เปิด "ห้องประชุม กนง."
คุยเบื้องลึกการทำนโยบายการเงินกับ ปิติ ดิษยทัต
วันพุธปลายเดือนสิงหาคม* สภาพอากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝน ทีมงานได้รับเชิญเข้ามาในห้องเทวะวงศ์วโรปการ ก่อนที่ ดร.ปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน และเลขานุการ กนง. เปิดประตูห้องเข้ามาทักทายทีมงานอย่างอบอุ่น เรานัดคุณปิติเพื่อชวนคิดชวนคุยเกี่ยวกับการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งล่าสุดของ กนง. และแนวคิดเบื้องลึกเบื้องหลังการตัดสินใจนโยบายการเงินควบคู่กันไป
"คุยกันสบาย ๆ มีอะไรถามได้ทุกเรื่อง" คุณปิติออกตัวด้วยเสียงอันนุ่มนวล
* สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566
เงินเฟ้อ ตามนิยามหมายถึงมูลค่าของเงินที่น้อยลง หรือระดับราคาของทุกอย่างสูงขึ้นพร้อมกัน ซึ่งสิ่งสำคัญที่มีผลต่อระดับราคาในวงกว้างก็คือ เงินเฟ้อคาดการณ์ ซึ่งเป็นการคาดการณ์ของธุรกิจว่าต้นทุนจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเท่าไร เขาจะขายได้มากแค่ไหน และสถานการณ์ทั้งหมดส่งผลให้เขาควรตั้งราคาที่ระดับใด
ในการดำเนินนโยบายการเงิน เงินเฟ้อคาดการณ์เป็นสิ่งสำคัญที่ กนง. นำมาประเมิน โดยคำนึงถึงความเหมาะสมในแง่การตั้งราคาของภาคธุรกิจ หากมีแรงกระแทกหรือ shocks เกิดขึ้น เช่น ปี 2565 ที่ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นมากทำให้คนคาดว่าเงินเฟ้อจะสูง ซึ่งเราไม่อยากให้สิ่งนี้ฝังเข้าไปในระบบ นั่นคือการที่ผู้ประกอบการ “คาดการณ์” ว่าต้นทุนจะสูงขึ้น จึงตัดสินใจขึ้นราคาสินค้า เมื่อราคาสินค้าแพงขึ้น คนทำงานก็จะเรียกร้องค่าจ้างเพิ่มขึ้น ต้นทุนของผู้ประกอบการก็จะสูงตามมา ผู้ประกอบการก็ตั้งราคาสูงขึ้นอีก จนเกิดเป็นวงจรไม่รู้จบ ดังนั้นหน้าที่หลักของนโยบายการเงินคือการยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ และดูแลไม่ให้กิจกรรมด้านอุปสงค์ไปซ้ำเติมการตั้งราคาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เพื่อให้ “การดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน” นโยบายการเงินจะต้องดูแลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจับจ่ายใช้สอยไม่ร้อนแรงเกินไป จนทำให้ผู้ประกอบการตกอยู่ในภาวะทาง “จิตวิทยา” ที่คิดว่าราคาของต้นทุนจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดง่าย แต่อาจจะทำยาก (ยิ้ม)
ความท้าทายที่สำคัญคือการแยกแยะปัจจัยที่ทำให้ราคาปรับสูงขึ้น ซึ่งมีได้หลายเหตุผล บางทีก็เป็นเหตุผลพื้นฐาน เช่น ต้นทุนพลังงานราคาสูงขึ้น หรือในกรณีที่สินค้าขาดแคลน ราคาสินค้าก็เพิ่มตามหลักอุปสงค์-อุปทาน การเพิ่มขึ้นของราคาลักษณะนี้ถือว่าเป็นกลไกของตลาดในการส่งสัญญาณว่ามีเหตุผลเฉพาะที่ราคาปรับขึ้น เพื่อให้มีการปรับตัว ขณะที่นโยบายการเงินไม่สามารถและไม่ควรตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงของราคาที่สะท้อนเหตุผลเฉพาะเช่นนี้ สิ่งที่นโยบายการเงินควรดูแลคือเงินเฟ้อที่ไม่ได้เกิดจากสินค้าบางประเภท แต่เป็นลักษณะที่ราคาปรับขึ้นยกแผงทุกสินค้า ซึ่งส่วนใหญ่สะท้อนอุปสงค์ที่ร้อนแรงหรือการคาดการณ์เงินเฟ้อที่หลุดลอย
ประเด็นหลัก ๆ ที่ ธปท. คำนึงถึงในการวิเคราะห์แรงกดดันเงินเฟ้อก็คือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งระดับการจับจ่ายใช้สอยและความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ ซึ่งตัวอย่างตัวแปรสำคัญ ๆ ได้แก่ (1) เครื่องชี้ด้านอุปสงค์ เช่น output gap หรือส่วนต่างระหว่างการผลิตจริงเทียบกับระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่น หากความต้องการโดยรวมในประเทศสูงกว่าความสามารถที่จะผลิตสินค้าได้ ก็จะทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น (2) เครื่องชี้ด้านอุปทาน ต้นทุนสินค้าและบริการที่ทำให้ผู้ประกอบการตั้งราคาสูงขึ้น เช่น ต้นทุนราคาน้ำมัน ค่าขนส่ง แรงงาน ค่าจ้าง และ (3) ข้อมูลราคาสินค้าและบริการในตะกร้าเงินเฟ้อเอง โดยมีการใช้เทคนิคทางเศรษฐมิติ เพื่อกลั่นกรองหาแนวโน้มเงินเฟ้อระยะยาว รวมทั้งการสำรวจและคาดการณ์เงินเฟ้อ ซึ่ง ธปท. ทำแบบสำรวจทั้งของผู้ประกอบการและครัวเรือนว่า คิดว่าอัตราเงินเฟ้อในปีหน้าจะเป็นอย่างไร
ในการป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางการเงิน สิ่งที่ กนง. ให้ความสำคัญคือ สถานะงบดุล (balance sheet) ของแต่ละภาคส่วน ทั้งภาคธุรกิจ ภาคครัวเรือน และภาคการเงินว่า มีสินทรัพย์-หนี้สินเท่าไร ในรูปแบบใด งบดุลของแต่ละภาคส่วนเป็นตัวเชื่อมระหว่างพฤติกรรมในวันนี้กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในอนาคต เช่น ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือน หรือแนวโน้มการลงทุนของภาคเอกชน ล้วนขึ้นอยู่กับสถานะทางการเงินที่สะท้อนอยู่ในงบดุล นโยบายการเงินมีผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่องบดุล ในทางปฏิบัติ “อัตราดอกเบี้ยนโยบาย” เปรียบเสมือนเป็นต้นทุนของการกู้ยืมเงินในระยะสั้น ซึ่งจะส่งผลเป็นทอด ๆ ไปสู่ต้นทุนการกู้ยืมและผลตอบแทนอื่น ๆ ในเศรษฐกิจ ทั้งดอกเบี้ยระยะปานกลางและดอกเบี้ยพันธบัตร รวมทั้งราคาของสินทรัพย์ต่าง ๆ ด้วย ส่งผลต่อพฤติกรรมการกู้ยืมการสะสมสินทรัพย์และหนี้สิน ซึ่งทั้งหมดจะสะท้อนอยู่ในงบดุลในที่สุด
โดยหลักการ การดำเนินนโยบายการเงินของ กนง. คือ การมองอนาคตไปในระยะปานกลาง โดยกำหนด “ต้นทุนการกู้เงินในวันนี้” ที่จะส่งผลต่องบดุลในระยะปานกลางถึงยาวของภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นการดีที่สุดหากเราสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมที่จะทำให้ทุกภาคส่วนมีความสมดุลทางการเงิน
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายในเรื่องนี้คือ เศรษฐกิจการเงินโลกอยู่ในภาวะที่เรียกว่า “Low for Long” หรืออัตราดอกเบี้ยต่ำมาต่อเนื่องยาวนาน หลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2550 ธนาคารกลางหลาย ๆ แห่งกำหนดอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำ บางที่ 0% หรือติดลบก็มี ภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นมาต่อเนื่องนานกว่า 10 ปีแล้ว จุดประสงค์หลักก็เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั่วโลก แต่ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นก็คือ การสะสมหนี้ การก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมาก งบดุลจึงเริ่มมีความเปราะบางมากขึ้นเรื่อย ๆ พอหลังวิกฤตโควิด 19 โลกเผชิญกับเงินเฟ้อค่อนข้างรุนแรง ธนาคารกลางหลายประเทศ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด (Fed) ขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว ทำให้ตอนนี้หลายภาคส่วนตกอยู่ในสภาวะที่ยากลำบาก เพราะมีความเปราะบางทางการเงิน และทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง
เศรษฐกิจไทยก็เผชิญกับภาวะ Low for Long ไม่ต่างจากที่อื่นในโลก และในช่วงระหว่างปี 2562-2565 ที่มีวิกฤตโควิด 19 ดอกเบี้ยก็ยิ่งต่ำเป็นพิเศษ ซึ่งถือว่าเป็นภาวะไม่ปกติ แต่เมื่อเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว กนง. ก็ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องคล้ายกับการ “ถอนคันเร่ง” แต่ไม่ใช่การเหยียบเบรกเหมือนที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ
ขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอน หมายถึงว่า เรามีพื้นที่นโยบายที่จะใช้ได้อีกมากน้อยแค่ไหน หากเกิดเหตุไม่คาดคิด อย่างเช่น ถ้าอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0% แล้วเกิดเศรษฐกิจตกต่ำลงไปอีก การลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็คงทำได้ยาก
ดังนั้น การปรับนโยบายการเงินให้เป็นปกติ (policy normalization) ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป จะช่วยเสริมสร้างให้นโยบายการเงินมีขีดความสามารถที่จะรองรับเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เปรียบเสมือนการสร้างกันชนให้เศรษฐกิจ เช่นเดียวกับภาคการคลังที่ก็ต้องมีกันชน มีพื้นที่ทางการคลังในการทำนโยบายหากจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มอีก
ในแง่นี้ การดำเนินนโยบายการเงินของ กนง. ที่ผ่านมาจึงเป็นการเสริมเสถียรภาพใน 2 มิติ มิติแรกคือ การค่อย ๆ ถอนคันเร่งในบริบทที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ช่วยลดความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นจากแรงกดดันด้านอุปสงค์และเป็นการเสริมสร้างเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพในระยะปานกลาง ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างกันชนเชิงนโยบาย (policy buffer) ในกรณีเกิด shocks เรียกได้ว่าเป็น 2 เด้งของการสร้างเสถียรภาพ
บรรทัดฐานที่เป็นปกติของอัตราดอกเบี้ยไม่สามารถบอกได้แบบง่าย ๆ เป๊ะ ๆ ตัวเลขในอดีตอาจจะไม่ได้เป็นตัวอย่างที่ดีในการบอกว่าปัจจุบันต้องเป็นเท่าไหร่ แต่ต้องดูสถานการณ์เศรษฐกิจในภาพรวมเป็นหลัก อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า 10 กว่าปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกและไทยอยู่ในภาวะที่มีความเสี่ยงในด้านต่ำอยู่พอสมควร เช่น วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ น้ำท่วม รวมถึงประเด็นทางการเมือง นโยบายดอกเบี้ยระดับต่ำที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจึงเหมาะสมมากกว่า แต่อัตราดอกเบี้ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อาจไม่ใช่บรรทัดฐานที่เหมาะสมของระดับที่ปกติในปัจจุบัน
โดยปกติจะมีตัวแปรพื้นฐานที่กำหนดว่าศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจเป็นไปได้มากน้อยขนาดไหน เช่น อัตราการเจริญเติบโตของประชากร อัตราการพัฒนาเทคโนโลยีที่ดีขึ้น และอัตราการลงทุนของประเทศกำลังพัฒนา ที่โดยทั่วไปแล้วจะมีศักยภาพการเติบโตสูง ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีความอิ่มตัว โตได้ช้า นี่เป็นปัจจัยพื้นฐานด้านอุปทานในทางเศรษฐศาสตร์
ความสมดุลของเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อการจับจ่ายใช้สอยและการลงทุน หรืออุปสงค์ สมดุลกับศักยภาพของเศรษฐกิจด้านอุปทาน
อัตราดอกเบี้ยเป็นหนึ่งในตัวแปรที่มีส่วนในการกำหนดอุปสงค์ ถ้าอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก คนก็จะดึงอำนาจในการซื้อจากอนาคตมาบริโภคในปัจจุบัน อุปสงค์ก็จะขยายตัวและอาจทำให้เศรษฐกิจร้อนแรงขึ้น แต่ถ้าอัตราดอกเบี้ยสูงเกินไป คนก็จะไม่บริโภค เอกชนก็ไม่ลงทุน อุปสงค์ก็จะหดตัว และอาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวได้ เพราะฉะนั้นในแง่นิยาม อัตราดอกเบี้ยที่ปกติก็คือ อัตราดอกเบี้ยที่ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งเป็นตรรกะที่พูดได้ อธิบายได้ สอนได้ แต่พอถึงเวลาปฏิบัติ ถามว่ากี่เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขเท่าไร ก็ต้องบอกว่าเป็นศาสตร์และศิลป์ครับ (หัวเราะ)
โดยหลักการ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (real interest rate) ซึ่งก็คือ อัตราดอกเบี้ยปกติลบด้วยเงินเฟ้อ ควรจะเป็นบวก เพราะเศรษฐกิจไทยยังถือว่าเป็นตลาดเกิดใหม่ ศักยภาพในการเติบโตอยู่ที่ 3-4% อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนผลตอบแทนที่ระบบเศรษฐกิจสามารถสร้างได้ ก็ควรอยู่ในแดนบวก
ในทางปฏิบัติ กนง. และทีมสนับสนุนพยายามที่จะประมาณค่าโดยใช้ตัวแปรและตัวชี้วัดหลาย ๆ ตัว และพยายามใช้ข้อมูลที่ทันสมัยที่สุด ซึ่งเราทำอยู่เป็นประจำ ปัจจุบัน กนง. ก็ประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายเริ่มเข้าใกล้จุดนั้นแล้ว แม้เราจับต้องอัตราดอกเบี้ยที่เป็นดุลยภาพไม่ได้ แต่ก็มีตัวชี้วัดคล้ายเทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิร่างกาย เช่น เงินเฟ้อ ราคาสินทรัพย์ ยกตัวอย่างเช่น หากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หรือราคาสินทรัพย์ทะยานขึ้นจนเป็นฟองสบู่ ก็เป็นอาการของภาวะเศรษฐกิจที่ไม่สมดุล ซึ่งแสดงว่าดอกเบี้ยอาจจะต่ำไปเมื่อเทียบกับศักยภาพ
กรอบนโยบายการเงินที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2543 เรียกว่า flexible inflation targeting หรือการมีเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น แปลว่า ยืดหยุ่นใน 2 มิติ มิติที่หนึ่ง คือ เงื่อนเวลาที่จะดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับเสถียรภาพที่ 1-3% เป็นเงื่อนเวลาระยะปานกลาง ไม่ใช่ทุกวัน ไม่ใช่ทุกเดือน ซึ่งถ้าดูตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบัน เงินเฟ้อต่อปีเฉลี่ยของไทยอยู่ที่ประมาณ 2% ถึงแม้มีช่วงที่สูงและต่ำกว่ากรอบบ้าง ทั้งนี้ การเน้นระยะปานกลางหมายความว่านโยบายต้องไม่กระชากดอกเบี้ยขึ้น ๆ ลง ๆ หรือคุมให้เป๊ะทุกเดือน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความผันผวนให้กับเศรษฐกิจ
มิติที่สอง คือ นอกเหนือจากการดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม นโยบายการเงินให้ความสำคัญกับการขยายตัวของเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับศักยภาพ รวมทั้งการรักษาเสถียรภาพทางการเงินด้วย ดังนั้น เงินเฟ้อเป็นพันธกิจหลัก แต่ก็ดูตัวแปรอื่นด้วย ดูว่าระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นอย่างไร การขยายตัวของสินเชื่อและราคาสินทรัพย์เป็นอย่างไร ฐานะทางการเงินของแต่ละภาคส่วนมีความเปราะบางไหม
ซึ่งจะเห็นว่า 2 ปีที่ผ่านมา ธปท. ไม่ได้เป็น “กระต่ายตื่นตูม (inflation nutter)” อย่างในช่วงที่เงินเฟ้อเคยขึ้นไปถึง 7-8% เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ธปท. เองก็ไม่ได้กระชากอัตราดอกเบี้ยขึ้นไป เพราะเรามองว่าในระยะปานกลางเงินเฟ้อจะปรับลงมา ประกอบกับเศรษฐกิจเพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด 19 และภาคเอกชนยังมีความเปราะบางอยู่
ภาระหนี้เป็นสิ่งที่ กนง. ติดตามอย่างใกล้ชิด และทราบดีว่ามีผลมาจากวิกฤตโควิด 19 ซึ่งเป็นวิกฤตที่ใหญ่หลวง ในแง่รายได้ก็หายไปเยอะมาก กระบวนการปรับนโยบายให้เป็นปกติก็จะส่งผลต่อภาระหนี้ของคนที่มีหนี้ ซึ่งเปราะบางมากกว่ากลุ่มอื่น ที่ผ่านมา ธปท. พยายามดูแลภาพรวมภาระหนี้ของประชาชนให้อยู่ในระดับที่ไม่สร้างปัญหา
ต้องยอมรับว่า นโยบายการเงินเป็นเครื่องมือที่ค่อนข้างทื่อ (blunt tool) ในการดูแลคนแบบเฉพาะเจาะจง เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเกิดในวงกว้างและกระทบต่อหลายภาคส่วน ธปท. จึงมีมาตรการเสริมเฉพาะจุดที่ทำมาตั้งแต่วิกฤตโควิด 19 และปรับเปลี่ยนเป็นระยะ ๆ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น ดูแลให้มีการเจรจาภาระหนี้แบบรายกรณีกับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีทั้งการยืดระยะเวลาการชำระหนี้ และกำหนดให้มีอัตราดอกเบี้ยที่ไม่สูงเกินไป หรือถ้าจำเป็นก็จะมีการประนอมหนี้ด้วย
จนถึงตอนนี้ ธปท. ค่อนข้างมั่นใจว่า มาตรการในการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ทั้งครัวเรือนและ SMEs มีค่อนข้างเพียงพอ และน่าจะช่วยให้กลุ่มเปราะบางผ่านตรงนี้ไปได้ อันที่จริงแล้ว ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องลงแรงเยอะ โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ที่ต้องไปคุยรายกรณี แบ่งกลุ่มลูกหนี้ มีมาตรการเจาะจงแต่ละกลุ่ม เช่น กลุ่มที่มีหนี้ระยะสั้นที่ขาดสภาพคล่องก็ดูแลแบบหนึ่ง หรือกลุ่มที่เป็นหนี้ระยะยาวก็มีมาตรการอีกแบบหนึ่ง ล่าสุดตอนนี้ก็เริ่มมีการมองไปถึงอนาคตและออกแบบชุดผลิตภัณฑ์การเงินใหม่ ๆ บนหลักการการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (responsible lending) ซึ่งผู้ปล่อยสินเชื่อต้องมีการวิเคราะห์คุณภาพสินเชื่อแบบครบวงจร ตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ และแนวทางในการดูแลประนอมหนี้หากเกิดปัญหา เพื่อให้การก่อหนี้ใหม่ในอนาคตเป็นไปอย่างยั่งยืน
ไม่ใช่แค่ กนง. เท่านั้น แต่ ธปท. มีการฟังเสียงของประชาชนและจากภาคธุรกิจอย่างสม่ำเสมอ ช่องทางสำคัญหนึ่งที่เรามีคือ social listening ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลกระแสการวิพากษ์และตอบรับของประชาชนต่อประเด็นและนโยบายต่าง ๆ ของ ธปท. ผ่าน social network และสื่อต่าง ๆ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ก็ช่วยสนับสนุนประกอบการพิจารณาในการประชุม กนง. ด้วย โดยเฉพาะแนวทางการสื่อสารนโยบาย
ในแง่เศรษฐกิจ ช่องทางหลักที่เราพยายามรับรู้และสัมผัสสถานการณ์ของภาคธุรกิจ คือผ่าน Business Liaison Program (BLP) เป็นการพูดคุยกับผู้ประกอบการประมาณ 200 รายต่อไตรมาส หรือกว่า 800 รายต่อปี ซึ่งมีทั้งไปพบจริง ๆ และทั้งโทรศัพท์หา เพื่อจับชีพจรจากผู้ประกอบการอย่างสม่ำเสมอ เราถามเขาทุก ๆ เรื่อง ทั้งแนวโน้มของธุรกิจ มุมมองเกี่ยวกับเงินเฟ้อ ต้นทุน และการจ้างงาน เพื่อให้มีข้อมูลเร็วที่ช่วยให้รู้ถึงความรู้สึกและความคิดเห็นของผู้ประกอบการทั้งหมดนี้
หัวใจสำคัญในการทำหน้าที่เลขานุการ กนง. คือทำอย่างไรให้คณะกรรมการ 7 ท่าน ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่เต็มเปี่ยมด้วยประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย สามารถตัดสินใจได้อย่างมั่นใจและรอบคอบ ซึ่งพื้นฐานที่สำคัญคือการให้ข้อมูลพร้อมกับการวิเคราะห์ที่ลึก ครบถ้วน ชัดเจน เต็มที่ ให้คณะกรรมการฯ สามารถเห็นชีพจรและแนวโน้มของเศรษฐกิจแบบกระจ่างที่สุด ฝ่ายเลขานุการในฐานะทีมสนับสนุน การให้ข้อมูลและตอบข้อซักถาม ข้อกังวล ข้อสงสัยของกรรมการแต่ละท่านให้ได้ จนทุกท่านเริ่มเห็นภาพเศรษฐกิจที่คล้ายคลึงกัน ความเสี่ยงคืออะไร แนวโน้มเป็นยังไง โจทย์หลักของนโยบาย ณ ตอนนี้คืออะไร
คณะกรรมการฯ จะได้รับเอกสารข้อมูลล่วงหน้า 1-2 สัปดาห์ก่อนเริ่มประชุม ถ้าเป็นกรรมการภายในก็จะคุยกันได้มากขึ้นนิดนึงเพราะอยู่ใน ธปท. อย่างไรก็ตาม กรรมการภายนอกก็ติดตามเศรษฐกิจอยู่แล้ว และแต่ละท่านก็จะมีผู้ช่วย (liaison) ที่ช่วยประสานกับฝ่ายเลขานุการเพื่อตอบคำถามได้ทุกเมื่อ
ในการประชุม คณะกรรมการฯ มักจะแลกเปลี่ยนและไตร่ตรองด้วยความเห็นที่หลากหลาย อีกทั้งมีการเปรียบเทียบมุมมองซึ่งกันและกัน ค่อย ๆ เดินเข้ามาจนความกว้างของความแตกต่างน้อยลง แล้วจึงนำไปสู่การตัดสินใจเชิงนโยบาย แน่นอนว่าจะมีความแตกต่างกันอยู่ดี เพราะกรรมการแต่ละท่านอาจมีการชั่งน้ำหนักในแต่ละเรื่องไม่เหมือนกัน หรือประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจต่างกันบ้าง แต่ที่สำคัญคือ แต่ละท่านจะให้เหตุผลที่ชัดเจนเพื่ออธิบายการตัดสินใจ มีการจัดลำดับความสำคัญของความเสี่ยงว่าปัจจัยไหนเสี่ยงมาก ปัจจัยไหนเสี่ยงน้อย และโดยทั่วไปจะค่อย ๆ เข้าใกล้กันในที่สุด ส่วนใหญ่ก็จะมีมติเป็นเอกฉันท์ได้ แต่บางครั้งก็จะมีความเห็นที่ต่างกันบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งปกติ ต่างประเทศก็เป็นอย่างนี้
ต้องเน้นย้ำว่า กระบวนการของ กนง. ไม่ได้ออกแบบให้ทุกคนคิดเหมือนกัน ทำเหมือนกัน แต่ออกแบบให้ทุกคนได้ข้อมูลเท่าเทียมกัน เห็นภาพเศรษฐกิจที่ชัดเจน สามารถซักถามกัน และเข้าใจซึ่งกันและกันได้มากที่สุด ก่อนที่กรรมการแต่ละท่านจะตัดสิน เป็นกระบวนการที่พัฒนามามากกว่า 20 ปีแล้ว และก็ยังพยายามพัฒนาไปเรื่อย ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในการดูแลเศรษฐกิจ สิ่งที่เราทำมันไม่ใช่การขับรถแข่งที่ต้องเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวากะทันหัน แต่เสมือนการขับเรือใหญ่ที่เคลื่อนตัวไปช้า ๆ มีแรงหน่วงในการปรับทิศทางค่อนข้างเยอะ จึงต้องมองระยะปานกลาง หาทิศทางโดยรวมว่าประมาณนี้ จุดหมายปลายทางประมาณนั้น หาจุดสมดุล ดังนั้น การหามติร่วมกันจึงมีความเป็นไปได้
การที่ กนง. แต่ละท่านมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน ก็จะนำมุมมองที่หลากหลายเข้ามาในการพูดคุย การประชุม กนง. แต่ละครั้งจะใช้เวลา 2 วัน วันละ 4 ชั่วโมง รวม 8 ชั่วโมง เป็น 8 ชั่วโมงที่มีประเด็นการซักถามถกเถียงเข้มข้น มีขอบเขตการแลกเปลี่ยนที่กว้างและหลากหลาย ทุกครั้งที่เปิดให้คณะกรรมการฯ อภิปราย จะมีการแสดงมุมมองทางเศรษฐกิจจากหลายแง่มุม ทั้งด้านภาคธุรกิจ ด้านการเงิน และด้านประชาชน เหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรักษาไว้ เพราะความหลากหลายของคณะกรรมการฯ และบรรยากาศการแลกเปลี่ยนที่มีอยู่ในปัจจุบันจะช่วยนำมาสู่การตัดสินนโยบายที่รอบด้าน ครบถ้วน และดีที่สุด
แม้จะมีความแตกต่างและหลากหลาย แต่สุดท้ายแล้ว กนง. ก็มีความเห็นร่วมกันในหลาย ๆ อย่าง เพราะเป้าหมายที่มีเป็นเป้าหมายเดียวกัน คือ การเห็นเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพครับ