BOT Symposium 2022

ก้าวสู่ยุคใหม่เศรษฐกิจการเงินไทย

image

          งานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประจำปี 2565 จัดขึ้นในวันที่ 29 กันยายน 2565 ภายใต้ธีม "ก้าวสู่ยุคใหม่เศรษฐกิจการเงินไทย (Strengthening Economic and Financial Foundations for the Next Generation)" เพื่อนำเสนอประเด็นเรื่องการวาง "รากฐาน" ของระบบเศรษฐกิจและการเงินที่เอื้อต่อการสร้างศักยภาพและการมีส่วนร่วมให้กับคนรุ่นต่อไปที่จะเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจไทยในอนาคต

 

          โดยในงาน ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวถึงคนไทยรุ่นใหม่จำนวนมากที่ขาดความมั่นคงในอนาคตทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะบั่นทอนแรงจูงใจ ความพร้อม และโอกาสที่จะพัฒนา ลงทุน บุกเบิกธุรกิจใหม่ ๆ ตลอดจนการก้าวเข้ามาเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ความไม่มั่นคงนี้เกิดจากหลายปัจจัย โดยปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือ การที่ระบบต่าง ๆ ในประเทศปรับไม่ทันบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและผันผวน ทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนมากไม่พร้อมรับมือกับอนาคต

 

          ดร.เศรษฐพุฒิยังกล่าวถึงการสร้างความมั่นคงให้กับคนรุ่นใหม่ที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนและเสริมสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจให้สอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ โครงสร้างเศรษฐกิจไทยจะต้องเปิดโอกาสให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสอย่างจริงจัง ระบบเศรษฐกิจจะต้องเอื้อให้สามารถนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ได้ และมีโครงข่ายความคุ้มครอง (safety nets) เพื่อให้พวกเขากล้าที่จะบุกเบิกแสวงหาโอกาสใหม่ในการลงทุน

 

          นอกจากนี้ ภายในงานสัมมนาครั้งนี้ยังมีนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญอีกหลายท่านนำงานศึกษาที่เกี่ยวข้องมานำเสนอและเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกัน พระสยาม BOT MAGAZINE จึงขอสรุปงานวิจัยส่วนหนึ่งมาในบทความนี้

 

 

เมื่อโลกหมุนไว : นโยบายการเงินกับการปรับตัวต่อความท้าทายใหม่

 

          การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจการเงินโลกจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งการทวนกลับของกระแสโลกาภิวัตน์ทางการค้า (deglobalization) กระแสความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และการก้าวสู่โลกยุคดิจิทัลที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ล้วนส่งผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจและภูมิทัศน์ระบบการเงินไทย ทั้งในด้านผลิตภาพและระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทย ความสัมพันธ์ของตัวแปรในระบบเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ความเสี่ยงทางการเงิน และปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทั้งหมดนี้ทำให้การดำเนินนโยบายการเงินไทยในระยะข้างหน้าท้าทายขึ้น

 

          ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ หัวใจสำคัญของการดำเนินนโยบายการเงินยังคงเป็นการชั่งน้ำหนัก (trade-off) ระหว่างเป้าหมายต่าง ๆ โดยคณะผู้เขียนเห็นว่าการชั่งน้ำหนักที่สำคัญสำหรับการดำเนินนโยบายการเงินมี 2 ด้าน ได้แก่

 

          1. การชั่งน้ำหนักระหว่างเงินเฟ้อ และการเติบโตของเศรษฐกิจ (inflation-growth trade-off) นโยบายการเงินต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการขยายตัวของเศรษฐกิจและการดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย แต่ท้าทายขึ้นเพราะนโยบายการเงินมีความสามารถที่จำกัดในการดูแลเงินเฟ้อ ที่ผ่านมาสาเหตุที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อส่วนใหญ่มาจากปัจจัยด้านอุปทานและปัจจัยจากต่างประเทศ ซึ่งอยู่เหนือการควบคุมของนโยบายการเงิน นอกจากนี้ พลวัตของเงินเฟ้อที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในเศรษฐกิจการเงินโลก ก็ทำให้การประเมินความสัมพันธ์ระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อมีความท้าทายขึ้น

 

          2. การชั่งน้ำหนักระหว่างผลในระยะสั้นและระยะยาว (intertemporal trade-off) การดำเนินนโยบายการเงินในปัจจุบันส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต เช่น อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นเวลานานส่วนหนึ่งส่งผลให้เกิดการสะสมภาระหนี้ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต เป็นต้น โดยการชั่งน้ำหนักดังกล่าวท้าทายขึ้นเพราะที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยสะสมความเปราะบางทางการเงินในหลายมิติ ในอนาคต ภาคการเงินจะยิ่งมีบทบาทและความเชื่อมโยงมากขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งความเปราะบางในภาคการเงินอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรงขึ้นได้ การดำเนินนโยบายการเงินจึงต้องคำนึงถึงผลต่อเศรษฐกิจในระยะปานกลางด้วย

image

          ความท้าทายที่เพิ่มเข้ามาอีกมิติคือผลกระทบของนโยบายการเงินที่ไม่เท่ากันในแต่ละภาคส่วน ซึ่งเกิดจากความแตกต่างในระดับย่อย เช่น ความเหลื่อมล้ำในด้านรายได้ ความมั่งคั่ง หรือภาระหนี้ แม้ว่าความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้ระดับความเปราะบางน่ากังวลขึ้น ดังนั้น นอกจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งเป็นเครื่องมือที่ส่งผลกระทบทั้งระบบแล้ว ก็อาจต้องใช้เครื่องมือนโยบายอื่น ๆ ควบคู่กันไปเพื่อลดผลกระทบที่แตกต่างกันในแต่ละภาคส่วน

 

          ผู้วิจัยเสนอว่ากรอบนโยบายการเงินที่เหมาะสมและพร้อมรองรับความท้าทายที่มากขึ้น และความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าควรมีลักษณะ 3 ประการ ได้แก่ (1) holistic and integrated คิดรอบด้าน มองเศรษฐกิจและการใช้เครื่องมือเป็นองค์รวม จากที่อาจเคยพิจารณาเป้าหมายและเครื่องมือนโยบายแยกออกจากกัน (2) medium-term orientation คำนึงถึงผลต่อเศรษฐกิจในระยะปานกลางมากขึ้น จากที่เคยให้ความสำคัญกับการดูแลเศรษฐกิจในระยะสั้นเป็นหลัก และ (3) symmetric view ตอบสนองอย่างสมดุลและให้ความสำคัญกับการสร้างขีดความสามารถทางนโยบายให้มากขึ้น จากเดิมที่เคยให้น้ำหนักกับการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสำคัญ สะท้อนจากอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกที่อยู่ในระดับต่ำเป็นระยะเวลานานในช่วงที่ผ่านมา

        

          กรอบนโยบายการเงินที่เหมาะสมจะต้องมาควบคู่กับการยกระดับกรอบและเครื่องมือการวิเคราะห์เศรษฐกิจการเงิน รวมถึงข้อมูลรูปแบบใหม่และเชิงลึกมากยิ่งขึ้น เพื่อทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างและความสัมพันธ์ในระบบเศรษฐกิจ ทั้งในภาพรวมและความแตกต่างในระดับย่อย นอกจากนี้ ต้องผสมผสานเครื่องมือนโยบายให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้น โดยใช้มาตรการที่หลากหลายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและปิดข้อจำกัดของแต่ละเครื่องมือ นอกจากนี้ การสื่อสารของธนาคารกลางจำเป็นต้องมีบทบาทที่เข้มข้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นท่ามกลางความไม่แน่นอนที่ธนาคารกลางต้องเผชิญ

image

เงิน สัญญา และสเตเบิลคอยน์

 

          เงินเป็นเงิน เพราะสังคมเชื่อมั่นว่าเป็นเงิน แต่เงินเองก็มีหลายรูปแบบ และสิ่งที่ทำให้เงินมีค่าก็แตกต่างกัน อย่าง Rai Stone ที่เป็นแผ่นหินปูนแกะสลักขนาดใหญ่ที่ถูกใช้เป็นเงินในเกาะ Yap ที่อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นตัวอย่างที่มักถูกนำมาใช้เพื่อแสดงให้เห็นถึงมิติต่าง ๆ ของสิ่งที่ใช้เป็นเงินได้

 

          หนึ่งในความท้าทายในปัจจุบันคือการสร้างเงินสดดิจิทัล เพราะ (1) เงินสดเป็นเงินสัญลักษณ์ (token money) ใครถือคนนั้นเป็นเจ้าของ (2) เงินสดมีความเป็นส่วนตัว (private) ไม่ต้องเปิดเผยตัวตนในการใช้งาน และ (3) การใช้เงินสดไม่จำเป็นต้องขออนุญาตใคร แต่ฐานข้อมูลดิจิทัลต้องมีผู้บันทึกข้อมูล จึงขึ้นอยู่กับกติกาในการใช้งานที่เจ้าของฐานข้อมูลกำหนดขึ้นมา ทำให้การมีเงินสดดิจิทัลเป็นเรื่องยาก

 

          แต่ในปัจจุบันมีรูปแบบการบันทึกข้อมูลผ่านบล็อกเชนทำให้มีข้อมูลสิ่งที่มีการใช้งานคล้ายเงินสดได้ เช่น Bitcoin ซึ่งหากพิจารณาเป็นเงิน ก็ถือเป็น private, digital, outside money[1] ที่อยู่ใน permissionless blockchain หน่วยข้อมูลนี้มีบทบาททั้งเป็นเงิน (money) และสกุลเงิน (currency) มีอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น เพราะเมื่อปริมาณหน่วยข้อมูลไม่ยืดหยุ่น ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน อัตราแลกเปลี่ยนก็ไม่แน่นอน จึงมีการสร้างหน่วยข้อมูลใหม่ในบล็อกเชนที่สามารถเขียน smart contract ลงไปได้ เพื่อให้เพิ่มและลดปริมาณหน่วยข้อมูลอย่างยืดหยุ่นได้และมีอัตราแลกเปลี่ยนอิงกับสกุลเงิน (stablecoin) เสมือนเป็นการสร้างเงินรูปแบบใหม่โดยอิงกับสกุลเงิน ซึ่งสกุลเงินเป็นสิ่งที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อเป็น unit of account หรือไม้บรรทัดวัดค่า จึงจะเห็นได้ว่า ระบบการเงินได้วิวัฒนาการจากการใช้เงินที่มีอยู่เป็นสกุลเงิน (money is currency) สู่การสร้างเงินขึ้นมาใหม่เพื่อกำหนดสกุลเงิน เพื่อท้ายที่สุดแล้ว เอกชนสามารถสร้างเงินกันเองให้เพียงพอต่อความต้องการใช้งานได้ (money based on currency) อย่างเช่นเงินรับฝากในบัญชีธนาคาร เป็นต้น หน้าที่ของรัฐจึงเปลี่ยนไปจากการผลิตเงินให้พอเพียงต่อการใช้งาน เป็นการดูแลรักษาสกุลเงินเพื่อให้เอกชนสามารถทำธุรกรรมกันได้อย่างเหมาะสม

image

          การทำงานของสเตเบิลคอยน์คล้ายการทำงานของระบบการเงิน มีทั้งรูปแบบ outside money คล้ายการพิมพ์ธนบัตรแลกกับสำรองเงินตรา ซึ่งงบการเงินก็จะคล้ายกับธนาคารกลาง ในบางกรณีก็มีการสร้างสินทรัพย์ดิจิทัลของตนขึ้นมาเพื่อเป็นสำรอง อย่างเช่น Terra's UST และ LUNA ซึ่งมักเรียกว่า algorithmic stablecoin และมีทั้งรูปแบบ inside money คล้ายเงินรับฝากในบัญชีธนาคารพาณิชย์ที่เกิดขึ้นจากการก่อหนี้ระหว่างกัน อย่างเช่น DAI ของ MakerDAO มักเรียกกันว่า Collateralized Debt Position Stablecoin ซึ่งงบการเงินก็จะคล้ายกับธนาคารพาณิชย์

 

          สเตเบิลคอยน์ในระบบทำให้เกิดธุรกรรมต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น รวมถึงการก่อหนี้ระหว่างกันด้วย แต่ permissionless blockchain ทำให้เกิดเครือข่ายที่กว้าง ลึก และซับซ้อน ประกอบกับการทำงานของ smart contract ที่แม้ว่าการปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัดจะทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงต่อระบบขึ้นจนลุกลามก็จำเป็นต้องทำ เพราะ smart contract บังคับให้ต้องทำตามสัญญาโดยอัตโนมัติ จะยืดหยุ่นหรือใช้วิจารณญาณไม่ได้ ทำให้สามารถกล่าวได้ว่า Decentralized finance (DeFi) นั้น อาจจะไม่ยืดหยุ่นและไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งก็ถือเป็นความท้าทายในโลกการเงินที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและอุปสรรคด้านข้อมูลต่าง ๆ ระบบการเงินในปัจจุบันจึงมีกลไกต่าง ๆ มาทดแทน เช่นสถาบันการเงินที่ยอมรับความเสี่ยงไว้เอง ไปจนถึงการมีหน่วยงานเพื่อกำกับดูแล ระบบการเงินจึงจะมีเสถียรภาพและสามารถป้องกันความเสี่ยงเชิงระบบได้ เหตุการณ์ใน DeFi ต่าง ๆ ที่คล้ายกับวิกฤตการเงินจึงแสดงให้เห็นว่า smart contract อย่างเดียว อาจยังไม่เพียงพอต่อการรักษามูลค่าของเงิน

image

กับดักหนี้กับการพัฒนาเศรษฐกิจการเงินครัวเรือนฐานราก

 

          เศรษฐกิจการเงินของครัวเรือนฐานรากของไทยมีความซับซ้อน หลากหลาย และท้าทายไม่แพ้ครัวเรือนกลุ่มอื่น ๆ ของประเทศ งานวิจัยนี้ใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ร่วมกับการสำรวจภาคสนามเพื่อศึกษาพัฒนาการทางเศรษฐกิจการเงินของเกษตรกรไทยกว่า 6 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ซึ่งกำลังมีปัญหาหนี้สินในวงกว้าง และศึกษากลไกการติดกับดักหนี้ซึ่งกำลังจะกลายเป็นกับดักแห่งการพัฒนาของกลุ่มนี้ โดยพบว่า สามปัญหาที่ท้าทายการบริหารจัดการเงินของครัวเรือนเกษตรกรไทย คือ (1) รายได้น้อย ไม่พอใช้จ่ายจำเป็น และไม่พอชำระหนี้ (2) รายได้ไม่สม่ำเสมอ ทำให้มีปัญหาสภาพคล่องในหลายเดือนต่อปี และ (3) รายได้ทั้งในและนอกภาคเกษตรมีความไม่แน่นอนสูง และมีความเสี่ยงเชิงระบบที่อาจบริหารจัดการยาก เช่น ภัยพิบัติและตลาด ซึ่งโดยเฉลี่ยเกิดขึ้นทุก 3 ปี และอาจเกิดบ่อยและรุนแรงขึ้นจากภาวะโลกรวนและความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นในอนาคต โดยข้อมูลพฤติกรรมการเงินรายเดือนแสดงให้เห็นว่า ครัวเรือนเกษตรกรกว่า 18% มีรายได้ไม่พอจ่ายในทุกเดือน 67% มีปัญหาสภาพคล่องระหว่างเดือน และมีเพียง 15% ที่ยังคงมีรายได้พอจ่ายทุกเดือน แต่ทุกกลุ่มก็มีรายได้ไม่แน่นอนและเปราะบางสูง

 

          เครื่องมือทางการเงินยังไม่ตอบโจทย์ แต่กลับนำมาซึ่งปัญหาหนี้ ครัวเรือนเกษตรกรมีความตระหนักรู้ทางการเงินน้อย และยังไม่สามารถใช้การออมและประกันภัยมาช่วยจัดการปัญหาการเงินได้ ครัวเรือนส่วนใหญ่ออมน้อย และไม่ได้ออมเป็นสินทรัพย์ทางการเงิน ทำให้ผลตอบแทนต่ำ เสี่ยงสูง หรือสภาพคล่องต่ำ การทำประกันภัยก็ยังไม่ครอบคลุมความเสี่ยงของรายได้ ที่ผ่านมาครัวเรือนจึงใช้สินเชื่อเป็นเครื่องมือหลักในการบริหารจัดการเงิน และสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้จากสถาบันการเงินที่หลากหลายทั้งในและนอกระบบ ทำให้กว่า 90% มีหนี้สิน โดยมีหนี้เฉลี่ยปริมาณมากถึง 450,000 บาท และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยหนี้ที่เพิ่มขึ้นมาจากหนี้เดิมที่ชำระไม่ได้ และหนี้ใหม่ที่ก่อเพิ่มทุกปี แสดงให้เห็นว่าครัวเรือนเกษตรกรกำลังใช้สินเชื่อกันอย่างไม่ยั่งยืน

image

          สามปัญหาสำคัญของระบบการเงินฐานราก ที่กำลังฉุดรั้งการใช้สินเชื่อเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของครัวเรือน คือ (1) ปัญหาการขาดแคลนข้อมูล ทำให้สถาบันการเงินไม่รู้ศักยภาพการชำระหนี้ที่แท้จริงของเกษตรกร และไม่มีข้อมูลระหว่างสถาบันการเงินด้วยกัน อาจทำให้การปล่อยสินเชื่อยังไม่ทั่วถึงและตอบโจทย์ทุกกลุ่มไม่ได้ ที่สำคัญอาจไม่เหมาะสมกับความเสี่ยงและเกินศักยภาพของครัวเรือน งานวิจัยพบว่า ครัวเรือนยังมีความต้องการสินเชื่อเพิ่มโดยเฉพาะเพื่อทำเกษตรและลงทุน ในขณะที่ 57% มีหนี้สินรวมจากทุกแหล่งสูงเกินศักยภาพในการชำระ และมีพฤติกรรม "การหมุนหนี้" ในวงกว้าง (2) ปัญหาการออกแบบสัญญาชำระหนี้ ที่อาจไม่ได้ตั้งอยู่บนความเข้าใจปัญหาการเงินเกษตรกร ทำให้เมื่อกู้ไปแล้วครัวเรือนไม่สามารถชำระหนี้ได้จริง และ (3) ปัญหาในการติดตามและบังคับชำระหนี้ โดยเฉพาะเจ้าหนี้รายใหญ่อย่างสถาบันการเงินของรัฐ ที่งานวิจัยพบว่าครัวเรือนมักจะเลือกผิดนัดเป็นอันดับแรก ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับสถาบันการเงินชุมชนหรือนอกระบบ ซึ่งอาจใกล้ชิดกับเกษตรกรและมีกลไกการบังคับชำระหนี้ที่เข้มข้นกว่า นอกจากนี้ เมื่อศึกษาสินเชื่อที่ใช้การค้ำประกันกลุ่มกว่า 303,779 กลุ่มทั่วประเทศ ซึ่งเคยเป็นนวัตกรรมของกลไกการบังคับชำระหนี้ในอดีต กลับพบว่ามีปัญหาการชำระหนี้ในวงกว้าง และกำลังกลายเป็น "สินเชื่อแห่งความแตกแยก"

 

          จากปัญหาเศรษฐกิจการเงินครัวเรือนและปัญหาของระบบการเงินฐานราก สู่กับดักหนี้และกับดักแห่งการพัฒนา งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นถึงกลไกการติดกับดักหนี้ ที่เริ่มจากปัญหาของครัวเรือนเกษตรกร การใช้เครื่องมือทางการเงินที่ไม่เหมาะสมมาจัดการปัญหาการเงิน ประกอบกับความไม่มีประสิทธิภาพของระบบการเงินฐานราก ทำให้ครัวเรือนใช้สินเชื่อจนเกินศักยภาพและมีปัญหาหนี้ ซึ่งก็ย้อนมาทำให้ปัญหาเศรษฐกิจการเงินครัวเรือนรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นวงจร นอกจากนี้ การติดกับดักหนี้ทำให้ภูมิคุ้มกันของครัวเรือนลดลง ฉุดรั้งการเข้าถึงโอกาสในการเพิ่มศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิต และกำลังกลายเป็นกับดักแห่งการพัฒนา

 

          การจะช่วยให้เกษตรกรไทยหลุดพ้นจากกับดักเหล่านี้ และสามารถใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน จำเป็นจะต้องแก้ให้ครบวงจร ทั้งปัญหาระบบการเงินฐานราก ปัญหาหนี้ และปัญหาเศรษฐกิจการเงินครัวเรือน โดยมี 6 นโยบายสำคัญ คือ (1) การแก้ปัญหาระบบการเงินฐานรากให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพขึ้น ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับการสร้างข้อมูล และใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการใช้ข้อมูลในระบบการเงินฐานราก การออกแบบเครื่องมือทางการเงินที่ตอบโจทย์การพัฒนาของครัวเรือนกลุ่มต่าง ๆ โดยเอาความเข้าใจปัญหาของครัวเรือนเป็นตัวตั้ง และการเพิ่มบทบาทสถาบันการเงินชุมชนซึ่งมีความใกล้ชิดกับเกษตรกรในการปิดช่องว่างการเข้าถึงการเงินอย่างทั่วถึงและยั่งยืน (2) การแก้หนี้เดิมเพื่อให้ครัวเรือนสามารถปลดหนี้ได้ในที่สุด ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับการมุ่งเป้า การปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมกับศักยภาพและเป็นธรรม การสร้างแรงจูงใจ การสร้างความตระหนักรู้และมีตัวกลางมาช่วยเกษตรกรแก้หนี้ร่วมกับสถาบันการเงิน (3) การเติมหนี้ใหม่อย่างทั่วถึง ตอบโจทย์และยั่งยืนขึ้น โดยใช้ข้อมูลมากขึ้น ให้ความสำคัญกับการทำประกันสินเชื่อ และทบทวนรูปแบบของสินเชื่อที่ใช้ในการค้ำประกันกลุ่มให้ยั่งยืนขึ้น ซึ่งต้องทำไปพร้อม ๆ กัน (4) การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจให้ครัวเรือน (5) การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันและความรู้เท่าทันทางการเงิน และที่สำคัญคือ (6) การปรับเปลี่ยนนโยบายช่วยเหลือของรัฐเพื่อสร้างแรงจูงใจที่ถูกต้องและสอดคล้อง จากนโยบายเดิม ๆ ที่เน้นการช่วยเหลือระยะสั้นไปเป็นนโยบายที่เน้นช่วยให้ครัวเรือนสามารถชำระและปลดหนี้ได้ในระยะยาว

image

Climate Change กับอนาคตอุตสาหกรรมไทย

 

          การเปลี่ยนนโยบายการใช้พลังงานจากเดิมที่ใช้พลังงานจากฟอสซิลมาใช้พลังงานสะอาดตามที่ปรากฏทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยนั้น ทำให้อุตสาหกรรมไทยมีต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งต้นทุนการใช้พลังงานคิดเป็น 10-20% ของมูลค่าการผลิตสินค้าและบริการของอุตสาหกรรมไทย ขณะที่พลังงานสะอาดยังมีสัดส่วนเพียงประมาณ 10% ของการใช้พลังงานในระบบทั้งหมดของไทยเท่านั้น

 

          นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงนโยบายพลังงานย่อมมีผลกระทบต่อโครงสร้างการจัดการพลังงานไฟฟ้าของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา ระบบพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยใช้ระบบจัดการที่เรียกว่า "ระบบผู้ซื้อรายเดียว (enhanced single buyer)" ซึ่งมีผู้ทำหน้าที่ซื้อไฟฟ้ารายเดียวคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ขณะที่การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคทำหน้าที่จำหน่ายไฟ อย่างไรก็ตาม เมื่อเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดแล้ว ระบบการไฟฟ้าจะเปลี่ยนแปลงไป โดยมีผู้ซื้อผู้ขายจำนวนมาก  นอกจากแหล่งที่มาของพลังงานจะมีหลากหลายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงแดด พลังงานไฮโดรเจน หรือพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ แล้ว วิธีการจำหน่ายก็จะเปลี่ยนแปลงด้วย โดยรัฐบาลไทยออกนโยบายเปลี่ยนแปลงพลังงานที่เรียกว่า "4D+1E"[2] เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยในส่วนของการลดละเลิกกฎเกณฑ์ที่ไม่จำเป็น และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานไฟฟ้าในอุตสาหกรรมภาคอื่นนั้น ถือเป็นปัจจัยเฉพาะของประเทศไทยและมีความสำคัญมาก โดยจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของหลายภาคส่วนในการทำให้เกิดขึ้นจริง เช่น สภาหอการค้าฯ สมาคมธนาคารไทย และสภาอุตสาหกรรมฯ

image

          การเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าระหว่างประเทศถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SMEs ในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งได้รับแรงกดดันจากนโยบายของบริษัทแม่ให้เปลี่ยนแปลงแหล่งที่มาของพลังงานที่ใช้ในการผลิต ความท้าทายสำคัญคือ หากเป้าหมายของประเทศไม่สอดคล้องหรือช้ากว่าความต้องการของโลก ภาคอุตสาหกรรมไทยไม่สามารถปรับตัวได้ทันตามมาตรฐานใหม่แล้ว ก็มีโอกาสสูงที่จะสูญเสียการส่งออกจำนวนมาก ในกรณีที่มีการสั่งซื้อสินค้าส่งออก 10 อันดับสูงสุดของไทยน้อยลง 30% ก็เท่ากับจะสูญเสียรายได้ไปกว่า 1.2 ล้านล้านบาท 

 

          ในช่วงที่ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และได้กำหนดมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นมามากมาย ไทยควรใช้โอกาสนี้ในการแก้ปัญหา สร้างกลไกตลาดที่รวบรวมทุกภาคส่วนมาช่วยกันแก้ปัญหาเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจไทย และสร้างเศรษฐกิจสีเขียวให้เป็นจริงได้ต่อไป

image

 ชมการสัมมนาย้อนหลังได้ที่ https://www.pier.or.th/conferences/2022/symposium/