceremony on the stage.

นักท่องเที่ยวชาวอินเดียนิยมเข้ามาจัดพิธีแต่งงานในไทย นับเป็นโอกาสใหม่ของธุรกิจด้านบริการ

 

 

          2. ความสามารถในการบริหารต้นทุน อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจส่วนใหญ่ปรับตัวกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดได้คือ การบริหารจัดการต้นทุน โดยปรับใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาอย่างเหมาะสม เช่น (1) การเพิ่มประสิทธิภาพและปรับเปลี่ยนจำนวนแรงงานให้เหมาะสมกับสถานการณ์ รวมถึงใช้พนักงานที่มีทักษะการใช้เทคโนโลยีและ multi-tasking มากขึ้น (2) การลดต้นทุนในการบริหารจัดการ เช่น เปิดให้บริการบางส่วนหรือปิดกิจการชั่วคราว และ (3) การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจ เช่น ขยายช่องทางในการรับจองห้องพักผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งช่วยลดต้นทุนและข้อจำกัดในการเข้าถึง โดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs

          

          3. การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วภายใต้สถานการณ์ที่ยากลำบาก (Resilience) ในระยะถัดไปที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ธุรกิจบางส่วนจึงเลือกที่จะรอดูสถานการณ์และยังไม่กลับมาให้บริการ สอดคล้องกับภาคแรงงานที่ส่วนใหญ่ยังไม่กล้ากลับเข้าสู่ภาคการท่องเที่ยวเพราะยังมีความไม่แน่นอนด้านรายได้อยู่มาก จึงมีความเป็นไปได้ว่า ในอนาคตอาจเกิดการจำกัดของผู้ให้บริการในภาคท่องเที่ยวได้ แต่หากสถานการณ์การแพร่ระบาดและความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ยุติลง จำนวนนักท่องเที่ยวอาจกลับเข้ามามากกว่าที่คาด ดังนั้น ธุรกิจจึงต้องเตรียมแผนสำรองไว้ เพื่อรองรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดจะได้ไม่พลาดโอกาสครั้งสำคัญ อาทิ เตรียมเงินทุนและแรงงาน ติดตามข่าวสารและสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อพร้อมที่จะกลับมาเปิดหรือปรับเปลี่ยนการให้บริการได้อย่างทันท่วงที

          

          next normal ของภาคการท่องเที่ยวไทยหลังจากการเปิดประเทศอาจกลับมาในรูปแบบเดิมหรือแบบใหม่ก็เป็นได้ จากปริมาณและความต้องการสินค้าและบริการของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อาจเปลี่ยนแปลงไปอีกจากปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบ ดังนั้น คุณสมบัติ 3 ประการ คือ จับเทรนด์ให้ทัน ปรับตัวให้เร็ว บริหารต้นทุนอย่างเหมาะสม และพร้อมลุกให้ไวจากสถานการณ์ที่ยากลำบาก เป็นสิ่งสำคัญที่จะประคับประคองให้ธุรกิจท่องเที่ยวไทยสามารถฝ่าฟันอุปสรรคในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ next normal นี้ไปได้อย่างแข็งแกร่ง สามารถก้าวเข้าสู่ความปกติใหม่ได้อย่างภาคภูมิ ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบใด

 

ผู้เขียน ณัฐอร เบญจปฐมรงค์
ผู้เขียน ชุติกา เกียรติเรืองไกร

 

*บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

 

[1] รวมนักท่องเที่ยวไทย (บุคคลที่เดินทางจากถิ่นพำนักถาวรไปค้างคืนยังอีกสถานที่หนึ่งอย่างน้อย 1 คืน แต่ไม่เกิน 90 วัน เพื่อประกอบกิจกรรม แต่ต้องไม่ก่อให้เกิดค่าจ้าง ค่าตอบแทน) และนักทัศนาจรไทย (บุคคลที่เดินทางจากถิ่นพำนักถาวรไปยังอีกสถานที่หนึ่งภายในประเทศ โดยมิได้ค้างคืนเพื่อประกอบกิจกรรม แต่ต้องไม่ก่อให้เกิดค่าจ้าง ค่าตอบแทน)

 

[2] ตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมเบื้องต้น ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน 2565 โดยจำนวนผู้เยี่ยมเยือนและนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสมอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2565 อยู่ที่ 78.5 และ 1.3 ล้านคน ตามลำดับ อ้างอิงจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา