เปิดประเด็นความท้าทายของธนาคารกลาง

กับงาน BOT-BIS CONFERENCE

"CENTRAL BANKING AMIDST SHIFTING GROUND"

image

          เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements: BIS) จัดงาน BOT-BIS Conference ในหัวข้อ "Central Banking Amidst Shifting Ground" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานครบรอบ 80 ปีของ ธปท. งานนี้ถือเป็นงานใหญ่ระดับโลก โดยได้รับเกียรติจากผู้ว่าการธนาคารกลางจาก 14 ประเทศทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงขององค์กรระหว่างประเทศ องค์กรในประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ร่วมหารือเกี่ยวกับการทำหน้าที่ตามพันธกิจหลักของธนาคารกลาง ท่ามกลางบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลง หรือ shifting ground

 

          จุดประสงค์ของการสัมมนานี้คือเป็นเวทีที่ผู้นำทางความคิดทั้งในภูมิภาคและระดับโลก รวมทั้งในประเทศได้แลกเปลี่ยนมุมมองในประเด็นเร่งด่วนของโลก นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสในการสร้างเครือข่ายเพื่อต่อยอดความร่วมมือกับต่างประเทศ สะท้อนภาพของ ธปท. ในการเป็นธนาคารกลางที่ดำเนินนโยบายบนหลักการ มีข้อมูลและงานวิชาการสนับสนุน และนำมาประยุกต์สอดให้รับกับบริบทของประเทศตลาดเกิดใหม่ได้ โดยครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดสดให้ผู้สนใจและประชาชนทั่วไปทั้งในและนอกประเทศได้รับชมไปพร้อมกัน

 

 

Central Banking Amidst Shifting Ground

 

          ธีมของงานสัมมนาครั้งนี้ คือ Central Banking Amidst Shifting Ground ซึ่งเป็นโจทย์ของธนาคารกลางส่วนใหญ่ในโลกในการทำหน้าที่ตามพันธกิจ (รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน ระบบสถาบันการเงิน ระบบการชำระเงิน) ท่ามกลางบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เหมือนการทำงานบน shifting ground ซึ่งก็คือการเปลี่ยนแปลงภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจการเงินและภูมิรัฐศาสตร์ นำมาสู่คำถามว่า ธนาคารกลางต้องปรับตัวอย่างไรให้สามารถเชื่อมโยง และทำหน้าที่ดูแลระบบเศรษฐกิจการเงินอย่างมีประสิทธิภาพและคงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือ ภายใต้ความท้าทายทั้งระยะสั้นและระยะยาว

 

          ในการเตรียมการ ธปท. และ BIS ได้ร่วมกันพิจารณารายชื่อผู้ร่วมเสวนาซึ่งเป็นผู้นำทางความคิดระดับโลกสำหรับแต่ละ session ให้มีการผสมผสานระหว่างมุมมองที่แตกต่างกัน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนแนวคิดที่น่าสนใจและครอบคลุม ตัวอย่างเช่น ใน session แรกที่เป็นการเสวนาด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ Mr. Agustín Carstens (General Manager ของ BIS) ซึ่งเป็นประธานของการจัดงานในครั้งนี้ ให้ภาพรวมของเศรษฐกิจและการเงินโลก ในส่วนของผู้เสวนาหลัก คือ Mr. Yi Gang ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน ก็ให้มุมมองจากเศรษฐกิจจีนที่ยังค่อนข้างอ่อนแอและจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินในการประคับประคองเศรษฐกิจ ขณะที่ Madam Christine Lagarde ประธานธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) กำลังเผชิญปัญหาวิกฤตพลังงานส่งผลให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง และจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดในการควบคุมเงินเฟ้อ ในส่วนของผู้ร่วมเสวนา คือ Mr. Philip Lowe ผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลีย เล่าถึงภาวะที่เศรษฐกิจออสเตรเลียขยายตัวได้ดีแต่มีปัญหาเงินเฟ้อสูง ขณะที่ Mr. Perry Warjiyo ผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซีย เป็นตัวแทนของเศรษฐกิจอาเซียนที่เน้นการทำนโยบายแบบผสมผสานทั้งในส่วนของนโยบายการเงิน การคลัง และอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินโดยรวม โดยคำนึงถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไปพร้อมกัน ส่วน Professor Raghuram Rajan จาก University of Chicago ได้ให้มุมมองเชิงหลักการและทฤษฎีของการดำเนินนโยบายได้

 

 

ประเด็นสำคัญในงานสัมมนา

image

          ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวเปิดการสัมมนาโดยเน้นความท้าทายในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินใน 3 มิติหลัก ได้แก่ (1) บริบทเศรษฐกิจการเงินที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก (2) กรอบความคิดในการดำเนินนโยบายที่ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับบริบทใหม่ ทั้งการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลเงินเฟ้อ และการกำกับดูแลภาคการเงินภายใต้กระแสโลกใหม่อย่างดิจิทัล ซึ่งทำให้ธนาคารกลางจำเป็นต้องหาสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรม และการดูแลความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน และ (3) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอาจเป็นมิติที่ท้าทายมากที่สุดและต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน จากความท้าทายดังกล่าว ธนาคารกลางจึงจำเป็นต้องปรับมุมมอง แนวนโยบาย และเครื่องมือ เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ได้อย่างตรงจุด ทันการณ์ รวมถึงประสานงานกับหลายภาคส่วนมากขึ้น เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ดูแลรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินซึ่งเป็นพันธกิจหลักของธนาคารกลางได้อย่างยั่งยืน

image

           สำหรับประเด็นความท้าทายระยะสั้น แม้ภาวะเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาคจะแตกต่างกัน แต่ผู้ร่วมเสวนาได้เน้นถึงความสำคัญในการดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสาธารณชน ผ่านการผสมผสานนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง และนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน (ในกรณีที่จำเป็น) รวมทั้งการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาสมดุลของการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจควบคู่กับการควบคุมเงินเฟ้อ ทั้งนี้ ยังได้มีการหารือเกี่ยวกับประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ทั้งในยุโรปและการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งจะเป็นความท้าทายที่สำคัญต่อเศรษฐกิจโลกจากการแบ่งขั้วอำนาจ และการเกิดกระแสทวนกลับของโลกาภิวัตน์ (deglobalization) โดยผู้เสวนาได้เสนอให้องค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ มีบทบาทในการช่วยสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศ (multilateralism) และโลกาภิวัตน์ (globalization) มากขึ้น

image

          ในส่วนของความท้าทายระยะยาว มีการหารือใน 2 ประเด็นหลัก คือ

 

          (1) ประเด็นดิจิทัล การสร้างสมดุลของนโยบายด้านดิจิทัลของธนาคารกลาง ระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมและการบริหารความเสี่ยงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ภาคการเงินนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการ และเอื้อให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งทำให้เกิดการแข่งขันจากผู้เล่นรายเล็กที่มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีใหม่ ๆ ภายใต้การบริหารความเสี่ยงทั้งต่อระบบการเงินและผู้ใช้บริการ โดยเห็นว่าควรมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล ซึ่งจะช่วยให้ภาคการเงินสามารถใช้ข้อมูลเพื่อช่วยให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้นด้วยต้นทุนที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองต่อการพัฒนา Central Bank Digital Currency (CBDC) ซึ่งหลายประเทศอยู่ในช่วงการศึกษาหรือทดสอบการใช้งานในการโอนเงินระหว่างประเทศ (cross-border payment) การใช้งานระหว่างสถาบันการเงิน (wholesale CBDC) และการใช้งานสำหรับรายย่อย (retail CBDC) ซึ่งผู้ร่วมเสวนาส่วนใหญ่เห็นประโยชน์ชัดเจนในการใช้ CBDC สำหรับธุรกรรมโอนเงินระหว่างประเทศและการใช้งานระหว่างสถาบันการเงิน โดยเฉพาะการลดระยะเวลาและต้นทุนการทำธุรกรรม เพิ่มความโปร่งใสของธุรกรรม และรองรับการใช้งานในรูปแบบอื่นที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้

image

          (2) ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ที่จะส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อและการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยธนาคารกลางในฐานะผู้ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินต้องทำความเข้าใจและเตรียมรับมือกับผลกระทบดังกล่าว รวมถึงเพิ่มบทบาทเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ ในการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางเพื่อรับมือกับความท้าทายนี้ อาจครอบคลุมทั้ง (1) นโยบายการเงินเพื่อดูแลผลกระทบของ climate change ต่อผลผลิตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ และ (2) นโยบายดูแลเสถียรภาพของสถาบันการเงินและระบบการเงิน เช่น การกำหนดแนวทางการประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นมาตรฐาน การวิเคราะห์สถานการณ์และทดสอบภาวะวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศ (climate scenario analysis and stress testing) ต่อภาคการเงิน รวมทั้งการส่งเสริมให้สถาบันการเงินเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม

image

          ทั้งนี้ ผู้ร่วมเสวนาเห็นความสำคัญของการจัดสรรเงินทุนให้กิจกรรมที่อยู่ระหว่างปรับตัว รวมถึงเน้นการให้ความช่วยเหลือเรื่องการยกระดับความรู้ โดยเฉพาะแก่ SMEs โดยธนาคารกลางสามารถมีบทบาทสนับสนุนให้เกิดการจัดสรรเงินทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมมากขึ้น ผ่านการประสานความร่วมมือกับธนาคารเพื่อการพัฒนาในระดับพหุภาคี (multilateral development banks) รวมถึงกองทุนสถาบัน (institutional fund) เพื่อดึงดูดเงินทุนจากภาคเอกชนมากขึ้น

 

          สีสันของงานนี้อยู่ที่การถกประเด็นอย่างเปิดเผยและเป็นกันเองของผู้ร่วมเสวนา รวมทั้งการตอบคำถามที่น่าสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุม โดยท่านสามารถรับชมงานสัมมนาย้อนหลังได้ผ่านช่องทาง Facebook และ YouTube ของ ธปท. 

image