BOT Communication Hackathon 2023
สื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ให้รู้เท่าทันภัยการเงิน
กระตุกให้ตระหนัก-ระวังมิจฉาชีพหลอก
วัตถุประสงค์สำคัญของโครงการคือเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ ให้รู้เท่าทันมิจฉาชีพ มีภูมิคุ้มกันและสามารถระมัดระวังตนจากการถูกหลอกได้ ขณะเดียวกันยังมีเป้าหมายให้ประชาชนได้ทราบแนวทางการปฏิบัติตนเมื่อถูกหลอกหรือเผชิญกับภัยการเงิน ผู้เข้าแข่งขันจึงต้องออกแบบแผนการสื่อสารและวิธีการที่จะช่วยกระตุกเตือน และกระตุ้นต่อมให้ประชาชนตระหนัก ระมัดระวัง รู้วิธีการป้องกัน มีความรอบคอบ มีสติ และไม่ตกเป็นเหยื่อของแก๊งมิจฉาชีพ
205 ทีมร่วมแข่งขัน
โครงการนี้ได้รับความสนใจ และมีผู้สมัครซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่เข้าร่วมกิจกรรมถึง 205 ทีม มีทั้งนักเรียน นักศึกษา และคนที่อายุไม่เกิน 30 ปี ทีมงานได้คัดเลือกผู้ผ่านเข้ารอบแรก 20 ทีม ผู้สมัครและผู้ผ่านเข้ารอบส่วนมากเป็นนักเรียนนักศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์โครงการที่ต้องการรับฟังความเห็นของคนรุ่นใหม่ ที่มีศักยภาพในการเป็น content creator ที่สร้างสรรค์และทันสถานการณ์อยู่เสมอ
ในการนำเสนอผลงานของผู้เข้ารอบ 10 ทีมสุดท้ายต่อกรรมการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสาร ด้านดิจิทัล และด้านภัยการเงินนั้น แต่ละทีมล้วนมีไอเดียหรือแผนงานที่น่าสนใจ โดยผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศคือ ทีม NudgeShield จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งสามารถตอบโจทย์รูปแบบของภัยการเงินที่สำคัญในปัจจุบันได้ครบถ้วนแบบ one stop service เพราะมีทั้งการให้ความรู้ ควบคู่กับการป้องกัน ครั้งนี้เราจึงพาผู้อ่านไปพูดคุยกับทั้ง 10 ทีมกัน
ทีม NudgeShield กระตุ้นสมองป้องกันภัย
ทีมหนุ่มสาวจากแดนเหนือที่มาพร้อมสโลแกน “มิจฯ ขยาด เมื่อ Nudge ขยับ!” จากประสบการณ์ที่คนรอบ ๆ ตัวต่างถูกหลอก เพราะมิจฉาชีพไม่เลือกว่าเป็นใคร ทุกคนสามารถตกเป็นเหยื่อได้ จึงต้องการเตือนภัยทุกคน
ทีมงานสังเกตว่า จริง ๆ แล้วปัญหาไม่ได้เกิดจากความไม่รู้ แต่ ณ ขณะที่ตัดสินใจอาจมีอะไรบางอย่างที่ทำให้ไม่ทันคิด เช่น เวลารีบเร่ง วินาทีที่ตัดสินใจจึงสำคัญมาก ถ้าเรารู้ว่าระบบการทำงานของสมองมี 2 ส่วน คือ ส่วนทำงานเร็วที่ใช้ประสบการณ์ตัดสิน และส่วนทำงานช้าที่ใช้การตรึกตรองด้วยเหตุผล ถ้าเราสามารถกระตุ้นเตือนให้ถูกจุด ความเสี่ยงก็จะลดลงได้
ความโดดเด่นของ NudgeShield คือ การสื่อสารกับคนที่ใช้โซเชียลมีเดียผ่านแอปพลิเคชัน “BADEON” ซึ่งมีความหมายว่า สถานการณ์เลวร้ายที่ไม่มีสิ้นสุด เปรียบเหมือนการที่มิจฉาชีพจะไม่หยุดคิดกลโกงหลอกคน และยังพ้องเสียงกับภาษาเหนือว่า “บะ-ดี-โอน” ที่แปลว่า “อย่าโอน” ด้วย โดยให้ความรู้ และวิธีการป้องกันตัวไปพร้อมกัน
แอปฯ นี้จะช่วยแจ้งเตือนเบอร์โทร ข้อความ และบัญชีธนาคารที่น่าสงสัย โดยการใช้สี รูปภาพ และเสียงที่แสดงถึงความเสี่ยงของผู้ที่โทรเข้ามา ข้อความที่ได้รับ และบัญชีผู้รับโอนเงิน เพื่อกระตุกสมองให้ฉุกคิดก่อนตัดสินใจลงมือทำ
ฝากไว้ให้คิด “เอ๊ะ ก่อน โอน”
ทีมแคปจอ สื่อสารแบบง่าย ส่งผลวงกว้าง
สามหนุ่มสาวธรรมศาสตร์ ผู้ชื่นชอบการส่งผลงานเข้าประกวดในโครงการต่าง ๆ เป็นทุนเดิม ที่อยากจะเข้ามาแข่งขันครั้งนี้ เพราะมองว่าเป็นประเด็นทางสังคม และมิจฉาชีพเป็นเรื่องใกล้ตัวเพราะมีคนใกล้ตัวเพิ่งโดนหลอกทั้งเสียเงิน เสียเวลา เป็นคดีความ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้อยากกระตุ้นเตือนสังคม
งานที่นำเสนอเป็นการสื่อสารที่เข้าถึงง่าย ทำได้ทันที และส่งผลในวงกว้าง ซึ่งมี 2 ส่วนหลัก คือ กราฟิก LINE ที่จับกลุ่มผู้สูงวัย และมีมเพื่อเจาะกลุ่มวัยรุ่น
สิ่งสำคัญคือการทำให้เกิดการส่งต่อ ภาพต้องสวย เป็นสื่อเชิงบวก สอดคล้องกับตัวตนของคนนั้น ๆ เช่น ศาสนา สัตว์เลี้ยง ดอกไม้ โดยอาจเป็นภาพเดิม ๆ แต่จัดวางข้อความใหม่ให้ดึงดูด
ฝากไว้ให้คิด “ไม่สวยแต่โอนไว ที่โดนไปน่ะหมดตัวรึยัง”
ทีมผิงไฟกับกิมมิกดวงตามิจฉาชีพ
สี่หนุ่มนักเศรษฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สนใจกิจกรรมที่จัดโดย ธปท. และต้องการสวมบทบาทนักเศรษฐศาสตร์ในการสื่อสารกับผู้คนทั่วไปเรื่องภัยการเงิน โดยการทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย เช่นเดียวกับที่มิจฉาชีพใช้การสื่อสารง่าย ๆ มาหลอกผู้คน รวมถึงต้องการฝึกทักษะด้านการตลาด และเปิดประสบการณ์ทำงานกับแบงก์ชาติ
ทางทีมเสนอการดึงดูดคนให้เข้ามาทำแบบทดสอบ “Blindfold Test: Let’s see your eyesight เพราะดวงตาเป็นหน้าต่างของมิจฉาชีพ” ที่สอดแทรกเรื่องภัยการเงินเข้าไปในคำถาม มีกิมมิกเป็นแครักเตอร์ผ้าปิดตาที่น่ารักและเข้าถึงง่าย เพื่อเป็นจุดเริ่มในการสร้างเครือข่ายของผู้คนไว้สำหรับจัดกิจกรรมเตือนภัยการเงิน ทั้งแคมเปญ นิทรรศการ เฟซบุ๊ก ไลฟ์ บล็อก หรือเพจ เพื่อต่อยอดเรื่องราวและสร้างคอมมิวนิตีสำหรับการเรียนรู้ต่อไปในอนาคต
ฝากไว้ให้คิด “เพราะดวงตาคือหน้าต่างของมิจฉาชีพ”
ทีมมิจฉาชอบ เตือนภัย ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน
สี่สาวนักการตลาดซึ่งเคยมีประสบการณ์ร่วมแข่งขันแผนการสร้างแบรนด์มาแล้ว และเห็นว่าการประกวดครั้งนี้เป็นโครงการระดับชาติที่มีความท้าทาย จึงร่วมส่งผลงานเพื่อนำความแข็งแรงของแบรนด์ ธปท. เข้าไปนั่งในใจผู้บริโภค และลดปัญหาภัยการเงินที่เป็นเรื่องใกล้ตัวทุกคนไปพร้อมกัน โดยเฉพาะสังคมผู้สูงอายุที่ขาด digital literacy
ทีมมิจฉาชอบนำเสนอการดึงสโลแกนที่ ธปท. สร้างภาพจำอยู่เดิมว่า “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน” มาขับเคลื่อนต่อ กลายเป็น “No No No ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน” เพื่อเริ่มให้คนฉุกคิดด้วยตัวเอง โดยรวบรวมข้อมูลข่าวสารที่กระจัดกระจายมานำเสนอผ่านโฆษณาที่แสดงถึงผลกระทบและกลโกง 6 รูปแบบ และยังมีเพลงและ TikTok Challenge เข้ามาเสริมด้วย
ฝากไว้ให้คิด “No No No ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน”
ทีมสเลอร์ปี้สีรุ้ง เสริมความรู้เยาวชน
เด็ก ๆ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ผู้แข่งขันอายุน้อยที่สุดที่เข้ารอบ 10 ทีม จากสถานการณ์ที่มีคนรอบตัวโดนภัยมิจฉาชีพหลอกบ่อยครั้ง และได้ยินข่าวแทบทุกวันว่ามีคนสูญเสียเงินเก็บไปจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของการสร้างสรรค์โครงการ Young Inspire Finance ซึ่งเป็นระบบโครงสร้างที่ให้เยาวชนเป็นยุวฑูตน้อยในการนำข้อมูลไปเผยแพร่แก่ผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางและได้รับผลกระทบมากที่สุด รวมถึงคนในชุมชน เพื่อสร้างความเข้าใจถึงการเงินดิจิทัล และลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ก่อนจะนำไปเผยแพร่แก่ครอบครัว และคนอื่น ๆ ต่อไป
ฝากไว้ให้คิด “เลี่ยงคนที่เขาลักเรา มันไม่ยากหรอก”
ทีมหนุ่มสาวสุดงง เจาะผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5
แก๊งเพื่อน ๆ จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้ทราบข่าวโครงการจากเพจเฟซบุ๊กที่มองว่าภัยการเงินเป็นปัญหาใกล้ตัว ใคร ๆ ก็โดนได้ ทางทีมจึงระดมไอเดียเพื่อขอมีส่วนช่วยแก้ปัญหา โดยคิดว่าการเข้าร่วมโครงการยังเป็นโอกาสในการรับฟังความคิดของคนอื่นด้วย
น้อง ๆ ได้นำเสนอนโยบาย 5 ประสาทสัมผัสเพื่อเตือนภัยการเงิน ได้แก่ ตาดู-ผ่าน LINE สติกเกอร์ มือสัมผัส-ผ่านวอลล์เพเปอร์เสริมโชคบนมือถือ หูฟัง-ผ่านบทเพลงที่สอดแทรกเนื้อหาเตือนภัยการเงินทางวิทยุ ปาก-ผ่านการพูดประชาสัมพันธ์ที่โรงพยาบาล และจมูก-ผ่านยาดมที่มีคำคมเรียกสติบนฉลาก
ฝากไว้ให้คิด “เก็บเงินไว้ใช้กับคนที่ใช่ โปรดอย่าเผลอปันใจให้คนอื่นที่ไม่ใช่หวานใจของเธอ”
ทีมหมามะพร้าวไซเบอร์ สะกิดใจไม่ต้องโอน
หนุ่มสาวจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีจุดเริ่มต้นจากที่เกือบโดนหลอกเอง เมื่อได้ทราบข่าวโครงการจาก LINE ของคณะ และเห็นว่าเป็นหัวข้อที่เป็นประโยชน์แก่สังคม ทางทีมจึงเข้าร่วม โดยนำเสนอแคมเปญ “จะทำอะไรก็อย่าโอน อย่าโอน” ที่ประกอบด้วย 3 แคมเปญย่อยคือ หนึ่ง จานใช้แล้วรวย ที่สกรีนคำคม/คำเตือนภัยการเงินลงไปเพื่อสะกิดใจคนที่ไม่ใช้โซเชียลมีเดีย เนื่องจากเป็นภาชนะที่ทุกคนต้องใช้ สอง เอฟเฟกต์ใน TikTok “อย่าโอน” ที่ให้คนเข้ามาเล่มเกมตอบคำถามและส่งต่อ ๆ กันเป็น viral และสาม เกมเบอร์ปริศนา ให้เล่นผ่าน Facebook หรือ LINE ที่จำลองสถานการณ์จริงให้ผู้เล่นได้เรียนรู้ลักษณะการโกงผ่านเกม โดยช่วยประเมินความเสี่ยงจากคะแนนที่ได้
ฝากไว้ให้คิด “จะทำอะไรก็อย่าโอน อย่าโอน”
ทีมอย่าวางใจคน จะ “จน” ใจเอง กับ 5 ยุทธวิธีป้องภัย
หนึ่งสาวผู้มีความมาดมั่นและมีความสนใจหลากหลาย มองเห็นช่องว่างทางการสื่อสาร เลยต้องการเข้ามาจัดการปัญหาด้านการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจได้ง่าย และเสริมทักษะทางการเงินของคนไทย โดยใช้ 5 ยุทธวิธี ผ่านกลยุทธ์ SHARE (S–Stimulus, H–Humanize, A–Adaptive, R–Rapid, E–Engage) แบ่งปันข้อมูล ปรับพฤติกรรม สร้าง New Normal: อ่านก่อนโอน คิดก่อนคลิก เช็กก่อนแชต
ไอเดียที่เสนอผ่านตัวอักษร 5 ตัว เช่น เกมจำลองแชตให้ทดลองคุยกับมิจฉาชีพ คอร์สเรียนออนไลน์ที่ให้วิเคราะห์เคสที่เกิดขึ้นจริง “30 minute crash course” และระบบเตือนภัยบน LINE ธนาคารพาณิชย์ และค่ายโทรศัพท์มือถือ
ฝากไว้ให้คิด “เช็กก่อนเชื่อ” เพื่อเพิ่มฟิลเตอร์กรองมิจฉาชีพ
ทีม Warning Bros ใช้ LINE เจาะกลุ่มผู้เดือดร้อน
จากประสบการณ์ตรงของตัวเองและเครือญาติที่เคยสูญเสียเงินบนโลกออนไลน์ รวมถึงการรับฟังปัญหาร้องเรียนเกี่ยวกับภัยการเงิน ที่ทำให้รู้ว่าคนที่เสียเงินไปไม่มากจะคิดว่าไม่คุ้มที่จะแจ้งความ ได้เป็นแรงดึงดูดให้สี่หนุ่มน้อยจากหลายสถาบันที่มารวมกลุ่มกันจึงมีความสนใจเสนองานแก้ปัญหานี้ ด้วยแอปพลิเคชัน “Warning Bros” ที่ทำหน้าที่รวบรวม ตรวจจับ คัดกรอง และถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับภัยการเงิน ผ่าน 3 ฟีเชอร์ใน LINE เพื่อเจาะกลุ่มผู้เคยเดือดร้อนจากภัยการเงิน ทั้งระบบการประเมินความเสี่ยง จากการคัดลอกข้อความในมือถือมาตรวจสอบว่าเป็นมิจฉาชีพหรือไม่ เกมความรู้การเงินส่วนบุคคล ซึ่งจำลองสถานการณ์จากแหล่งที่น่าเชื่อถือ และระบบตรวจสอบเบอร์โทรและเลขบัญชีผ่านแอปฯ
ฝากไว้ให้คิด “เรียนรู้สม่ำเสมอ ครบสเตป สร้างภูมิ”
ทีมเพื่อนเก่าตั้งแต่สมัยมัธยมที่มารวมตัวกัน ซึ่งเคยมีประสบการณ์ส่งหนังสั้นและสื่อเพื่อพัฒนาสังคมเข้าประกวดในหลายเวที ด้วยความต้องการที่จะใช้ความรู้ด้านการสื่อสาร และการทำธุรกิจมาสร้างประโยชน์แก่สังคม และเพื่อสร้างผลงานเป็นโพรไฟล์สำหรับการทำงานในอนาคต
จากปัญหาที่คนไม่จำกัดวัยต้องพบเจอกับภัยการเงิน จึงเสนอแคมเปญเช็กแบล็กลิสต์ คิดก่อนโอน โดยสร้างคอนเทนต์สำหรับเผยแพร่ออนไลน์เพื่อให้คนรู้จักกลโกงต่าง ๆ เช่น หลอกลงทุน หลอกขายของ หลอกตีสนิท รวมถึงวิธีป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ เพราะโจรมีวิธีหลอกมากมาย แต่สุดท้ายอยู่ที่การกดโอนของเราเอง โดยมีเป้าหมายที่ต้องการสร้างความรับรู้และเจาะกลุ่ม Gen Z และ Gen Y เพื่อนำไปบอกต่อ Gen อื่น ๆ ต่อไป
ฝากไว้ให้คิด “ส่องโจรให้เก่ง เหมือนส่องข้างบ้านนะ”
สาวน้อยประถม 5 อาสาเตือนเพื่อน
ด.ญ.ลัลลิล แรงฤทธิ์ หรือน้องเนียร์ นักเรียนชั้น ป.5 โรงเรียนไผทอุดมศึกษา น้องน้อยสุดท้องในการแข่งขันครั้งนี้ แม้จะไม่เข้ารอบ 10 ทีมสุดท้าย แต่ก็ได้เข้าแข่งขันอย่างกล้าหาญตามลำพัง จากประสบการณ์ที่คนใกล้ตัวเคยได้รับผลกระทบจากมิจฉาชีพ รวมถึงการรับรู้ข่าวสารที่เกิดขึ้นทุกวัน จึงต้องการร่วมนำเสนอแนวคิดให้มีแอปพลิเคชันคอยแจ้งเตือนพี่ ๆ ก่อนรับสายโทรศัพท์ ก่อนกดโอนเงิน เพื่อจะได้ป้องกันตัวเองจากโจรอินเทอร์เน็ตที่มีอยู่จำนวนมาก
ฝากไว้ให้คิด “ม ม ม (ม.1 ไม่รับสายแปลก ม.2 ไม่กดก่อนอ่าน ม.3 ไม่ระวังตัวระวังจะโดน)”