"ศิลปินคนพิเศษ" ร่วมแสดงงานศิลปะฉลอง 80 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย

image

          ภาพวาดสีสดใสสะดุดตาฝีมือของเยาวชนผู้มีความต้องการพิเศษจากมูลนิธิ ณ กิตติคุณ ได้สร้างความประทับใจต่อผู้พบเห็นจนชักพาให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาติดต่อเพื่อขอให้สร้างสรรค์และนำผลงานไปจัดแสดงในโอกาสพิเศษครบรอบ 80 ปี ธปท. พระสยาม BOT MAGAZINE ฉบับนี้ จึงชวนครูปุ๊-สนทนี นทพล ตัวแทนจากมูลนิธิ ณ กิตติคุณ มาร่วมบอกเล่าวิธีการทำงานรวมถึงความภาคภูมิใจที่ศิลปินคนพิเศษจากมูลนิธิได้ร่วมแสดงความสามารถในโอกาสสำคัญ

 

 

ศิลปะกับ "บุคคลพิเศษ" เครื่องมือส่งเสริมพัฒนาการและสื่อสาร

 

          "Every child is an artist...  -  เด็กทุกคนล้วนเป็นศิลปิน…"  - ปาโบล ปิกัสโซ

image

         ถ้อยคำที่ศิลปินเอกระดับโลกได้เคยกล่าวไว้ไม่ใช่เรื่องเกินจริง โดยเฉพาะที่มูลนิธิ ณ กิตติคุณ ซึ่งไม่เพียงเปิดโอกาสให้เด็กทุกคนได้เป็นศิลปิน หากแต่ใช้งานศิลปะเป็นเครื่องมือชั้นยอดในการเสริมสร้างพัฒนาการ ส่งเสริมการสื่อสาร อีกทั้งยังเป็นช่องทางสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษจากครอบครัวต่าง ๆ โดยจะเข้ามาทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาและใช้ชีวิตตามศักยภาพและความสามารถที่มี ร่วมกับเพื่อน ๆ ผ่าน 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่ ดนตรี ศิลปะ การออกกำลังกาย และเบเกอรี 

image

          "เราใช้ศิลปะเข้ามาฝึกพัฒนาการของกลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษเป็นเวลา 18 ปีแล้ว ช่วงแรกจะไม่เหมือนการเรียนศิลปะเลย เด็ก ๆ จะวิ่งขึ้นวิ่งลง ไปอยู่ใต้โต๊ะบ้าง เราพยายามปรับจนกระทั่งเด็กสามารถนั่งเรียนได้ สามารถใช้มือวาดภาพได้ ใช้ศิลปะช่วยพัฒนาประสาทสัมผัสการมองเห็น เป็นความสัมพันธ์ระหว่างสมอง ตา มือ เดี๋ยวนี้บรรยากาศในห้องศิลปะจึงเรียบง่าย สบาย แล้วก็มีความสุขด้วย บางคนเขาก็อยากจะฟังเพลงไปด้วย วาดไปด้วย มีความสุขในการทำงาน" 

 

          ในส่วนของการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะนั้น ครูปุ๊อธิบายว่ารูปแบบการสร้างงานของพวกเขา คือการช่วยสร้างความเป็นนายช่างที่ถนัดวาดตามต้นแบบและใส่ลายมือเฉพาะตัวเพิ่มเติมลงไป ซึ่งอาจจะต่างจากศิลปะบำบัดของเด็กพิเศษซึ่งเน้นให้บุคคลพิเศษสร้างสรรค์ผลงานที่มาจากความคิดจินตนาการของตนเอง

 

          "ด้วยลักษณะอาการของออทิสติก สมองส่วนของการสื่อสารนั้นมีปัญหา ทำให้เขาจะฟังคำสั่งได้ช้า ก่อนจะทำอะไรได้ต้องประมวลคำสั่งนาน หรือการที่เราจะสอนอะไรที่เป็นวิชาการจึงไม่ได้เลย เพราะเขาไม่เข้าใจภาษาการสื่อสาร เราจึงเปลี่ยนวิธีการเป็นให้เขาสามารถที่จะทำตามเราได้ ด้วยการให้คุณครูวาดให้ดูหน้าชั้นเรียน แล้วนักเรียนวาดตาม โดยเลือกหัวข้อต่าง ๆ มาให้เขาได้พัฒนาลองวาดโน่นวาดนี่อย่างหลากหลาย เพื่อจะได้มีความเข้าใจต่อสิ่งต่าง ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น บางคนอาจจะวาดเพนกวินไม่ได้ แต่วาดม้าได้ บางคนอาจจะวาดอยู่รูปแบบเดียว ให้วาดทีไรก็วาดรูปเดิมทุกครั้ง ก็จะไม่มีการพัฒนาเกิดขึ้น รูปแบบการทำงานศิลปะของที่นี่ เด็กจึงเป็นเหมือนนายช่างที่สามารถวาดภาพออกมาสวยงามตามที่โค้ชหรือครูศิลปะวางแนวทางไว้ได้ และยังทำงานร่วมกับคนอื่นได้สบายมาก

image

          "หลังจากฝึกวาดรูปมาเรื่อย ๆ ต่อมาก็มีการขายภาพวาดที่พวกเขาวาด ซึ่งถ้าหากภาพของเขาขายได้ ก็จะได้รับส่วนแบ่ง 30%  ส่วนอีก 30% มอบให้โค้ชหรือครูที่เราไปขอให้เขามาช่วยสอน แล้วต่อไปในอนาคตหากขายภาพได้มากขึ้น เราก็อยากปรับให้น้องได้รับรายได้มากขึ้น ตอนนี้สถานะของน้อง ๆ หลายคนจึงเหมือนคนที่ทำงานแล้ว บางคนเวลาออกมาทำกิจกรรมกับเราก็จะบอกที่บ้านว่า เขาไปทำงานนะ ไม่ได้มาเรียน ซึ่งเราก็อยากให้เขามองตัวเองแบบนั้นด้วย เพราะเป้าหมายเราคือต้องทำให้เขาทำงานได้ เพื่อคนที่เป็นบุคคลพิเศษจะเป็นคนได้เต็มคน ซึ่งจะเป็นอย่างนั้นได้ ก็ต่อเมื่อเขาสามารถทำงานได้ คนเราเกิดมาต้องทำงาน นั่นคือหลักการของเรา"

 

 

จากหนึ่งภาพวาด ต่อยอดสู่นิทรรศการศิลปะ

 

          จากจุดเริ่มต้นความประทับใจภาพผลงานที่เผยแพร่ในอินสตาแกรม @nakittikoon นำไปสู่การบอกต่อ กระทั่ง ธปท. ตัดสินใจเลือก "ศิลปินคนพิเศษ" กลุ่มนี้ให้สร้างสรรค์ผลงานกว่า 10 ภาพเพื่อนำไปจัดแสดงในงานนิทรรศการศิลปะ เนื่องในวาระครบ 80 ปี ซึ่งนอกจากจะเปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงความสามารถเป็นที่ประจักษ์แล้ว ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นสนับสนุนผลงานของศิลปินบุคคลพิเศษในสังคมที่อาจต่อยอดสู่กลุ่มอื่น ๆ ในอนาคต

 

          ครูปุ๊เป็นตัวแทนเล่าถึงการบ้านที่ต้องทำหลังได้รับมอบหมายจาก ธปท. โดยแบ่งเป็น 2 มุมมอง นั่นคือมุมมองจากภายนอก เช่น ภาพอาคารสำนักงาน และมุมมองจากภายใน ซึ่งหมายถึงการดำเนินงานของ ธปท. ที่จะสะท้อนผ่านการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ อาทิ การค้าขาย เกษตรกรรม โดยเริ่มจากการคุยกับโค้ชหรือคุณครูสอนศิลปะทั้ง 4 คน ที่เข้ามาดูแลโพรเจกต์นี้ร่วมกัน ได้แก่ ครูปุ๊-สนทนี นทพล ครูเน็ต-เจเน็ต เผื่อนพงศ์ ครูส้ม-สานุ เผื่อนพงศ์ และครูเอิร์ธ-อานนท์ ลุลิตานนท์

image

ครูเอิร์ธ-อานนท์ ลุลิตานนท์ ครูปุ๊-สนทนี นทพล ครูเน็ต-เจเน็ต เผื่อนพงศ์ และครูส้ม-สานุ เผื่อนพงศ์

 

 

          "หลังจากได้รับโจทย์มา ทีมครูก็ไปลองอ่าน BOT พระสยาม MAGAZINE ทำให้เห็นว่าแนวคิดของ ธปท. เป็นอย่างไร รู้สึกมีความใกล้ชิดมากขึ้น และเข้าใจมากขึ้นว่านโยบายต่าง ๆ ด้านการเงินที่ช่วยเราในตอนนี้ก็มาจากที่นี่ จากนั้นจึงมาร่วมด้วยช่วยกันคิดว่าจะตีความตามโจทย์ออกมาเป็นภาพอะไรได้บ้าง จะใช้สีอะไรในแต่ละภาพ โทนสีประมาณไหน แล้วจัดเตรียมสีไว้ให้เรียบร้อย ก่อนมอบหมายให้ศิลปินแต่ละคนเริ่มวาดตามแบบที่วางไว้

 

          "ระหว่างการทำงานจริง ๆ ไม่ต้องพูดอะไรมากเลย ไม่ได้มีปัญหาการสื่อสาร เพราะครูกับนักเรียนเข้าใจกันดี ลักษณะการทำงานของพวกเขาเหมือนเป็นลูกน้องครู เพียงแต่ต้องคอยโค้ชเพื่อให้ความรู้สึกของเขาออกมาในภาพ แค่ชี้ให้ดูว่าลองเปลี่ยนตรงนี้หน่อย ตรงนี้ได้แล้ว ตอนลงสีก็ช่วยดูว่าสีอะไรควรอยู่ตรงจุดไหน มีอะไรที่พลาดก็ช่วยแก้ไขให้ แต่ว่ายังมีลายมือของเขาอยู่ในภาพ ใส่ความเป็นตัวเขาเข้าไปเยอะ ซึ่งต้องบอกก่อนนะคะว่าที่วันนี้เห็นเป็นรูปเป็นร่างแบบนี้ แต่ตอนสุดท้ายเมื่อภาพเสร็จแล้ว หน้าตาอาจไม่ได้เหมือนแบบนี้ก็ได้ จะมีความน่าทึ่งที่คาดไม่ถึง ซึ่งตรงนี้แหละเป็นสิ่งที่ทำให้ครูปุ๊ทำงานนี้แล้วมีความสุข

 

          "ส่วนน้อง ๆ ทุกคน แน่นอนเป็นความสุขของเขาอยู่แล้วที่จะได้วาด ได้ละเลงสีสัน เราสัมผัสได้เลยว่าความสุขของเขาคือการได้วาด การมีโจทย์งานมาทำให้น้อง ๆ เหล่านี้ได้ท้าทายว่า เขาจะได้ทำในสิ่งที่คนอื่นต้องการ ต้องทำให้ได้นะ และต้องมาทำนะ ไม่ใช่ว่านึกอยากมาเรียนแค่นี้แล้วก็กลับบ้าน ส่วนพ่อแม่ของน้อง ๆ ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี อย่างเมื่อวานนี้มีคนหนึ่งอยู่จนถึงห้าโมงเย็น คุณแม่มานั่งรอรับก็หัวเราะบอกน้องว่า ให้ทำโอที กลัวไม่เสร็จ เรารู้สึกว่าไม่ใช่แค่ครูและเด็ก แต่เป็นผู้ปกครองด้วยที่ต้องการกำลังใจในการเลี้ยงลูก เพราะฉะนั้นโพรเจกต์นี้ต้องบอกว่าดีมาก ๆ ทำให้ทุกคนได้ประโยชน์หมดทุกฝ่าย เพราะโจทย์ทุกเรื่องเป็นสิ่งที่ท้าทาย และความท้าทายเป็นสิ่งที่เราต้องการ 

  

          "รู้สึกดีใจที่ ธปท. เลือกเข้ามาทำงานกับมูลนิธิเรา นับเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ทำให้หลายครอบครัวได้สร้างความรู้สึกที่ดีขึ้นมา ทำให้ครอบครัวเขาตื่นเต้นกับงานที่ได้ทำ และเชื่อว่าแบงก์ชาติจะมีโครงการที่ดี ๆ ออกมาอีกมาก เพราะองค์กรนี้มีความสำคัญกับทุก ๆ คน เข้าไปแตะต้องชีวิตทุกคนอยู่แล้ว"

 

 

เป้าหมายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนของกลุ่มบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ

 

          ก่อนจะมาเป็นมูลนิธิ ณ กิตติคุณ ครูปุ๊ย้อนอดีตเล่าว่ามีจุดเริ่มต้นเมื่อเกือบ 20 กว่าปีก่อน จากเดิมที่รับสอนดนตรีให้เด็กพิเศษแล้วพบว่า ดนตรีและศิลปะสามารถช่วยฝึกพัฒนาการด้านการสื่อสารให้แก่เด็กกลุ่มนี้ได้ กระทั่งมีผู้ปกครองหลายท่านเข้ามาจุดประกายบันดาลใจให้ปรับเปลี่ยนการทำงานจากรับสอนพิเศษส่วนตัวมาเป็นรูปแบบมูลนิธิ

 

          "เรารู้จักผู้ปกครองเด็กพิเศษหลายท่านมานาน ตั้งแต่ลูกเขายังเล็ก ๆ อายุ 5-6 ขวบ วันหนึ่งเขาก็มาปรึกษาว่า ถ้าลูกโตแล้วจะอยู่อย่างไร กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ทำมูลนิธินี้ ทั้งที่ก็กลัวมากเลยนะ เนื่องจากว่าเราจบรัฐศาสตร์ เป็นคนที่เล่นดนตรี ชอบเขียนเพลง อุปสรรคสำคัญคือตัวเอง กลัวว่าจะทำไม่ได้ ไม่มีความรู้พอ

image

          "ตอนที่ตัดสินใจอยู่ว่าจะทำหรือไม่ทำดี ก็มีวันที่ต้องสอนเปียโนให้เด็กพิเศษคนหนึ่ง เราเรียกเขามาเรียนแต่เขาวิ่งหนีไปรอบ ๆ พอจับตัวได้ เตรียมจะเล่นดนตรีกัน เขาก็ไปมองปฏิทินที่เปิดผิดวันอยู่ เขายื่นมือเปิดปฏิทินไปที่วันนั้น ซึ่งพอมองไปเจอคำเขียนว่า 'พระเจ้าไม่ลืมคนที่โลกลืม' เท่านั้นแหละ เราก้มลงไปคุกเข่า ตัดสินใจยอมทำ จากนั้นจึงเริ่มต้นหาความรู้เพื่อทำงานด้านนี้โดยตรง

 

          "ครั้งแรก ๆ พยายามทำทุกอย่างให้เด็ก ๆ เขียนหนังสือ อ่านหนังสือ วาดรูป ร้องเพลง ทุกอย่างที่คิดว่าควรทำ กระทั่งมีอาจารย์ท่านหนึ่งจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งเป็นคุณพ่อของเด็กพิเศษแนะนำว่า อย่าไปทำอะไรที่ตัวเองทำไม่ได้ ให้ทำในสิ่งที่ตัวเองทำได้เท่านั้น เขาก็ช่วยตัดกิจกรรมจนเหลืออยู่ 2-3 อย่าง คือ ศิลปะ ดนตรี และออกกำลัง 

 

          "มีเรียนดนตรีทุกวันเพื่อที่จะฝึกจังหวะให้เขา ฝึกให้เขาดูเราและทำตามได้ ฝึกให้ดูวาทยกร ฝึกการออกเสียงร้องเพลง อย่างการร้องถ้าเข้าไปฟังใกล้ ๆ จะได้ยินว่าแต่ละคนจะร้องไม่ชัดในบางจุดที่ไม่เหมือนกัน เราก็ต้องแต่งเพลงไทยที่มีคำที่เขายังออกเสียงไม่ได้ให้ฝึกบ่อย ๆ

 

          "ที่เด่นที่สุดคือการวาดรูป เพราะเราทำทุกวัน ใช้ศิลปะช่วยพัฒนาประสาทสัมพันธ์ตากับมือ สีเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่จะช่วยบันดาลใจให้รักศิลปะ ตอนที่เราเริ่มเอาคุณครูเข้ามาช่วยสอนวาดรูปก็ขอใช้สีให้สวย เพราะถ้าสีสวย ไม่ว่ารูปจะออกมายังไงมันก็ดูชื่นใจ  

 

          "เมื่อไม่กี่ปีมานี้ เราเพิ่มห้องเรียนเบเกอรีและได้กลายเป็นวิชาหนึ่งที่ดีสำหรับฝึก เป็นอันว่าตอนนี้เรามีกิจกรรม 4 อย่าง ดนตรี ศิลปะ ออกกำลัง และเบเกอรี และเร็ว ๆ นี้ ทุกวันเสาร์จะมีห้องเรียนสำหรับเด็กเล็กที่จะปรับพัฒนาการโดยใช้ดนตรีกับศิลปะ 1 ชั่วโมง และอีกไม่นานจะมีห้องเรียนที่เรียนร่วมด้วย" 

 

          แม้การทำมูลนิธิไม่ใช่งานง่ายสำหรับคนตัวเล็ก ๆ หากแต่ก็ไม่อาจล้มเลิกได้ โดยเฉพาะเมื่อมีเป้าหมายอยากสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนให้แก่กลุ่มบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ

 

          "สำหรับบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ ความเป็นอยู่ที่ดีนั้นขึ้นอยู่กับคุณพ่อคุณแม่เป็นหลัก ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะจากไปก่อนลูก แล้วจะทำยังไงกับลูกที่ยังอยู่ เรายังคิดอยากจะทำเป็นบ้านเนอร์สซิ่งโฮม เพื่อให้พวกเราที่อายุมากขึ้นอยู่ต่อไปได้ รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ยากมาก เพราะสิ่งที่เราฝันจะต้องไม่เป็นเหมือนเนอร์สซิ่งโฮมทั่ว ๆ ไป แต่ต้องเน้นเรื่องกิจกรรมที่เขาทำเป็น ที่จะไม่นั่งเฉย ๆ ต้องสามารถทำงานได้ ปุ๊อยากให้เขามีสิ่งที่เขารักที่จะทำ ไม่อย่างนั้นเท่ากับว่าเขาจะนั่งเฉย ๆ รอวันสุดท้าย ถือเป็นเป้าหมายหนึ่งของเราที่วางไว้ ตอนนี้อยู่ในระหว่างดูความเป็นไปได้ เพราะคิดตามวัยแล้ว เราต้องไปก่อนเขาแน่ และทุกคนในกลุ่มบุคคลพิเศษก็จะใช้ชีวิตยากขึ้น เมื่อเขากลายเป็นคนสูงวัยถ้าไม่มีใครเข้าใจเขา ฉะนั้นก็ต้องเตรียมคนที่จะดูแลเขาต่อไป เราต้องคิดไปวางแผนไป พร้อมกับครอบครัวของบุคคลพิเศษด้วย"

image