"ท่านเป็นครู
ท่านมีใจบริสุทธิ์
ท่านเป็นนักบริหาร
ท่านเป็นผู้มีความยุติธรรม
ท่านให้โอกาส"

 

          คำโปรยปกหลังหนังสืออัตชีวประวัติและงานของ ดร.เสนาะ อูนากูล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รองนายกรัฐมนตรี เลขาธิการสภาพัฒน์ และอีกสารพัดบทบาทตลอดระยะเวลาเกือบเจ็ดสิบปีที่ ดร.เสนาะก้าวเข้าสู่โลกแห่งงานเพื่อสาธารณะ นับตั้งแต่เข้ารับราชการที่กรมบัญชีกลางในปี 2498 จวบจนปัจจุบันที่ยังรับหน้าที่เป็นประธานคณะที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของอีอีซี (Eastern Economic Corridor หรือสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก : สกพอ.) ที่ ดร.เสนาะบอกว่ายังสนุกกับการได้ทำงานในวัย 91 ปี

image

          อีกไม่ถึงสิบปี ดร.เสนาะ จะมีอายุครบหนึ่งร้อยปี อีกไม่ถึงสิบปีที่ ดร.เสนาะย้ำหลายครั้งว่าจะเป็น "ยุคทอง" ของประเทศไทย สิบปีที่จะลิขิตว่าประเทศไทยจะเดินหน้าไปในทิศทางไหน เราจะพ้นกับดักรายได้ปานกลางได้หรือไม่ หรือเราจะวุ่นวายกันภายในจนตามโลกไม่ทัน สิบปีสำคัญของประเทศ รวมทั้ง ดร.เสนาะเองที่เล่าว่านอกจากพันธกิจในการพัฒนาประเทศแล้ว พันธกิจชีวิตครอบครัวก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน พันธกิจนั้นคือคำถามที่ท่านถามทิ้งไว้เมื่อยี่สิบห้าปีที่ผ่านมาในหนังสืออัตชีวประวัติว่า จะชราอย่างมีค่า (grow old gracefully) และจากไปอย่างสงบ (die peacefully) ได้อย่างไร

 

ใจบริสุทธิ์…จุดเริ่มต้นของพลัง

 

          "เอ้ามา วันนี้อยากคุยอะไร"

 

          "ท่านผู้ว่าการ" ทักทายทีมงานยามเช้าผ่านหน้าจอจากบ้านที่ตำบลปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา บ้านที่ท่านอธิบายให้พอเห็นภาพว่าเห็นเขาใหญ่จากไกล ๆ บ้านที่ท่านและภรรยาใช้เวลาส่วนใหญ่ในทุกวันนี้ บ้านที่มีลูกหลานสลับกันมาเยี่ยมเยียนไม่ขาดสาย บ้านที่ท่านบอกว่าเป็นบั้นปลายชีวิตที่สุขพอประมาณ ครั้นทุกข์บ้างก็ผ่านไปได้ด้วยการใช้ชีวิตวิถีพุทธ


           "ทุกวันนี้ตื่นมาก็ชอบออกมานั่งข้างนอก อากาศดี สิ่งแวดล้อมดี ได้ทำเกษตรเล็ก ๆ ที่สวนใกล้บ้าน อยู่นี่แล้วไม่อยากกลับกรุงเทพฯ เลย แต่ก็ต้องกลับไปเจอหมอบ้างเดือนละครั้ง แต่เสร็จธุระก็รีบกลับ ลูกหลานสลับกันมาหา เขาจัดการเวลากันเองว่าใครจะมาวันไหน วันไหนไม่มีใครมาก็อยู่กันสองสามีภรรยาพร้อมด้วยผู้ช่วยดูแล เช้ามาอ่านและฟังข่าว ใช้ไอแพดที่ลูกชายซื้อมาให้ดู YouTube ฟังข่าวต่างประเทศ อยู่ปากช่องแต่ได้ฟังคนทั่วโลกเลย มีอะไรให้ดูให้ฟังเยอะไปหมด ทำให้เราต้องคอยฝึกแยกแยะความจริงออกจากความเท็จ ได้ใช้วิจารณญาณ สมองได้ทำงานไปด้วย ไม่ล้าสมัย ได้ติดตามสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งในโลกตะวันตกและโลกตะวันออก

 

          "เทคโนโลยีทำให้ไม่มีข้อจำกัด ย้ายมาอยู่ต่างจังหวัดก็ยังทำงานได้ ตอนนี้ก็เป็นประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ให้กับอีอีซี ทำร่วมกับ ดร.คณิศ (แสงสุพรรณ) ที่เคยทำงานด้วยกันตั้งแต่อยู่สภาพัฒน์ ทำมาได้ห้าปีก็เห็นความคืบหน้าเยอะมาก แต่ต้องรออีกห้าปีขึ้นไปถึงจะเห็นผลเต็มที่ เป็น major infrastructure และ knowledge based industry ที่จะทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ยุคทองอีกครั้งหนึ่ง แทบจะเรียกได้ว่าเศรษฐกิจดีที่สุดใน 100 ปีก็ว่าได้ ถือว่ามีความสุขพอสมควร มีอิสระเสรี มีทั้งชีวิตส่วนตัว ทั้งงาน นับว่าเป็นชีวิตเกือบศตวรรษที่ยังพอไปได้"

image

          ดร.เสนาะเล่าถึงกิจวัตรประจำวันในวัยเกือบหนึ่งร้อยปีว่า สิ่งที่ทำให้มีความสุขกำลังพอดีคือชีวิตครอบครัว และงานที่ทำให้สมองตื่นตัวต้องคอยติดตามข่าวสาร กระแสการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ โดยเฉพาะในบทบาทประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของอีอีซีที่ต้องคอยหาทางเชื่อมต่อแผนพัฒนาของประเทศไทยให้สอดคล้องไปกับ megatrends ของโลก 

 

          "โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในอีก 12-13 ปีข้างหน้าถ้าเราทำได้ดีตามแผน เราจะข้ามกับดักรายได้ปานกลางได้ ถ้าเราไม่ขาดเสถียรภาพจนต่างประเทศหมดความเชื่อถือไปเสียก่อน ความวุ่นวายของบ้านเมืองช่วงที่ผ่านมาทำให้คนหมดความหวัง คิดว่าเศรษฐกิจของเราไปไม่รอดแล้ว แต่แท้จริงแล้ว ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ ด้วยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมใหม่ ที่สำคัญมากเลยคือการกระจายผลประโยชน์ให้เกิดแก่ผู้คนตัวเล็กตัวน้อย และการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม


          "แผนพัฒนาสมัยนี้ต้องเป็น people-and-planet-centered plan ที่ไม่นิ่ง ผมพูดมาสามสิบกว่าปีแล้วตั้งแต่แผนหก (แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2530-2534) ว่าการพัฒนาต้องขยับจาก quantity สู่ quality การพัฒนาต้องไม่ใช่แค่เรื่องวัตถุแต่ต้องรวมถึงคุณภาพชีวิตของคน นี่ก็ช้าตกท้องช้างไปมาก บัดนี้ก็ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเอาจริงเอาจังกับ quality development ต้องหันมามองคน สิ่งแวดล้อม ภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจทั้งโลก ตอนนี้ประเทศไทยกำลังเน้นนโยบาย BCG (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งเหมาะสมกับสภาพและทรัพยากรของประเทศไทยเป็นอย่างมาก


         "ที่แล้วมาพยายามผลักดันกันให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นตัวอย่าง new economic corridor โดยมีอีอีซีเป็นต้นแบบ แล้วค่อยขยาย new economic corridor ไปอีกสี่ภาคตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 โดยพยายามหาทางเชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ให้เชื่อมโยงกันทั่วประเทศเพื่อให้ประเทศไทยกลายเป็น logistic hub และ digital hub ของอาเซียนที่จะเชื่อมต่อกับเศรษฐกิจโลก ต้องใช้เวลาสักพัก แต่มันกำลังจะเกิดขึ้น และเมื่อเกิดขึ้นแล้วทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เราต้องเตรียมตัว ต้องรู้ว่า megatrends ของโลกเป็นอย่างไร โลกกำลังหันหน้าไปทางไหน เราควรสนใจเรื่องนี้ ไม่ควรทะเลาะกันเองแล้ว เสียโอกาส เรื่องความเห็นต่างต่าง ๆ ที่ยังมีก็ต้องหาทางประนีประนอม ต้องหาจุดร่วมที่มีด้วยกัน ไม่ใช่ดูถูกกันไปมา แบ่งแยกกันจนทั้งประเทศเดินต่อไม่ได้"

 

นักบริหาร…ผู้ประสานสิบทิศ 

 

          "นายธนาคารนักพัฒนา" หาใช่ฉายา หากคือคำเรียกขาน ภาพจำที่ผู้คนมักนึกถึงอดีตผู้ว่าการ ธปท.  คนนี้ แม้จะอยู่ในบทบาทนักบริหารการเงิน การเศรษฐกิจของประเทศเป็นส่วนใหญ่ แต่เห็นได้ว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจของท่านนั้นไม่เคยแยกขาดจากการพัฒนาสังคม การพัฒนารอบด้านที่ต้องอาศัยการบูรณาการและทำงานด้วยกันหลายฝ่าย และแน่นอนว่าความเห็นต่างย่อมเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ 


          "ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา เราไม่ต้องเออออคล้อยตามกันหมด สำคัญคือในที่สุดแล้วเราต้องมอง vision ที่ตรงกัน และต้องรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำเป็น noble mission เป็นพันธกิจสำคัญที่เราต้องทำร่วมกัน การมองเห็นผลประโยชน์ร่วมกันจะทำให้เรามองภาพใหญ่ ไม่มองแค่ตัวเอง ตอนผมอยู่สภาพัฒน์ได้ดึงดูดเพื่อนร่วมงานเก่ง ๆ จำนวนมาก ทุกระดับให้มาทำงานร่วมเป็นทีมเดียวกัน พูดตามตรงคือเขาจะไปทำงานที่ไหนก็ได้ ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่านี้ ผมเคยถามว่าทำไมเขาเลือกอยู่ที่นี่ เขาบอกว่าเชื่อว่าสิ่งที่ทำมีประโยชน์ มันไม่ง่าย มันท้าทาย แต่มันสนุกและ 'มันดี'


          "เราต้องมองโลกเป็น positive-sum game ประเทศผู้นำโลกตอนนี้มองโลกเป็น zero-sum game พอถึงจุดหนึ่งมันไปต่อไม่ได้ เราจะเน้นแค่ตัวเราและพวกเราเท่านั้นเองไม่ได้ เราต้องมองผลประโยชน์ส่วนรวมของทั้งโลก แต่ก็ต้องมองตามความเป็นจริง รู้ว่าความเสี่ยงคืออะไร ไม่ใช่เห็นแต่ปัญหา มองคนอื่นเป็นศัตรูคู่แข่งไปหมด คิดลบทุกอย่างก็ออกมาลบ และอาจเสียโอกาสที่จะแก้ปัญหาของโลก ซึ่งต้องร่วมมือกันทั้งโลก จึงจะเป็นผลสำเร็จ เช่น ปัญหาโลกร้อน ปัญหา pandemics ปัญหาพลังงาน และปัญหาระเบิดปรมาณูและอาวุธร้ายแรงอื่นที่จะทำลายโลกทั้งโลก


         "อย่างวิกฤตต้มยำกุ้ง แน่นอนว่ามันโหดร้ายมาก แต่ก็ทำให้เราได้รับบทเรียนครั้งใหญ่ ทำให้เราหันมาทำเรื่อง risk management, debt management, foreign exchange and gold reserve คอยติดตาม ตรวจสอบตลอดเวลาว่าเราปลอดภัยหรือไม่ เพราะเราได้รับบทเรียนมาแล้ว


         "แน่นอนว่า หัวใจของสถาบันการเงินคือเรื่อง stability รักษาเสถียรภาพ แต่บทเรียนต่าง ๆ รวมทั้งประสบการณ์ของเราที่มาจากงานพัฒนาก็ทำให้เห็นว่าเราแยกเศรษฐกิจออกจากสังคมไม่ได้ ตอนที่ผมทำงานที่ธนาคารชาติเลยมีการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบต่าง ๆ ให้ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับตัว เปลี่ยนจากระบบที่มีไม่กี่ครอบครัวที่กุมอำนาจให้ต้องกระจายหุ้นและทำให้ธนาคารพาณิชย์กลายเป็นบริษัทมหาชน การทำเช่นนี้ในสมัยนั้นมันเสี่ยงมาก ใคร ๆ ก็รู้ โชคดีที่ไม่เกิดเรื่องอะไรขึ้นมา เรารู้ว่ามันไม่ง่าย ต้องค่อย ๆ ทำให้ผู้คนเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ทำมันดี อย่างตอนที่จะทำให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้เพื่อการเกษตรและชนบท เราก็พานายธนาคารไปลงพื้นที่เลย พาไปให้เขาเห็นว่าเกษตรกรรมตอนนี้ใช้ระบบชลประทาน ไม่ใช่เกษตรยุคเก่าแล้ว ต้องพาเขาไปเห็นกับตาตัวเอง ให้เขาเชื่อว่ามันดีพอที่จะปล่อยเงินกู้ได้

image

          "การเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เคยเป็นมาไม่ง่ายเลย บางคนก็บอกว่าบังคับแบบนี้ไม่ถูกต้อง เขาก็พูดถูก แต่ถ้าเราเชื่อใน vision เราคิดรอบคอบแล้วว่าจะส่งผลดีต่อหลายฝ่าย ถ้าอย่างนั้นเราก็ต้องฝืนใจกันในตอนต้นบ้าง อย่างตอนที่ออกกฎว่าธนาคารพาณิชย์ที่จะขอเปิดสาขาในกรุงเทพฯ ต้องให้เปิดสาขาในต่างจังหวัดด้วย ห้ามกระจุกอยู่แค่ในกรุงเทพฯ เสียงคัดค้านเต็มเลย กลัวจะขาดทุน แต่พอได้ออกไปต่างจังหวัดจริง ๆ เขาก็เห็นเองว่ามันมีศักยภาพแค่ไหน เขาเองก็ได้ประโยชน์ ผู้คนยิ่งได้ประโยชน์ ผมเน้นเรื่องการกระจายผลประโยชน์มาโดยตลอด การทำอีอีซีตอนนี้ก็เหมือนกัน นี่ก็เป็นเรื่องที่เราต้องยืนหยัด


         "เป็นธรรมชาติของคนเราที่จะต่อต้านการเปลี่ยนแปลง เพราะเราชินกับสิ่งที่เคยเป็น เราจึงต้องหาอุบายมาทำให้เขาค่อย ๆ เปลี่ยน ต้องทำให้เขาเชื่อมั่นว่ามันจะดีกว่าเดิม ถ้าคนเราเห็นว่าสิ่งใหม่ดีกว่าเดิม เขาเลือกแน่นอน ขึ้นอยู่กับว่าเราทำให้เขาเชื่อได้มากพอไหม เราฉายภาพ positive-sum game ให้เห็นตรงกันได้ไหม เพื่อให้เขายอมรับและไปกับเรา


         "สมัยนั้นเขาเรียกผมว่า 'ผู้ว่าการนักพัฒนา' เพราะผมมาจากสภาพัฒน์ แต่ผมเน้นเสมอว่าการพัฒนาเศรษฐกิจต้องทำคู่ไปกับการพัฒนาสังคม ชีวิตผู้คน ผมดีใจที่เห็นว่าท่านผู้ว่าการคนต่อ ๆ มา อย่าง ดร.วิรไท สันติประภพ ก็เห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และทำอย่างต่อเนื่อง เห็นว่าธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นธนาคารกลางของประเทศที่กำลังพัฒนาไม่ได้มีหน้าที่แค่เรื่อง financial stability เท่านั้น แต่เราต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม ผมดีใจที่เรามีการดูแลเรื่องชนบท แบบที่คุณป๋วยได้ทำมูลนิธิพัฒนาชนบทเป็นตัวอย่างเอาไว้ ก็เหมือนการรับช่วงกัน แต่ละคนทำหน้าที่ต่อได้ดีมาก ผู้ว่าการ ธปท. ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ก็เป็นผู้มีสายตายาวไกล มองผู้คนเป็นศูนย์กลาง มุ่งแก้ปัญหาความยากจน แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน และ SMEs การปรับบทบาทสถาบันการเงินของรัฐ โดยเฉพาะธนาคารออมสิน ให้เป็นธนาคารเพื่อประชาชน เรากำลังทำเรื่องที่สำคัญ เป็นเรื่องที่ผมชื่นใจที่เรายังสานต่อพันธกิจนี้ ไม่ใช่เป็นนายธนาคารที่ทำงานสุขสบายแต่ไม่สนใจความทุกข์ยากของประชาชน


         "เป็นความโชคดีของเราที่เห็นตัวอย่างผู้นำที่ดี ปฏิบัติกันมาต่อเนื่อง จนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร แม้จะผิดพลาดบ้างเป็นครั้งคราวแต่ขอให้มองเป็นบทเรียน อย่าโหดร้ายใส่กันมากเกินไป เห็นใจกันให้มาก เราต้องถือว่าผิดไม่ว่า แต่อย่าซ้ำ เราต้องมองเป็นบทเรียน


        "ขอถือโอกาสนี้ชื่นชมผู้ว่าการทุกคนที่ยังสานต่อกันมา เป็นความโชคดีของคนทำงานในธนาคารแห่งประเทศไทยและประเทศไทยของเรา ซึ่งผมขออนุโมทนาไว้ ณ ที่นี้ด้วย"

 

ครู…ของผู้นำ

 

        "พวกเขาเรียกผมว่า Puey's boys (หัวเราะ)"

 

        Puey's boys หรือที่สมาชิกกลุ่มเรียกกันเองว่า "101 Club" เป็นชมรมนักเศรษฐศาสตร์ไฟแรงรุ่นแรก ๆ ที่กลับมาทำงานในประเทศไทยช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นับว่าเป็นกลุ่มเทคโนแครตรุ่นใหม่ที่กลับมาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศไทย โดยมี ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้ใหญ่ที่ทั้งชักชวนและตอบรับคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ให้เข้ามารับราชการในหน่วยงานต่าง ๆ เกิดเป็นสัมพันธ์แนบแน่นที่ทำให้เกิดการร่วมมือกันข้ามสถาบัน จนทำให้หน่วยงานราชการในสมัยนั้นสามารถบูรณาการและสร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์ได้มากมาย


        "คุณป๋วยเป็นเหมือนผู้ใหญ่ เป็นพี่ชายที่คอยดูแลพวกเรา คุณป๋วยสร้างมาตรฐานการทำงานไว้สูงมาก เป็นตัวอย่างให้พวกเราปฏิบัติตาม ผมเรียกคุณป๋วยไม่ใช่ว่าจะตีสนิทหรืออย่างไร หากคุณป๋วยสอนตลอดว่าเราต้องมี humility และ empathy มีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีความเห็นอกเห็นใจ ใส่ใจคนทำงานด้วยกัน เพราะเราต้องทำงานกับคนจำนวนมาก หลายฝ่าย หลายองค์กร การขับเคลื่อนแผนพัฒนาที่มีความซับซ้อนต้องดำเนินการทั้งองคาพยพ ผู้นำจึงต้องคอยประสานผู้คนต่าง ๆ ให้ทำงานร่วมกันได้ ผมยังจำได้ถึงความประทับใจสมัยเป็นนักเรียนที่ออสเตรเลียแล้วเขียนจดหมายหาคุณป๋วยเพื่อสมัครงาน คุณป๋วยตอบด้วยลายมือขึ้นต้นว่า 'คุณเสนาะที่รัก…' ทั้งที่เราไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ท่านใส่ใจผู้คนเช่นนี้ ในขณะเดียวกันระบบเองก็ต้องยึดหลัก meritocracy เป็นระบบที่มีคุณธรรม เน้นความสามารถของคนทำงาน ไม่ใช่ผ่านระบบเส้นสาย


          "ตอนที่ผมเข้ามาทำงานที่ธนาคารฯ ใหม่ ๆ ก็เจอปัญหารุมเร้าหลายด้าน ผมเองก็หน้าใหม่ กระโดดข้ามจากสภาพัฒน์มาว่าการธนาคารฯ เจอเรื่องเครียดหนักถึงขั้นส่งผลต่อสุขภาพ ราคาที่ต้องจ่ายมันเยอะ แต่ผมก็ไม่เสียดายเลย และเมื่อมองกลับไป ปัญหาที่เกิดขึ้นก็ทำให้ผมได้ออกบวช ได้พบประสบการณ์ล้ำค่าในการปฏิบัติธรรม (หยุดเงียบสักพัก) เป็นประสบการณ์ที่น้อยคนจะได้สัมผัส


         "ทุกวันนี้ผมยังฟังเทศน์ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) และของพระธรรมพัชรญาณมุนี (พระอาจารย์ชยสาโร) ที่ตั้งสำนักสงฆ์อยู่ในบริเวณบ้านไร่ทอสีที่ผมอาศัยอยู่นี่เอง ฟังก่อนนอนทุกคืน ธรรมะของท่านคอยเตือนใจเราเสมอ เรื่องง่าย ๆ อย่างโลกธรรม 8 ก็ทำให้เราไม่ประมาท รู้ตัวเสมอว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมชาติ มีขึ้นย่อมมีลง มีทุกข์ย่อมมีสุข อย่าไปยึดมั่นถือมั่นกับอารมณ์ความรู้สึกจนกลายเป็น depression ไป


         "ตลอดชีวิตผมทำงานเรื่องการพัฒนา แต่ย้ำเสมอว่าการพัฒนาไม่ใช่เรื่องวัตถุอย่างเดียว เราต้องพัฒนาทางจิตใจด้วย ถ้าเรามัวแต่สนใจโลกภายนอก ไม่ใส่ใจเรื่องความคิดจิตใจเลย เราจะเต็มไปด้วยความโลภ โกรธ หลง ในช่วงแรกของการทำงาน ผมเน้นไปที่การพัฒนาเชิงวัตถุ โครงสร้างพื้นฐานมากหน่อย เพราะตอนนั้นเรายังไม่พร้อม พื้นถนนยังขรุขระ เดินทางไปไหนทีหัวกลายเป็นสีแดงฝุ่นเปรอะตัวไปหมด แต่ตอนนี้เราพัฒนามาไกลแล้ว เรายิ่งต้องหันมาดูแลจิตใจกันมากขึ้น การปฏิบัติธรรม ภาวนาจึงไม่ใช่เรื่องของปัจเจก มันส่งผลต่อการทำงานสาธารณะด้วย


         "บัดนี้การรับประทานอาหารกลางวันประจำเดือนของชมรม 101 ก็ได้สิ้นสุดลง เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่ได้เสียชีวิตไปแล้ว และส่วนน้อยที่เหลือก็อายุเกินเก้าสิบปีจึงมีปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ และความไม่สะดวกสบายต่าง ๆ ที่จะมาร่วมพบกันอีก ทำให้เห็นสัจธรรมว่าไม่มีอะไรที่จะอยู่ได้ยั่งยืนตลอดไป"

 

ความยุติธรรม…ทำอย่างไร ได้อย่างนั้น

 

image

          ในท้ายหนังสือ พลังเทคโนแครต : ผ่านชีวิตและงานของเสนาะ อูนากูล ดร.เสนาะได้เขียนทิ้งท้ายไว้ว่า สิ่งที่อยากทำให้ได้ในช่วงบั้นปลายชีวิตคือการมีชีวิตอย่างมีความสุขตามสมควรและพอเพียง และตั้งคำถามที่ท่านเขียนว่ายังไม่มีคำตอบคือ ทำอย่างไรจึงจะจากโลกนี้ไปด้วยความสงบมากที่สุด


         "อัตชีวประวัติเล่มนี้เขียนไว้เมื่อยี่สิบห้าปีที่แล้ว อยากบันทึกฉากเศรษฐกิจช่วงต่าง ๆ ผ่านชีวิต ตอนเขียนไม่สบายด้วย เป็นสโตรก หลอดเลือดในสมองตีบตัน ตอนเริ่มเขียนยังพอไหว แต่เขียนแล้วปวดแขนร้าวมาก ต้องขอบคุณร่างกายที่ช่วยให้เขียนจนเสร็จก่อน (หัวเราะ) ก็เป็นธรรมดาของร่างกายที่เสื่อมไปตามกาลเวลา พิจารณาความเสื่อมไป ตื่นมาแต่ละวันก็บอกตัวเองว่า โอ ได้อยู่อีกวันแล้วนะ ค่อย ๆ อยู่ไปทีละวันไม่ต้องคิดอะไรมาก


          "ความตั้งใจที่อยากใช้ชีวิตบั้นปลายให้มีความสุขพอสมควรก็สมดั่งใจ มีภรรยาที่ดูแลกันดี อยู่ด้วยกันมาจะเจ็ดสิบปีแล้ว เพื่อนถามว่าไม่เบื่อเหรอ ก็ไม่เคยเบื่อเลย เขาอยู่เคียงข้างเราตลอด จะสุขจะทุกข์ก็คอยให้กำลังใจ ผมต้องขอบคุณภรรยาที่คอยดูแลดีทุกอย่าง ตอนป่วยหนักต้องนอนแบ็บสามเดือน เขาก็คอยอ่านหนังสือชื่ออุปลมณี (เป็นหนังสือที่ท่านอาจารย์ชยสาโรเขียนประวัติของท่านอาจารย์ชา วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานีเอาไว้) เขาอ่านให้ฟังทุกวันทุกคืนสามเดือนจนได้ออกจากโรงพยาบาลพอดี ก็ช่วยให้คลายทุกข์ไปได้


          "การจะมีชีวิตชราที่ดีจึงไม่ใช่จะมารีบทำเอาตอนท้าย มันต้องเตรียมตัวมาก่อน ต้องทำสะสมมาก่อน อย่างเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว ผมก็เวียนไปเฝ้า-เพียรจีบภรรยาในอนาคต (หัวเราะ) ตั้งแต่ยังเรียน college จนจบทันตแพทย์จากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียและกลับมาประเทศไทย เป็นเวลารวมทั้งสิ้นนานถึงเจ็ดปี จึงได้แต่งงานและมีลูกหลานที่น่ารักและรักใคร่สามัคคีกันจนถึงปัจจุบันนี้


          "การมีความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ดีนั้นมีความสำคัญเหลือเกิน มันช่วยจิตใจยามทุกข์ยาก-ยามแก่ ช่วยประคับประคองชีวิตตอนลำบาก ผมบอกได้เลยว่าการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวตลอดชีวิตที่ผ่านมาทำให้วันนี้ผมมีความสุข เป็นสิ่งที่ทำให้ได้ grow old gracefully และเตรียมตาย peacefully ด้วย


         "สำหรับเรื่อง to die peacefully ซึ่งผมยังไม่ได้คำตอบเมื่อ 25 ปีก่อนนั้น บัดนี้จากการศึกษาธรรมะของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) และท่านอาจารย์ชยสาโร (พระธรรมพัชรญาณมุนี) ผมได้พบคำตอบว่าการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับสัจธรรม คืออนิจจังไม่เที่ยง เกิดแก่เจ็บตายจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้นั้น การฝึกจิตโดยปฏิบัติมรณานุสติก่อนนอนทุกคืน เป็นคำตอบที่ผมได้รับ


         "พร้อมทั้งสั่งการให้มีการปฏิบัติในเวลาใกล้ถึงความตาย โดยมอบหมายให้คณะแพทย์ที่มีความชำนาญด้านการประคับประคองชีวิตที่เหลืออยู่ให้มีคุณภาพ รับการรักษาเพียงเพื่อลดความรุนแรงของอาการของโรค ไม่ให้เจ็บปวดทรมาน หรือที่เรียกว่า การรักษาแบบประคับประคอง (palliative care) เป็นการเตรียมพร้อมสำหรับชีวิตให้ตายดีหรือจากโลกนี้ไปอย่างสงบสุข โดยใช้ตัวอย่างกรณีของพี่ทอสี (อัมระนันทน์) สวัสดิ์-ชูโต ที่ได้จากพวกเราไปแล้วด้วยดี-peacefully

 

          "ขอบคุณที่สนใจคนชรามาใช้เวลาพูดคุยกันในวันนี้ ได้คุยกับพวกคุณ ผมก็มีความสุขแล้ว" ดร.เสนาะ อูนากูล ยิ้มและกล่าวลาผ่านจอ แม้จะเป็นการพูดคุยทางไกล ก็เห็นได้ถึงประกายในแววตา และรู้สึกได้ว่าชีวิตในวัยร่วมร้อยปีที่ดีนั้นมาจากการกระทำที่ผ่านมา