สอน-เสริม-สร้าง เปิดแนวคิด "3 ส" ช่วยปลดภาระหนี้สินเกษตรกรยุค 5G

image

          ปัญหาหนี้สินเกษตรกรเป็นปัญหาเรื้อรัง จะดีสักแค่ไหนถ้าเราสามารถช่วยเกษตรกรแก้ปัญหาหนี้สินได้อย่างครบวงจร จึงเป็นที่มาของแนวคิด "3 ส" ในเวทีการประกวด BOT Policy Hackathon 2022 ที่ใช้ 2 เครื่องมือสำคัญคือ digital factoring และ credit scoring model เข้ามาช่วยปลดแอกหนี้สินอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

 

          แม่อุ่นจิต (นามสมมุติ) เป็นเกษตรกรปลูกข้าว ขาดความรู้เกี่ยวกับการคำนวณปริมาณปุ๋ยและงบประมาณที่ต้องใช้ในการปลูกข้าวแต่ละรอบ เมื่อทราบว่าจำเป็นต้องซื้อปุ๋ยเท่าใด แม่อุ่นจิตก็สามารถเข้าไปซื้อได้ที่แพลตฟอร์ม digital factoring ในราคาที่ถูกลง ผนวกกับการได้เข้าร่วมอบรมความรู้ทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ยิ่งทำให้ "คะแนนเครดิต (credit scoring)" ของแม่อุ่นจิตมีมากขึ้น รวมทั้งชุมชนของแม่อุ่นจิตเองก็ยิ่งได้รับประโยชน์มากขึ้น นำไปสู่คุณภาพชีวิตของแม่อุ่นจิตและชุมชนที่ปลอดจากปัญหาหนี้สินอย่างยั่งยืน

 

          นี่คือภาพชีวิตใหม่ของเกษตรกรคนหนึ่งที่จะถูกดิสรัปต์จากวังวนชีวิตแบบเดิม ๆ ตามแนวนโยบาย "3 ส" ที่มีหลักปฏิบัติของการแก้ไขปัญหาหนี้ใน 3 ประเด็นคือ "สอน" ความรู้ทางการเงิน "เสริม" การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และ "สร้าง" ระบบนิเวศทางการเงินที่ช่วยลดภาระหนี้ เป็น "3 ส" ที่ช่วยให้เกษตรกรปลดหนี้ได้อย่างครบวงจร และยังเป็น "3 ส" ที่คว้ารางวัลชนะเลิศในการนำเสนอผลงานหัวข้อการแก้ไขปัญหาหนี้ จากการแข่งขัน BOT Policy Hackathon 2022 ของ ธปท. ซึ่งประกาศผลไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ และยังได้คะแนน popular vote อย่างท่วมท้น

 

 

พลัง "3 ส" แก้ปัญหาหนี้เกษตรกร

 

          BOT Policy Hackathon 2022 คือการแข่งขันออกแบบนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาและส่งเสริมการพัฒนาระบบการเงิน ที่ ธปท. จัดขึ้น โดยเปิดกว้างให้ประชาชนนำเสนอผลงานสร้างสรรค์ใน 3 ด้าน ประกอบด้วย การเงินดิจิทัล การเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม และการแก้ไขปัญหาหนี้ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาระบบการเงินอย่างยั่งยืน

 

          ในส่วนปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น จากสถิติของ ธปท. พบว่าเกษตรกรมีหนี้เฉลี่ยรวมถึง 2,105,206 ล้านบาท ขณะที่มีรายได้สุทธิโดยเฉลี่ยคือ 16,000 บาทต่อเดือน และ 60% ของเกษตรกรมีรายได้สุทธิต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอาชีพอื่น จึงต้องการแนวทางการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทีม "3 ส" จึงเกิดขึ้นมาจากการรวมตัวของบุคคล 5 คนที่แม้อยู่ต่างพื้นที่กันแต่มีเป้าหมายเดียวกันในการเข้าร่วมการแข่งขัน ได้แก่ คุณวิศรัฐ สมทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามไรส์ โกลบอลเทรด จำกัด คุณดนัยลักษณ์ ไชยประเสริฐ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย จังหวัดสุโขทัย คุณคณาธิป สินธุเศรษฐ นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คุณธนกฤต ขวัญแข นิสิตจากคณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคุณธานนท์ โกรพินธานนท์ นิสิตจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (หลักสูตรนานาชาติ)

 

image

คุณวิศรัฐ สมทรัพย์

 

 

          ตลอดระยะเวลา 2 เดือนของการทำงานผ่านการประชุมออนไลน์จนได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะนำเสนอในหัวข้อการแก้ไขปัญหาหนี้ แม้แต่ละคนไม่ได้เป็นลูกหลานชาวนา แต่ด้วยสาขาที่กำลังศึกษาและการทำงานซึ่งมีความเชื่อมโยงกับการเงินของกลุ่มเปราะบาง ทำให้นำมาสู่บทสรุปของนโยบาย "3 ส" ในที่สุด

 

          คุณธานนท์เป็นตัวแทนบอกเล่าว่า แนวนโยบาย 3 ส เริ่มจากการลงพื้นที่เพื่อสัมภาษณ์แม่อุ่นจิต หัวหน้าเกษตรกรจากชุมชนสวายสอ จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับ Ricult บริษัทสตาร์ตอัปที่มีจุดประสงค์แก้ปัญหาหนี้แก่เกษตรกร พบว่า ปัญหาหนี้ของเกษตรกรมาจาก 2 มิติหลัก คือ (1) การขาดความรู้ทางการเงิน และมักไม่ทราบวิธีแก้ปัญหาจากวงจรหนี้ (2) การขาดวินัยการชําระหนี้ และพฤติกรรมการบริหารจัดการทางการเงินที่ไม่สัมพันธ์ต่อรายได้

 

          เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ทั้งคุณธานนท์ คุณคณาธิป และคุณธนกฤตที่เป็นตัวแทนกลุ่มในการพูดคุยครั้งนี้ จึงได้ช่วยกันอธิบายถึงนโยบายที่มีประสิทธิภาพ "3 ส : สอน เสริม สร้าง" ที่มีความสัมพันธ์และส่งเสริมกัน

 

          "สอน" เป็นการแก้ปัญหาการขาดความรู้ทางการเงิน โดยสนับสนุนให้ ธปท. พัฒนาหลักสูตรที่ตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่แบบเฉพาะเจาะจง (personalized) เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีความรู้ทางการเงินที่เพียงพอ โดยอาศัยผู้มีอิทธิพลทางความคิดในชุมชน (Key Opinion Leader: KOL) และเกษตรกรตัวอย่าง (farmer testimonials) มาช่วยสร้างแรงจูงใจเชิงบวก

 

          "เสริม" ขยายโอกาสการเข้าถึงแหล่งการเงิน โดยนำนโยบาย digital factoring ของ ธปท. มาประยุกต์ใช้กับกลุ่มเกษตรกร เพราะปัญหาสําคัญของเกษตรกรคือ ไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนเพื่อหมุนเวียนหรือขยายการทําเกษตรกรรม

 

          "สร้าง" ระบบนิเวศทางการเงินที่เอื้อต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยนำระบบ credit scoring model ของ ธปท. มาพัฒนาต่อยอดด้านสินเชื่อภาคเกษตรกรรม ผ่านการวัดความรู้ทางการเงินและจัดอันดับเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างแรงจูงใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเงินที่ดียิ่งขึ้น

 

          "ทั้ง 3 ส จะมีการทำงานร่วมกัน ทำให้เกิดเป็นระบบนิเวศทางการเงินที่ดี นำไปสู่การหลุดพ้นจากกับดักหนี้ของเกษตรกร" คุณธนกฤตกล่าว

 

 

อาชีพที่อยู่รอดได้อย่างยั่งยืน

 

          คุณคณาธิป หนึ่งในผู้ร่วมทีมกล่าวว่า ปัญหาหนี้สินเปรียบเหมือนโซ่ที่ฉุดรั้งการบริโภคและการเติบโตของเกษตรกร เพราะหนี้สินที่ติดตัวทำให้พวกเขาไม่สามารถนำรายได้จากการทำการเกษตรไปพัฒนาในมิติอื่น ๆ ได้ ขณะที่คุณธนกฤตมองว่าเกษตรกรมีทัศนคติที่ดีที่อยากใช้หนี้ แต่เนื่องด้วยวิถีการเกษตรมีปัจจัยภายนอก เช่น ดินฟ้าอากาศที่ควบคุมได้ยาก ดังนั้น นอกจากมีทัศนคติที่ดีแล้ว เกษตรกรยังควรมีการวางแผนในการรับมือกับปัญหาต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ตัวเองสามารถมีรายได้ต่อไป และไม่เป็นปัญหาหนี้ซ้ำซ้อน ทางด้านคุณธานนท์ได้กล่าวเสริมว่า การมีทัศนคติที่ดีเมื่อผนวกกับความรู้ที่ดีและพฤติกรรมที่ดีก็จะช่วยแก้ปัญหาหนี้ได้ ซึ่งด้วยเครื่องมือสำคัญของนโยบาย 3 ส คือ digital factoring และ credit scoring model จะช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกรให้เข้าใจถึงวิธีการแก้หนี้ได้อย่างยั่งยืน

image

คุณคณาธิป สินธุเศรษฐ 

 

 

        "กรอบการดำเนินงานของ 3 ส วางไว้ที่ 2 ปี ซึ่งหากทำสำเร็จ จะช่วยให้เกษตรกรมีความรู้ทางการเงินเพิ่มขึ้น 70% เกษตรกร 1 ล้านครัวเรือนสามารถเข้าถึงบริการ digital factoring รวมทั้งช่วยให้เกษตรกรมีแหล่งเงินทุนในระบบเพิ่มขึ้น 10% โดยเราจะเริ่มนำร่องที่ชุมชนสวายสอเป็นตัวอย่าง แล้วพัฒนาต่อให้กับเกษตรกรทั่วประเทศ" ทีม 3 ส กล่าวโดยมีภาพที่วาดหวังต่อเกษตรกรในยุค 5G ว่าจะมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีได้อย่างดี และอยากเห็นเกษตรกรรุ่นใหม่ ๆ มาช่วยกันพัฒนาเกษตรกรรมไทยให้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งอยากให้เกษตรกรเป็นอาชีพที่น่าภาคภูมิใจ มีรายได้เลี้ยงชีพ อยู่รอดในสังคมได้อย่างยั่งยืน สามารถส่งออกผลผลิตและเป็นแหล่งรายได้ให้ประเทศชาติได้

image

ปรุงความรู้สู่การแก้ปัญหาจริง

 

          จากแนวนโยบายที่มาพร้อมกับชัยชนะจากเวที BOT Policy Hackathon ในครั้งนี้ ตัวแทนทีมทั้งสามคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า กิจกรรมนี้นับเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ที่ทำให้พวกเขาได้เสริมศักยภาพตัวเอง ได้นำสิ่งที่เรียนรู้มาประยุกต์ใช้ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีพี่เลี้ยงจากภาคธุรกิจและ ธปท. คอยให้คำแนะนำและช่วยขมวดประเด็นให้มีความชัดเจนเฉพาะเจาะจงกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ที่สำคัญคือ 3 ส มีหลักการทำงานเพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนแบบครบวงจร ดังนั้น หากนำมาใช้ได้ผลกับเกษตรกรทั่วประเทศ ก็ยังสามารถนำโครงสร้าง 3 ส ไปใช้กับอาชีพอื่น ๆ อย่างอาชีพรับจ้าง หรือหาบเร่แผงลอยได้อีกด้วย

 

          "เรามีโอกาสเข้าร่วมหารือกับผู้บริหารแบงก์ชาติเพื่อนำ 3 ส ไปพัฒนาต่อ ซึ่งเราหวังว่านโยบายนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะยกระดับความมั่นคงทางการเงินของประชาชนคนฐานรากให้เกิดขึ้นได้จริง" คุณคณาธิปกล่าว

 

          สามหนุ่มนิสิตนักศึกษาตัวแทนกลุ่ม 3 ส ยังผลัดกันเล่าอีกว่า พวกเขาสามารถนำประสบการณ์จากการแข่งขันครั้งนี้ไปสนับสนุนการทำงานได้อีกหลายมิติ โดยตัวคุณคณาธิปซึ่งสนใจงานด้านการเงินบอกว่านโยบายนี้สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาหนี้สินของประชาชนคนฐานรากได้อย่างแท้จริง ส่วนคุณธนกฤตซึ่งอยู่ในสายเทคโนโลยีมองว่าการทำงานนี้ทำให้มองเห็นภาพใหญ่ของสายสังคม ซึ่งจะช่วยให้เขามีมุมมองที่กว้างขึ้นในการทำงานเชิงนโยบายต่าง ๆ เพื่อคนหมู่มาก ที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาอย่างรอบด้าน นอกจากนี้ เขายังได้เข้าใจบทบาทหน้าที่และการทำงานของ ธปท. มากขึ้น ขณะที่คุณธานนท์ที่อยู่ในแวดวงสตาร์ตอัปบอกว่า การได้ร่วมกิจกรรมนี้ช่วยให้เขามองเห็นถึงการทำธุรกิจที่จะได้กลับมาทั้งในแง่รายได้และการช่วยเหลือสังคม ทำให้เห็นว่า ธปท. เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกคน

image

คุณธานนท์ โกรพินธานนท์

 

 

เก็บเกี่ยวประสบการณ์นอกตำรา

 

          ในตอนท้าย สามหนุ่มยังได้แบ่งปันวิธีการสร้างสมดุลระหว่างการเรียนและการทำกิจกรรมด้วยว่า สิ่งสำคัญคือการจัดลำดับความสำคัญของงานโดยนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยเรื่องบริหารเวลา รวมทั้งปล่อยอารมณ์ให้สนุกกับสิ่งที่ได้ทำและสิ่งที่ได้เรียนรู้ต่าง ๆ เหมือนเป็นการหาประสบการณ์ และได้ช่วยเหลือผู้อื่นไปด้วย

 

          "ผมเชื่อว่าการศึกษาไม่จำเป็นต้องอยู่ในหนังสือหรือหลักสูตรเท่านั้น เพราะการที่จะทำให้ได้ความรู้อย่างทั่วถึง เราต้องออกจาก comfort zone ของตัวเอง ออกไปหาประสบการณ์ใหม่ ๆ โดยนำความรู้ที่เราเรียนออกมาประยุกต์ใช้ในโลกของความจริง" คุณธานนท์กล่าว

image

คุณธนกฤต ขวัญแข

 

 

          "การที่ได้เข้ามาร่วมกิจกรรมของแบงก์ชาติเป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้ทั่วไป ผมได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างจากโครงการนี้ค่อนข้างเยอะ และมันก็ช่วยให้เราสามารถพัฒนาตัวเองได้จริง ๆ" คุณธนกฤตเสริม

 

          "ถ้าแบงก์ชาติมีกิจกรรมเช่นนี้อีกในปีถัดไป ก็อยากเชิญชวนคนรุ่นใหม่มาสมัครกัน เพราะสิ่งที่ทุกคนจะได้รับคือการได้ฝึกฝนตัวเอง เกิดความกล้าคิด กล้าทำ ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ซึ่งถือเป็นประสบการณ์ที่ดีเลยทีเดียว" คุณคณาธิปปิดท้าย โดยทุกคนต่างมีประกายความหวังว่าแนวนโยบาย 3 ส จะบรรลุผลสำเร็จได้จริงตามที่วางเป้าหมายไว้ในอีก 2 ปีข้างหน้า