4 ความเข้าใจผิด

                               ที่คนคิดเกี่ยวกับ กนง.

            ทุกครั้งที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจขึ้นหรือลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นวงกว้าง มีทั้งผู้ได้และเสียประโยชน์ หลายคนอาจสงสัยว่า กนง. ตัดสินนโยบายการเงินบนหลักการอะไร จำเป็นหรือไม่ที่ต้องดำเนินนโยบายตามปัจจัยด้านต่างประเทศ และต้องสอดคล้องกับทิศทางของประเทศเศรษฐกิจหลักเสมอ วันนี้พระสยาม BOT MAGAZINE จะมาไข 4 ข้อสงสัยที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับ กนง.

misconception

1. กนง. ตัดสินนโยบายการเงินแล้วมีเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่ได้ประโยชน์

 

กนง. ดำเนินนโยบายการเงินเพื่อประโยชน์ของเราทุกคน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การรักษาเสถียรภาพด้านราคา เพราะระดับราคาสินค้าที่เปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป จะช่วยให้สาธารณชนคาดการณ์ภาระค่าครองชีพและต้นทุนการผลิตได้อย่างง่ายดาย ทำให้ประชาชนมั่นใจที่จะจับจ่ายใช้สอย ภาคธุรกิจวางแผนการผลิตและลงทุนได้อย่างเหมาะสม ก่อให้เกิดรายได้และการจ้างงานที่ยั่งยืน แต่การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในระยะยาวนั้น อาจทำให้มีผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ในระยะสั้น เช่น ช่วงที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสู้กับเงินเฟ้อ ในระยะสั้น ธนาคารพาณิชย์อาจได้รับกำไรจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ต้นทุนกู้ยืมของประชาชนและธุรกิจกลับแพงขึ้น แต่ในระยะยาว เมื่ออัตราเงินเฟ้อปรับลดลงแล้ว ประชาชนและภาคธุรกิจจะได้ประโยชน์จากค่าครองชีพและต้นทุนการผลิตที่ปรับลดลง ส่งผลดีต่อการบริโภคและการผลิต ทำให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

interest rate

2. กนง. ตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายบนหอคอยงาช้าง โดยดูแค่ตัวเลข

 

กนง. กำหนดนโยบายการเงินโดยรับฟังอย่างเปิดกว้างและเข้าใจประชาชน โดย กนง. 7 ท่านประกอบด้วย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก ธปท. ถึง 4 ท่าน ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจ ตลาดการเงิน การธนาคาร ซึ่งมีจำนวนมากกว่ากรรมการที่เป็นผู้บริหาร ธปท. โดยตำแหน่ง 3 ท่าน (ผู้ว่าการ ธปท. และรองผู้ว่าการ ธปท. 2 คน) ซึ่งในการตัดสินใจนโยบายนั้น นอกจากพิจารณาจากข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ได้มาอย่างเป็นทางการแล้ว กนง. ยังได้รับฟังความเห็นและมุมมองของภาคธุรกิจ ผ่านการส่งคณะตัวแทนของ ธปท. เข้าไปพบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนมุมมองด้านเศรษฐกิจและนโยบายกับภาคธุรกิจ สมาคม องค์กร และหน่วยงานภาครัฐกว่า 800 แห่งต่อปี ตามโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจและธุรกิจ (Business Liaison Program: BLP)  ซึ่งครอบคลุมทุกสาขาธุรกิจและทุกภูมิภาคของประเทศไทย นอกจากนี้ ธปท. ยังรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่อยู่ในสื่อสังคมออนไลน์ผ่านระบบ social listening อย่างสม่ำเสมออีกด้วย

 

increterate

3. กนง. ต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามข้อมูลเงินเฟ้อที่ออกมาเสมอและทันที

 

กนง. จำเป็นต้องพิจารณาทั้งข้อมูลเงินเฟ้อในปัจจุบันที่เกิดขึ้นแล้ว และแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าควบคู่กันในการตัดสินนโยบายการเงิน ภายใต้กรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น เปรียบเหมือนกัปตันเรือที่ต้องคิดถึงหลายปัจจัย เช่น คลื่นลม กระแสน้ำ สิ่งกีดขวางโดยรอบ ในการเร่งเครื่องหรือชะลอความเร็วเพื่อให้เรือถึงจุดหมายปลายทางอย่างนิ่มนวลและปลอดภัย เพราะในความเป็นจริงนั้น กว่าการเร่งเรือหรือชะลอความเร็วจะส่งผ่านไปยังเครื่องยนต์เศรษฐกิจเต็มที่ต้องใช้เวลากว่า 6-8 ไตรมาส ดังนั้น หากในระยะข้างหน้ายังมีแรงกดดันจากเงินเฟ้อสูง กนง. จำเป็นต้องผ่อนคันเร่ง ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้แต่เนิ่น ๆ เพื่อไม่ให้ภาระค่าครองชีพและต้นทุนการผลิตปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้เศรษฐกิจหดตัวรุนแรงในระยะข้างหน้า

decreterate

4. กนง. ต้องกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามปัจจัยด้านต่างประเทศ เช่น อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ หรือค่าเงินบาท

 

กนง. กำหนดอัตราดอกเบี้ยตามบริบทของประเทศไทยเป็นหลัก ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐฯ แต่ กนง. จะพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงินของไทยเป็นสำคัญ ตัวอย่างเช่น ปี 2565 ที่เงินเฟ้อสูงทั่วโลก แต่ กนง. เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งหลังของปี ตามบริบทเศรษฐกิจและตลาดแรงงานไทยที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากการเปิดเมืองและนักท่องเที่ยวที่กลับมา ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ เร่งเหยียบเบรกตั้งแต่ต้นปี 2565 ด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละสูง ๆ เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเศรษฐกิจที่ขยายตัวร้อนแรงและตลาดแรงงานที่ตึงตัว ซึ่งหาก กนง. เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วตามสหรัฐฯ ตั้งแต่ต้นปี โดยไม่พิจารณาความเหมาะสมของบริบทเศรษฐกิจไทย ก็จะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของเอกชนเร่งสูงขึ้น การบริโภคและการลงทุนหดตัว ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยสะดุดโดยไม่จำเป็น

 

นอกจากนี้ การปรับอัตราดอกเบี้ยเพื่อดูแลค่าเงินบาทอาจไม่เกิดประสิทธิผลมากนัก เพราะในระยะสั้น ค่าเงินบาทผันผวนจากหลากหลายปัจจัย โดยเฉพาะปัจจัยจากภายนอกประเทศ เช่น ข้อมูลเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ตลาดแรงงาน และการคาดการณ์นโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก ขณะที่ประเทศไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวภายใต้การจัดการ (managed float) ซึ่งสามารถใช้การทำธุรกรรมซื้อขายเงินตราต่างประเทศ (FX intervention) เพื่อลดความผันผวนที่สูงเกินไปในระยะสั้น ควบคู่กับการส่งเสริมให้ภาคเอกชนป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างยั่งยืน จึงเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิผลมากกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อีกทั้งยังช่วยให้นโยบายการเงินมีความยืดหยุ่นเพื่อไปดูแลเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในภาพรวม ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของภาคเอกชนและเศรษฐกิจได้มากกว่า

writer

Tag ที่เกี่ยวข้อง

BOT Magazine The Knowledge Knowledge Corner กนง. อัตราดอกเบี้ยนโยบาย เงินเฟ้อ