ภูมิปัญญา 6 แบบของอดีตผู้ว่าการ ธปท.
หลักคิดนโยบายการเงิน จากวิกฤตโลกต้มยำกุ้งถึงโลก VUCA

image

          ไม่ว่าจะอยู่ในยุคไหน สมัยใด ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็เป็นตำแหน่งงานที่มีความท้าทายสูงเสมอ เพราะการตัดสินใจของคนที่ทำหน้าที่นี้ส่งผลต่อเศรษฐกิจการเงินไทยโดยตรง ซึ่งย่อมหมายถึงผลได้-ผลเสียต่อคนจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของผู้ว่าการ ธปท. แต่ละคนจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเมืองที่เผชิญในขณะนั้น 

 

          ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ทศวรรษครึ่ง (ปี 2540-2563) เศรษฐกิจการเงินไทยผ่านร้อนผ่านหนาวและวิกฤตใหญ่มาหลายครั้ง แต่ละครั้ง ผู้ว่าการ ธปท. ในแต่ละยุคต่างทุ่มสรรพกำลังและความรู้ในการแก้ไขปัญหา บรรเทาผลกระทบ รวมไปถึงการวางรากฐานใหม่เพื่อให้เศรษฐกิจไทยยังเดินหน้าต่อไปได้ในอนาคต ประสบการณ์ในการบริหารและรับมือวิกฤตของอดีตผู้ว่าการ ธปท. จึงทรงคุณค่ายิ่ง โดยเฉพาะในโลกใหม่ที่เราต้องการความรู้และภูมิปัญญาในการนำทาง

          

          พระสยาม BOT MAGAZINE ชวนถอดรหัส "ภูมิปัญญา 6 แบบ" ของอดีตผู้ว่าการ ธปท. 6 คน ได้แก่ ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ดร.ธาริษา วัฒนเกส ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล และ ดร.วิรไท สันติประภพ 

 

          ในการบริหารเศรษฐกิจการเงินไทย เพื่อหาคำตอบว่า หลักคิดในการทำนโยบายการเงินในโลกใหม่ควรเป็นอย่างไร และ ธปท. อยู่ตรงไหนในกระบวนการทำนโยบายเหล่านี้

 

ความพอดี ความคล่องตัว และความระมัดระวัง : หลักการทำนโยบายการเงินแบบชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์

 

          ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ เป็นผู้ว่าการ ธปท. คนที่ 15 (กรกฎาคม 2540–พฤษภาคม 2541) และเป็นลูกหม้อของ ธปท. โดยแท้ เพราะได้รับทุน ธปท. ไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปริญญาตรีที่ Williams College และได้รับปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) สหรัฐอเมริกา รวม 8 ปี ก่อนที่จะกลับมาทำงานที่ ธปท. นาน 25 ปี โดยดำรงตำแหน่งสำคัญเป็นผู้อำนวยการฝ่ายที่คุมงาน 2 สายงาน คือ สายนโยบายการเงิน ก่อนจะย้ายมาสายงานกำกับธนาคารพาณิชย์ ที่ถือเป็นสายงานหลักของ ธปท. ในยุคนั้น

 

          ในฐานะผู้ว่าการ ธปท. แม้ ดร.ชัยวัฒน์จะอยู่ในตำแหน่งไม่นาน แต่ก็อยู่ในช่วงเวลาที่สำคัญยิ่ง เพราะประเทศไทยเพิ่งประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ 2540 หรือ "วิกฤตต้มยำกุ้ง" วิกฤตเศรษฐกิจการเงินที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยสมัยใหม่

image

          ตลอดชีวิตการทำงานที่ ธปท. ดร.ชัยวัฒน์ต้องผ่านงานสำคัญสองด้านที่มีส่วนสำคัญในการกำหนดวิธีคิดต่อการทำงานในตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. คือ งานด้านนโยบายการเงินและการกำกับดูแลสถาบันการเงิน แม้งานทั้งสองด้านจะมีรายละเอียดเฉพาะที่แตกต่างกัน แต่ที่สุดแล้ว ดร.ชัยวัฒน์เห็นว่า "แก่น" ของการทำงานนโยบายการเงินคือ ความพอดี ความคล่องตัว และความระมัดระวัง

 

           "...นโยบายของ ธปท. มีผลกระทบกว้าง เมื่อกระทบทุกฝ่ายก็ต้องทำโดยต้องมี 'การแลก' (trade off) โดยการแลกที่ใหญ่ที่สุด คือ การแลกระหว่างเสถียรภาพกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เครื่องมือที่ใช้ คือ ดอกเบี้ยจะสูงหรือต่ำ เพราะผู้ฝากเงินกับผู้กู้เงินได้ผลกระทบที่ไม่เหมือนกัน ค่าเงินบาทอ่อนหรือแข็ง ผู้ส่งออกที่ได้เงินมากับผู้นำเข้าที่ต้องใช้เงินและผู้กู้เงิน ผลกระทบจะตรงข้ามกัน ฉะนั้น นโยบายสำคัญที่ใช้เป็นหลักคือ หลักความพอดี หรือหลักความสมดุล" ดร.ชัยวัฒน์ถอดบทเรียนแรก

 

          การที่มีคนได้-คนเสียอยู่เสมอ นโยบายการเงินจึงเป็นนโยบายที่มีแรงเสียดทานสูง ถึงขนาดที่ว่า ในช่วงต้นทศวรรษ 2520 การประกาศลดค่าเงินบาทของ ธปท. ซึ่งในขณะนั้นเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่โดยผูกกับดอลลาร์สหรัฐ กลายเป็นเรื่องใหญ่ถึงขนาดที่ว่าผู้บัญชาการทหารบกออกมาขู่ผู้ว่าการ ธปท. เลยทีเดียว นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์ที่ผู้ว่าการ ธปท. ถูกปลดจากตำแหน่ง เนื่องจากขัดแย้งเชิงนโยบายกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

          "ในยุคหนึ่ง ธปท. ต้องคอยประสานนโยบายการเงินและการคลังให้ดี ...ผู้ว่าการ ธปท. กับ รมว.คลังจะเจอกันทุกเดือนเพื่อรับฟังบทวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจและหารือส่วนตัว แต่ถึงแม้จะมีความใกล้ชิดขนาดนั้น รมว.คลังก็ยังปลดผู้ว่าการ ธปท. สองคนคือ ผู้ว่าการนุกูล ประจวบเหมาะ ซึ่งขัดแย้งในนโยบายค่าเงิน และผู้ว่าการกำจร สถิรกุล จากความขัดแย้งเรื่องนโยบายดอกเบี้ยสูง" ดร.ชัยวัฒน์เล่าถึงแรงเสียดทานของการทำนโยบายการเงินในยุคนั้น ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังมีอำนาจเต็มในการปลดผู้ว่าการ ธปท.  

 

          อีกหนึ่งบทเรียนในการทำงานนโยบายที่ ดร.ชัยวัฒน์เน้นย้ำคือ "ความคล่องตัว" หรือการปรับเปลี่ยนนโยบายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่กำลังเผชิญ โดย ดร.ชัยวัฒน์ถอดบทเรียนเรื่องนี้ผ่านการทำงานในช่วงที่เป็นผู้ว่าการ ธปท. หลังจากที่ประเทศไทยเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจ 2540 เต็มตัวแล้ว

 

           "โจทย์สำคัญในช่วงนั้นคือ การรีบสร้างเสถียรภาพของค่าเงินบาท เพราะหลังจากลอยตัวแล้ว ค่าเงินผันผวนมาก ...ในตอนนั้น เราจำเป็นต้องกู้เงินไอเอ็มเอฟ ซึ่งมีเงื่อนไขการกู้เงินที่เข้มงวดมากทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านการกำกับสถาบันการเงิน เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ผมเริ่มไม่เห็นด้วยกับมาตรการบางข้อที่ไอเอ็มเอฟกำหนด เช่น การให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อดึงเงินเข้าประเทศ ซึ่งข้อโต้แย้งของผมคือ ดอกเบี้ยไทยสูงมากอยู่แล้ว แต่ที่นักลงทุนยังไม่เข้ามา เพราะหวังผลเรื่องความมั่นคงของผลตอบแทนด้วย ดังนั้น นโยบายการเงินจะต้องไม่ส่งผลลบต่อภาคเศรษฐกิจจริง และควรต้องผ่อนคลาย เพราะบริบทเศรษฐกิจเริ่มเปลี่ยนแปลง เรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของความคล่องตัวเชิงนโยบาย" ดร.ชัยวัฒน์อธิบาย

 

           "ความระมัดระวัง" อีกหนึ่งสิ่งที่ ดร.ชัยวัฒน์ย้ำกับ ธปท. และผู้กำหนดนโยบายไทยรุ่นใหม่ โดยยกตัวอย่างนโยบายการเปิดเสรีทางการเงินแบบเต็มตัวในปี 2535 เป็นกรณีศึกษาสำคัญ ในช่วงนั้น ธปท. ทำการเปิดสำนักงานวิเทศธนกิจ (Bangkok International Business Security: BIBS) ที่ให้ธนาคารพาณิชย์กู้เงินจากต่างประเทศได้โดยตรง ซึ่งเป็นเจตนาที่ดี เพราะต้องการให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงเงินทุนต่างประเทศได้ง่ายขึ้น แต่นโยบายนี้กลับนำไปสู่การขยายสินเชื่ออย่างไม่มีประสิทธิภาพจนเกิดเป็นฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกว่าจะเห็นด้านลบของนโยบายก็ต้องรอจนฟองสบู่แตกในปี 2539 และนำไปสู่วิกฤตต้มยำกุ้งในที่สุด

 

          "นี่เป็นบทเรียนสำคัญของหลักการการดำเนินนโยบายการเงิน คือ ต้องมีความระมัดระวัง ต้องดูให้รอบด้านว่าระยะสั้น ระยะยาวเป็นอย่างไร และมีความเสี่ยงอะไรบ้าง การบริหารความเสี่ยงจึงเป็นเรื่องสำคัญ" ดร.ชัยวัฒน์เน้นย้ำถึงความระมัดระวัง

 

"ถ้าเมื่อไหร่ที่มีความจำเป็นชัดเจนว่า ธปท.
ต้องทำนโยบายเข้มงวดที่คนอื่นไม่ชอบ
ก็ต้องใจแข็งที่จะทำ เพราะถ้าไม่มี ธปท. เป็นด่านสุดท้าย
ก็ไม่รู้ว่าเศรษฐกิจจะตกเหวไปอยู่ที่ไหน"

 ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์

 

เปิดพื้นที่ให้รัฐและเอกชนเรียนรู้ข้ามกัน : การรับมือวิกฤตและสร้างฐานอนาคตแบบ
ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล

 

          ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เป็นผู้ว่าการ ธปท. คนที่ 16 (พฤษภาคม 2541 ถึงพฤษภาคม 2544) จบการศึกษาปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ปริญญาโทสาขาบริหารรัฐกิจ จาก Kennedy School of Government มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา รับราชการที่กระทรวงการคลัง จนได้เป็นปลัดกระทรวงการคลัง ก่อนได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการ ธปท. หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งได้เพียง 9 เดือน

 

          ในฐานะผู้ว่าการ ธปท. "หม่อมเต่า" คือผู้ต้องรับมือวิกฤตเศรษฐกิจอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการต้องเจรจากับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) การกำหนดแนวนโยบายใหม่ และการปรับโครงสร้างการทำงานของ ธปท.

image

          ในช่วงที่ ม.ร.ว.จัตุมงคลขึ้นเป็นผู้ว่าการ ธปท. ใหม่ ๆ เครื่องมือทางนโยบายการเงินมีเพียงแค่อัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว ซึ่งทำให้การทำงานค่อนข้างจำกัด เพราะหากมีเครื่องมือเดียว ย่อมหมายความว่าเป้าหมายในการทำนโยบายการเงินก็มีเพียงเป้าหมายเดียว

 

         "วันหนึ่ง ผมต้องไปตามคำเชิญของสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ พอขึ้นเวที ก็มีผู้สื่อข่าวคนหนึ่งถามว่า 'Sir, what about inflation targeting?' ผมไม่เคยได้ยินคำนี้มาก่อน ไม่มีใครที่ ธปท. พูดถึงเลย ผู้สื่อข่าวคนนั้นดูหน้าผมก็รู้ เพราะผมหน้าเหลอ เขาคงสงสารประเทศไทย" ม.ร.ว.จัตุมงคลเล่าเหตุการณ์ในวันนั้นแบบติดตลก

 

          แต่เหตุการณ์ในวันนั้นกลับทำให้ ม.ร.ว.จัตุมงคลเริ่มสนใจแนวคิดที่ให้ ธปท. มีเป้าหมายในการสร้างความสงบสุขให้เศรษฐกิจ ให้รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และเอกชนเป็นผู้ทำการค้าหากำไร แม้แนวนโยบายนี้จะยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก โดยมีเพียง 7 ประเทศเท่านั้นที่ใช้แนวนโยบายนี้เป็นหลัก แต่ท่านก็เลือกปรับโครงสร้างสายงานของ ธปท. ใหม่บนฐานนี้ โดยแบ่งเป็นสายงานนโยบายการเงิน สายงานสถาบันการเงิน และสายงานระบบการชำระเงิน ซึ่งเป็นโครงสร้างหลักของ ธปท. มาจนปัจจุบัน

 

          "สองสายงานแรกชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว ส่วนระบบการชำระเงินตอนนั้นมี Western Union กับ SWIFT แต่เริ่มมีคอมพิวเตอร์เต็มไปหมด ก็เลยรู้สึกว่า อนาคตระบบชำระเงินน่าจะเป็นใหญ่ และธนาคารพาณิชย์จะเป็นเพียงที่เก็บเงินตอนที่คนยังไม่ได้เบิกเงินหรือได้โอนเงินกัน ตอนนี้ก็เป็นอย่างนั้นค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว มี SCB มี SCBX เป็นกลุ่มเดียวกัน เป็นต้น ก็ต้องคอยดูกันว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป"

 

          อีกเรื่องหนึ่งที่สะท้อนความคิดเกี่ยวกับการทำงานของ ม.ร.ว.จัตุมงคลได้อย่างชัดเจนคือ การแก้ไขปัญหาอัมพาตทางเศรษฐกิจหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ในตอนนั้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรประมาณ 20% แต่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2% ซึ่งเป็นสภาพที่ไม่มีใครสามารถลงทุนหรือค้าขายได้

 

           "ผมเลยสั่งฝ่ายตลาดเงินให้เข้าไปเทรด จะซื้อหรือขายราคาเท่าไหร่ก็ได้ ขอให้ได้ปริมาณการซื้อขายอย่างน้อย 30% ของตลาด ไม่ต้องกลัวขาดทุน ธปท. ไม่มีบทว่าด้วยล้มละลาย ซื้อเท่าไหร่ ขายเท่าไหร่ เป็นนโยบายการเงิน ขาดทุนหรือกำไรเท่าไหร่ จดให้ถูกก็แล้วกัน แล้วเพิ่มทุน ลดทุนให้สอดคล้อง ทำได้สักพัก ก็สั่งให้ซื้อขายพันธบัตรในอัตราดอกเบี้ย 2% ตลาดตามทันทีวันนั้นเลย เอกชนไม่ได้โง่ เขาอ่านทางออก ก็เลยตามทันที ประเทศเลยเริ่มเข้าสู่สภาพที่เป็นไปได้" ม.ร.ว.จัตุมงคลเล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น ซึ่งสะท้อนทั้งบทบาทของ ธปท. ในฐานะผู้กำหนดนโยบาย และศักยภาพของภาคเอกชนไทยในการปรับตัว

 

          การแลกเปลี่ยนและเรียนรู้จากคนข้างนอก ธปท. เป็นอีกเรื่องที่ ม.ร.ว.จัตุมงคลเน้นย้ำและให้ความสำคัญ ซึ่งเรื่องนี้สะท้อนผ่านเนื้อหาพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 ที่ม.ร.ว.จัตุมงคลมีส่วนสำคัญในการจัดทำร่าง และการจัดงานสัมมนาวิชาการประจำปีของ ธปท.  

 

           "กฎหมาย ธปท. กำหนดให้มีกรรมการจากบุคคลภายนอก เพราะคน ธปท. อยู่ในกรอบ เรียนจบมาเข้าทำงานใน ธปท. แล้วไม่เคยไปไหน ไม่เคยเจอใคร ก็อยากให้มีการเปิดหู เปิดตา เปิดกว้าง และสมัยผมมีจัดสัมมนาประจำปี เพื่อให้มีกระบวนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างเอกชน บริษัทเงินทุน กับ ธปท.

 

          "อยากขอฝากผู้ว่าการ ธปท. ให้งานสัมมนาประจำปีสามารถแลกเปลี่ยนความเห็นแบบจริงจังเลย เอาอาจารย์ นักวิชาการมาแสดงความเห็น แล้ว ธปท. ก็อธิบายว่าคิดอย่างไร ธปท. จะได้แสดงให้เห็นว่าเปิดรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น เพราะจะเป็นกระบวนการสร้างความคิดและแก้ความผิดพลาด" หม่อมเต่ากล่าวทิ้งท้าย

 

          แม้ไม่ได้พูดอย่างชัดแจ้ง แต่ประสบการณ์ที่ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุลเล่าให้ฟังในหลายกรณีสะท้อนให้เห็นว่า หัวใจของการทำงานเพื่อรับมือวิกฤตและสร้างรากฐานให้กับอนาคตระบบการเงินคือ การเปิดพื้นที่ให้รัฐและเอกชนเรียนรู้ข้ามกัน

 

"ฝากท่านผู้ว่าการ ธปท. ให้สร้างบรรยากาศงานสัมมนาประจำปีของ ธปท.
ให้มีการแสดงความคิดเห็นและโต้แย้งได้อย่างจริงจัง 
เพราะจะช่วยประเทศได้มาก"

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล

 

ทำเรื่องใหญ่ หาจังหวะที่ใช่ และทำเกินความคาดหมาย : การสร้างความเชื่อมั่นแบบ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล

 

          ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นผู้ว่าการ ธปท. คนที่ 17 (พฤษภาคม 2544 – ตุลาคม 2549) และเป็นหนึ่งในนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของไทยที่เป็นที่รู้จักต่อสาธารณะมากที่สุด จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโทบริหารธุรกิจจาก Wharton School มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา มีประสบการณ์ทำงานในภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคการเมือง ก่อนขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท.

 

          ในฐานะผู้ว่าการ ธปท. "หม่อมอุ๋ย" ขึ้นสู่ตำแหน่งในวันที่ความเชื่อมั่นและความศรัทธาใน ธปท. ในฐานะองค์กรที่มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจจริงตกต่ำลงอย่างมาก เนื่องจากถูกมองว่า เป็นต้นเหตุสำคัญของวิกฤตการณ์การเงิน 2540 ทั้งยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตได้อย่างดีพอ

image

          ในวันที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเริ่มงานในฐานะผู้ว่าการ ธปท. นั้น ความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อ ธปท. ตกต่ำถึงขีดสุด โดยการสำรวจช่วงปลายปี 2544 พบว่า มีประชาชนเพียง 10% เท่านั้นที่ยังคงเชื่อมั่น 90% ไม่มีความเชื่อมั่น ธปท. เลย ถึงขนาดมีเรื่องเล่าขานกันว่า พนักงาน ธปท. ไม่สามารถขึ้นแท็กซี่ได้ เพราะถูกแท็กซี่ปฏิเสธ  

 

          "เป้าหมายสำคัญของผมคือ จะเรียกความเชื่อมั่นและศรัทธาใน ธปท. กลับมาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเล่าย้อนถึงความมุ่งหมายเมื่อเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. เมื่อกลางปี 2544

 

          หากมองด้วยกรอบของกระบวนการทำนโยบายสาธารณะ สิ่งที่ ธปท. เผชิญในช่วงเวลานั้น นับว่าเป็นปัญหาที่รุนแรงอย่างยิ่ง เพราะความไว้วางใจคือฐานสำคัญของการทำนโยบายสาธารณะใด ๆ หากประชาชนไม่เชื่อมั่นในผู้กำหนดนโยบาย ต่อให้นโยบายออกแบบมาดีแค่ไหน ก็ย่อมยากที่จะมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

 

          ถึงกระนั้น การสร้างความไว้วางใจอีกครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในห้วงยามที่สังคมไทยยังคงบอบช้ำจากวิกฤตเศรษฐกิจ หนทางเดียวที่ ธปท. จะได้รับความไว้วางใจจากประชาชนกลับคืนมาคือ "ต้องหาเรื่องใหญ่ ๆ หาจังหวะ แล้วทำให้สำเร็จสมบูรณ์ ชนิดที่ว่าเกินความคาดหมายให้ได้" ซึ่งไม่ใช่เรื่องของฝีมือและความสามารถอย่างเดียว หากแต่เป็นเรื่องของจังหวะที่ "ใช่" ด้วย

 

          ม.ร.ว.ปรีดิยาธรยกตัวอย่าง 3 กรณีที่มีส่วนสำคัญในการเรียกความเชื่อมั่นให้กับ ธปท. กรณีแรกคือ การควบรวมธนาคารศรีนคร ซึ่งมีปัญหาทางการเงินกับธนาคารนครหลวงในเดือนมีนาคม 2545 โดยสามารถทำได้แล้วเสร็จภายใน 1 วัน ชนิดที่ตลาดไม่ทันได้รู้ตัว และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สามารถรวมธนาคารได้ภายใน 1 วัน ไม่มีการถอนเงินฝากจากธนาคารเลยแม้แต่บาทเดียว และไม่มีใครต้องตกงานจากการควบรวม

 

          "ความรู้สึกของวงการธนาคารเปลี่ยนไปอย่างทันทีเลย คือเห็นว่า ธปท. ทำอะไร ทำเป็น ทำได้ผล ประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว คาดไม่ถึง และไม่มีผลเสียต่อวงการธนาคาร ผู้ฝากเงินก็พอใจ คนทั่วไปก็พอใจ เป็นการเรียกความเชื่อมั่นศรัทธากลับมาได้ส่วนหนึ่ง" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรพูดถึงความสำเร็จในครั้งนั้น

 

          กรณีที่สองคือ การแก้ปัญหาหนี้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินในช่วงครึ่งปีหลัง 2545 โดยรายงานในขณะนั้นชี้ว่า กองทุนฯ ใช้เงินไปแล้วกว่า 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ออกพันธบัตรมาล้างหนี้แล้วกว่า 5 แสนล้านบาท และ ธปท. ออกพันธบัตรอีก 1.12 แสนล้านบาท รวมแล้วล้างหนี้ไปได้ 6.12 แสนล้านบาท แต่ยังคงมีหนี้เหลืออีกประมาณ 7.8 แสนล้านบาท แต่ ธปท. แก้ปัญหาด้วยการหมุนเงินระยะสั้น ผ่านการออกตั๋วเงินคลังระยะเวลา 3 เดือนหมุนไปเรื่อย ๆ

 

          เพื่อแก้ปัญหาข้างต้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธรจึงคิดจะออกพันธบัตรมูลค่า 3 แสนล้านบาทเพื่อมาล้างหนี้ ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นไปได้ยาก เพราะในช่วงนั้นกระทรวงการคลังก็ออกพันธบัตรครั้งละ 3 หมื่นล้านบาทก็ยังขายลำบาก แต่เขาก็มิได้เปลี่ยนใจ

 

          ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเล่าว่า การทำงานในช่วงนั้นต้องบริหารจัดการหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบผลตอบแทนของพันธบัตรให้จูงใจประชาชนมากพอ การไปคุยกับหลวงตามหาบัวและสานุศิษย์ ซึ่งเป็นภาคประชาสังคมที่ทำงานสนับสนุนและตรวจสอบ ธปท. อย่างเข้มข้น พร้อมทั้งขอใช้ชื่อ "พันธบัตรช่วยชาติ"  มาใช้ในการทำงาน หรือการลงไปคุยกับผู้บริหารระดับสูงของธนาคารพาณิชย์ด้วยตัวเอง โดยทั้งอธิบายถึงความจำเป็นในการออกธนบัตร และการออกแบบแรงจูงใจผ่านการให้ค่านายหน้า นอกจากนี้ ธปท. ยังทำงานกับสื่อหลักอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ช่วยประชาสัมพันธ์ โดยขอให้เขียนข่าวพร้อมกันในวันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม 2545 เพราะกำหนดการเปิดขายพันธบัตรคือวันจันทร์ที่ 2 กันยายน 2545

 

          "พอวันจันทร์ เปิดมาผมก็นั่งตามด้วยใจระทึก พอสิ้นวัน สมาคมธนาคารไทยรายงานมาว่า ขายพันธบัตรไปแล้ว 2 แสนล้านบาท ผมดีใจมาก พอถึงวันพุธ เวลา 11.00 น. หรือ 2 วันครึ่ง คุณชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย โทรศัพท์มาบอกว่า ขณะนี้ขายหมดแล้วครับ ผมตกใจที่สามารถขายได้หมดภายในเวลา 2 วันครึ่ง ทั้งที่ตั้งใจว่าจะใช้เวลาขายประมาณ 3 เดือน เราทำสำเร็จ สำเร็จอย่างสมบูรณ์แบบ สำเร็จเกินความคาดหมาย แล้วเรื่องนี้รู้กันทั่วประเทศ"

 

           ปลายปี 2545 มีการจ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สำรวจความเชื่อมั่นและศรัทธาใน ธปท. อีกครั้งหนึ่ง ปรากฏว่า จากที่เคยไม่เชื่อมั่น ธปท. 90% ลดเหลือ 30% จากที่เชื่อมั่น 10% เพิ่มเป็น 70% จากสองเหตุการณ์นี้ แต่ก็ยังเพิ่มไม่เต็มที่

 

          กรณีสุดท้ายที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรยกขึ้นมาเล่าคือ กรณีที่ผู้ตรวจสอบของ ธปท. พบว่าธนาคารกรุงไทยมีการปล่อยสินเชื่อไม่ชอบมาพากลในปลายปี 2546 จนในที่สุด ธปท. ตัดสินใจที่จะฟ้องคณะกรรมการบริหารธนาคารที่มีประธานคณะกรรมการเป็นพี่ชายรัฐมนตรี และกรรมการผู้จัดการในยุคนั้นได้รับการสนับสนุนจากการเมืองเต็มที่

 

           เมื่อมีการตัดสินใจฟ้องนั้นส่งผลให้เกิดกระบวนการล้มผู้ว่าการ ธปท. โดยในวันที่ 11 สิงหาคม 2546 มีการปล่อยข่าวในตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ผู้ว่าการ ธปท. สั่งให้กองทุนฟื้นฟูฯ ขายหุ้นของธนาคารกรุงไทยจน คนแห่กันขายหุ้นกรุงไทย ราคาหุ้นกรุงไทยตกอย่างรวดเร็ว และตกไม่หยุดจนตลาดปิดทำการ

 

           "เช้าวันที่ 13 สิงหาคมหลังเปิดมาจากวันหยุด ผมสั่งเจ้าหน้าที่ให้แจ้งนักข่าวว่าผู้ว่าการ ธปท. จะแถลงการณ์เรื่องธนาคารกรุงไทย เมื่อถึงเวลาผมชี้แจงว่า กองทุนฟื้นฟูฯ มีหุ้นจำนวนเท่าไหร่ บัดนี้ก็ยังมีจำนวนหุ้นเท่าเดิม และกล่าวถึงฐานะธนาคารกรุงไทยที่มีความแข็งแรงมาก อ่านข้อมูลต่าง ๆ ให้เห็นชัด ทั้งเงินกองทุนแข็งแรง มีการตั้งสำรองหนี้สูญอย่างไร ธนาคารแข็งแรง พอแถลงข่าวอย่างขึงขัง ปรากฏว่า มีการหยุดขายหุ้นของกรุงไทยทันที แล้วภายในเที่ยงวันนั้นก็เอาอยู่ หุ้นกลับมาที่เดิมได้"

 

            หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นความน่าเชื่อถือของ ธปท. เพิ่มขึ้นทันที เมื่อถึงสิ้นปี 2546 มีการสำรวจอีกครั้งพบว่า ความเชื่อมั่นเพิ่มจาก 70% เป็น 90% ความไม่เชื่อมั่นลดจาก 30% เหลือ 10% "ผมก็รู้ว่า โจทย์สำคัญ ผมทำเสร็จแล้ว" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรทิ้งท้าย

 

"ความเป็นอิสระเป็นเรื่องสำคัญ ธปท. ต้องทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา
 ไม่ต้องคำนึงถึงความพอใจของผู้ใหญ่ ผู้มีอำนาจ และนักการเมือง
แต่ความเป็นอิสระไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องฟังใคร อันนี้ต้องระวัง
...ผมต้องติงข้อนี้ไว้ เพราะกลัวเราจะเป็นอิสระที่ไม่ฟังใคร"

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล

 

ตรงไปตรงมา มีหลักการ อธิบายได้ สื่อสารอย่างดี : วิธีรับมือวิกฤตเศรษฐกิจ–การเมืองแบบธาริษา วัฒนเกส

 

          ดร.ธาริษา วัฒนเกส เป็นผู้ว่าการ ธปท. คนที่ 18 (พฤศจิกายน 2549–กันยายน 2553) จบปริญญาโทคณะเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเคโอ ประเทศญี่ปุ่น และปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน เซนต์หลุยส์ สหรัฐอเมริกา เริ่มทำงานที่ ธปท. เมื่อปี 2518 ผ่านการทำงานหลายฝ่าย และอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของเศรษฐกิจไทยมาตลอดกว่า 35 ปี

 

          ในฐานะผู้ว่าการ ธปท. ดร.ธาริษา เข้ารับตำแหน่งในวันที่ประเทศไทยต้องเจอกับวิกฤตการเมืองเมื่อมีการรัฐประหารในปี 2549 และวิกฤตซับไพรม์ปี 2551 ซึ่งลุกลามกลายมาเป็นวิกฤตการณ์เศรษฐกิจโลก

image

           ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. ดร.ธาริษาต้องเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจใหญ่อย่างน้อย 3 ครั้ง ครั้งแรกคือ ปัญหาค่าเงินบาทแข็งในปี 2549 ครั้งที่สองคือปัญหาเงินเฟ้อในปี 2551 และครั้งที่ 3 คือวิกฤตการณ์ซับไพรม์ในปี 2551 แต่ทั้งสามปัญหานี้ การแก้ปัญหาเงินเฟ้อในปี 2551 นับว่ามีบทเรียนที่น่าสนใจยิ่ง

 

           "ในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2551 เงินเฟ้อสูงมาก เพราะราคาน้ำมันขึ้นไปสูงสุด 144 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เงินเฟ้อทั่วไปสูงกว่า 9% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานทะลุเป้าของ ธปท. ไปอยู่ที่ 3.7% คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ส่งสัญญาณตั้งแต่เดือนพฤษภาคมว่าคงจะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยทำให้เกิดแรงถล่ม ธปท. เพราะภาครัฐมองว่าเป็นเรื่องของราคาน้ำมัน เป็น supply side การขึ้นดอกเบี้ยจะไปซ้ำเติมประชาชน" ดร.ธาริษาเล่าย้อนความ

 

           แต่ถึงที่สุดแล้ว ดร.ธาริษาและ ธปท. ก็ยืนยันกับสาธารณะว่า การขึ้นดอกเบี้ยของ ธปท. เป็นการตัดสินใจเชิงนโยบายที่ถูกต้อง อยู่บนฐานความรู้ และฐานข้อมูลที่เชื่อถือได้ ส่งผลให้หลังจาก ธปท. ขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมแล้ว นักวิชาการก็ออกมาสนับสนุน และนโยบายก็เริ่มได้รับการยอมรับจากประชาชน

 

           "บทเรียนที่ได้คือ ถ้า ธปท. ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา มีหลักการ มีการอธิบาย สื่อสารอย่างดี ประชาชนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องก็จะออกมาสนับสนุน ธปท." ดร.ธาริษาสรุปบทเรียนจากการดำเนินนโยบายครั้งนั้น

 

          นอกจากความท้าทายด้านเศรษฐกิจแล้ว ดร.ธาริษายังดำรงตำแหน่งในห้วงเวลาที่การเมืองไทยมีความผันผวนมากที่สุดช่วงหนึ่ง เพราะประเทศไทยเพิ่งเกิดรัฐประหารครั้งแรกในรอบ 15 ปี ในเดือนกันยายน 2549  ตามมาด้วยความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อยาวนานมาจนกระทั่งปัจจุบัน รูปธรรมของความผันผวนทางการเมืองคือ การที่ตลอด 4 ปี ในตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. ต้องทำงานร่วมกับนายกรัฐมนตรี 4 คน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 5 คน ยังไม่พูดถึงการประท้วงบนท้องถนนอีกนับครั้งไม่ถ้วน

 

          วิกฤตการณ์การเมืองส่งผลทั้งด้านบวกและด้านลบต่อการทำงานของ ธปท. ด้านบวกคือ การที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติหลังการรัฐประหารสามารถผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ ธปท. ออกมาได้ 3 ฉบับ ได้แก่ พรบ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2551) พรบ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 และ พรบ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 ซึ่งกฎหมายเหล่านี้เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนเชิงเทคนิค ยากที่จะออกได้ในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งปกติ

 

          ส่วนผลด้านลบคือ การที่ฝ่ายการเมืองอยากจะให้คนที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมเข้ามาเป็นกรรมการในธนาคารแห่งหนึ่งที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินถือหุ้นอยู่ ดร.ธาริษาในฐานะประธานกองทุนจึงบล็อกไม่ให้เข้ามา จึงเป็นเหตุให้ถูกตั้งกรรมการตรวจสอบด้วยข้อหากระทำเข้าข่ายประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ซึ่งกินเวลากว่า 2 ปี จนเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลก็มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบใหม่จากผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นที่เชื่อถือ ดร.ธาริษาจึงพ้นข้อกล่าวหา

 

           "อยากฝากถึงผู้ว่าการ ธปท. ในปัจจุบันและคนต่อ ๆ ไปว่า การตัดสินใจต้องยึดความถูกต้องเป็นหลัก ไม่ต้องคำนึงถึงผลพวงที่ตามมา ยิ่งหากมีเรื่องที่กระทบต่อชื่อเสียงของ ธปท. ยิ่งต้องใช้หลักธรรมาภิบาลในการตัดสินใจ" ดร.ธาริษาถอดบทเรียนสำคัญในครั้งนั้น

 

"บทบาทหน้าที่ของ ธปท. คือ ดำเนินนโยบายการเงินและดูแลเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงิน
 แต่พันธกิจของ ธปท. คือการพัฒนาความอยู่ดีกินดีอย่างยั่งยืนฉะนั้น ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ ธปท.
จึงไม่ใช่แค่เพียงเรื่องนโยบายการเงิน และเสถียรภาพทางการเงินเท่านั้น"

ดร.ธาริษา วัฒนเกส

 

นโยบายดี บุคลากรมากความสามารถ และประวัติศาสตร์แห่งความดีงาม : แนวคิดสามเสาหลักของ ธปท. แบบประสาร ไตรรัตน์วรกุล

 

          ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นผู้ว่าการ ธปท. คนที่ 19 (ตุลาคม 2553–กันยายน 2558) จบการศึกษาปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และอดีตกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย

 

          ในฐานะผู้ว่าการ ธปท. นั้น ดร.ประสารต้องเผชิญกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์ซับไพรม์และยูโรโซน ขณะที่ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยเริ่มปรากฏออกมาให้เห็นชัดขึ้นเรื่อย ๆ

image

           ดร.ประสารเริ่มต้นด้วยการอธิบายว่า "สถาบันแบงก์ชาติ" ประกอบด้วย 3 เสาหลัก เสาที่ 1 คือ การมีกรอบนโยบายในการทำงานที่มีความยืดหยุ่น มีธรรมาภิบาล มีความโปร่งใส และมีเครื่องมือเพียงพอที่จะใช้แก้ปัญหาในขณะนั้น เสาที่ 2 คือ การมีบุคลากรที่มีความสามารถ และระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพ เสาที่ 3 คือ มีประวัติศาสตร์แห่งความดีงาม หมายถึงเรื่องระบบค่านิยมที่ดี เป็นระบบค่านิยมที่สามารถปรับตัวให้เหมาะสมกับบริบทแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

 

           สำหรับเสาหลักที่ 1 ดร.ประสารเล่าผ่านประสบการณ์การทำงานในช่วงระหว่างปี 2553–2558 โดยหนึ่งในตัวอย่างที่นำมาเล่าคือ ความท้าทายในเรื่อง financial stability ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ของเศรษฐกิจการเงินไทย

 

          "ขณะนั้นมีการคุยกันว่า จะเข้าใจเรื่องนี้กันอย่างไร ฟอร์มทีมอย่างไร จะต้องมีฝ่ายงานใหม่หรือไม่ จะกล้าออก stability report หรือไม่ ทำให้มีความพยายามเก็บข้อมูลหลายด้าน เพราะการดูอัตราเงินเฟ้ออย่างเดียวคงไม่พอ จึงมีการเก็บข้อมูลทั้งหนี้สินภาคครัวเรือน สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ตลาดสินทรัพย์ ตลาดหุ้น ตลาดอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น และเมื่อโจทย์มีหลายวัตถุประสงค์ ธปท. ต้องมีเครื่องมือเพียงพอ เช่น macroprudential คือเอาเรื่องกำกับดูแลเข้ามา และนำมาสู่ความท้าทายต่อมา คือ แนวทางการพัฒนาระบบการเงินที่เหมาะสม วัตถุประสงค์ดั้งเดิมของการดูแลการพัฒนาระบบการเงินยังเหมือนเดิม เช่น การพัฒนาตลาดการเงินเพื่อให้เป็นแหล่งระดมทุนที่กว้าง ลึก คล่องตัว ส่วนการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เพื่อให้มีการแข่งขันกัน เข้าถึงง่าย ส่วนระบบชำระเงินก็อยากเห็น ถูก ดี ปลอดภัย

 

          "...ขณะนั้นเริ่มเห็นสัญญาณและมีโจทย์ใหม่ ๆ ที่ต้องคิดให้ละเอียดลึกซึ้งมากขึ้น เช่น เทคโนโลยีสมัยใหม่ พวกไอทีที่เข้ามามีบทบาทอย่างมาก ทำให้มีคำถามว่า โครงสร้างอุตสาหกรรมจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานควรจะมีหน้าตาอย่างไร ควรมีมาตรฐานกลางหรือไม่ ระบบอิเล็กทรอนิกส์จะก้าวหน้าไปแค่ไหน ขณะที่กฎหมายกำกับดูแลมีความครอบคลุมแค่ไหน" ดร.ประสารยกตัวอย่างรูปธรรมเพื่ออธิบายเสาหลักที่ 1

 

          แม้ว่าคำนี้จะหานิยามที่เป็นมาตรวัดแบบแม่นยำไม่ได้ แต่พอพลิกคำถามกลับว่า อยากเห็น financial instability หรือไม่ ทุกคนคงไม่อยากเห็น โดยเฉพาะจุดที่อาจจะทำให้เกิดปัญหาในระบบเศรษฐกิจจนเข้าขั้นวิกฤต คล้ายกับเรื่องสุขภาพคน คุณสุขภาพดีไหม จะวัดด้วยอะไร เราไม่อยากเห็นการล้มป่วยจนเสี่ยงเสียชีวิต แต่คำว่าสุขภาพดีมั้ย หมายถึงระดับน้ำตาลในเลือดเท่าไหร่ ระดับไขมันเป็นอย่างไร ขณะนั้นเป็นเรื่องท้าทายในเชิงความคิดและการติดตาม เพราะถ้าคิดไปถึงเรื่องการพยายามหาทางป้องกันก็ยากพอสมควร" ดร.ประสารเล่าถึงบรรยากาศของการทำงานในช่วงนั้น

 

          สำหรับเสาหลักที่ 2 เรื่องบุคคลกับองค์กร ดร.ประสารมองว่าหัวใจสำคัญของเรื่องนี้คือ การมองเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในภาพกว้างทั้งภายในและภายนอก ธปท. ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือในการทำงานที่หลากหลาย เช่น ภายใน ธปท. มีการนำ balanced score card มาใช้เพื่อให้สมาชิกในองค์กรรู้ว่างานของแต่ละคนสนับสนุนงานของ ธปท. โดยรวมอย่างไร งานที่ทำมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญอะไรบ้าง และมีอะไรที่เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ 

 

          "โลกภายนอกมีความก้าวหน้าพัฒนาไปมาก และคงไม่เหมาะที่จะไปปิดกั้นการไล่ล่าตามฝันหรือความกล้าที่จะทำเรื่องที่แตกต่าง talent management ของ ธปท. จึงยังเป็นความท้าทายในเสาหลักที่ 2 นี้ แม้ ธปท. จะยังมีการให้ทุนและมีคนเก่ง ๆ มาร่วมทำงานก็ตาม

 

          เสาหลักที่ 3 ประวัติศาสตร์แห่งความดีงาม ซึ่ง ดร.ประสารเห็นว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับองค์กรที่มีอายุ 80 ปีอย่าง ธปท. เพราะระยะเวลาที่ยาวนานทำให้ค่านิยมบางอย่างตกผลึกเป็นวัฒนธรรมขององค์กร และมีส่วนสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณะ อย่างไรก็ตาม ค่านิยมสามารถเป็นได้ทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน ดังนั้น ค่านิยมที่ดีก็ส่งเสริมต่อไป แต่ค่านิยมบางอย่างก็เป็นจุดอ่อน

 

           "...สายตาคนนอกอาจมองว่า คน ธปท. มีหลักการ รอบคอบ ซื่อสัตย์สุจริต ก็ไม่ผิดเท่าไหร่ ...แต่ก็หนีไม่พ้นที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า คน ธปท. ทำงานบนหอคอยงาช้าง ซึ่งสะท้อนว่า พออยู่สูงก็ไม่ติดดิน ไม่แตะคนอื่น ...ก็เป็นความท้าทายว่าจะกระตุ้นหรือรณรงค์อย่างไร จึงมีความพยายามสร้างค่านิยมเรื่องยื่นมือกับติดดิน"

 

          ที่น่าสนใจยิ่งคือ ดร.ประสารชี้ให้เห็นว่า ค่านิยมขององค์กรมีส่วนกำหนดวิธีการทำงานนโยบายอย่างมีนัยสำคัญ เช่น การประเมินภาพเศรษฐกิจที่นอกจากจะวิเคราะห์จากข้อมูลต่าง ๆ ยังต้อง "ติดดิน" ลงพื้นที่คุยกับผู้ประกอบการ คุยกับชาวบ้าน เพื่อนำข้อมูลมาประเมินภาวะเศรษฐกิจด้วย หรือการ "ยื่นมือ" ก็นำไปสู่การจัดตั้งศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) มีฮอตไลน์ 1213

 

          อย่างไรก็ตาม ที่หนีไม่พ้นคือส่วนที่ 4 ความสำเร็จของสถาบันนี้ ขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถบริหารจัดการปัจจัยต่าง ๆ ที่อิงกับ 3 เสาหลักนี้ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับกาลเทศะในขณะนั้นได้ดีมากน้อยแค่ไหน ส่วนที่ 4 นี้เรียกรวม ๆ ว่า leadership

 

          "เรื่อง leadership ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นคุณสมบัติทางเทคนิค แต่ที่สำคัญคือ integrity, honesty และ reliability ซึ่งสำคัญมาก เวลาจะต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ" ดร.ประสารกล่าวทิ้งท้าย

 

"การนำองค์กร (leadership) มีคุณสมบัติอยู่ 3 อย่าง คือ
 (1) อย่าติดอยู่กับความสำเร็จในอดีต (2) รู้ว่าต้องปรับเปลี่ยนเมื่อไหร่ อย่าให้คนอื่นมาปรับเปลี่ยนเรา
และ (3) ใช้ประโยชน์จากความหลากหลายให้ได้"

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

 

ป้องกัน พัฒนา และสร้างความเป็นเลิศ การบริหารเศรษฐกิจมหภาคในโลก VUCA ของวิรไท สันติประภพ

 

          ดร.วิรไท สันติประภพ เป็นผู้ว่าการ ธปท. คนที่ 20 (ตุลาคม 2558–กันยายน 2563) จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา เริ่มทำงานที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และได้กลับมาทำงานในไทยหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 โดยเป็นผู้อำนวยการร่วม สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง จากนั้นได้ไปทำงานในองค์กรหลายแห่ง เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ก่อนขึ้นสู่ตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท.

 

          ในฐานะผู้ว่าการ ธปท. ดร.วิรไทต้องรับมือกับการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลอย่างรวดเร็วในภาคการเงิน ความผันผวนและไม่แน่นอนของโลก และการแพร่ระบาดของโควิด 19 ในช่วงระลอกแรก ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง

image

          ในช่วง 5 ปีของ ดร.วิรไทในตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. ภาคการเงินไทยถือว่าเข้มแข็งเป็นอย่างมาก ประเทศไทยสามารถรับแรงปะทะจากเศรษฐกิจโลกได้ค่อนข้างดี มีทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับสูง ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ และเงินเฟ้อก็ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเป็นส่วนใหญ่

 

          อย่างไรก็ตาม ความท้าทายใหญ่ที่ต้องเผชิญ คือ โลกมีความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือสูงมาก หรือที่เรียกกันว่า "โลก VUCA[2]" ซึ่งความไม่แน่นอนส่วนใหญ่ก็มาจากปัจจัยภายนอกค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยในระบบการเงินโลกที่อยู่ในระดับต่ำมากเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในไทยอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรจะเป็น หรือปัญหาเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) ที่ประเทศใหญ่ ๆ มีปัญหาเศรษฐกิจ และดำเนินมาตรการหลายอย่างที่มากระทบไทยโดยไม่ตั้งใจ และที่สำคัญคือการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงไปทั่วโลก

 

          ดังนั้น โจทย์สำคัญของธนาคารกลางในมุมมองของ ดร.วิรไทคือ การมองหาให้เจอว่าความท้าทายด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอยู่ที่ไหน และหาทางป้องกัน โดย ดร.วิรไทได้ยกตัวอย่างสำคัญมา 3 เรื่อง คือ ระบบการเงินเงา (shadow banking) หนี้ครัวเรือน และภัยไซเบอร์ ซึ่ง ธปท. ได้ทำงานอย่างเต็มที่เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาเหล่านี้กลายเป็น "ระเบิดเวลา" ที่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจไทย

 

          "ในด้านเสถียรภาพระบบการเงิน แม้โจทย์ท้าทายจะแตกต่างไปจากเดิม แต่หลักการจะคล้าย ๆ กัน และเป็นสิ่งที่พูดกันมากในแบงก์ชาติช่วง 5 ปีที่ผมเป็นผู้ว่าการ ธปท. คือ เราจะต้องจับควันให้ไว ดับไฟให้ทัน ป้องกันอย่าให้ลาม เป็นหลักการทำงานของเรา" ดร.วิรไทเน้นย้ำถึงหลักการในการบริหารเศรษฐกิจมหภาค

 

         อย่างไรก็ตาม การทำงานเชิงป้องกันเพียงอย่างเดียวอาจยังไม่เพียงพอต่อการรับมือโลก VUCA  ดร.วิรไทเห็นว่า ธปท. ต้องทำงาน "พัฒนา" ด้วย เพราะถ้า ธปท. ไม่จัดการ ปัญหาเชิงโครงสร้างที่บิดเบือนอยู่จะสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีผลโดยตรงต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ต่อผลิตภาพ และปัญหาความเหลื่อมล้ำ ดังนั้น ธปท. จึงต้องพยายามทำให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ๆ ขึ้น โดยมีผลงานสำคัญคือ การสร้างระบบนิเวศที่จะทำให้เกิดการใช้ระบบเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ตอบโจทย์ของคนไทยโดยรวม โดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมที่ถูกมองข้าม

 

          "บริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ ๆ มีต้นทุนถูกมาก แต่โครงสร้างที่เป็นอยู่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องคิดค่าบริการ 15-20 บาท และคนที่ต้องเสียมากที่สุดก็คือประชาชนตัวเล็กตัวน้อย เพราะถ้าเป็นตัวใหญ่มักจะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียม ถ้าคิดว่าระบบเศรษฐกิจไทยต้องไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล การทำระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์เป็นหัวใจขั้นพื้นฐานที่จะทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ปัญหาความบิดเบือนของโครงสร้างค่าธรรมเนียมจึงเป็นเรื่องสำคัญ"

 

         งานพัฒนาที่สำคัญยิ่งเรื่องหนึ่งคือ การสร้างความเป็นธรรมให้ประชาชนที่มาใช้บริการทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการออกแนวปฏิบัติ (market conduct) สำหรับการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน (เช่น การขายประกันในธนาคาร) การปรับการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ การเข้าไปดูแลกำกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท ที่เมื่อก่อนเคยคิดว่าไม่ใช่ขอบเขตการดำเนินงานของ ธปท. (เช่น สินเชื่อจำนำทะเบียนรถที่มีผลกระทบต่อประชาชนมาก)

 

          งานกลุ่มสุดท้ายที่เป็นความท้าทายของ ธปท. ในโลก VUCA คือ การสร้างความเป็นเลิศให้กับองค์กรในฐานะผู้กำหนดนโยบาย ทั้งการสรรหา สร้าง และพัฒนาบุคลากรที่ต้องรู้ลึกและรู้รอบ และการพัฒนาเครื่องมือใหม่ ๆ เช่น การนำ data analytics มาใช้จับชีพจรเศรษฐกิจ และการทำนโยบายแบบมีข้อมูลเชิงประจักษ์ (evidence based) สนับสนุน

 

          "นอกจากเรื่องความสามารถแล้ว หัวใจของบุคลากรก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ...ธปท. จะประสบความสำเร็จได้ บุคลากรต้องมีฐานคิด ฐานทำ และฐานใจ สิ่งสำคัญคือฐานใจ เพราะการทำงานของธนาคารกลางต้องเผชิญแรงกดดันหลากหลายด้าน และทุกอย่างที่ทำอยู่ท่ามกลางผลประโยชน์ มีทั้งผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ ...ผู้เสียประโยชน์มักจะรวมกลุ่มกันและมากดดัน ธปท. พนักงานจึงต้องมีภูมิคุ้มกันด้านจิตใจที่สำคัญ" ดร.วิรไทกล่าวถึงเคล็ดลับสำคัญสุดท้ายในการสร้างความเป็นเลิศ

 

"ความเป็นอิสระและประสิทธิภาพในการดำเนินงานของ ธปท. จะมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของ ธปท. ความน่าเชื่อถือจะเกิดได้ ประชาชนต้องเห็นประโยชน์ เห็นถึงผลงานที่ทำ ต้องเปิดใจไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลายมากขึ้น และต้องติดดิน"

ดร.วิรไท สันติประภพ