พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
ในยามที่นโยบายการเงินเป็น "พระเอก"
นโยบายการคลังจะเป็น "เพื่อนพระเอก"

พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในยามที่นโยบายการเงินเป็น "พระเอก" นโยบายการคลังจะเป็น "เพื่อนพระเอก"

 

          "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" "เราไม่ทิ้งกัน" "คนละครึ่ง" "เราเที่ยวด้วยกัน" เหล่านี้คือชื่อของมาตรการช่วยเหลือประชาชนในยุคโควิด 19 ที่ไม่เพียงแต่ติดหูคนไทยเท่านั้น หากแต่ได้รับการยอมรับอย่างสูงว่าเป็น "นวัตกรรมเชิงนโยบาย" ที่ช่วยเหลือประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

         

          ไม่เกินจริงนักหากจะกล่าวว่า นโยบายการคลังเป็น "พระเอก" ในยามที่เศรษฐกิจไทยและคนไทยต้องเผชิญความยากลำบากที่สุดในรอบหลายทศวรรษ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจไทยและเงื่อนไขเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันกำลังทำให้นโยบายการคลังเปลี่ยนไปอีกครั้ง

          

          ในวันที่เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวและนโยบายเศรษฐกิจไทยกำลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติ (policy normalization) BOT พระสยาม MAGAZINE ชวน ดร.พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หน่วยงาน "มันสมอง" ที่ทำหน้าที่คิดและเป็นที่ปรึกษาด้านนโยบายการคลังให้กับรัฐบาล สนทนาถึงวิธีคิดในการทำนโยบายการคลังในช่วงที่ผ่านมา และความท้าทายในอนาคต 

          

          อะไรคือวิธีคิดในการทำนโยบายที่เป็น "พระเอก" ในช่วงวิกฤตโควิด 19 และทำไมพระเอกต้องเปลี่ยนมาเป็น "เพื่อนพระเอก" นับจากบรรทัดนี้ไปคือคำตอบ

 

ถ้าต้องอธิบายสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันแบบเข้าใจง่าย ๆ ให้ลูกและเพื่อนของเขา จะบอกว่าอย่างไร


          "อย่างแรกคงต้องบอกตัวเลขอ้างอิงก่อน กระทรวงการคลังประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัวราว 3–3.5% ซึ่งก็สอดคล้องกับการคาดการณ์ของหน่วยงานอื่น ๆ แต่ถ้าถามว่า 'ดีไหม' คงต้องเล่าให้เห็นบริบททั้งหมด

          

          "ในภาพใหญ่เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว เพราะในปี 2563 เศรษฐกิจไทยหดตัวไป 6.2% ในขณะที่ปี 2564 ก็ขยายตัวแค่ 1.5% เท่านั้น ถ้ามองในรายละเอียดก็จะเห็นว่า คนเริ่มกลับมาจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น การบริโภคโดยรวมเลยเพิ่มขึ้น ส่วนภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องก็เริ่มกลับมาแล้ว ภาคการส่งออกก็ยังไปได้ดี และที่สำคัญปีนี้ก็ถือว่าเป็นปีที่ภาคเกษตรรายได้ค่อนข้างดี

          

          "แต่ถ้ามองออกไปข้างนอก เรายังมีความเสี่ยงอยู่ โลกทุกวันนี้เป็นโลกไร้พรมแดนที่การค้าขายและการลงทุนเชื่อมโยงกันหมด เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน ทั้งเงินเฟ้อ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ทำให้น้ำมันและอาหารแพงขึ้น นโยบาย Zero-COVID ของจีนที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมา รวมไปถึงความตึงเครียดทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่ทำให้การค้าและการลงทุนในระดับโลกเปลี่ยนไป ดังนั้น โดยสรุปคงบอกว่า เศรษฐกิจไทยดีขึ้นจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมาอย่างชัดเจน แต่ยังประมาทไม่ได้"

 

ความเสี่ยงต่าง ๆ ที่คุณพูดถึงข้างต้นเป็นความเสี่ยงที่เราควบคุมไม่ได้เลย แล้วจะรับมือสถานการณ์เหล่านี้อย่างไร


          "เราควบคุมไม่ได้แต่พอบริหารจัดการได้ เช่น เมื่อราคาพลังงานในตลาดโลกสูง รัฐบาลก็มีการพยุงราคาน้ำมันดีเซล เพื่อบรรเทาผลกระทบไม่ให้รุนแรงเกินไป ผู้ผลิตยังสามารถบริหารต้นทุนการผลิตและมีเวลาปรับตัวได้ อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและความเดือดร้อนของประชาชน ทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำ จะเห็นว่าขณะที่รัฐบาลพยุงราคาพลังงาน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ดูแลปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งล่าสุดก็มีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจ นอกจากนี้ ธปท. ก็ยังดูแลความเสี่ยงด้านนโยบายการเงินอื่น ๆ เพื่อให้กระทบกับประชาชนน้อยที่สุด

          

          "ผมอยากจะเน้นด้วยว่า หัวใจสำคัญของการบริหารจัดการนโยบายคือ การมองให้ชัดว่านโยบายมีเป้าหมายอะไร มุ่งแก้ปัญหาไหน มีกลไกในการส่งผ่านนโยบายอย่างไร เกี่ยวโยงกับนโยบายอื่นอย่างไร และใครควรต้องรับผิดชอบ เมื่อเข้าใจทั้งหมดแล้ว หน่วยงานนโยบายก็จะสามารถทำงานร่วมกัน และสื่อสารไปยังประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องได้ ในโลกที่มีความซับซ้อนและความไม่แน่นอนสูง ต้องทำให้ครบทั้งหมดจึงจะบริหารนโยบายและความเสี่ยงได้"

 

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

 

ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 ภาครัฐใช้นโยบายการคลังเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจชุดใหญ่ ทั้งเราไม่ทิ้งกัน คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ก็ได้รับเสียงชื่นชมว่าเป็นนวัตกรรมเชิงนโยบาย ทั้งในแง่ของกลไกเชิงนโยบายและประสิทธิผล คณะทำงานมีวิธีคิดในการทำนโยบายเหล่านี้อย่างไร


          "ปัญหาที่คนทั้งโลกเผชิญร่วมกันคือ การหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อควบคุมโรคระบาด ประชาชนจำนวนมากไม่สามารถประกอบธุรกิจได้ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ภาคการท่องเที่ยวซึ่งกระทบหนักมาก ดังนั้นโจทย์ใหญ่ที่สุดของรัฐบาลคือการเข้าไปดูแลชดเชยรายได้ที่เสียไป อย่างน้อยก็ให้สามารถมีรายได้ที่จะพอยังชีพได้

          

          "คำถามต่อมาคือ แล้วเราจะออกแบบการชดเชยรายได้อย่างไร ส่วนนี้ต้องวิเคราะห์โครงสร้างเศรษฐกิจไทย ซึ่งเราดูแล้วพบว่า รัฐบาลสามารถออกแบบนโยบายผ่านกลไก 3 ตัว ตัวแรกคือการใช้จ่ายภาครัฐ ตัวที่สองคือการบริโภคภาคเอกชน ตัวที่สามคือการลงทุนภาคเอกชน ในสามตัวนี้การบริโภคภาคเอกชนมีขนาดใหญ่ที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 50% ของจีดีพี ดังนั้น ถ้าสามารถกระตุ้นส่วนนี้ได้เศรษฐกิจก็น่าจะกระเตื้องได้บ้าง อีกด้านหนึ่งที่มองคือด้านอุปทาน เศรษฐกิจไทยมีภาคบริการที่ค่อนข้างใหญ่ คิดเป็นราว 60% ของจีดีพี และภาคที่เป็นข้อต่อสำคัญคือภาคการท่องเที่ยว เมื่อเม็ดเงินจากภาคท่องเที่ยวเหือดหาย ภาคบริการต่อเนื่องอื่น ๆ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร เป็นต้น ก็ชะงักไปด้วย

          

          "จากนั้นเราก็มาดูต่อว่าจะออกแบบมาตรการอย่างไร ในด้านหนึ่ง สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้รับนโยบายจากรัฐบาลอย่างชัดเจนว่าต้องดูแลทุกกลุ่ม 'ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง' แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องตีโจทย์ให้แตกว่า การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องได้รับความช่วยเหลือเหมือนกัน แต่ต้องดูว่าทุกกลุ่มมีความจำเป็นพื้นฐานอย่างไร เผชิญปัญหาและมีความต้องการแตกต่างกันไหม แล้วก็ออกแบบนโยบายให้ตอบโจทย์คนแต่ละกลุ่มมากที่สุด ถ้าสังเกตจะเห็นว่านโยบายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เราไม่ทิ้งกัน คนละครึ่ง และเราเที่ยวด้วยกัน ถูกออกแบบมาให้เหมาะกับคนหลากหลายแบบ

          

          "นอกจากการออกแบบให้เหมาะกับความต้องการที่หลากหลายแล้ว การออกแบบมาตรการให้ต่างกันยังตอบโจทย์เรื่องประสิทธิภาพด้วย ต้องเรียนว่าเรามีทรัพยากรที่จำกัด งบประมาณในการให้ความช่วยเหลือไม่ได้มากถ้าเทียบกับต่างประเทศ นั่นหมายความว่า เราไม่สามารถสาดกระสุนแบบปูพรมได้ นโยบายและมาตรการที่ออกไปต้องมีความแม่นยำ อย่างน้อยที่สุด กลุ่มคนที่เดือดร้อนควรจะได้รับการช่วยเหลือจริง ๆ ส่วนคนที่ไม่ได้ลำบากก็มีบทบาททางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันออกไป"

 

ในโลกของการทำนโยบายเป็นที่รู้กันดีว่า การทำนโยบายแบบระบุเป้าหมายจำเป็นต้องอาศัยฐานข้อมูลและหลักคิดทางวิชาการที่แม่นยำมาก อยากให้ขยายส่วนนี้ให้ฟังอีกสักหน่อย


          "สิ่งที่สำคัญที่สุดคือข้อมูล แต่ละประเทศได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ไม่แตกต่างกันมาก แต่สิ่งที่ต่างกันคือประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และความรวดเร็วในการออกนโยบาย ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ทำนโยบายได้เร็ว เพราะมีฐานข้อมูลที่ชัดเจน ใครทำอะไร อาชีพอะไร และใครได้รับผลกระทบจริง ๆ

          

          "แต่ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องฐานข้อมูลกระจัดกระจายไม่เชื่อมโยงกัน เรามีข้อมูลผู้เสียภาษี ข้อมูลพนักงานเอกชนในประกันสังคม ข้อมูลข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ แต่ก็ไม่มีข้อมูลของคนที่อยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบเป็นจำนวนมาก สิ่งที่เราทำเป็นลำดับแรก ๆ คือ ให้คนมาลงทะเบียน ซึ่งก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในส่วนนี้ แต่เราก็คิดว่าจำเป็นต้องทำเพื่อให้มีข้อมูลที่พอจะทำนโยบายได้

          

          "เมื่อเห็นข้อมูลแล้ว เราแบ่งกลุ่มเป็น 3 กลุ่มหลัก ๆ กลุ่มแรกคือคนรายได้น้อยได้รับผลกระทบรุนแรงจากโควิด 19 กลุ่มที่สองคือรายได้ปานกลางที่ยังพอมีกำลังซื้อ ยังไม่ถูกเลิกจ้างแต่อาจมีเรื่องของการไม่ได้ขยับขึ้นเงินเดือน ได้โบนัสน้อยลงหรือไม่ได้โบนัส และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มรายได้สูง ในทางทฤษฎี คนสามกลุ่มนี้จะตอบสนองเชิงนโยบายต่างกัน กล่าวคือ คนรายได้น้อยถ้าได้เงินเพิ่ม 1 บาท เขามีแนวโน้มที่จะใช้เงินเพื่อบริโภคเพิ่มขึ้นเกือบหมดทั้ง 1 บาท ส่วนคนรายได้สูงถ้ามีรายได้เพิ่ม 1 บาท รูปแบบการบริโภคของเขาก็จะไม่เปลี่ยนมากนัก (ไม่ได้นำเงิน 1 บาท มาใช้จ่ายหรือใช้จ่ายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น) ส่วนคนตรงกลางก็จะอยู่ระหว่างสองกลุ่มนี้ ในทางเศรษฐศาสตร์ เราเรียกสิ่งนี้ว่า อัตราการบริโภคส่วนเพิ่ม (marginal propensity to consume) ดังนั้น ถ้าเรามีข้อมูลเพื่อจำแนกกลุ่มคนซึ่งมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันได้ ก็จะสามารถออกแบบเครื่องมือและนโยบายที่แตกต่างกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดีกว่า

          

          "พูดอย่างเป็นรูปธรรมคือกลุ่มคนรายได้น้อย ภาครัฐให้ความช่วยเหลือผ่านมาตรการเงินโอนแบบตรง ๆ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐและโครงการคู่ขนานอย่างคนละครึ่ง ตอนนี้คนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมีประมาณ 13.4 ล้านคน เป็นกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางทางรายได้และสังคม จำนวนประมาณ 2.2 ล้านคน นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มคนที่มาลงทะเบียนโครงการเราไม่ทิ้งกัน (เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด 19) ที่แจ้งว่าตกงาน ว่างงาน ไม่มีงานทำ จากสถานการณ์โควิด 19 รวม ๆ กันแล้วมีจำนวนประมาณ 4.9 ล้านคน ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็น
กลุ่มที่ส่วนใหญ่มีเงินออมติดลบ เมื่อเจอวิกฤตจะลำบากมาก  

           

          "ต่อมาคนละครึ่ง คือการเพิ่มหรือจูงใจอำนาจการซื้อของคนที่ยังพอมีกำลังซื้อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ หรือพูดได้ว่าเป็นคนกลุ่มรายได้ปานกลางประมาณ 19 ล้านคน โดยหลักการคือ รัฐจ่ายให้ครึ่งหนึ่ง ประชาชนจ่ายครึ่งหนึ่ง แต่ข้อเท็จจริงที่เราเจอคือ ประชาชนจะจ่ายเกินครึ่งเพราะเราจำกัดเงินช่วยจ่ายจากภาครัฐไว้ที่วันละ 150 บาท และการซื้อของหลาย ๆ ครั้งก็เกิน 300 บาท นั่นหมายความว่ามีส่วนเกินที่ประชาชนจ่ายเพิ่ม ซึ่งจะทวีคูณการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจได้อีก   

          

          "อีกเรื่องที่กลุ่มที่สองแตกต่างจากกลุ่มแรกคือ นโยบายนี้ไม่ได้โอนเงินให้โดยตรง แต่ให้เป็นสิทธิ์ซึ่งมีความเป็นข้อมูลด้วย คุณไปใช้สิทธิ์ที่ไหน ข้อมูลก็ไปปรากฏที่ตรงนั้น ซึ่งเราออกแบบเลยว่าอยากให้มาตรการนี้เอาไปใช้กับร้านค้าเล็ก ๆ ทั่วไป โดยร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งมีจำนวน 1 ล้านกว่าแห่ง กระจายตัวทั่วประเทศ เป็นพ่อค้าแม่ค้าทั่ว ๆ ไปที่อยู่ในตลาด ซึ่งก็อยู่ในกลุ่มบุคคลรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง เงินเลยหมุนเวียนอยู่ในกลุ่มนี้ ข้อเท็จจริงหนึ่งที่เราพบคือ หลายคนไม่ได้เป็นผู้ประกอบการมาก่อน แต่จากการเป็นผู้ใช้โครงการคนละครึ่งก็ทำให้เขาทดลองมาเป็นผู้ประกอบการเอง ในแง่นี้เขาก็มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย เป็นการกระตุ้นให้เงินหมุนเวียนในระบบอีกอย่างน้อยสองถึงสามรอบ

          

          "กลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มรายได้สูงประมาณ 4-5 ล้านคน กลุ่มนี้กระตุ้นการใช้จ่ายยาก โดยมากจะต้องจูงใจด้วยมาตรการทางภาษีต่าง ๆ แต่รอบนี้มาตรการเราเที่ยวด้วยกันก็กระตุ้นการใช้จ่ายของคนกลุ่มนี้ได้พอสมควร ได้รับการตอบรับค่อนข้างดี ซึ่งก็สอดรับกับการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญของไทยอย่างที่บอกไปข้างต้นด้วย"

 

ปัญหาคลาสสิกของการทำนโยบายแบบเจาะจงเป้าหมายคือ "การตกหล่น (Exclusion Error)" และคนที่ตกหล่นก็มักจะเป็นคนที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด เช่น ไม่มีโทรศัพท์มือถือทำให้ไม่สามารถลงทะเบียนได้ หรืออยู่ไกลปืนเที่ยงมากเสียจนเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารของภาครัฐ


          "ตรงนี้เป็นบทเรียนสำคัญของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเลย ตอนที่ทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เราทำงานหนักมากเพื่อให้มั่นใจว่าจะกวาดคนที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขและมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ได้มากที่สุด ถึงขั้นว่ามีคนในพื้นที่ไปช่วยลงทะเบียน ตอนนั้นคิดว่าได้มาเกือบหมดแล้ว แต่ต่อมาภายหลังจึงทราบว่ามีตกหล่นอีกจำนวนมาก ปัญหาที่พบเจอก็ค่อนข้างหลากหลาย ไม่มีโทรศัพท์ลงทะเบียน ปัญหาเอกสารราชการไม่ครบ เช่น บัตรประจำตัวประชาชน หรือบางคนมีเอกสารครบ มีโทรศัพท์เข้าถึงอินเทอร์เน็ต แต่การกรอกเลขหลังบัตรประจำตัวประชาชน บางทีมองตัว 'โอ' เป็น 'เลขศูนย์' สลับกันไปมาทำให้ลงทะเบียนไม่ได้

          

          "การแก้ปัญหาให้คนกลุ่มนี้ต้องจัดการอีกแบบเลย เราจะรอให้เขาเข้ามาหาไม่ได้ แต่ต้องทำงานเชิงรุกลงไปหาเขา คนตกหล่นจำนวนมากที่เราเจอมาจากการทำงานของหน่วยงานในพื้นที่และชุมชนท้องถิ่น เช่น กำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งจะรู้ดีว่าใครเป็นกลุ่มเปราะบาง ในช่วงโควิด 19 กลุ่มอาสาสมัครก็เป็นกลุ่มหน้าด่านที่ให้ข้อมูลได้ดีมาก เขารู้หมดว่าหมู่บ้านนี้มีคนแก่กี่คน มีคนป่วยติดเตียงกี่คน นอกจากนี้เราก็สร้างความร่วมมือระหว่างธนาคารกรุงไทย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักงานคลังจังหวัด กรมบัญชีกลาง จัดเป็นหน่วยเคลื่อนที่ไปรับลงทะเบียนในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้คนเข้ามาอยู่ในระบบเพิ่มขึ้นหลักล้านคน

          

          "นอกจากนี้ เราจำเป็นต้องออกแบบระบบให้มีการอุทธรณ์เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่ควรจะได้และตกหล่นมาแสดงสิทธิ์ ซึ่งมีเอาไว้แก้ปัญหาให้คนที่ลงทะเบียนผิดหรือตกหล่นไป"

ยิ้มให้กล้อง

 

ในช่วงที่ผ่านมา นโยบายการคลังค่อนข้างได้ผลดี แต่ตอนนี้เศรษฐกิจไทยอยู่ในระยะฟื้นฟู ซึ่งเผชิญความท้าทายที่ต่างออกไป เช่น ผลของโครงการคนละครึ่งหรือเราเที่ยวด้วยกัน ก็เริ่มลดน้อยถอยลง ไหนจะเจอปัญหาเงินเฟ้ออีก ซึ่งว่ากันตามทฤษฎีคือนโยบายการคลังมีแนวโน้มซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อ และที่สำคัญที่สุดคือหนี้สาธารณะและวินัยทางการคลัง เราจะแก้โจทย์เหล่านี้อย่างไร


          "นโยบายการคลังก็กำลังกลับสู่ภาวะปกติ (policy normalization) เช่นเดียวกัน กล่าวคือ ในยามที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว นโยบายการคลังก็จะค่อย ๆ ลดความร้อนแรงลงโดยธรรมชาติ ที่ผ่านมา มีคนตั้งคำถามอยู่ไม่น้อยว่าการใช้นโยบายการคลังขนานใหญ่ในช่วงวิกฤตโควิด 19 จะทำให้คนเสพติดหรือเปล่า แต่อยากเรียนตรงนี้ว่า การดำเนินนโยบายที่ผ่านมาคำนึงถึงสถานการณ์ที่ประชาชนต้องเผชิญเป็นหลัก ตอนนี้สถานการณ์เศรษฐกิจดีขึ้น โจทย์เรื่องความยั่งยืนทางการคลังก็กลับมาเป็นโจทย์ที่เราให้ความสำคัญ ในปัจจุบัน กระทรวงการคลังกำลังทำแผนการคลังระยะปานกลางเพื่อเน้นเสถียรภาพและความยั่งยืนทางการคลัง  ซึ่งมีเป้าหมายลดการขาดดุลการคลังต่อจีดีพีลงราว 0.1% อย่างต่อเนื่องทุก ๆ ปี ซึ่งจะช่วยลดความกดดันในการบริหารหนี้สาธารณะด้วย

                    

          "พูดอีกแบบหนึ่งคือบทบาทของนโยบายการคลังจะเปลี่ยนไป จากที่เราเคยเป็น 'พระเอก' ตอนนี้เราเปลี่ยนบทบาทเป็น 'เพื่อนพระเอก' ตอนนี้พระเอกตัวจริงคือนโยบายการเงิน"

 

บทบาทของเพื่อนพระเอก ในตอนนี้คืออะไร


          "เพื่อนพระเอกแม้ไม่ใช่ตัวหลัก แต่ต้องพร้อมเข้าไปช่วยพระเอกตลอดเวลา รัฐบาลให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายการคลัง เพื่อรักษาเสถียรภาพและความยั่งยืนทางการคลังมากกว่าที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ในขณะเดียวกัน ยังรักษาระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้เหมาะสม รวมทั้งช่วยดูแลจุดเปราะบางที่นโยบายการเงินที่ปกติเข้าไปไม่ถึง

          

          "ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม อย่างการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions: SFIs) เข้าไปช่วยดูแลลูกหนี้เฉพาะกลุ่ม เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็ดูแลกลุ่มลูกค้าเกษตรกร ธนาคารออมสินดูแลพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ดูแลกลุ่มลูกค้าส่งออกนำเข้า เหตุผลที่ต้องมีการดูแลลูกหนี้เฉพาะกลุ่ม เพราะบางภาคเศรษฐกิจมีลักษณะเฉพาะ เช่น เกษตรกรมีรายได้เป็นฤดูกาลและเผชิญกับความผันผวนค่อนข้างมาก คนกลุ่มนี้อาจเข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินปกติได้ยาก ภาครัฐก็จำเป็นต้องมีการเข้ามาดูแลตรงนี้

          

          "ที่ผ่านมา สถาบันการเงินเหล่านี้ก็เข้าไปช่วยเหลือหลัก ๆ 3 ด้าน ด้านแรกคือ การเข้าไปดูแลให้สินเชื่อมีเงื่อนไขที่ผ่อนปรน ผ่อนปรนคืออะไร พูดให้ง่ายคือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ผ่อนนาน ด้านที่สอง การค้ำประกันสินเชื่อ คือการเข้าไปช่วยค้ำประกันสินเชื่อในกรณีที่หลักทรัพย์ของผู้กู้ไม่พอ ซึ่งรัฐบาลดำเนินการผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) แบบที่สามคือ การเข้าไปพยุงราคาสินค้า ซึ่งมักทำในภาคเกษตรเป็นหลัก"

 

ถ้ามองไปในอนาคต นโยบายการคลังจะมีส่วนในการแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง



          "บทเรียนสำคัญจากวิกฤตโควิด 19 รอบนี้คือ นอกจากวัคซีนป้องกันโรคแล้ว เราจำเป็นต้องมีวัคซีนทางเศรษฐกิจด้วย ตอนนี้เศรษฐกิจไทยพึ่งพิงภาคบริการมากเกินไป โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ดังนั้น โจทย์สำคัญคือการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ภาคการผลิต และภาคการบริการที่มีความหลากหลายมากขึ้น

          

          "คำถามคือภาคการผลิตใดที่มีความเหมาะสม ตอนนี้ทุกส่วนงานเห็นตรงกันว่า การลงทุนด้านดิจิทัลและความยั่งยืนคือคำตอบ ภายใต้กรอบนี้ก็พอมองเห็นอยู่ว่า มีภาคการผลิตหรือธุรกิจใหม่ ๆ อะไรบ้างที่กำลังจะมา เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า ปัญญาประดิษฐ์ต่าง ๆ ดังนั้น นโยบายการคลังจะมีส่วนสำคัญในการยกระดับการลงทุนในภาคการผลิตเหล่านี้ โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ ซึ่งถ้าสามารถผลักดันให้เกิดการลงทุนอย่างเต็มศักยภาพ ก็จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันและยกระดับเศรษฐกิจไทยได้"