ก้าวสู่ดินแดนที่เราไม่เคยรู้จัก :
ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยและเข็มทิศนโยบายฉบับกระชับ
ในบางแง่มุม โลกเศรษฐกิจการเงินทุกวันนี้ก็คล้ายกับโลกในศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นยุคแห่งการสำรวจดินแดนใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครรู้จัก มนุษย์มีเทคโนโลยีการเดินเรือที่จะพาตัวเองไปไกลได้เท่าที่ใจฝัน กับเข็มทิศที่คอยกำกับไม่ให้หลงทาง หากไปถึงดินแดนใหม่อย่างปลอดภัย รางวัลที่ได้คือทรัพยากรและความมั่งคั่ง
เปรียบเปรยเช่นนี้ย่อมหมายความว่า "ภูมิทัศน์ใหม่ของภาคการเงิน" ก็เป็นดินแดนที่เราไม่เคยรู้จัก เรารู้ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลกำลังเปลี่ยนภาคเศรษฐกิจการเงินไปอย่างมหาศาล หากเราไปถึงน่านน้ำใหม่ได้อย่างปลอดภัย โอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ก็รออยู่ ทว่าความเสี่ยงอันตรายก็คอยสะกิดเตือนให้เราต้องรอบคอบ ระมัดระวัง เพราะเดิมพันของความผิดพลาดอาจหมายถึงวิกฤต
จากเทคโนโลยีการเดินเรือสู่เทคโนโลยีดิจิทัล แม้รูปแบบจะเปลี่ยนแปลงไป แต่การสำรวจภูมิทัศน์ใหม่ไม่ว่ายุคไหนก็ต้องการเข็มทิศ ที่อย่างน้อยคอยกำกับว่าเรากำลังมุ่งหน้าไปถูกทิศทาง
พระสยาม BOT MAGAZINE ชวนอ่านทิศทางและแนวนโยบายการเงินภายใต้ภูมิทัศน์การเงินใหม่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดทำ ซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพอนาคตโลกการเงินชัดเจนมากขึ้น
โลกของเรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมที่รวดเร็ว และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ต่อสมาชิกในประชาคม โดยประเทศไทยได้รับทั้งผลกระทบทางตรงจากปัญหาโลกรวน เช่น สภาพภูมิอากาศไม่ตรงฤดู ภัยธรรมชาติรุนแรงขึ้น และทางอ้อมจากแรงกดดันด้านนโยบายการค้าระหว่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
ความท้าทายของประเทศไทยคือ โครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังพึ่งพาการใช้พลังงานจากถ่านหินและน้ำมันสูงถึง 60% ของการใช้พลังงานทั้งหมด และอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังใช้เทคโนโลยีแบบดั้งเดิมที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยจึงมิใช่เรื่องง่าย การจะทำได้สำเร็จต้องดำเนินการแต่เนิ่น ๆ และการกำหนดทิศทางที่ชัดเจนทั้งใน (1) มิติด้านสิ่งแวดล้อม (2) มิติด้านเศรษฐกิจ และ (3) มิติด้านสังคม เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่นและไม่ส่งผลกระทบเชิงลบในวงกว้าง
ภาคการเงินมีบทบาทสำคัญในการจัดสรรเงินทุนให้แก่ระบบเศรษฐกิจ และมีส่วนในการกำหนดทิศทางและโครงสร้างเศรษฐกิจที่สำคัญ หากภาคการเงินจัดสรรเงินทุนไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ปรับตัวได้ช้า ก็จะเป็นตัวเร่งให้การปรับโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจเร็วขึ้นและเป็นไปอย่างราบรื่น ในทางกลับกัน หากการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไม่เกิดขึ้น ภาคการเงินก็จะเสียโอกาสในการลงทุนกับภาคเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งอาจส่งผลให้ไม่สามารถกระจายความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม
หน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินในต่างประเทศ จึงหันมาให้ความสำคัญกับการเงินเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและจริงจัง โดยกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น กลุ่มประเทศในยุโรป สหราชอาณาจักร และสิงคโปร์ ได้บังคับใช้มาตรฐานการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะมิติด้านความมั่นคงและเสถียรภาพระบบการเงิน เพื่อรับมือกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ระบบฐานข้อมูล กระบวนการรับรองกิจกรรมทางเศรษฐกิจสีเขียว (verification) ที่เป็นมาตรฐาน และการสนับสนุนการลงทุนใหม่ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างระบบนิเวศด้านความยั่งยืนในระยะยาว
ธปท. ในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแลผู้ให้บริการในภาคการเงิน กำหนดทิศทางการดำเนินงานที่สำคัญเพื่อสนับสนุนบทบาทของภาคการเงินเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมได้ดียิ่งขึ้น ดังนี้
(1) การปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินเพื่อให้มีบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินด้านสิ่งแวดล้อมที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจ (product and services) เพื่อให้สถาบันการเงินผนวกประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจ และดำเนินธุรกิจอย่างเป็นระบบ แก้ปัญหาที่ต้นทุนสิ่งแวดล้อมไม่ถูกนำมาคิดในค่าบริการ
(2) การทำมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (taxonomy) เพื่อลดความลักลั่นในการปรับตัวของธุรกิจ และเพื่อให้ประเทศไทยมีมาตรฐานกลางในการจัดหมวดหมู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถนำไปใช้อ้างอิงในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้อย่างสอดคล้องกันทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและในระดับสากล
(3) การจัดทำฐานข้อมูลที่เป็นระบบเข้าถึงได้ และมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลของสถาบันการเงิน (data and disclosure) เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบข้อมูลกลางด้านสิ่งแวดล้อมที่ใช้ร่วมกันทั้งในและนอกภาคการเงิน
(4) การออกแบบโครงสร้างแรงจูงใจ (incentive) เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมในภาคการเงินที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้สถาบันการเงินมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายในราคาจูงใจ สามารถลดต้นทุนและปรับตัวได้ในระยะเปลี่ยนผ่าน
(5) การสร้างองค์ความรู้และทักษะของบุคลากรในภาคการเงิน (capacity building) เพื่อให้สถาบันการเงินมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม
ภาครัฐ สามารถดำเนินนโยบายได้ตรงจุดสอดคล้องกับบริบทของประเทศ และสามารถเชื่อมโยงภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น โดยมี Thailand Taxonomy เป็นมาตรฐานกลาง และมีข้อมูลสนับสนุนการดำเนินนโยบายอย่างเพียงพอ
กลุ่มสถาบันการเงิน ได้รับความเชื่อมั่น รวมทั้งมีผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์การปรับตัวของภาคธุรกิจด้วยราคาที่เหมาะสมกับต้นทุนและความเสี่ยง
ภาคธุรกิจ สามารถแข่งขันได้ดีขึ้นจากการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่การผลิตและขั้นตอนดำเนินการของบริษัทได้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
ผู้ประกอบการ SMEs ทราบถึงช่องว่างในการปรับตัวของตนเอง สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อช่วยให้ปรับตัวด้วยต้นทุนที่ไม่เป็นภาระมากจนเกินไป และสามารถอยู่รอดได้ในระบบเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นักลงทุนและประชาชน มีแหล่งข้อมูลอ้างอิงจากการเปิดเผยข้อมูลที่มีมาตรฐาน เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน เลือกใช้บริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สนับสนุนกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาคการเงินไทยเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ดิจิทัลอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ผู้คนถูกผลักให้เข้าสู่โลกดิจิทัลทั้งเพื่อหาโอกาสใหม่ ๆ และเพื่อการดำรงชีวิตในภาวะวิกฤตที่ต้องรักษาระยะห่างทางสังคม ข้อมูลชี้ว่า ในระหว่างปี 2560-2564 การชำระเงินดิจิทัล (digital payment) ของไทยเติบโตสูงขึ้น 5 เท่า โดยในปี 2564 มีธุรกรรมเป็นจำนวนกว่า 20,700 ล้านรายการ มูลค่ารวม 460 ล้านล้านบาท
ความท้าทายสำคัญของภาคการเงินไทยคือ การพัฒนาระบบการชำระเงินให้มีความทันสมัย สามารถเชื่อมโยงระหว่างผู้ให้บริการภาคธุรกิจ ภาครัฐ และประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ภายใต้การกำกับดูแลที่ยืดหยุ่น เท่าทัน และมีประสิทธิผล โดยไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบที่กระทบในวงกว้าง
ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ระบบการชำระเงินไทยได้วางรากฐานทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านกฎหมาย และด้านการกำกับดูแลมาอย่างต่อเนื่อง และมีส่วนสำคัญในการช่วยให้การทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจการเงินดำเนินได้อย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพ และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านจากสังคมเงินสดไปสู่สังคมที่ใช้เงินสดน้อยลง ส่งผลให้ช่องทางและการให้บริการทางการเงินมีความหลากหลายมากขึ้น การจัดทำแนวทางการพัฒนาระบบชำระเงินจึงต้องคำนึงถึงความท้าทายต่าง ๆ เช่น การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ ความหลากหลายซับซ้อนของบริการและผู้ให้บริการการชำระเงิน ภัยคุกคามไซเบอร์และกลโกงรูปแบบใหม่ รวมไปถึงการเติบโตของ "สินทรัพย์ดิจิทัล" ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ของโลกการเงิน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินใหม่ ๆ ได้อย่างเหมาะสม บนพื้นฐานของการบริหารความเสี่ยงที่ดี
ธปท. วางทิศทางการพัฒนาด้านการชำระเงิน ภายใต้หลักการ openness, inclusivity และ resiliency ได้แก่
(1) openness การใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานและข้อมูลด้านการชำระเงินร่วมกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและส่งเสริมการแข่งขันใน 3 ด้าน ดังนี้
· open infrastructure ให้มีการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่เชื่อมโยงกันได้ สามารถเข้าถึงผู้เล่นที่หลากหลาย ครอบคลุมผู้ใช้บริการทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ ภายใต้โครงสร้างธรรมาภิบาลและโครงสร้างราคาที่เหมาะสม รวมทั้งเตรียมการรองรับการเงินในรูปแบบใหม่ โดยการดำเนินการที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินและการชำระเงินดิจิทัลสำหรับภาคธุรกิจ
· open data ให้มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูลชำระเงินดิจิทัล ภายใต้ธรรมาภิบาลด้านข้อมูลทั้งการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและความปลอดภัยของข้อมูลที่เพียงพอ โดยดำเนินการบูรณาการข้อมูลธุรกรรมชำระเงินของภาคการเงินและภาครัฐ และการพัฒนาโครงสร้างข้อมูลด้านชำระเงินใหม่ (Regulatory Data Transformation: RDT)
· open competition สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแข่งขันของผู้ให้บริการชำระเงิน และผลักดันการนำเทคโนโลยีใหม่มาพัฒนาบริการและนวัตกรรมการชำระเงินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ โดยการปรับแนวทางและมาตรฐานเพื่อให้ผู้ให้บริการที่หลากหลายใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่สำคัญร่วมกัน และยกระดับบทบาทประเทศไทยให้เป็นผู้นำด้านการชำระเงินระหว่างประเทศในภูมิภาคและเวทีสากล
(2) inclusivity การส่งเสริมการใช้บริการชำระเงินที่เข้าถึงและเข้าใจ
ธปท. วางเป้าหมายให้ระบบการชำระเงินดิจิทัลเป็นทางเลือกหลักของคนไทย จึงผลักดันให้บริการและช่องทางการชำระเงินดิจิทัลมีความครอบคลุมมากขึ้น พร้อมกับการใช้งานอย่างมั่นใจ โดยดำเนินการหลัก 2 ด้าน ดังนี้
· adoption ขยายและส่งเสริมการใช้บริการ digital payment ของภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ ให้ทั่วถึงและครอบคลุมยิ่งขึ้น ผ่านการใช้งานกับบริการสาธารณะ การปิด gap ของการชำระเงินภาคธุรกิจ และการได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ
· literacy การสร้างความเชื่อมั่นในการใช้งาน ผ่านการให้ความรู้ความเข้าใจในการใช้บริการและการระมัดระวังป้องกันภัยเพื่อใช้งานได้อย่างปลอดภัย โดยปรับแนวทางการสร้างความรู้ให้เกิดผลในวงกว้างอย่างเป็นรูปธรรม โดยดำเนินการในเชิงรุก และสร้างความร่วมมือทั้งในระดับภาคการเงิน และการเชื่อมโยงภาคการเงินกับภาครัฐ
(3) resiliency การกำกับดูแลที่ยืดหยุ่นและมีประสิทธิผล รองรับการเปลี่ยนแปลงและเท่าทันความเสี่ยงยุคดิจิทัล โดยสามารถสร้างสมดุลระหว่างการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยี การพัฒนานวัตกรรม และการบริหารจัดการความเสี่ยงยุคดิจิทัลได้อย่างเท่าทัน ซึ่งมีหลักดังนี้
· regulation หลักเกณฑ์การกำกับดูแลระบบชำระเงินที่ยืดหยุ่น สามารถรองรับนวัตกรรมและความเสี่ยงใหม่ได้ โดยการทบทวนและปรับปรุงกรอบและหลักเกณฑ์การกำกับดูแลระบบชำระเงินที่ได้คำนึงถึงผลกระทบรอบด้าน (Regulatory Impact Assessment: RIA) สอดรับตามระดับความเสี่ยง (risk proportionality) ตลอดจนรองรับการเงินในรูปแบบใหม่
· supervision ปรับเปลี่ยนวิธีการกำกับดูแลให้รองรับโลกดิจิทัล โดยการพัฒนาเครื่องมือการกำกับดูแลที่ทันสมัย (supervisory technology) ปรับรูปแบบ/วิธีการกำกับดูแล และสร้างกลไกความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเพิ่มศักยภาพของบุคลากรด้านการกำกับดูแลให้รองรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเท่าทัน
ระบบการชำระเงินไทย มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงินที่สอดคล้องกับพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจการเงิน มีเสถียรภาพและมีประสิทธิภาพ รองรับการใช้ประโยชน์จากผู้เล่นที่หลากหลาย ก่อให้เกิดนวัตกรรมบริการชำระเงินที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ และมีโครงสร้างธรรมาภิบาลด้านการชำระเงินที่เหมาะสม เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนา รวมทั้งมีการกำกับดูแลที่ยืดหยุ่น มีประสิทธิผลและเท่าทันความเสี่ยงใหม่ในยุคดิจิทัล
ประชาชน มีบริการ digital payment ที่หลากหลาย เลือกใช้ได้อย่างตรงความต้องการ โดยมีความรู้ความเข้าใจที่เพียงพอในการใช้บริการ สามารถดูแลป้องกันภัยทางดิจิทัลในเบื้องต้นได้อย่างเหมาะสม และได้รับการดูแลให้มีทางเลือกและมีโอกาสให้เรียนรู้เพื่อปรับตัว
ธุรกิจ มีบริการชำระเงินที่ตอบโจทย์การทำธุรกิจการค้าและการชำระเงินดิจิทัลได้สะดวก ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจทั้งด้านการประหยัดเวลา ลดเอกสาร ลดต้นทุน และการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อได้ดีขึ้น เพื่อเป็นการยกระดับศักยภาพการดำเนินธุรกิจ และสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ผู้ให้บริการชำระเงิน เพิ่มโอกาสและความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนการปรับตัวให้สอดรับกับโลกการเงินดิจิทัล ด้วยเกณฑ์การกำกับดูแลที่ยืดหยุ่น ไม่เป็นอุปสรรคต่อการให้บริการ และเอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม ภายใต้การกำกับดูแลความเสี่ยงใหม่อย่างเท่าทันในยุคดิจิทัล
ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets: DA) กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก ทั้งด้วยเหตุผลเชิงปรัชญาและทฤษฎีที่เชื่อว่า สินทรัพย์ประเภทนี้ไม่จำเป็นต้องพึ่งตัวกลางและไม่รวมศูนย์ และเหตุผลทางการเงินที่สินทรัพย์ดิจิทัลกลายเป็นเครื่องมือในการลงทุนแบบใหม่ที่ให้ผลตอบแทนสูงในระยะสั้น ๆ
นวัตกรรมทางเทคโนโลยีและความนิยมของสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นตัวเร่งให้ภาคธุรกิจ ซึ่งรวมถึงกลุ่มธุรกิจการเงินของธนาคารพาณิชย์ หันมาสนใจการลงทุนด้านนี้ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งบริษัทเพื่อประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยเฉพาะ หรือการปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลคล่องตัวทันกับความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น ซึ่งรวมไปถึงการลดข้อจำกัดที่อาจเกิดจากกฎเกณฑ์การกำกับดูแลด้วย
ความท้าทายอย่างยิ่งต่อภาคการเงินไทยคือ สินทรัพย์ดิจิทัลมีศักยภาพสูงในการก่อให้เกิดการพัฒนาบริการทางการเงินของประเทศมากขึ้น หากใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมและสอดคล้องกับแนวทางของภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย จะเป็นผลดีต่อผู้ใช้บริการทางการเงินและเศรษฐกิจโดยรวม อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ก็มาพร้อมความเสี่ยงในหลายรูปแบบเช่นกัน ทั้งความเสี่ยงต่อระบบการเงิน ความเสี่ยงต่อผู้ประกอบธุรกิจ และความเสี่ยงต่อผู้ถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล
แต่เดิมบทบาทของธนาคารกลางทั่วโลกคือ การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่ง ธปท. ก็สามารถทำหน้าที่นี้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงหลังจากวิกฤตการณ์ปี 2540 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้การรักษาเสถียรภาพมีต้นทุนค่าเสียโอกาสจากการพัฒนานวัตกรรมการเงินใหม่ ๆ รวมถึงสินทรัพย์ดิจิทัล ที่มีศักยภาพในการตอบโจทย์ผู้ใช้บริการได้ดีและทั่วถึงมากขึ้น
ความท้าทายของการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลคือ การสร้างความสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรม ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น การตัดสินใจเชิงนโยบายเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาและการกำกับดูแลจึงต้องเป็นไปอย่างรอบคอบมากขึ้น เพื่อให้สามารถกำหนดทิศทางที่เหมาะสมให้กับระบบการเงินดั้งเดิมและการเงินดิจิทัลให้สามารถอยู่ด้วยกันได้ โดยเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้บริการทางการเงินและเศรษฐกิจโดยรวม
ธปท. เลือกวิธีการกำกับดูแลกรณีที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์มีการประกอบธุรกิจที่ซับซ้อนที่อาจมีความเสี่ยงสูง โดยปรับใช้กับโครงสร้างกลุ่มธนาคารพาณิชย์ทุกรูปแบบ ทั้งกรณีที่บริษัทโฮลดิ้งเป็นบริษัทแม่ และกรณีธนาคารพาณิชย์เป็นบริษัทแม่เอง โดยยึดตามหลักการกำกับดูแลที่สอดคล้องตามระดับความเสี่ยง (risk proportionality) ดังนี้
(1) เพิ่มความยืดหยุ่นในการประกอบธุรกิจของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เพื่อเปิดโอกาสในการแข่งขัน สนับสนุนนวัตกรรมในภาคการเงิน โดยมีมาตรการสำคัญ เช่น
· ยกเลิกเพดานการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) เพื่อให้กลุ่มธนาคารพาณิชย์ใช้ประโยชน์จาก FinTech ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินได้มากขึ้น
· อนุญาตให้กลุ่มธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับ DA อย่างค่อยเป็นค่อยไป สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้นวัตกรรมในกลุ่มผู้ให้บริการทางการเงิน ยกระดับการดำเนินงานและให้บริการแก่ประชาชน มีแนวทางคุ้มครองผู้ใช้บริการที่เหมาะสม และไม่กระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน โดยกำหนดให้บริษัทในกลุ่มธนาคารพาณิชย์สามารถลงทุนในกิจการที่ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้ไม่เกิน 3% ของเงินกองทุน
(2) ยกระดับแนวทางกำกับดูแลกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและการขยายไปสู่ธุรกิจดิจิทัล โดยมีมาตรการสำคัญ เช่น
· ยกระดับในการกำกับดูแลด้านธรรมาภิบาลเพื่อป้องกันการขัดแย้งของผลประโยชน์และการควบคุมภายใน โดยเฉพาะกรณีที่บริษัทในกลุ่มดำเนินธุรกิจซับซ้อนและมีการดำรงตำแหน่งของกรรมการที่ซ้ำกันระหว่างธนาคารพาณิชย์ และบริษัทแม่ที่เป็นบริษัทโฮลดิ้ง หรือบริษัทในกลุ่มที่ดำเนินธุรกิจซับซ้อน ซึ่งอาจทำให้การตัดสินใจของคณะกรรมการไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้ฝากเงินและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
· ยกระดับการกำกับดูแลกองทุนให้เข้มแข็ง เพื่อรองรับความเสี่ยงใหม่ที่ยังไม่สามารถประเมินได้ชัดเจนจากสินทรัพย์ดิจิทัล อาทิ การให้นำมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัลที่ถือครองมาหักออกจากเงินกองทุนเต็มจำนวน เพื่อรองรับความเสี่ยงของสินทรัพย์ที่ถือครองอยู่ และการต้องจัดทำ stress test ภายใต้ภาวะวิกฤตที่ครอบคลุมความเสี่ยงจากการประกอบธุรกิจและทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล
ระบบการเงินไทย ปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเหมาะสม รักษาสมดุลระหว่างความเร็วและคุณภาพได้อย่างลงตัว
ธุรกิจ สามารถปรับตัวได้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี มีมาตรฐานการให้บริการทัดเทียมกับที่สาธารณชนคาดหวังจากธนาคารพาณิชย์
ประชาชน ได้เพิ่มโอกาสในการใช้นวัตกรรมและบริการทางการเงินที่ตอบสนองความต้องการ เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงิน และได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรม
หนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างมายาวนาน และถูกซ้ำเติมให้รุนแรงขึ้นในช่วงโควิด 19 ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 หนี้ครัวเรือนของไทยสูงถึง 88% ของจีดีพี ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขอาจส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยสะดุด ไม่ต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว
ความท้าทายของเศรษฐกิจและสังคมไทยคือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาที่แก้ยาก ไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยวิธีมหภาคเพียงอย่างเดียว ทั้งมาตรการลดหนี้ ยืดระยะเวลาการชำระหนี้ หรือพักชำระหนี้ ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง ปัญหาหนี้ครัวเรือนส่วนหนึ่งต้องแก้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งการจับจ่ายใช้สอยและการกู้หนี้ยืมสินของคนไทยควบคู่กัน
โดยหลักการ การก่อหนี้มิใช่ปัญหาในตัวเอง เพราะแต่ละคนอาจมีเหตุจำเป็นในชีวิตที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่ว่าการก่อหนี้นั้นเกิดขึ้นเพื่อจุดประสงค์ใด อย่างไรก็ตาม เริ่มเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า หนี้ครัวเรือนในสังคมไทยเป็นหนี้เพื่อการบริโภคและก่อให้เกิดรายได้น้อย ซึ่งแม้ช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจแต่ก็ได้เพียงในระยะสั้น ขณะที่เพิ่มความเสี่ยงต่อความยั่งยืนในระยะยาว เมื่อระดับหนี้ที่สูงเกินตัวเริ่มฉุดไม่ให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย กระทบต่อกำลังซื้อ และที่สำคัญในระดับปัจเจกบุคคล คนที่มีปัญหาหนี้สินมักจะพะวักพะวน ยากที่จะทำงานได้เต็มศักยภาพ นำไปสู่ปัญหาผลิตภาพในระดับองค์กรธุรกิจและในระดับประเทศ
การแก้หนี้ครัวเรือนจึงเป็นส่วนหนึ่งของการวางรากฐานภูมิทัศน์ภาคการเงินไทย เพราะถือว่าเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย หากไม่ได้รับการแก้ไขก็จะเป็นปัจจัยฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจ และเป็นระเบิดเวลาที่อาจปะทุขึ้น จนกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน
ธปท. เห็นว่า การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะต้องมี 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ (1) ทำแบบครบวงจร ตั้งแต่ก่อนก่อหนี้ ขณะเป็นหนี้ และเมื่อมีปัญหาชำระหนี้ (2) ทำถูกหลักการ (รู้ว่าอะไรควรทำ vs ไม่ควรทำ) โดยต้องรักษาสมดุลที่ดีระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ และ (3) ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน (ภาคการเงิน ภาครัฐ เอกชน ลูกหนี้) ทั้งนี้สำหรับนโยบายมหภาคที่ควรนำมาทำและไม่ควรทำ มีดังนี้
แนวทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ควรทำ
(1) การแก้หนี้เดิมที่มีอยู่ ซึ่ง ธปท. ทำมาโดยตลอดตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด 19 เช่น ควบคุมเพดานดอกเบี้ยผิดนัด และปรับลำดับการตัดชำระหนี้ การเพิ่มทางเลือกในการปรับโครงสร้างหนี้ และการดูแลกลุ่มเปราะบางที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษด้วยมาตรการเฉพาะจุดเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ต่อเนื่อง
(2) ดูแลการก่อหนี้ใหม่อย่างมีคุณภาพ โดยผลักดันให้สถาบันการเงินให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้น (responsible lending) โดยระยะแรก จะออกเกณฑ์ที่เน้นคุ้มครองผู้บริโภค เช่น ไม่ให้สถาบันการเงินโฆษณากระตุ้นการใช้จ่ายเกินจำเป็น และพิจารณาออกหลักเกณฑ์ให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อโดยคำนึงถึงความสามารถของผู้กู้ในการผ่อนชำระหนี้โดยมีเงินเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพ (affordability) โดยจะพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
(3) การสร้างวินัยทางการเงินให้กับลูกหนี้ ที่ผ่านมา ธปท. ได้ดำเนินการผ่านโครงการเสริมทักษะทางการเงินต่าง ๆ เช่น กลุ่ม first jobber ในระยะต่อไป ธปท. มีแผนจะยกระดับทักษะทางการเงินแก่กลุ่มฐานรากมากขึ้น ผ่านการสร้างเครือข่ายกับผู้นำชุมชน เช่น กระทรวงมหาดไทยและ กทม.
แนวทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ไม่ควรทำ
(1) พักชำระหนี้และพักดอกเบี้ยเป็นวงกว้างเป็นเวลานาน มาตรการนี้แม้จะช่วยลูกหนี้ในระยะสั้น แต่ไม่อาจแก้ปัญหาอย่างแท้จริง ลูกหนี้จะยังคงมีหนี้อยู่และอาจมีภาระเพิ่มจากช่วงเวลาที่ยืดหนี้ นอกจากนี้ ยังอาจทำให้ลูกหนี้เสียวินัยทางการเงินด้วย ซึ่งจะส่งผลเสียต่อลูกหนี้ในระยะยาว
(2) ลบหรือแก้ประวัติข้อมูลในเครดิตบูโร มาตรการนี้ดูผิวเผินเหมือนทำให้ลูกหนี้มีประวัติดีขึ้น แต่ในความเป็นจริงกลับทำให้สถาบันการเงินไม่สามารถประเมินลูกหนี้ได้จนทำให้ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อใหม่ ทำให้ลูกหนี้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้นในที่สุด
เศรษฐกิจการเงินไทย เติบโตได้อย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพมากขึ้น
สถาบันการเงิน ปล่อยสินเชื่ออย่างมีประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบมากขึ้น
ประชาชน ได้รับสินเชื่อที่เป็นธรรมมากขึ้น สำหรับผู้ที่เป็นหนี้ก็สามารถปลดหนี้และความกังวลใจ สามารถใช้ศักยภาพของตัวเองในการทำงานได้ดียิ่งขึ้น