BEHIND THE SCENES

เปิดเบื้องหลังการประชุม กนง.

 

                                       

           วังบางขุนพรหมตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเชิงสะพานพระราม 8 ประตูรั้วของที่นี่ได้ชื่อว่าสวยที่สุดในยุคหนึ่งของไทย เมื่อมองเข้าไปจะพบกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานใหญ่ ที่นี่เป็นศูนย์กลางในการกำหนดนโยบายการเงินหรือการขยับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อันจะมีผลไปทั่วทั้งเศรษฐกิจไทย ในบทความนี้ ผมขอชวนทุกท่านเดินเข้ามาในรั้ววังบางขุนพรหม เพื่อชมเบื้องหลังการประชุมการกำหนดนโยบายการเงินกัน 

misconception
misconception

ความเป็นอิสระของนโยบายการเงิน

 

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เป็นคณะกรรมการชุดหนึ่งใน ธปท. ทำหน้าที่ตัดสินใจเรื่องนโยบายการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการขึ้น-คง-ลด “อัตราดอกเบี้ยนโยบาย” โดยกรรมการ กนง. มี 7 ท่าน เป็นผู้บริหาร ธปท. 3 ท่าน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก 4 ท่าน ซึ่งกรรมการจากภายนอกที่มีจำนวนมากกว่าภายใน ธปท. สะท้อนการเปิดกว้างเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภายนอก

 

กนง. และกระทรวงการคลังร่วมกันกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินเป็นประจำทุกปี โดยคณะรัฐมนตรีเป็นผู้อนุมัติเป้าหมาย (ปัจจุบันใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ 1–3% เป็นกรอบเป้าหมาย) แต่สำหรับวิธีการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น กนง. มีอิสระเต็มที่ในการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน หรือเรียกว่ามีอิสระในการทำงาน (operational independence) นั่นเอง

 

ในบางครั้งที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง. จะเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยในจดหมายดังกล่าวจะอธิบายถึงสาเหตุที่เงินเฟ้อออกนอกกรอบเป้าหมาย แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป และระยะเวลาที่คาดว่าเงินเฟ้อจะกลับสู่กรอบเป้าหมาย โดย กนง. จะเปิดเผยเนื้อหาของจดหมายเปิดผนึกต่อสาธารณชน อันเป็นการสื่อสารเพื่อแสดงความรับผิดชอบและความโปร่งใสนั่นเอง

กนง. ต้องประชุมกันบ่อยแค่ไหน

 

ปัจจุบัน กนง. ประชุม 6 ครั้งต่อปี แต่ละครั้งห่างกันประมาณ 7–10 สัปดาห์ โดยจะประกาศตารางการประชุมทั้งปีล่วงหน้าให้สาธารณชนรับทราบ (ประมาณไตรมาสที่ 4 ของปีก่อนหน้า) ซึ่งความถี่ในระดับนี้จะทำให้การประชุมของ กนง. มีข้อมูลเศรษฐกิจและเงินเฟ้อประมาณ 2 เดือน และมีข้อมูลใหม่ ๆ เพียงพอที่จะชี้ทิศทางของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไปข้างหน้าได้ชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ดี หากมีสถานการณ์เร่งด่วน กนง. สามารถเรียกประชุมรอบพิเศษได้ อย่างเช่นในเดือนมีนาคม 2563 ที่มีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากวิกฤตโควิด 19 ที่รุนแรงขึ้นทั่วโลก

การประชุม กนง. แต่ละครั้งเริ่มต้นอย่างไร

 

ในการประชุม กนง. แต่ละครั้ง กรรมการจะฝากโจทย์ด้านเศรษฐกิจและการเงินให้ฝ่ายเลขานุการไปศึกษาวิเคราะห์เพิ่มเติมสำหรับการประชุมรอบถัดไป ซึ่งภายใน 2 สัปดาห์หลังจบการประชุม กนง. ทีมงานฝ่ายเลขานุการจะจัดประชุมร่วมกับส่วนงานภายในที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดประเด็นที่จะวิเคราะห์ใน กนง. รอบถัดไป (เรียกว่า Issue Meeting) โดยรวบรวมทั้งโจทย์ที่กรรมการฝากไว้และสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงเวลานั้น ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินนโยบายการเงิน

 

ในห้วงเวลาระหว่างการประชุม กนง. แต่ละรอบ กรรมการจะติดตามข้อมูลเศรษฐกิจ โดยมีเจ้าหน้าที่ช่วยงานกรรมการ (liaison) จากทาง ธปท. โดย liaison จะช่วยกรรมการค้นคว้าข้อมูลที่ต้องการ และกรรมการยังฝากโจทย์เพิ่มเติมผ่านทาง liaison มายังฝ่ายเลขานุการอีกด้วย

 

หากโจทย์ที่ได้รับมาไม่สามารถหาคำตอบได้จากข้อมูลตัวเลขเชิงสถิติ แต่ต้องการข้อมูลเชิงลึกจากภาคสนาม ทีมงานของ ธปท. ที่รับผิดชอบด้านวิเคราะห์สนเทศธุรกิจและครัวเรือน ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจและธุรกิจระหว่าง ธปท. กับผู้ประกอบธุรกิจ (Business Liaison Program: BLP) ทั้งจากสำนักงานใหญ่และสำนักงานภาคทั้ง 3 แห่ง (ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้) จะนำโจทย์ดังกล่าว ลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ประกอบการและหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อหาคำตอบ รวมถึงช่วยจับชีพจรเศรษฐกิจในพื้นที่ รับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ มากลั่นกรองให้ กนง. รับทราบ รวมถึงสำนักงาน ธปท. ในต่างประเทศ เช่น ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ก็จะสังเคราะห์ข้อมูลจากการลงพื้นที่ภาคสนามและเข้าพบหน่วยงานต่าง ๆ ในจีน แล้วส่งสรุปสถานการณ์เศรษฐกิจจีนมาเป็นข้อมูลให้ กนง. เช่นกัน

ิfactory

ลงพื้นที่พบผู้ประกอบการเพื่อติดตามสถานการณ์และแนวโน้มธุรกิจในภาคการผลิตอาหารทะเลแปรรูป

มองไปข้างหน้าด้วยการพยากรณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ

 

กว่านโยบายการเงินแต่ละครั้งจะส่งผลไปยังเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ ต้องใช้เวลา 4–8 ไตรมาส กนง. จึงต้องประเมินภาพเศรษฐกิจไปข้างหน้าให้ชัดเจนที่สุด ดังนั้น การพยากรณ์แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ หรือที่เรียกว่าการทำประมาณการ (forecast) จึงเป็นเครื่องมือสำคัญของธนาคารกลางทั่วโลก ซึ่งทีมงานของ ธปท. จะจัดทำประมาณการไปข้างหน้า 8 ไตรมาส หรือเท่ากับ 2 ปี เพื่อประกอบการตัดสินนโยบายการเงิน และ กนง. จะพิจารณาอนุมัติเผยแพร่ประมาณการดังกล่าวเป็นรายไตรมาส

 

ก่อนประชุม กนง. ประมาณ 3 สัปดาห์ กระบวนการพยากรณ์จะเริ่มต้นจากการประชุมจัดทำข้อสมมติที่ใช้ในประมาณการ (assumptions) ในช่วง 8 ไตรมาสข้างหน้า เช่น การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ราคาน้ำมัน การใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งข้อสมมติเหล่านี้เป็นตัวแปรสำคัญที่ใส่ลงไปในแบบจำลองทางเศรษฐกิจ (economic model) เพื่อพยากรณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อในอนาคต

 

ขั้นต่อมา คือ การประมาณการจีดีพีของไตรมาสล่าสุด เพื่อให้จุดตั้งต้นของประมาณการมีความแม่นยำมากขึ้น ใกล้เคียงความจริงที่สุด โดยนำข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด 2-3 เดือนในไตรมาสนั้นมาพยากรณ์จีดีพีของทั้งไตรมาสด้วยเครื่องมือต่าง ๆ เช่น National Account Forecasting Framework (NAFF) หรือใช้วิธี Nowcasting[1] อื่น ๆ นอกจากนี้ การทำประมาณการเงินเฟ้อของไตรมาสล่าสุดจากรายองค์ประกอบหรือรายหมวดสินค้า ก็ช่วยให้ประมาณการเงินเฟ้อมีความแม่นยำมากขึ้นเช่นกัน

 

สำหรับประมาณการไปข้างหน้า 8 ไตรมาสนั้น ทีมงาน ธปท. จะใช้แบบจำลองทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น BOT Macroeconometric Model (BOTMM) หรือ Integrated Policy Macroeconomic Model (IPMM) ประกอบกับข้อมูลเชิงคุณภาพที่ได้จาก BLP และความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ประมาณการเศรษฐกิจใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด

 

อย่างไรก็ดี ประมาณการย่อมมีความไม่แน่นอน ธปท. จึงจัดทำแผนภูมิรูปพัด (fan chart) เพื่อสะท้อนโอกาสที่จีดีพีและเงินเฟ้อจะสูงกว่าหรือต่ำกว่ากรณีฐานมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ หากมีความไม่แน่นอนสูงมาก ประมาณการจะจัดทำแยกเป็น “ฉากทัศน์ (scenario)” อย่างในช่วงวิกฤตโควิด 19 ที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับฉากทัศน์ในเรื่องความเสี่ยงของโควิด 19 ว่าจะระบาดรุนแรงน้อย ปานกลาง หรือมาก (สามารถอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับการพยากรณ์แนวโน้มเศรษฐกิจได้ในคอลัมน์ The Knowledge หน้า 24)

 

[1] Nowcasting คือ การใช้ข้อมูลรายเดือนของไตรมาสล่าสุด มาคาดการณ์ตัวเลขจีดีพีไตรมาสนั้นๆ ระหว่างรอตัวเลขจริงที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะเผยแพร่

writer
writer

ก่อนโค้งสำคัญ : การสรุปข้อมูลภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจ

 

ในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนประชุม กนง. ทีมงาน ธปท. ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะมาประชุมเพื่อสรุปข้อมูลภาวะเศรษฐกิจล่าสุด และสรุปตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจที่จะนำเสนอ กนง. ก่อนเผยแพร่ รวมทั้งข้อมูลอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการตัดสินนโยบายการเงิน เช่น ภาวะและแนวโน้มตลาดการเงิน ภาวะและแนวโน้มเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งเรียกว่า Dry Run Meeting หรืออธิบายง่าย ๆ ก็คือ เป็นการซ้อมใหญ่ก่อนนำเสนอข้อมูลให้ กนง. นั่นเอง

 

หลังจากประชุม Dry Run ฝ่ายเลขานุการจะจัดทำเอกสารการประชุมส่งให้กรรมการโดยแบ่งเป็น 2 แฟ้ม แฟ้มแรกเรียกว่า “เอกสารเล่มเขียว” เป็นสไลด์ของแต่ละวาระที่จะนำเสนอแก่ กนง. ในวันประชุม อีกแฟ้มเรียกว่า “เอกสารเล่มฟ้า” เป็นข้อมูลเศรษฐกิจและการเงินในรายละเอียด ข้อมูลเชิงคุณภาพจากการสัมภาษณ์และลงพื้นที่ (BLP) โดยรวมถึงบทวิเคราะห์ประเด็นพิเศษในรายละเอียด ทั้งนี้ เอกสารการประชุมข้างต้นจะส่งให้กรรมการล่วงหน้าประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนประชุม กนง. วันแรก เพื่อให้กรรมการมีเวลาศึกษาข้อมูลอย่างเพียงพอ

writer

ช่วงเวลางดให้สัมภาษณ์ (Silent Period หรือ Blackout Period)

 

ในช่วงก่อนการตัดสินนโยบายการเงิน หากสาธารณชนได้รับข้อมูลที่แตกต่างกันอาจสร้างความสับสนและทำให้วางแผนเรื่องต่าง ๆ ผิดพลาดได้ นอกจากนี้ หากมีผู้ทราบข้อมูลทิศทางนโยบายการเงินมากกว่าผู้อื่นจะมีความได้เปรียบและนำไปแสวงหาประโยชน์ได้ ดังนั้น ธนาคารกลางทั่วโลกจึงงดการให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับทิศทางของนโยบายการเงินในช่วงก่อนประชุมตัดสินใจ เรียกว่า silent period หรือ blackout period โดยในช่วงเวลานี้ กรรมการ กนง. รวมทั้งเจ้าหน้าที่ ธปท. ซึ่งเกี่ยวข้องกับการประชุมจะงดให้สัมภาษณ์ รวมถึงงดการซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยเพื่อป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (conflict of interest) โดย ธปท. กำหนด silent period เป็นระยะเวลา 12 วัน (รวมวันเสาร์-อาทิตย์) ก่อนวันตัดสินนโยบายการเงินที่ประกาศแก่สาธารณชน ทั้งนี้ เพื่อให้ครอบคลุมเวลาหนึ่งสัปดาห์ก่อนการประชุม กนง. วันแรก ซึ่งกรรมการจะเริ่มรับทราบข้อมูลที่ฝ่ายเลขานุการส่งให้แล้ว

การจัดทำข้อเสนอแนะในการดำเนินนโยบายการเงิน

 

ในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนการตัดสินนโยบายการเงิน ผู้บริหาร ธปท. ในสายนโยบายการเงิน ซึ่งทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของ กนง. จะประชุมร่วมกันเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแก่ กนง. (Policy Recommendation Meeting) ว่าควรดำเนินนโยบายการเงินอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจ เงินเฟ้อและเสถียรภาพระบบการเงินในระยะข้างหน้า โดยวิเคราะห์ทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านและครบถ้วน ประเมินข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือกเชิงนโยบาย เพื่อให้กรรมการ กนง. เห็นภาพที่ชัดเจนที่สุดประกอบการตัดสินใจขึ้น-คง-ลด อัตราดอกเบี้ยนโยบาย

 

Pre D-day : การประชุม กนง. วันแรก

 

ในการประชุม กนง. แต่ละรอบ กรรมการจะมาประชุมร่วมกัน 2 วัน โดยการประชุมวันแรกมักเป็นวันศุกร์ (5 วันก่อนการตัดสินนโยบาย) ซึ่งอาจเป็นช่วงครึ่งวันเช้าหรือครึ่งวันบ่าย สำหรับวาระการประชุมจะครอบคลุมภาวะและแนวโน้มในหลายเรื่อง อาทิ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย อัตราเงินเฟ้อ ตลาดการเงิน เสถียรภาพระบบการเงิน และประเด็นสำคัญอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประชุมรอบนั้น โดยมีผู้บริหาร ธปท. ที่ดูแลในแต่ละด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านตลาดการเงิน ด้านสถาบันการเงิน เข้าประชุมอย่างครบถ้วน ซึ่งกรรมการ กนง. จะซักถามฝ่ายเลขานุการ รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันเพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ให้ชัดเจน จากนั้น กนง. จะอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกรรมการเกี่ยวกับผลต่อทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้แนวโน้มเศรษฐกิจล่าสุด

 

ในการประชุมวันแรกนี้จะยังไม่มีการลงมติตัดสินใจ กรรมการ กนง. จะยังมีเวลากลับไปคิดทบทวนนโยบายการเงินที่เหมาะสม ก่อนมาประชุมในวันที่สองเพื่อลงมติ

meeting
meeting
meeting

ภาพบรรยากาศการประชุม กนง. วันแรก

On the D-day : การประชุม กนง. วันที่สอง

 

การประชุม กนง. วันที่สอง เป็นวันตัดสินนโยบายการเงินที่ประกาศแก่สาธารณชน โดยจะเริ่มประชุมตั้งแต่ 8.30 น. ของเช้าวันพุธ วาระการประชุมของวันนี้จะเริ่มตั้งแต่ฝ่ายเลขานุการตอบคำถามของ กนง. ที่อาจฝากโจทย์ไว้ในการประชุมวันแรก ต่อมาเลขานุการ กนง. จะนำเสนอแนวทางการดำเนินนโยบายที่เหมาะสมแก่กรรมการ กนง. ซึ่งอาจมีหลายทางเลือก จากนั้นจะเป็นช่วงเวลาการอภิปรายอย่างกว้างขวางของกรรมการทั้ง 7 ท่าน เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงิน กรรมการทุกท่านล้วนมีประสบการณ์และมุมมองที่หลากหลายจึงอาจมีความเห็นต่างกันบ้าง แต่ทุกท่านจะแลกเปลี่ยนความเห็นและรับฟังซึ่งกันและกันอย่างเต็มที่ เมื่อการอภิปรายจบลง จะเป็นการลงมติตัดสินของกรรมการ กนง. แต่ละท่านพร้อมให้เหตุผลประกอบการตัดสินใจ เมื่อลงมติเสร็จสิ้นแล้ว กรรมการทุกท่านจะร่วมกันปรับร่างแถลงข่าวผลการประชุม กนง. เพื่อให้สอดคล้องกับการอภิปรายและเหตุผลที่ให้ในช่วงการลงมติตัดสินนโยบายการเงิน ในบางครั้งที่สถานการณ์ซับซ้อนยากต่อการตัดสินใจ การประชุม กนง. อาจใช้เวลานานจนเลยเวลาอาหารเที่ยงยาวไปจนบ่ายโมงก็มี 

การสื่อสารนโยบายการเงินหลังการประชุม

 

หลังกรรมการ กนง. อนุมัติร่างแถลงข่าวผลการประชุมแล้ว ฝ่ายเลขานุการจะเร่งแปลเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อนำเอกสารแถลงข่าวผลการประชุมทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษเผยแพร่ทางเว็บไซต์ ธปท. เวลา 14.00 น. เพื่อให้ทั่วโลกรับทราบผลการประชุมพร้อมกัน เนื่องจากการตัดสินนโยบายการเงินมีผลกระทบต่อทั้งตลาดการเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยน นักลงทุนและนักวิเคราะห์ทั่วโลกจึงเฝ้ารอข่าวดังกล่าว

 

หลังจากนั้นเวลา 14.30 น. ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ในฐานะเลขานุการ กนง. จะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเพื่อตอบข้อสอบถาม โดยมีการถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook Live อีกด้วย ทั้งนี้ หากเป็นรอบการประชุม กนง. ที่เผยแพร่ประมาณการแนวโน้มจีดีพีและเงินเฟ้อ ข้อมูลดังกล่าวก็จะเผยแพร่ในวันแถลงข่าวผลการประชุม กนง. เช่นกัน

 

หลังจากการประชุม 2 สัปดาห์ กนง. จะเผยแพร่รายงานการประชุม กนง. (ฉบับย่อ) หรือที่เรียกว่า edited minutes ผ่านทางเว็บไซต์ ธปท. เอกสารดังกล่าวจะสรุปสาระสำคัญของข้อมูลที่ฝ่ายเลขานุการนำเสนอและประเด็นสำคัญที่กรรมการอภิปราย รวมถึงเหตุผลในการตัดสินนโยบายการเงินของกรรมการ กนง. ทั้งฝ่ายเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อยหากมติไม่เป็นเอกฉันท์

 

นอกจากนี้ หากเป็นรอบที่มีการเผยแพร่ประมาณการแนวโน้มจีดีพีและเงินเฟ้อ กนง. จะเผยแพร่รายงานนโยบายการเงิน (Monetary Policy Report: MPR) ประจำไตรมาสนั้นหลังการประชุม 2 สัปดาห์ และจะจัดประชุมกับนักวิเคราะห์เศรษฐกิจที่เรียกว่า Monetary Policy Forum โดยงานดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อตอบคำถามเชิงลึกของนักวิเคราะห์ แต่ก็มีการถ่ายทอดสดเพื่อเป็นประโยชน์แก่สาธารณชนที่สนใจด้วย

FBlive

การแถลงข่าวภายหลังการประชุม กนง. ครั้งที่ 4/2566 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2566 ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของ ธปท. 

บทส่งท้าย

 

ผมมี 2 เรื่องที่อยากเล่าส่งท้าย จากที่ได้มีโอกาสอยู่ในกระบวนการประชุม กนง. เรื่องแรกคือ ผมเชื่อว่าการประชุม กนง. เป็นการตัดสินใจซึ่งใช้ข้อมูลเศรษฐกิจที่ดีที่สุดและมากที่สุดในประเทศ โดยข้อมูลที่ส่งให้ กนง. เป็นข้อมูลเชิงลึกที่ครอบคลุมทุกด้านของเศรษฐกิจไทย เรื่องที่สองคือ เบื้องหลังการประชุม กนง. ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นกระบวนการในปัจจุบัน แต่การประชุม กนง. ได้ปรับปรุงกระบวนการอยู่เสมอ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงเวลา ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นในปี 2543 มาจนถึงปัจจุบันในปี 2566 ทั้งนี้ กระบวนการประชุม กนง. ในอนาคตคงไม่เหมือนเดิม แต่จะมีพัฒนาการต่อไปให้ดียิ่งขึ้นแน่นอนครับ  

vocab
writer

Tag ที่เกี่ยวข้อง

BOT Magazine Special Scoop Knowledge Corner นโยบายการเงิน กนง. อัตราดอกเบี้ยนโยบาย