80 ปี ธปท. แบงก์ชาติมีไว้ทำไม คำถามแห่งยุคสมัย และคำตอบของอนาคตเศรษฐกิจการเงินไทย

image

          ปัญญาชนสาธารณะคนสำคัญของไทย ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนบทความชวนคิดถึงการเปลี่ยนผ่านสังคมไทยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อไว้อย่างแหลมคมว่า สถาบันและองค์กรทางสังคมทั้งหมดควรถามตัวเองว่า มีตัวเองไว้ทำไม เพราะคำถามนี้เป็นคำถามแห่งยุคสมัย เป็นคำถามของศตวรรษใหม่ ที่อาจกินเวลาไปอีกหลายศตวรรษข้างหน้า

 

          พร้อมกันนั้น อาจารย์ยังชี้ให้เห็นด้วยว่าคำถาม "มีไว้ทำไม" ไม่จำเป็นว่าจะต้องนำไปสู่การยุบเลิกสถาบันหรือองค์กรต่าง ๆ ลงหมด แต่มักจะทำให้เกิดการปรับตัวให้เหมาะกับโลกและสังคมที่เปลี่ยนไป เรียกได้ว่า รูปลักษณ์ภายนอกอาจเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม แต่ภาระหน้าที่เดิมก็ยังอยู่

 

         ปี 2565 นับเป็นวาระครบรอบ 80 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งก่อตั้งอย่างเป็นทางการในปี 2485 เป็นโอกาสอันดียิ่งในการระลึกถึงประวัติศาสตร์และผลงานที่ผ่านมาของ ธปท. ในฐานะธนาคารกลาง ซึ่งเป็นสถาบันหลักที่มีหน้าที่ดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทย

 

         อย่างไรก็ตาม การระลึกถึง ธปท. ก็คงไม่มีวิธีใดเหมาะสมไปกว่าการย้อนกลับไปสำรวจบทบาท คุณค่า และความหมายของ ธปท. ในวันที่เศรษฐกิจการเงินไทยกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ความผันผวนไม่แน่นอนของเศรษฐกิจการเงินโลกที่เป็นผลมาจากสงครามและความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมไปถึงการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเงินดิจิทัลที่สร้างนวัตกรรมทางการเงินมากมาย แต่ในขณะเดียวกันก็เพิ่มความเสี่ยงให้กับระบบด้วย

 

          หากพูดในภาษาของอาจารย์ สิ่งที่ควรทำในวาระครบรอบ 80 ปีของ ธปท. คือ การทดลองตั้งคำถามว่า "แบงก์ชาติมีไว้ทำไม" ยังคงมีบทบาท คุณค่า และความหมายต่อสังคมเศรษฐกิจไทยปัจจุบันหรือไม่ อย่างไร พระสยาม BOT MAGAZINE ขอรวบรวม คัดสรร และบันทึกบางคำตอบที่เห็นได้จากกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นในวาระพิเศษตลอดปี 2565 นี้

 

"เปลี่ยนแปลง" เพื่อยืนหยัดดูแลเศรษฐกิจไทย  

 

"ความเสี่ยงสำคัญที่สุดที่จะกระทบความน่าเชื่อถือขององค์กรของเรา หรือองค์กรใด ๆ

ที่ถูกก่อตั้งมาเป็นเวลานานแล้ว ก็คือการที่องค์กรนั้นไม่สามารถปรับตัวให้ทันสถานการณ์

ซึ่งอาจทำให้องค์กรไม่สามารถทำตามพันธกิจได้ในที่สุด"

 

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. คนที่ 21

 

          

          80 ปี สำหรับธนาคารกลางอาจไม่ใช่ตัวเลขที่มีมนต์ขลังมากนัก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับธนาคารกลางแห่งแรกของโลกอย่าง Sveriges Riksbank ซึ่งก่อตั้งในปี 2211 หรือกว่า 354 ปีก่อน แต่กระนั้นหากเทียบกับธนาคารกลางอื่นในเอเชีย ธปท. ถือว่าอาวุโสเป็นอันดับสาม รองจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (140 ปี) และธนาคารกลางอินเดีย (87 ปี)

 

          สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าอายุจริง คือ ประสบการณ์ ความรู้ และความน่าเชื่อถือที่สั่งสมมาภายในองค์กร เพราะ 80 ปีของ ธปท. ดำเนินไปอย่างคู่ขนานกับพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยสมัยใหม่ (modern economic development) มาโดยตลอด กล่าวได้ว่า ทุกวิกฤตและความท้าทายที่สังคมเศรษฐกิจไทยเผชิญตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 จนมาถึงวิกฤตเศรษฐกิจที่เป็นผลมาจากโควิด 19 ในปัจจุบัน ย่อมมีบทบาทของ ธปท. เป็นส่วนสำคัญเสมอ

  

          อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางกิจกรรมจำนวนมากที่จัดขึ้นในวาระ 80 ปี ธปท. สิ่งที่ถูกเน้นย้ำและสื่อสารมากที่สุดกลับไม่ใช่เรื่องราวความเป็นมา หรือความสำเร็จในอดีตของ ธปท. หากแต่เป็นคำถามใหญ่ถึงทิศทางเศรษฐกิจการเงินไทย และบทบาทของ ธปท. ในแบบที่ควรจะเป็นในอนาคต และในบรรดาเรื่องราวทั้งหมด คีย์เวิร์ดคือคำว่า "การเปลี่ยนแปลง"

 

image

เสวนา "ก้าวสู่ยุคใหม่เศรษฐกิจการเงินไทย" ภายในงาน BOT Symposium 2022   

 

 

          กิจกรรมหลักของ ธปท. ที่จัดขึ้นตลอดปี 2565 ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นความพยายามเปลี่ยนแปลงและปรับตัวของ ธปท. ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกและภูมิทัศน์ใหม่ทางการเงิน โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลและความยั่งยืนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงที่ส่งผลต่อภาคการเงินไทย ทั้งในแง่ของการเปิดโอกาสในการพัฒนาบริการทางการเงิน และความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน และอาจซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำให้รุนแรงขึ้น

image

          ไฮไลต์สำคัญของประเด็นนี้ปรากฏในงาน "BOT Financial Landscape Consultation Session: เปิดมุมมองภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย" และ "BOT Symposium 2022: ก้าวสู่ยุคใหม่เศรษฐกิจการเงินไทย" โดยทั้งสองเวทีชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจการเงินไทยในอนาคตจะเปิดกว้างมากกว่าเดิม และการกำกับดูแลจะต้องเพิ่ม "ความยืดหยุ่น" เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนานวัตกรรมและการปรับตัวของทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการทางการเงิน ในขณะเดียวกันก็ต้องวิ่งตามให้ทันความเสี่ยงใหม่ ๆ ด้วย ที่สำคัญคือ ภาคการเงินต้องสามารถสนับสนุนภาคเศรษฐกิจจริง (real sector) ให้ได้มากขึ้น เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจและภาคธุรกิจสามารถปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะในช่วงที่ต้องเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

image

การออกบูธของบริษัทด้านฟินเทคและบริษัทที่ปรึกษาภายในงาน BOT Digital Conference 2022

 

 

          ในการรับมือกับภูมิทัศน์ทางการเงินใหม่ ธปท. ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการปรับการดูแลเศรษฐกิจการเงินไทย จากที่เคยให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพให้ภาคการเงินมีความมั่นคง ไม่ผันผวน มาเป็นการดูแลอย่างยืดหยุ่นเพื่อสร้าง "ความเข้มแข็งทนทาน" (resiliency) ให้พร้อมรับมือและฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงให้มากขึ้น 

image

การออกบูธของบริษัทด้านฟินเทคและบริษัทที่ปรึกษาภายในงาน BOT Digital Conference 2022

 

 

           โดยหน้าที่แบบดั้งเดิม ธนาคารกลางทั่วโลกมีหน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพ ลดความเสี่ยงของระบบการเงิน และกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินอย่างเข้มงวด การเลือกปรับทิศทางของ ธปท. จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทั้งท้าทายและสำคัญอย่างยิ่งยวด ไม่ใช่แค่กับ ธปท. หากแต่หมายรวมถึงเศรษฐกิจการเงินไทยในภาพรวม

 

"ประสบการณ์" และ "ความน่าเชื่อถือ" คือทุนสำหรับการเปลี่ยนแปลง

 

          ดร.เศรษฐพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. เคยให้สัมภาษณ์ไว้อย่างแหลมคมว่า "ทุน" สำคัญที่ ธปท. สามารถสะสมไว้ได้ คือประสบการณ์และความน่าเชื่อถือ เพราะเอาเข้าจริง หากเทียบธนาคารกลางของประเทศเกิดใหม่สักประเทศหนึ่งกับธนาคารกลางที่ดำเนินการมาเป็นเวลานาน ความรู้ทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ นโยบายการเงิน การใช้โมเดลต่าง ๆ หรือการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ คงจะไม่ได้มีใครเก่งยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แต่สิ่งที่ธนาคารกลางใหม่ ๆ ยังไม่มี และยังไม่สามารถสั่งสมได้ก็คือประสบการณ์และความน่าเชื่อถือนั่นเอง

 

         คำถามที่สำคัญคือ ธปท. จะใช้ประสบการณ์และความน่าเชื่อถือที่สั่งสมมานี้ มาเป็นตัวถ่วงไม่ให้เราปรับตัว หรือจะมาเป็นเครื่องทุ่นแรงให้เราสามารถปรับตัวได้ดีขึ้น

 

         คำตอบต่อคำถามข้างต้นปรากฏให้เห็นในเวที "เหลียวหลัง แลหน้า กับผู้ว่าการ ธปท." ซึ่งเป็นการถอดบทเรียนการทำหน้าที่ของอดีตผู้ว่าการ ธปท. เพื่อส่งต่อภูมิปัญญาและหลักคิดในการทำงานสู่อนาคต โดยความพิเศษยิ่งคือ การกลับมาแชร์ประสบการณ์ทำงานบนเวทีเดียวกันของอดีตผู้ว่าการ ธปท. 6 ท่านที่รับตำแหน่งต่อเนื่องกันมาตั้งแต่วิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 จนถึงปี 2562 ที่เกิดวิกฤตโควิด 19 หรือครอบคลุมกว่า 2 ทศวรรษหลังของเศรษฐกิจไทย (สำหรับผู้สนใจเนื้อหาบนเวทีนี้ สามารถอ่านรายละเอียดในคอลัมน์ Special Scoop ฉบับนี้)

image

 

          ไฮไลต์หลักของเวที "เหลียวหลัง แลหน้า กับผู้ว่าการ ธปท." คือ การสะท้อนให้เห็นว่า วิถีของ ธปท. มิใช่วิถีของการทำซ้ำสิ่งเดิมโดยไม่เปลี่ยนแปลง หากเกิดจากการเรียนรู้จากวิกฤตต่าง ๆ และนำบทเรียนเหล่านั้นมาปรับปรุงการทำงานให้ดียิ่งขึ้นและคงมีแต่ "วิถีแห่งการเปลี่ยนแปลง" เช่นนี้เท่านั้นที่ทำให้ ธปท. จะยังคง "ยืนหยัดเพื่อดูแลเศรษฐกิจไทย" ได้

ทำงานใหญ่จากความร่วมมือ ตกผลึกจากการรับฟัง

 

          ตลอดระยะเวลา 80 ปีที่ผ่านมา ธปท. เพียงหน่วยงานเดียว คงไม่สามารถทำหน้าที่ดูแลความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจการเงินไทยได้โดยลำพัง จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมืออย่างต่อเนื่องจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน รวมถึงความร่วมมือในเวทีต่างประเทศ เพื่อดำเนินนโยบายที่ตอบโจทย์และนำไปปฏิบัติได้จริงให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะเศรษฐกิจ และ ธปท. ยังให้ความสำคัญกับการขยายความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งพัฒนาระบบเศรษฐกิจการเงินและความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของไทย

           ทั้งนี้ หากพิจารณาจากกิจกรรมหลักทั้ง 7 กิจกรรมในช่วงวาระ 80 ปี ธปท. จะพบว่า ธปท. เปิดให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ภาควิชาการและสาธารณะโดยทั่วไป เข้ามามีส่วนในการกำหนด สะท้อน และออกแบบทิศทางของเศรษฐกิจการเงินไทยร่วมกับ ธปท. ในทุกกิจกรรมและหลายระดับ ตั้งแต่การเปิดรับฟังความคิดเห็นทั่วไปผ่านทางเว็บไซต์ไปจนถึงการอภิปรายบนเวทีเสวนาวิชาการอย่างเป็นทางการ

image

การนำเสนอผลงานของทีมที่เข้ารอบ 12 ทีมสุดท้ายในงาน BOT Policy Hackathon 2022 

 

 

           นอกจากการรับฟังอย่างตั้งใจและลงลึกแล้ว ในปีนี้ ธปท. ยังจัด BOT Policy Hackathon 2022 โดยเปิดรับสมัครให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาแข่งขันออกแบบนโยบายอย่างสร้างสรรค์ 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการแข่งขันออกแบบนโยบายด้านการพัฒนา 3 ด้าน คือ การเงินดิจิทัล การเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม และการแก้ปัญหาหนี้ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาระบบการเงินอย่างยั่งยืน ส่วนครั้งที่สองเป็นการแข่งขันเสนอแนวคิดการประยุกต์ใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) เพื่อต่อยอดนวัตกรรมทางการเงินและธุรกิจ และแก้ไขข้อจำกัดของระบบการเงินในปัจจุบัน

 

CBDC Hackathon

งาน CBDC Hackathon แข่งขันนำเสนอแนวคิดการประยุกต์ใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง

 

 

          การจัด Policy Hackathon นอกจากจะเป็นช่องทางในการระดมความคิดและรับฟังข้อเสนอแนะจากประชาชนทั่วไปผ่านการแลกเปลี่ยนความเห็นและการเข้าร่วมกิจกรรมแล้ว ในขณะเดียวกันก็เป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่อยู่ใน ธปท. ออกไปสู่สาธารณะภายนอกด้วย

 

           ในแง่หนึ่ง การเปิดให้ทุกคนมาช่วยกันคิดและพัฒนาภาคการเงินไปด้วยกัน เป็นการยอมรับอย่างจริงใจของ ธปท. ต่อสาธารณะว่า โลกกำลังเปลี่ยนเร็ว และ ธปท. เองก็อาจจะไม่ได้มีคำตอบสำหรับคำถามทั้งหมด แต่ ธปท. ก็เชื่อว่า ปัญญารวมหมู่ของคนไทยจะช่วยหาคำตอบได้