ภัยทางการเงิน กับดักร้ายที่ต้องช่วยกันหยุดยั้ง

ภัยทางการเงิน กับดักร้ายที่ต้องช่วยกันหยุดยั้ง

 

          เมื่อเร็ว ๆ นี้ เราอาจจะได้ยินข่าวว่า มีชายวัย 56 ปีเสียท่าแก๊งคอลเซนเตอร์ที่โทรมาอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร บอกว่าชายคนนี้มีส่วนร่วมในขบวนการเปิดบัญชีขนของเถื่อนหนีภาษี จึงขอให้โอนเงินเพื่อตรวจสอบที่มาที่ไปของเงินในบัญชี เขาหลงเชื่อและโอนเงินไปให้คนร้าย สูญเงินไปกว่า 4 ล้านบาท

         

          ในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีข่าวกลโกงรวมถึงการออกมาเตือนภัยในลักษณะนี้อยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ยังคงมีเหยื่อถูกหลอกลวงเกิดขึ้นต่อเนื่อง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องผนึกกำลังเพื่อป้องกัน สื่อสาร และปราบปรามกับดักร้ายนี้ให้ทั่วถึงมากที่สุด คอลัมน์ The Knowledge จะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับรูปแบบและช่องทางของภัยทางการเงินในปัจจุบัน การรับมือหากตกเป็นเหยื่อ รวมถึงทำความเข้าใจว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ มีมาตรการเชิงรุกในการแก้ปัญหาภัยทางการเงินอย่างไร

          

          ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เล็งเห็นถึงปัญหานี้ จึงเชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ในรายการ "แบงก์ชาติชวนคุย"1 ได้แก่ คุณจิตสถา ศรีประเสริฐสุข ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พลตำรวจตรี นิเวศน์ อาภาวศิน ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี คุณวรุณ กาญจนภู รองเลขาธิการ สมาคมธนาคารไทย คุณภิญโญ ตรีเพชราภรณ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับและตรวจสอบความเสี่ยงด้านไอที ธปท. และคุณอรมนต์ จันทพันธ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. โดยมีคุณชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธปท. เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

ประมวลช่องทางและรูปแบบการหลอกลวง


ประมวลช่องทางและรูปแบบการหลอกลวง

 

          การหลอกลวงจากมิจฉาชีพนั้นมีมานานแล้ว เพียงแต่คนร้ายพัฒนารูปแบบมาใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีต้นทุนต่ำและติดตามยากขึ้น แน่นอนว่าอุปกรณ์ที่ติดตัวคนยุคปัจจุบันคือโทรศัพท์มือถือ จึงไม่แปลกที่คนร้ายจะใช้ช่องทางนี้เป็นช่องทางหลักในการติดต่อกับเหยื่อ ผ่านทาง SMS การโทรคุยโดยตรง หรือผ่านแอปพลิเคชันอย่าง Facebook Line หรือ Instagram โดยสามารถประมวลรูปแบบการหลอกลวงหลัก ๆ ได้แก่ (1) การอ้างตัวเป็นบุคคลสำคัญหรือเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่น่าเชื่อถือ เพื่อให้เหยื่อโอนเงินหรือทำภารกิจต่าง ๆ (2) การขอข้อมูลสำคัญของเหยื่อ เช่น username password OTP เลขบัตรประจำตัวประชาชน (3) การหลอกให้กดลิงก์ไปยังเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน เพื่อให้กู้เงินหรือหลอกดูดข้อมูลเหยื่อ (4) การชักชวนให้เล่นพนันออนไลน์หรือลงทุนโดยใช้ผลประกอบการสูง ๆ มาล่อ และ (5) การใช้สลิปปลอมหลอกลวงผู้ขาย

          

          จากสถิติการแจ้งความในเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com ของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในช่วงวันที่ 1 มีนาคม–14 กรกฎาคม 2565 พบว่า 92.17% ของเรื่องที่รับแจ้งเป็นคดีการหลอกลวงทางด้านการเงินและการหลอกลวงจำหน่ายสินค้า2 (รวม 48,189 คดีจากทั้งหมด 52,279 คดี) ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นในแต่ละเดือน แต่สามารถอายัดได้ทันเพียงแค่ 3.21% เท่านั้น ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก

 

ขโมยรหัส

 

          เป็นที่สังเกตว่าคนร้ายจะจับจุดอ่อนของเหยื่อในด้านต่าง ๆ มากระตุ้นให้หลงเชื่อ เช่น สภาพคล่องทางการเงิน (หลอกให้กู้) ความโลภ (หลอกให้ลงทุนในหุ้น สกุลเงินดิจิทัล หรือร่วมลงทุนขายสินค้า) ความกลัว (หลอกให้โอนเงิน) ความรัก (romance scam) หรือแม้แต่หลอกคนที่ชอบชอปปิงออนไลน์ (หลอกให้โอนแต่ไม่ได้สินค้า) เมื่อรู้แบบนี้แล้ว ยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังหากต้องติดต่อในเรื่องดังกล่าว

 

กรณีตัวอย่างกลโกงที่ควรรู้

 

ทำอย่างไรเมื่อสงสัยว่าจะถูกหลอกหรือโดนหลอกแล้ว


          การระมัดระวังตัวเองเป็นเกราะป้องกันที่ดีที่สุด ทางที่ดีควรท่องไว้ในใจว่า อย่ากด อย่าโอน อย่าแชร์ข้อมูลให้ใคร แต่หากสงสัยว่ากำลังจะถูกหลอกให้พยายามตั้งสติ อย่าเพิ่งหลงเชื่อโดยง่าย หากได้รับโทรศัพท์ที่อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ เช่น DSI กรมสรรพากร กรมศุลกากร กสทช. ไปรษณีย์ หรือ ธปท. ให้วางสายแล้วโทรกลับไปเช็กที่หน่วยงานนั้นโดยตรง ซึ่งปกติแล้วหน่วยงานเหล่านี้จะไม่มีนโยบายโทรมาแจ้งให้โอนเงินเพื่อตรวจสอบข้อมูล ยืนยันความบริสุทธิ์ หรือโทรมาขอข้อมูลส่วนตัว หากส่งลิงก์มาให้กดกู้เงิน ให้เช็กชื่อบริษัทเงินกู้ที่ได้รับอนุญาตในเว็บไซต์ ธปท. ก่อน

          

          ในกรณีที่มีคนโทรมาอ้างว่าโอนเงินผิดและขอให้โอนกลับไปให้ ต้องจำไว้ว่าอย่าโอนคืนกลับไปเองเด็ดขาด เพราะอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของบัญชีม้าที่ไปพัวพันกับการกระทำความผิดได้ แนะนำว่าควรแจ้งให้บุคคลนั้นโทรไปแจ้งที่ธนาคารต้นทางของตัวเองเพื่อให้ธนาคารดำเนินการตามกระบวนการในการขอเงินคืนหรือเพื่อความปลอดภัยไม่ว่าจะทีการโอนเงินเข้ามาผิดมากน้อยแค่ไหนก็แนะนำให้ไปแจ้งความไว้ก่อนจะดีกว่า

 

ทำอย่างไรเมื่อสงสัยว่าจะถูกหลอกหรือโดนหลอกแล้ว

 

          หากพบการกระทำผิดหรือบุคคลน่าสงสัย สามารถแจ้งเบาะแสคนร้ายได้ที่สายด่วน ศคง. โทร. 1213 หรือคอลเซนเตอร์ กสทช. โทร. 1200 หรือสายด่วนของผู้ประกอบการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือของตน

          

          แต่หากโดนหลอกไปแล้วให้รวบรวมหลักฐานและรีบแจ้งความออนไลน์ที่ www.thaipoliceonline.com โดยลงทะเบียนและกรอกข้อมูลของเหตุการณ์ลงไป แล้วรอเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ และอาจจะต้องเข้าไปให้ปากคำที่สถานีตำรวจใกล้เคียง เพื่อเร่งอายัดออนไลน์หรือจับกุมต่อไป     

 

แนะนำการรับมือและข้อสังเกตกลโกง

 

การบูรณาการป้องกันและปราบปรามของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


          ภัยทางการเงินที่เกิดขึ้นถือเป็นปัญหาที่หลายภาคส่วนต้องร่วมกันป้องกัน ปราบปรามและแก้ไข เพื่อไม่ให้คนตกเป็นเหยื่อเพิ่มอีก ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการในด้านต่าง ๆ ดังนี้

          

          กสทช. ซึ่งดูแลด้าน mobile banking และโครงข่ายโทรคมนาคม SMS และอินเทอร์เน็ต ส่วนใหญ่จึงเน้นดำเนินการในลักษณะป้องกันเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน และให้ความร่วมมือกับตำรวจในการสืบหาช่องทาง ข้อเท็จจริง และร่องรอยในการติดตามมิจฉาชีพเมื่อเกิดเหตุเพื่อให้จับกุมได้เร็วที่สุด

          

          นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งคณะทำงานพหุภาคี3 ที่ดูแลเรื่องนี้ ร่วมกันพิจารณาและดำเนินการที่เกี่ยวข้องไปแล้วหลายประการ เช่น ทำให้เลขหมายจากต่างประเทศแสดงเครื่องหมายบวก (+) ข้างหน้า เพื่อให้สังเกตได้ง่ายและสามารถตัดสินใจได้ก่อนว่าจะรับสายหรือไม่ และบล็อกเบอร์โทรศัพท์จากต่างประเทศที่ถูกตั้งให้ขึ้นต้นด้วย 02 หรือเป็นเลข 4 หลัก หรือเป็นเบอร์ที่มีรหัสประเทศปลอม

 

การบูรณาการป้องกันและปราบปรามของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

          อีกทั้งยังมีแผนร่วมกับสมาคมโทรคมนาคมที่จะต่อยอดแอปพลิเคชัน "กันกวน" ของ กสทช. ที่เดิมมีไว้เพื่อกรองสายที่ไม่ต้องการรับ มาเป็นการคัดกรองและทำฐานข้อมูลเบอร์หลอกลวง อีกทั้งยังร่วมมือกับตำรวจไซเบอร์และผู้ประกอบการค่ายมือถือออกมาตรการ SCAM Alert ที่รวบรวมฐานข้อมูลเกี่ยวกับการฉ้อโกงผ่านระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ วิธีการแก้ไข ตลอดจนหน่วยงานที่ต้องติดต่อเพื่อตรวจสอบหรือขอความช่วยเหลือ เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันกลโกง และสุดท้ายมีการจัดระเบียบการลงทะเบียนซิมการ์ดให้ถูกต้อง เพื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือหลอกลวง

          

          สมาคมธนาคารไทย มีกระบวนการดักการเปิดบัญชีม้า4ตั้งแต่ต้นทาง คือให้พนักงานแจ้งเตือนว่าไม่ควรนำบัญชีไปให้ผู้อื่นใช้ หรือตั้งป้ายแจ้งเตือนบทลงโทษของการเปิดบัญชีม้า ณ จุดเปิดบัญชีของธนาคาร ยิ่งไปกว่านั้น ธนาคารมีเครื่องมือในการติดตามดูแลบัญชีลูกค้า โดยตรวจดูว่ามีการเปิดบัญชีจำนวนมากเกินไปหรือไม่ ความถี่ในการเคลื่อนไหวแค่ไหน จำนวนเงินเคลื่อนไหวสูงหรือไม่ (เทียบกับรายได้) หากมีเหตุอันควรให้สงสัยจะนำไปพิสูจน์ทราบในเชิงลึกและรายงานไปที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ต่อไป

          

          ไม่เพียงเท่านั้น สมาคมธนาคารไทยยังร่วมมือกับ ธปท. เพื่อดูแลระบบปฏิบัติการของ mobile banking และทบทวนวิธีเปิดบัญชีหรือการสแกนใบหน้ายืนยันตัวตน รวมทั้งร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการสื่อสารเตือนภัยลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสมาคมฯ พยายามผลักดันให้เกิดกฎหมายรองรับให้ธนาคารสามารถนำไปเป็นเกณฑ์ในการระงับบัญชีได้ชั่วคราวเมื่อเกิดเหตุ ก่อนไปแจ้งความออนไลน์ ซึ่งจะสามารถอายัดบัญชีได้ทันท่วงทีมากขึ้น

          

          ธปท. เน้นการดักปัญหาที่ต้นทาง โดยหารือกับ กสทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบล็อก SMS ที่ไม่ได้ใช้ชื่อ ธปท. หรือหน่วยงานภายใต้กำกับ ในการส่งข้อมูลมาให้ประชาชน รวมถึงร่วมมือกับสมาคมธนาคารไทยให้มีการแจ้งเตือนในลักษณะ pop up ใน mobile application ของธนาคารก่อนที่เราจะโอนเงิน อีกทั้ง ธปท. ได้จัดทำ white list ชื่อบริษัทเงินกู้ที่ได้รับอนุญาตและเผยแพร่ในเว็บไซต์ ธปท. เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ก่อนกู้  และสื่อสารให้ประชาชนตระหนักรู้ถึงภัยทางการเงินรูปแบบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของ ธปท.

          

          กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือตำรวจไซเบอร์ นอกจากจะเปิดเว็บไซต์ thaipoliceonline.com ให้ประชาชนแจ้งเบาะแสและร้องเรียนแล้ว ยังดำเนินบทบาทหลักในการปราบปราม จับกุมผู้กระทำความผิดตามที่ได้รับแจ้ง หรือส่งหมายอายัดออนไลน์ไปยังธนาคารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด (กรณีบัญชีม้าหลายแถว) ซึ่งจะรวดเร็วและครอบคลุมกว่าการอายัดแบบปกติ นอกจากนี้ ยังร่วมกับหน่วยงานพหุภาคีในการรวบรวมฐานข้อมูลอีกด้วย

 

QR Code ต่างๆ

 

1 รายการแบงก์ชาติชวนคุย ซีรีส์ภัยทางการเงิน เผยแพร่ทั้งหมด 3 ตอน ได้แก่ รู้เท่าทันภัยทางการเงิน เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 เปิดกลโกงภัยทางการเงินและวิธีเอาตัวรอดจากมิจฉาชีพ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 และแผนรับมือภัยทางการเงินของภาคธนาคาร เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565

 

2 การหลอกลวงทางด้านการเงินและการหลอกลวงจำหน่ายสินค้าถือเป็นคดีสองอันดับสูงสุด นอกจากนี้ ยังมีคดีที่ได้รับแจ้งความอีก 3 ประเภท ได้แก่ (1) คดีความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 / เผยแพร่ข่าวปลอม 235 คดี (2) คดีล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กและสตรี 106 คดี และ (3) คดีการพนันออนไลน์ 462 คดี

 

3 คณะทำงานพหุภาคี ประกอบด้วย กสทช. ธปท. ตำรวจไซเบอร์ คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ผู้ประกอบการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดนมีคณะกรรมการ กสทช. เป็นที่ปรึกษา

 

4 อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับบัญชีม้าเพิ่มเติมได้ที่ ตีแผ่บัญชีม้า รู้ไว้ไม่ตกเป็นเหยื่อ | BOT พระสยาม MAGAZINE