HAPPY NEW YEAR!!
ส่งความสุขปีใหม่ให้ตัวเอง เก็บเงินให้สำเร็จตามเคล็ดลับนี้
ในช่วงใกล้ปีใหม่ของทุกปี หลายคนคงเตรียมตั้งเป้าหมายในปีใหม่ หรือที่เรียกว่า New Year's Resolution กันแล้ว ที่ผ่านมาอาจจะทำสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้บ้างหรือไม่สำเร็จบ้าง แต่อย่างน้อยการตั้งเป้าหมายก็ทำให้เรามีแรงผลักดันที่จะไปให้ถึง
เป้าหมายส่วนใหญ่ที่คนนิยมตั้งเป็นเป้าหมายในปีใหม่ เช่น การดูแลสุขภาพร่างกาย การแก้นิสัยบางอย่าง แต่อีกเรื่องหนึ่งที่เราไม่ควรมองข้ามก็คือ เป้าหมายทางการเงิน
เป้าหมายทางการเงินอาจมีได้หลายแบบ ขึ้นอยู่กับความปรารถนาหรือความฝันที่แต่ละคนอยากทำให้สำเร็จ ซึ่งมักจะเป็นการออมหรือการลงทุนเพื่อเป้าหมายบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อบ้าน ซื้อรถ เกษียณสุข หรือท่องเที่ยว แต่การตั้งเป้าหมายทางการเงินที่ดีนั้น จะต้องเป็นเป้าหมายที่ชัดเจน วัดผลได้ สามารถทำให้สำเร็จได้ สมเหตุสมผล และมีกำหนดกรอบเวลาแน่นอน รวมถึงควรมีการจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายทางการเงินต่าง ๆ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้จริง นอกจากนี้ ยังสามารถแบ่งเป็นเป้าหมายระยะสั้น (น้อยกว่า 1 ปี) ตัวอย่างเช่น ต้องการเก็บเงินออมเผื่อฉุกเฉินเป็นเงิน 30,000 บาทภายใน 1 ปี เป้าหมายระยะกลาง (มากกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี) อาทิ ต้องการเก็บเงินเพื่อใช้เป็นเงินดาวน์ซื้อบ้าน จำนวน 500,000 บาทภายใน 3 ปี หรือเป้าหมายระยะยาว (มากกว่า 3 ปี) เช่น ต้องการมีเงินเก็บเมื่อเกษียณอายุ จำนวน 10 ล้านบาท
ตัวอย่างตัวช่วยในการเก็บเงินก้อนที่อยากแนะนำให้แก่มือใหม่หัดออมเงิน คือ บัญชีเงินฝากปลอดภาษี ซึ่งกำหนดให้เราต้องฝากเงินในจำนวนที่เท่ากันทุกเดือน (อาจมีการกำหนดขั้นต่ำ เช่น 500-1,000 บาท) ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ เช่น 24 เดือน หรือ 36 เดือน ซึ่งธนาคารมักจะให้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าเงินฝากประเภทอื่น[1] และบางธนาคารอาจมีบริการโอนเงินอัตโนมัติจากบัญชีที่เราแจ้งไว้เพื่อไปเก็บออมในบัญชีเงินฝากปลอดภาษี เป็นการอำนวยความสะดวกและสร้างวินัยการออมที่ดีด้วย โดยหากมีการฝากอย่างน้อย 24 เดือน แต่ไม่เกิน 25,000 บาทต่อเดือน และรวมทั้งหมดแล้ว
ต้องไม่เกิน 600,000 บาท จะได้รับยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก 15% จึงเป็นอีกหนึ่งทางที่ทำให้เงินงอกเงย และช่วยให้สามารถเก็บเงินก้อนได้
เคล็ดลับอีกอย่างในการออมเงินให้สำเร็จได้ตามที่ตั้งใจไว้ก็คือ หากเริ่มออมเงินตั้งแต่อายุยังน้อยและออมจนเป็นนิสัยอย่างสม่ำเสมอ เราจะสามารถไปถึงเป้าหมายทางการเงินได้อย่างสบาย ๆ ด้วยจำนวนเงินออมต่อเดือนที่น้อยกว่า เมื่อเทียบกับการเริ่มต้นออมเมื่ออายุมากขึ้น ตัวอย่างเช่น หากเราต้องการมีเงินก้อนตอนอายุ 60 ปี ประมาณ 1.5 ล้านบาท แล้วเริ่มออมตั้งแต่เริ่มทำงานตอนอายุ 25 ปี โดยเก็บเงินทุกเดือน (สมมติว่าได้รับผลตอบแทน 3% ต่อปี) เราจะเก็บเงินประมาณเดือนละ 2,000 บาท แต่หากเราเพิ่งมาเริ่มต้นออมเงินตอนอายุ 45 ปี เราจะต้องออมเงินถึงเดือนละประมาณ 6,500 บาท ถึงจะได้เงินเก็บในจำนวนใกล้เคียงกันเมื่อเกษียณอายุ ซึ่งเราสามารถคำนวณและวางแผนเพื่อออมเงินอย่างคร่าว ๆ ได้ที่โปรแกรมคำนวณเงินออมของศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ได้ที่เว็บไซต์ https://www.1213.or.th
สำหรับบางคนที่เลือกไปถึงเป้าหมายด้วยการแบ่งเงินออมส่วนหนึ่งไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝาก เช่น ตราสารหนี้ ตราสารทุน หรือกองทุนรวม เพื่อสร้างผลตอบแทนและกระจายความเสี่ยงไม่ให้กระจุกตัวอยู่ในเงินฝากเพียงอย่างเดียว สัดส่วนที่เหมาะสมของเงินที่ควรแบ่งไปลงทุนนั้นจะขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้ของแต่ละบุคคลด้วย โดยวิธีการลงทุนสำหรับมือใหม่ที่นิยมกันคือการลงทุนแบบ Dollar Cost Averaging (DCA) ด้วยการทยอยลงทุนเป็นประจำในจำนวนที่เท่า ๆ กันทุกเดือน โดยไม่สนใจว่าราคาสินทรัพย์ลงทุนในขณะนั้นจะเป็นเท่าไหร่ เพื่อสร้างวินัยการออม เฉลี่ยต้นทุนในการลงทุน และลดความเสี่ยงจากการผันผวนของราคาในแต่ละช่วงเวลาได้
ที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างของการออมเงินและการลงทุนเพียงบางส่วนเท่านั้น หากมีความสนใจเกี่ยวกับการออมและการลงทุน ควรศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน โดยสามารถหาข้อมูลที่น่าเชื่อถือเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย https://www.setinvestnow.com/th/home และพิจารณาเลือกการออมและการลงทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
การวางแผนการเงินโดยเริ่มต้นจากการตั้งเป้าหมายทางการเงิน จัดทำแผน เริ่มต้นออมเงิน และจัดสรรเงินลงทุน เป็นการเริ่มต้นใส่ใจดูแลตัวเองอย่างหนึ่ง เพื่อให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความมั่นคงทางการเงินในอนาคต ถือเป็นการให้ของขวัญทางการเงินแก่ตัวเองในวันปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง เพราะวันปีใหม่ถือเป็นจุดเริ่มของปี ซึ่งเหมาะสำหรับการเริ่มต้นสิ่งใหม่ ๆ ที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้นได้
ในส่วนของความท้าทายระยะยาว มีการหารือใน 2 ประเด็นหลัก คือ
(1) ประเด็นดิจิทัล การสร้างสมดุลของนโยบายด้านดิจิทัลของธนาคารกลาง ระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมและการบริหารความเสี่ยงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ภาคการเงินนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการ และเอื้อให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งทำให้เกิดการแข่งขันจากผู้เล่นรายเล็กที่มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีใหม่ ๆ ภายใต้การบริหารความเสี่ยงทั้งต่อระบบการเงินและผู้ใช้บริการ โดยเห็นว่าควรมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล ซึ่งจะช่วยให้ภาคการเงินสามารถใช้ข้อมูลเพื่อช่วยให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้นด้วยต้นทุนที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองต่อการพัฒนา Central Bank Digital Currency (CBDC) ซึ่งหลายประเทศอยู่ในช่วงการศึกษาหรือทดสอบการใช้งานในการโอนเงินระหว่างประเทศ (cross-border payment) การใช้งานระหว่างสถาบันการเงิน (wholesale CBDC) และการใช้งานสำหรับรายย่อย (retail CBDC) ซึ่งผู้ร่วมเสวนาส่วนใหญ่เห็นประโยชน์ชัดเจนในการใช้ CBDC สำหรับธุรกรรมโอนเงินระหว่างประเทศและการใช้งานระหว่างสถาบันการเงิน โดยเฉพาะการลดระยะเวลาและต้นทุนการทำธุรกรรม เพิ่มความโปร่งใสของธุรกรรม และรองรับการใช้งานในรูปแบบอื่นที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
(2) ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ที่จะส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อและการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยธนาคารกลางในฐานะผู้ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินต้องทำความเข้าใจและเตรียมรับมือกับผลกระทบดังกล่าว รวมถึงเพิ่มบทบาทเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ ในการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางเพื่อรับมือกับความท้าทายนี้ อาจครอบคลุมทั้ง (1) นโยบายการเงินเพื่อดูแลผลกระทบของ climate change ต่อผลผลิตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ และ (2) นโยบายดูแลเสถียรภาพของสถาบันการเงินและระบบการเงิน เช่น การกำหนดแนวทางการประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นมาตรฐาน การวิเคราะห์สถานการณ์และทดสอบภาวะวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศ (climate scenario analysis and stress testing) ต่อภาคการเงิน รวมทั้งการส่งเสริมให้สถาบันการเงินเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ผู้ร่วมเสวนาเห็นความสำคัญของการจัดสรรเงินทุนให้กิจกรรมที่อยู่ระหว่างปรับตัว รวมถึงเน้นการให้ความช่วยเหลือเรื่องการยกระดับความรู้ โดยเฉพาะแก่ SMEs โดยธนาคารกลางสามารถมีบทบาทสนับสนุนให้เกิดการจัดสรรเงินทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมมากขึ้น ผ่านการประสานความร่วมมือกับธนาคารเพื่อการพัฒนาในระดับพหุภาคี (multilateral development banks) รวมถึงกองทุนสถาบัน (institutional fund) เพื่อดึงดูดเงินทุนจากภาคเอกชนมากขึ้น
สีสันของงานนี้อยู่ที่การถกประเด็นอย่างเปิดเผยและเป็นกันเองของผู้ร่วมเสวนา รวมทั้งการตอบคำถามที่น่าสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุม โดยท่านสามารถรับชมงานสัมมนาย้อนหลังได้ผ่านช่องทาง Facebook และ YouTube ของ ธปท.