สอน-เสริม-สร้าง เปิดแนวคิด "3 ส" ช่วยปลดภาระหนี้สินเกษตรกรยุค 5G
คุณกานต์ชนิต เลิศเพียรธรรม คุณขวัญแก้ว กุลธรเธียร และคุณภีชนิกา ภูมิฤทธิกุล
การสนับสนุนให้เกิดสังคมเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากนโยบายใดเพียงนโยบายเดียว แต่ต้องมาจากความร่วมมือของหลายภาคส่วนในสังคม และด้วยความเชื่อที่ว่าการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมสีเขียวเป็นสิ่งที่กําลังเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ทีม 5P Policy Hacker จึงได้พัฒนาแนวนโยบายที่จะให้ทุกฝ่ายในสังคมได้เดินไปพร้อม ๆ กัน ในการผลักดันให้เกิดระบบนิเวศสีเขียว (green ecosystem) อย่างยั่งยืน
5P เป็นการรวมกลุ่มกันของเพื่อนและรุ่นน้อง 3 คนที่เคยทำกิจกรรมร่วมกันเมื่อครั้งเรียนที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบด้วย คุณขวัญแก้ว กุลธรเธียร คุณกานต์ชนิต เลิศเพียรธรรม ที่เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่มัธยมศึกษาตอนปลาย และคุณภีชนิกา ภูมิฤทธิกุล ซึ่งเป็นรุ่นน้องในคณะ กระทั่งต่างฝ่ายสำเร็จการศึกษาและใช้ชีวิตการทำงานของตัวเองเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากนั้นก็กลับมารวมกลุ่มทำงานกันอีกครั้งในโครงการ BOT Policy Hackathon 2022 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วยการนำเสนอ "3Green Policies" ที่นำไปสู่การคว้าชัยในหัวข้อการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อมในที่สุด
"3Green Policies หรือ 3Greens มีเป้าหมายที่จะผลักดันให้เกิดระบบนิเวศสีเขียวในสังคม เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ net zero ภายในปี 2608 - 2613 โดยสร้างการตระหนักรู้ให้ทุกภาคส่วนรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนภารกิจสีเขียวนี้ได้" ทีม 5P กล่าวในเวทีการนำเสนอ
3Green Policies ประกอบด้วยแกนการพัฒนาสำคัญ 3 ด้าน คือ
Green Thinking เพิ่มความตระหนักรู้ในสังคมเพื่อกระตุ้นความต้องการใช้จ่ายและลงทุนที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การเสริมสร้างความรู้ให้กับประชาชนเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ การออก Green Financial Label สําหรับผลิตภัณฑ์ทางการเงินสีเขียว และการออก Green Tracking System เพื่อให้ประชาชนติดตามพฤติกรรมการใช้จ่ายกับผลิตภัณฑ์สีเขียวของตัวเองได้
Green Funding ส่งเสริมการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งกับธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดย่อมผ่านกองทุนรวมประหยัดภาษี (SSFs/RMFs) และกองทุนสีเขียว (Green Fund for Venture Capital in Thai SMEs)
Green Database การพัฒนาระบบฐานข้อมูล "Green Database for Sustainability" เพื่อการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินและให้สินเชื่อของระบบธนาคารไทย ประกอบด้วย ข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซเรือนกระจก หรือมลพิษอื่น ๆ การใช้ไฟฟ้า การใช้ทรัพยากรนํ้า และการใช้ปิโตรเลียม
คุณขวัญแก้วเปิดเผยว่าเหตุผลที่ทางทีมเลือกจับประเด็นสิ่งแวดล้อม เนื่องจากปัจจุบันนี้ ผู้คนส่วนใหญ่มองเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องไกลตัว โดยมุ่งความสนใจในเรื่องการลงทุน การหารายได้เพิ่ม หรือเรื่องอื่น ๆ มากกว่าที่จะคิดว่าทำอย่างไรให้สิ่งแวดล้อมมีความยั่งยืน ทางทีมจึงเกิดความคิดในการเสริมการตระหนักรู้ตั้งแต่รากฐาน และพิจารณาถึงเสาหลักต่าง ๆ ที่สามารถส่งเสริมความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อมได้ จึงออกมาเป็นนโยบาย 3Green Policies ที่จะก่อให้เกิดวงจรความยั่งยืน ตั้งแต่ภาคประชาชน ธุรกิจ และการเงิน
"ความน่าสนใจคือเราคิดว่าคนรุ่นใหม่มีความพร้อมมากที่จะเปลี่ยนตัวเองในการลงมือทำอะไรเพื่อสิ่งแวดล้อม แม้มันจะไม่เห็นผลตอนนี้ แต่ทุกคนก็ตระหนักว่าสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ" คุณขวัญแก้วกล่าว
"สำหรับแพรวเชื่อว่าทุกคนยอมรับว่ามีปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ทุกคนยังไม่ได้มองว่ามันเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ควรแก้ในตอนนี้" อีกหนึ่งมุมมองที่คล้ายคลึงกันจากคุณภิชนิกา ที่ยอมรับว่าแม้แต่ตัวเธอเองก็ยังให้ความสนใจปัญหาระยะสั้นมากกว่าปัญหาระยะยาว เรื่องสิ่งแวดล้อมจึงต้องการผู้ที่มีลักษณะ long-term thinking จริง ๆ
"นโยบายของเรามีจุดเด่นเรื่องความยั่งยืน โดยไม่ใช่จากการบีบบังคับภาคธุรกิจด้วยวิธีการต่าง ๆ แต่เป็นการเดินไปพร้อม ๆ กัน โดยอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน"
ทางด้านคุณกานต์ชนิตเสริมว่า 3Greens จะช่วยกระตุ้นทั้งฝั่งอุปสงค์ (demand) และอุปทาน (supply) ให้มีการซื้อและการออกผลิตภัณฑ์ที่มีความกรีนมากขึ้น และเนื่องจากเป็นการส่งเสริมทั้งระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องจึงเป็นสิ่งที่คาดหวังได้ว่า นโยบาย 3Greens จะมีความยั่งยืนได้ด้วยตัวเอง
"หากถามว่าจะมีองค์ประกอบใดที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนเพิ่มขึ้นได้อีก ก็คงเป็นเรื่องของการ check & balance ที่ต้องมีการตรวจสอบได้ว่าผลิตภัณฑ์นั้น ๆ มีความกรีนจริง หรือเมื่อเราลงทุนกับบริษัทที่มีประกาศว่าจะพัฒนาให้มีความกรีนมากขึ้น เราก็ต้องมีกระบวนการตรวจสอบได้ว่าบริษัทนั้นนำเงินไปพัฒนาให้เป็นบริษัทที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นจริง ๆ"
ปัจจุบัน คุณขวัญแก้วและคุณกานต์ชนิตทำงานอยู่ใน ธปท. และคุณภิชนิกา ซึ่งทำงานอยู่ในกองนโยบายภาษี สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้ร่วมกันแบ่งปันปลายทางอย่างเป็นรูปธรรมจากแนวนโยบาย 3Greens ต่อไปว่า ในภาคประชาชน พวกเขาจะเกิดความตระหนักรู้ซึ่งจะนำไปสู่การลดรายจ่ายด้านพลังงาน ช่วยประหยัดน้ำ ไฟฟ้า น้ำมัน หรือในภาคการเกษตรก็จะช่วยให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความมั่นคงและยั่งยืนมากขึ้น ส่งผลทางอ้อมทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น
ในภาคธุรกิจ จะเป็นภาคที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการได้รับการพิจารณาสินเชื่อในลักษณะ transformation loan การมีแหล่งเงินทุนสีเขียวที่ช่วยสร้างโอกาสในการขยายธุรกิจได้มากขึ้น ขณะที่ภาคการเงินการธนาคาร จะมีทางเลือกในการนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือช่องทางรายได้ใหม่ ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อม และสุดท้ายภาคสังคมและประเทศชาติ เมื่อการผลักดันทั้งสามภาคส่วนแรกได้สำเร็จ ก็จะส่งผลให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจมากขึ้น มีศักยภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศมากขึ้น
หลังการนำเสนอนโยบาย 3Greens ทีมก็ได้เห็นความกระตือรือร้นของหน่วยงานอื่น ๆ อย่างเช่น กระทรวงพลังงาน ซึ่งก็ทำให้ใจชื้นขึ้นมาก "เรามั่นใจว่าเราสามารถดึงสิ่งที่องค์กรต่าง ๆ อยากทำอยู่แล้วออกมาให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนขึ้นได้ ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิบัติและก่อให้เกิดความยั่งยืนขึ้นได้จริงในอนาคต"
นอกจากนี้ ปลายทางการพัฒนาไม่ได้หยุดอยู่ที่การแข่งขัน Policy Hackathon "พอทำเรื่อง 3Greens เราก็เหมือนเป็นนางงามด้านสิ่งแวดล้อมไปแล้ว" คุณขวัญแก้วกล่าวติดตลก โดยบอกว่าภายหลังจากได้รับรางวัล เมื่อใดที่ทางองค์กรมีโครงการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เธอก็มักได้รับการเสนอชื่อให้มีส่วนร่วมด้วยเสมอ และก่อนหน้านี้ วิถีกรีนของเธอได้แสดงออกอย่างชัดเจนในเรื่องการแยกขยะก่อนทิ้ง ขณะที่คุณภิชนิกาบอกว่าโดยปกติเธอก็พกถุงผ้าแทนการใช้ถุงพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งอยู่แล้ว และจะยังคงทำเช่นนี้ต่อไป ส่วนคุณกานต์ชนิตก็ได้หันกลับมามองสิ่งแวดล้อมรอบตัวมากขึ้น ว่าจะสามารถทำอะไรได้แค่ไหน
"ครั้งหนึ่งคุณเชอรี่-เข็มอัปสร สิริสุขะ ได้รับเชิญมาพูดที่ ธปท. ในหัวข้อ 'As Green As You Can' แก้วประทับใจมากกับสิ่งที่คุณเชอรี่บอกว่าให้ทำเท่าที่เราทำได้ ถือเป็นวิธีคิดที่ดีมากและเหมาะกับคนรุ่นใหม่ที่ไม่ชอบให้ใครมาบังคับ แค่ไหนก็แค่นั้น เพราะทำสักนิดก็ยังดีกว่าไม่ทำเลย" คุณขวัญแก้วเป็นตัวแทนกล่าวปิดท้าย