“Just Right” - นโยบายการเงิน
อุณหภูมิที่สบาย และความหมายของ “สมดุล”
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย
16 สิงหาคม 2566
งานสัมมนาวิชาการ ธนาคารแห่งประเทศไทย
สำนักงานภาคใต้ ประจำปี 2566
ในปัจจุบัน หากอยากรู้ว่า “นโยบายการเงิน” คืออะไร วิธีที่ง่ายที่สุดคือเข้าไปใน google แล้วค้นดูคำว่า “นโยบายการเงิน” หรือ “monetary policy” ก็แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละคน
แต่เชื่อหรือไม่ว่า นอกจากคำอธิบายเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะสั้นหรือยาว เป็นวิชาการเข้มข้น หรืออยู่ในรูปแบบงานเขียนอ่านง่าย (ที่อ่านอย่างไรก็ไม่มีวันหมดแล้ว) อีกหนึ่งสิ่งที่พบเจออยู่เรื่อย ๆ ระหว่างการค้นหาคือ “เสียงบ่น” ทั้งจากผู้เชี่ยวชาญและไม่เชี่ยวชาญที่พูดถึงนโยบายการเงิน
นักเศรษฐศาสตร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญโดยตรง มักบ่นถึงประสบการณ์ความยากลำบากในการอธิบายนโยบายการเงินให้คนทั่วไปฟัง ในขณะที่คนทั่วไปก็บ่นว่านโยบายการเงินนั้นเป็นเรื่องไกลตัวและเข้าใจยาก บางคนถึงกับบอกว่า เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการเงินเป็นหนึ่งในสิ่งที่ผู้คนได้ยินได้ฟังมากที่สุด โดยเฉพาะในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ แต่กลับเป็นเรื่องที่คนเข้าใจน้อยที่สุดอย่างไม่น่าเชื่อ
อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปหนึ่งที่พระสยาม BOT MAGAZINE ค้นพบระหว่างการสำรวจคำอธิบาย “นโยบายการเงิน” คือ ธนาคารกลางทุกประเทศพยายามอย่างเต็มที่ในการสื่อสารว่า นโยบายการเงินคืออะไร และสำคัญอย่างไร เพราะยิ่งสาธารณชนมีความเข้าใจในนโยบายการเงินมากเท่าไหร่ การดำเนินนโยบายการเงินก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดทำความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับนโยบายการเงินแบบสั้นกระชับ ครบถ้วน และสามารถใช้อ้างอิงไว้ด้วยเช่นกัน[1]
ดังนั้น พื้นที่คอลัมน์ Highlight ในพระสยาม BOT MAGAZINE ฉบับนี้ อยากขอนำเสนอวิธีการทำความเข้าใจนโยบายการเงินแบบสนุก ๆ ไว้เป็นทางเลือกสำหรับผู้อ่านอีกทางหนึ่ง
[1] ดูความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับนโยบายการเงินได้ที่ www.bot.or.th/th/our-roles/monetary-policy.html
หากเราลองนึกสนุกถาม Chat GPT (เป็นภาษาอังกฤษ) ว่า “ช่วยอธิบายนโยบายการเงินแบบง่ายที่สุดให้ฟังหน่อยได้ไหม” (และลองขอดูหลาย ๆ แบบ) จะพบว่า Chat GPT กวาดเอาการเปรียบเปรยนโยบายการเงินที่เป็นตัวอย่างรูปธรรมสนุก ๆ และน่าสนใจมาได้อย่างน่าทึ่งเลย โดยหนึ่งในคำอธิบายที่เรียบง่ายและเห็นภาพได้ชัดเจน ต่อยอดมาจากแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน Milton Friedman ที่เปรียบเทียบนโยบายการเงินเป็น เครื่องมือควบคุมอุณหภูมิ หรือ thermostat
ถ้าจะให้เสริมจากแนวคิดข้างต้น คงต้องกล่าวด้วยว่า ในการดำเนินนโยบายการเงิน ธนาคารกลางมีเครื่องมือเชิงนโยบายที่ใช้ในการควบคุมอุณหภูมิของเศรษฐกิจได้หลากหลาย อาทิ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย การซื้อหรือขายพันธบัตรเพื่อเพิ่มปริมาณเงินในระบบ หรือการปรับสัดส่วนเงินสดสำรองของธนาคารพาณิชย์ ฯลฯ แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ธนาคารกลางทั่วโลกมักใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นเครื่องมือหลักในดำเนินนโยบายการเงิน
น่าสนใจว่า หากมองว่านโยบายการเงิน คือเครื่องมือควบคุมอุณภูมิห้อง และธนาคารกลางผู้ทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิห้องให้อยู่ในจุด “สมดุล (just right)” เราจะเข้าใจเศรษฐกิจการเงินโลกและเศรษฐกิจการเงินไทยได้อย่างไร
เศรษฐกิจการเงินโลกในปัจจุบันมีความซับซ้อนอย่างยิ่ง และต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่แบบที่ไม่เคยเจอมาก่อน การหา “สมดุล” ของอุณหภูมิห้องจึงมีความท้าทายอย่างยิ่ง เพราะในบริบทของเศรษฐกิจการเงินโลกปัจจุบัน “อุณหภูมิ” นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่
(1) สภาพอากาศที่แปรปรวน (ความผันผวนทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์ไม่ได้) แม้ธนาคารกลางจะใช้เครื่องมือและองค์ความรู้ที่ทันสมัยในการพยากรณ์อุณหภูมิเศรษฐกิจเพียงใด แต่คลื่นความร้อน หรือพายุหิมะ ที่ไม่ทันคาดคิดก็เกิดขึ้นได้เสมอ ดังจะเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจการเงินในปัจจุบัน ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ และเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของโควิด 19 สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ในฐานะผู้ควบคุมอุณหภูมิห้อง ธนาคารกลางจึงต้องมีความพร้อมและความยืดหยุ่นเพียงพอในการรับมือกับสถานการณ์ไม่คาดคิดอยู่เสมอ เพื่อให้ “สมดุล” ของอุณหภูมิห้องยังคงอยู่ได้
ธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลก ให้ความสำคัญกับการสื่อสารเพื่อให้สาธารณชนเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงิน
(2) ห้องมีหลายห้อง (เศรษฐกิจแต่ละภาคส่วนมีความแตกต่างกัน) จุดเด่นสำคัญของนโยบายการเงินในฐานะเครื่องควบคุมอุณหภูมิคือ ความสามารถในการควบคุมอุณหภูมิในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้น เปรียบเสมือนบ้านที่มีห้องย่อยหลายห้องที่มีอุณหภูมิแตกต่างกัน บางห้องอากาศร้อน แต่บางห้องเย็นเกินไป การหา “สมดุล” ในภาพรวมจึงมีความท้าทายอย่างยิ่ง เพราะแต่ละห้องย่อมตอบสนองต่อการปรับอุณหภูมิที่แตกต่างกัน
(3) หน้าต่างและช่องลม (โลกาภิวัตน์และการเชื่อมต่อของเศรษฐกิจการเงินโลก) เศรษฐกิจการเงินโลกในปัจจุบันไม่ใช่ห้องปิด แต่เป็นห้องที่มีหน้าต่างและช่องลมให้อุณหภูมิจากภายนอกพัดพาเข้ามาเสมอ ยิ่งเศรษฐกิจการเงินเชื่อมต่อกันอย่างเข้มข้นมากเท่าไหร่ ความร้อนหรือความเย็นจากภายนอกก็ย่อมส่งผลต่ออุณหภูมิภายในห้องมากขึ้นเท่านั้น ธนาคารกลางในฐานะผู้ควบคุมอุณภูมิจึงต้องเข้าใจภาพรวมของอากาศในระดับโลก คอยมองว่าธนาคารกลางในประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศใหญ่ ปรับอุณหภูมิอย่างไร และการปรับเปลี่ยนนั้นจะส่งผลต่ออุณหภูมิในประเทศตัวเองอย่างไร จากนั้นจึงค่อยหา “สมดุล” ที่ใช่สำหรับอุณหภูมิเศรษฐกิจในประเทศตัวเอง
(4) โครงสร้างและฉนวนกันความร้อนของห้องเปลี่ยนแปลงไป (โครงสร้างเศรษฐกิจการเงินที่เปลี่ยนแปลง) การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเศรษฐกิจอาจมีผลทำให้การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิภายในห้องต่างออกไปจากที่เคย ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนผ่านภูมิทัศน์ทางการเงินไทยไปสู่ดิจิทัลมากขึ้นย่อมทำให้การตอบสนองของภาคการเงินต่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายเปลี่ยนไป ทั้งในแง่ขนาดและเงื่อนเวลา นอกจากนี้ ธนาคารกลางจำเป็นต้องพัฒนาแนวคิดในการกำกับดูแลใหม่ที่ตอบโจทย์มากขึ้น[1]
(5) อุณหภูมิที่ทำให้แต่ละคนรู้สึกสบายอาจไม่เหมือนกัน บางกลุ่มอาจกลัวเป็นหวัดและรู้สึกสบายใจกับห้องที่อุณหภูมิอุ่นสักหน่อย ในขณะที่อีกกลุ่มอาจเป็นคนขี้ร้อนและอยากให้อุณหภูมิในห้องเย็น ในทำนองเดียวกัน สำหรับเศรษฐกิจการเงินที่มีความซับซ้อน ความคาดหวังของสาธารณชนต่อเงินเฟ้อ การว่างงาน และการเติบโตทางเศรษฐกิจย่อมมีความแตกต่างกัน ในฐานะผู้ควบคุมอุณหภูมิ ธนาคารกลางจะต้องทำให้สาธารณะเชื่อถือให้ได้ว่าอุณหภูมิที่ธนาคารกลางเห็นว่า “สมดุล” นั้นเป็นประโยชน์ต่างประเทศอย่างแท้จริง
ธนาคารกลางสมัยใหม่กำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างยิ่งในการบริหารเศรษฐกิจการเงินที่มีความซับซ้อนและมีตัวแปรจำนวนมากที่ต้องคำนึงถึง โดยที่ตัวแปรแต่ละตัวก็มีเงื่อนไขและปัญหาเฉพาะในแบบของตน ในโลกที่ซับซ้อนแบบนี้ ธนาคารกลางต้องมองเห็นภาพรวม ประเมินปัญหาอย่างเท่าทัน ตัดสินใจเลือกนโยบายเพื่อส่งสัญญาณที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ที่สำคัญต้องประเมินผลลัพธ์ของนโยบาย และพร้อมปรับตัวอยู่เสมอ
[1] ดูการปรับภูมิทัศน์ภาคการเงินไทยได้ที่ www.bot.or.th/th/financial-innovation/financial-landscape.html
ธปท. ตระหนักถึงความท้าทายในการดูแลเศรษฐกิจการเงินไทยเป็นอย่างดี จึงได้ออกแบบกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายที่จะช่วยรับประกันได้ว่า นโยบายการเงินจะช่วยทำให้อุณหภูมิของเศรษฐกิจไทยมีความเหมาะสม ไม่ร้อนเกินไป ไม่หนาวเกินไป มี “สมดุล” ที่ตอบโจทย์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. คือ ผู้กำหนดนโยบายการเงินของไทย ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้บริหาร ธปท. 3 คน และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก ธปท. 4 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์หรือด้านการเงินการธนาคารซึ่งผ่านกระบวนการคัดเลือก มีวาระคราวละ 3 ปี และดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ จุดเด่นของ กนง. คือ การออกแบบให้มีความคิดเห็นที่หลากหลาย มิใช่ความเห็นจาก ธปท. เพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ กระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายของ กนง. ถูกออกแบบให้มีความรัดกุมภายใต้ทีมงานที่เข้มแข็งคอยสนับสนุน การประชุมและการหาข้อสรุปของ กนง. จะต้องอยู่บนพื้นฐานความรู้ที่ทันสมัย มีข้อมูลที่อัปเดตทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพหนุนหลัง และการตัดสินใจทุกครั้งก็จะเปิดเผยจำนวนคะแนนเสียงพร้อมกับเหตุผลของการตัดสินนโยบายการเงินต่อสาธารณะ เพื่อความโปร่งใสของการดำเนินนโยบาย
กระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายของ กนง. มุ่งที่จะเป็นโมเดลกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายที่ดีที่สุดแบบหนึ่งของประเทศ และเป็นที่ยอมรับจากชุมชนนโยบายสาธารณะ
และพระสยาม BOT MAGAZINE ฉบับนี้ จะพาท่านผู้อ่านไปเจาะลึกเบื้องหลังการทำนโยบายการเงินของ ธปท.
โปรดพลิกอ่านเนื้อหาส่วนอื่นโดยพลัน
บรรยากาศการประชุม กนง. ครั้งที่ 4/2566 วันแรก เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2566
กรรมการ กนง. หารือก่อนการประชุม
ทีมงานเลขานุการ กนง. ขณะเตรียมการประชุม