"ห้าให้" ชูสิทธิ "DATA PORTABILITY"
สร้างแพลตฟอร์ม ALTERNATIVE DATA เพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการสินเชื่อ

image

          ชื่อทีม "ห้าให้" มาจากเสียงเพลงเรือที่สื่อความหมาย "สู้ ๆ" บ่งบอกความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือผู้มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อน้อย ผ่านนโยบายการสร้าง Data Portability Platform (DPP) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มกลางที่ให้บริการรับโอนข้อมูลปัจจัยอื่น (alternative data) นอกเหนือจากข้อมูลทางการเงินเพื่อใช้อนุมัติสินเชื่อ จนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศประเภทการเงินดิจิทัล จากการแข่งขัน BOT Policy Hackathon 2022 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่ทีม "ห้าให้" ก็ยังต้องเผชิญความท้าทายอีกมากจากแนวคิดที่ต้องสร้างความเข้าใจจากหลายฝ่าย รวมถึงกฎหมาย PDPA ที่เพิ่งเริ่มต้นประกาศใช้ในปีนี้

 

          ที่ผ่านมา ผู้ให้บริการสินเชื่อจำนวนมากเลือกที่จะใช้ข้อมูลทางการเงิน (financial data) เป็นหลักในการพิจารณาสินเชื่อ โดยพิจารณาจากรายได้ กระแสเงินสด ประวัติการชําระหนี้ที่ีมีอยู่กับเครดิตบูโร ทําให้บุคคลที่ไม่มีข้อมูลเหล่านี้ในระบบ เช่น มีรายรับเป็นเงินสด หรือรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต้น จะไม่สามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อได้โดยง่าย ทีมห้าให้ซึ่งประกอบด้วย คุณณัฐพล สุรรัตน์รังษี คุณณัฐพงษ์ อินทร์โพธิ์ คุณณัฐชนัย เยี่ยงศุภพานนทร์ และคุณปิยะพงษ์ คงทอง จึงนำเสนอนโยบายที่สนับสนุนให้ผู้ต้องการกู้ใช้สิทธิ์โอนข้อมูลที่เป็น  alternative data เช่น ข้อมูลพฤติกรรมการชำระค่าสาธารณูปโภค การซื้อสินค้าและบริการ การถือครองประกันหรือรถยนต์ เข้าไปยัง DPP และให้ผู้ให้บริการสินเชื่อเข้ามานำข้อมูลไปประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้ และสร้างโอกาสให้ผู้มีโอกาสน้อยสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น

image

 คุณณัฐพล สุรรัตน์รังษี (ซ้าย) คุณณัฐชนัย เยี่ยงศุภพานนทร์ (กลาง) และคุณณัฐพงษ์ อินทร์โพธิ์ (ขวา)

 

 

สร้างโอกาสทางการเงินอย่างเท่าเทียม

 

          เรื่องราวของทีมห้าให้เริ่มจากคุณณัฐพลซึ่งทำงานในฝ่ายกฎหมายที่บริษัท มันนิกซ์ จำกัด (MONIX) สตาร์ตอัปผู้ให้บริการสินเชื่อออนไลน์ ได้มองเห็นประโยชน์จาก พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (PDPA) มาตรา 31 ที่ได้รับรองและคุ้มครองสิทธิของเจ้าของข้อมูลในการขอให้โอนข้อมูลส่วนบุคคล (data portability) ไปยังผู้ให้บริการรายอื่น ซึ่งเป็นหนทางในการส่งเสริมการเปิดเผย alternative data ระหว่างผู้ควบคุมข้อมูลได้ต่อไป จึงได้ชักชวนเพื่อนร่วมงาน คือ คุณณัฐพงษ์จากฝ่ายการตลาด คุณณัฐชนัยจากฝ่ายการเงิน และคุณปิยะพงษ์ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันทำงานอยู่ที่บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด มารวมเป็นทีมห้าให้เพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน BOT Policy Hackathon 2022 ของ ธปท. โดยนำเสนอแนวคิด "แพลตฟอร์มกลาง" (Data Portability Platform: DPP) ที่เจ้าของข้อมูลสามารถ "ใช้สิทธิ" ตามมาตรา 31 เพื่อขอโอนข้อมูล alternative data ของตน ไปยังผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลรายอื่นได้ และสามารถ "ให้ความยินยอม" หรือ "ถอนความยินยอม" การใช้ข้อมูลส่วนบุคคลนั้น ๆ ได้ตลอดเวลา

image

          หัวใจของนโยบายทีมห้าให้คือการส่งเสริมการใช้สิทธิ data portability ของประชาชนเพื่อสร้างสภาวะแวดล้อม open data ให้เกิดขึ้น โดยสร้างเป็นแพลตฟอร์มกลางในการดูแลของหน่วยงานรัฐ ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานในการรับข้อมูลจากเจ้าของข้อมูลที่หลากหลาย ส่งผลให้ผู้ให้บริการสินเชื่อมีข้อมูลประกอบการวิเคราะห์สินเชื่อที่สมบูรณ์ และสามารถให้บริการสินเชื่อได้ตามความเสี่ยงอย่างเป็นธรรมในท้ายที่สุด

 

 

ผลประโยชน์ร่วมกันทั้ง Ecosystem

 

          คุณณัฐพลซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีนำทีมเข้าร่วมแข่งขันเปิดเผยว่า หลักการ PDPA คือการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งไม่ได้หมายความว่าบุคคลนั้น ๆ ไม่สามารถให้ข้อมูลกับผู้อื่นได้เลย แต่เป็นสิทธิของเจ้าของข้อมูลที่จะส่งต่อข้อมูลนั้นให้กับใครก็ได้ในกรณีที่เขาต้องการ

image

         "นโยบายของเราเหมือนบอกให้เจ้าของข้อมูลทราบว่า ข้อมูลหรือพฤติกรรมของเราที่อยู่กับคนอื่น มันมีคุณค่า มีประโยชน์ เมื่อธุรกิจสักแห่งนำข้อมูลเราไปใช้ประโยชน์ของตัวเองได้ เจ้าของข้อมูลก็ย่อมมีสิทธิมอบข้อมูลที่มีค่าของเขาให้กับคนที่ทำให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้นได้ หลักการของ DPP จึงเป็นการมอบสิทธิการเป็นเจ้าของข้อมูลให้กับเจ้าของข้อมูลโดยแท้ เพื่อให้เขาเป็นคนเลือกว่าจะให้ข้อมูลนั้นกับใครที่ให้ประโยชน์เขาดีที่สุด" คุณณัฐพลกล่าว

 

          "สิทธิในการขอข้อมูลของตัวเองเพื่อส่งหรือโอนไปยังแพลตฟอร์มอื่นถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึงได้ เพื่อประโยชน์ของตัวเขาเองในหลาย ๆ เรื่อง" คุณณัฐพงษ์เสริม "เมื่อเป็น open data แล้ว ข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับบริษัทสินเชื่อ ในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่คนยังเข้าไม่ถึงให้สามารถมาใช้บริการได้ พร้อมทั้งแข่งขันเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับลูกค้าได้อย่างเท่าเทียม"

 

          ทางด้านคุณณัฐชนัยก็ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า DPP จะนำไปสู่ประโยชน์การใช้งานที่หลากหลาย ซึ่งในแง่ประชาชนก็คือโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น ในแง่ธุรกิจก็จะช่วยให้เกิดการแข่งขันบนข้อมูลที่เท่าเทียมกันในการนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า ส่วนในแง่ของรัฐก็จะได้มีที่จัดเก็บข้อมูลของทุกคนไว้ในพื้นที่ ปลอดภัย บริษัทหรือองค์กรต่าง ๆ ที่ได้รับอนุญาตให้นำข้อมูลไปใช้ โดยเจ้าของข้อมูลก็จะมั่นใจได้ว่าเป็นข้อมูลที่ผ่านการกำหนดมาตรฐาน และคัดกรองการเข้าถึงข้อมูลโดยรัฐแล้ว นอกจากนี้ รัฐก็ยังสามารถนำข้อมูลนี้ไปออกนโยบายที่ลงลึกในแต่ละพื้นที่ได้มากขึ้นด้วย

 

          "เราพยายามทำให้ทุกฝ่ายใน ecosystem มีผลประโยชน์ที่จับต้องได้ และสร้างภาพรวมให้ดีขึ้น"

image

ก้าวสู่โลกที่ผู้คนได้ต่อยอดโอกาสใหม่ ๆ

 

          อย่างไรก็ดี ด้วยการนำเสนอแพลตฟอร์มที่ต้องมีกระบวนการทำงานเชื่อมโยงกับอีกหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็น การจัดตั้งองค์กรกลางในการทำหน้าที่กำกับดูแลการใช้ประโยชน์จากข้อมูลส่วนบุคคลในฐานะ alternative data โดยเฉพาะการตรากฎหมายและการออกกฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ การออกมาตรการส่งเสริมการนำข้อมูลไปใช้โดยภาคเอกชน การกำหนดหลักเกณฑ์ในการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างแพลตฟอร์มและผู้ใช้ข้อมูล การวางระบบบริหารจัดการข้อมูลระบุตัวตน ตลอดจนกฎหมาย PDPA ที่เพิ่งมีการประกาศใช้เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ ทำให้นโยบาย DPP จำเป็นต้องใช้เวลาในการสร้างความเข้าใจ และสร้างความร่วมมือซึ่งกันและกันไปอีกระยะหนึ่ง

 

          แม้แพลตฟอร์ม DPP ต้องใช้เวลาและอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอีกพอสมควร แต่ทีมห้าให้ที่มาร่วมกันเผยแพร่แนวความคิดในครั้งนี้ต่างมีความเชื่อมั่นว่า วันนี้ได้ทำให้ประชาชนตระหนักรู้ถึงสิทธิในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลของตัวเองได้ตามมาตรา 31 และหากมีการสื่อสารและผลักดันอย่างต่อเนื่อง แพลตฟอร์ม DPP เต็มรูปแบบก็จะเกิดขึ้นได้ในที่สุด

image

          "ความจริงเรากับทีม '3 ส' และ '5P Policy Hacker' เดินไปด้วยกันได้ เพราะทั้งสามทีมมีความสอดคล้องกันหมด โดย DPP จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการเป็นแพลตฟอร์มจัดการเก็บข้อมูลที่มาจากไลฟ์สไตล์และการใช้ชีวิตประจำวันของเจ้าของข้อมูล ยิ่งในอนาคต โลกต้องเข้าสู่ยุค web 3.0 ซึ่งหนีไม่พ้นที่ต้องใช้ข้อมูลดิจิทัลอยู่แล้ว DPP จึงนับเป็นเรื่องพื้นฐานที่จะมอบ 'อำนาจความเป็นเจ้าของข้อมูล' ให้กับประชาชนทุกคนอย่างแท้จริง ซึ่งจะทรงพลังมาก หากพร้อมเพย์เกิดได้ DPP ก็ย่อมมีโอกาสเกิดขึ้นได้ และเมื่อข้อมูลได้เข้าไปอยู่ในโลกดิจิทัล ประโยชน์ที่เขาพึงได้ก็สามารถต่อยอดไปได้อีกไกลมากกว่าเรื่องการเงินแน่นอน" คุณณัฐพลเป็นตัวแทนสรุปปิดท้าย