คู่มือแก้ปัญหา ถ้าตกเป็นเหยื่อภัยการเงิน

          ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้มิจฉาชีพหามุขมาหลอกลวงผู้บริโภคได้แยบยลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปลอมตัวเป็นญาติสนิทมิตรสหาย บ้างก็หลอกว่าเป็นพนักงานขององค์กรขนาดใหญ่ ไปจนถึงการสร้างแอปพลิเคชันปลอมที่เนียนสุด ๆ จนเหยื่อหลายคนเผลอกดดาวน์โหลดมาเก็บไว้ในโทรศัพท์

 

          แล้วถ้าบังเอิญเผลอคุยกับมิจฉาชีพจนโหลดแอปฯ ประหลาดไปแล้วจะทำอย่างไร มาดูคู่มือแก้ปัญหาแบบแจกแจงทุกขั้นตอน ถ้าตกเป็นเหยื่อกันครับ

financial fraud literacy

Step 1 รู้เขาหลอก อย่าเต็มใจให้หลอก

 

          กรณีมีสายโทรเข้า ดูแล้วเบอร์ก็ไม่คุ้น เช่น เบอร์ที่ไม่ได้บันทึกชื่อไว้ หรือเป็นเบอร์จากต่างประเทศที่มีเครื่องหมาย + นำหน้า ให้ตั้งสติแล้วทำตามขั้นตอน ดังนี้

 

          1. ถามตัวเองก่อนรับโทรศัพท์เสมอว่า มีคนที่ไม่อยู่ในรายชื่อเบอร์โทรของเราต้องการโทรหาเราจริง ๆ เหรอ หรือมีคนที่ต้องการโทรหาเราจากต่างประเทศด้วยเหรอ ถ้าไม่มีก็ไม่จำเป็นต้องรับสายนี้ เพราะคงเป็นมิจฉาชีพโทรมาแน่นอน

 

          2. เมื่อรับโทรศัพท์และคุยด้วยแล้ว เขาเป็นบุคคลที่อ้างถึงจริง ๆ เหรอ ตั้งสติ ฉุกคิด หยุดคุย วางสายแล้วรีบโทรไปตรวจสอบข้อมูลจากผู้รู้หรือหน่วยงานที่ถูกแอบอ้างก่อนเสมอ เช่น ธนาคาร สำนักงานเขต หรือสรรพากร เพื่อเช็กให้ชัวร์ว่าคนที่โทรเข้ามาเป็นของแท้หรือแค่มิจฉาชีพ

 

          3. เมื่อแน่ใจว่าเป็นมิจฉาชีพ ให้บล็อกเบอร์โทรศัพท์ เพื่อป้องกันไม่ให้โทรมาก่อกวนอีก หรือรายงานผ่านแอปพลิเคชันที่ช่วยในการตรวจสอบเบอร์ของคนที่โทรเข้ามาเบื้องต้น เช่น whoscall, showcaller, หรือ call control หรือรายงานไปยังผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ที่เราใช้บริการเพื่อบล็อกเบอร์ เช่น AIS โทร.1185 True โทร.9777 และ Dtac โทร.1678 ก็จะเป็นการป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพใช้เบอร์นี้ในการไปหลอกลวงคนอื่นได้อีก 

do not answer call

Step 2 ไม่คลิกลิงก์หรือดาวน์โหลดแอปฯ ที่คนแปลกหน้าส่งให้

 

          เพื่อควบคุมโทรศัพท์เหยื่อจากทางไกล มิจฉาชีพจะต้องหลอกล่อให้เหยื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชันควบคุมให้ได้ ไม่ว่าจะด้วยเล่ห์กลใด เช่น ขอเพิ่มเพื่อนในไลน์แล้วบอกว่าต้องกรอกเอกสาร หลังจากนั้นก็ส่งลิงก์ให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่ปลอมให้ดูคล้ายกับของจริงมาก ๆ หากเหยื่อกดตกลงหรือยินยอม มิจฉาชีพก็จะเริ่มกระบวนการยักย้ายถ่ายเงินจากบัญชีที่เรามีแอปฯ ธนาคารในโทรศัพท์เครื่องนั้น เมื่อสงสัยว่าในโทรศัพท์อาจมีแอปฯ ควบคุมจากระยะไกลแล้ว หรือเผลอกดลิงก์แปลก ๆ ที่มีคนส่งมาให้ เราควรทำอย่างไรดี

 

          1. หากต้องการตรวจสอบว่าถูกควบคุมโทรศัพท์ไปหรือยัง ทำได้โดยเข้าไปที่หน้าการตั้งค่า และทดลองรีเซตเครื่อง ถ้าเข้าไม่ได้ หรือเข้าแล้วหน้าจอเด้งออกมาที่หน้าหลัก แสดงว่าถูกควบคุมหรือโจมตีไปแล้ว เพราะฉะนั้น ห้าม! กดยืนยันใด ๆ เด็ดขาด แล้วรีบทำตามข้อต่อไป

 

          2. หากแน่ใจว่าถูกควบคุมโทรศัพท์ ให้รีบปิดการรับสัญญาณอินเทอร์เน็ตของโทรศัพท์มือถือ จะเปิด airplane mode หรือจะปิดเครื่อง ถอดซิม ถอดแบตเตอรี่ ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน เพื่อตัดการเชื่อมต่อจากอุปกรณ์ของมิจฉาชีพมาที่โทรศัพท์ของเรา

 

          3. ทำการรีเซตโทรศัพท์ใหม่ทั้งหมด หรืออาจทำ factory reset เพื่อความปลอดภัยในการใช้งานโทรศัพท์เครื่องเดิมต่อไป

Step 3 แจ้งความเมื่อได้รับความเสียหาย

 

          บางคนอาจเผลอโอนเงิน หรือโดนแอปฯ ดูดเงินไปแล้ว อย่าเพิ่งท้อใจไปครับ เรายังอาจได้เงินคืนมาถ้าทำตามนี้

 

          1. รีบแจ้งธนาคารที่เรามีแอปฯ ในโทรศัพท์ให้ทราบ ไม่ว่าจะผ่าน hotline ที่แต่ละธนาคารจัดเตรียมไว้ให้ หรือเดินทางไปติดต่อที่สาขาธนาคาร เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทางธนาคารจะสามารถระงับบัญชีรวมทั้งเงินที่ออกจากบัญชีของเราไว้ได้นาน 72 ชั่วโมง ในขั้นตอนนี้เราจะได้รับ เลขที่คำขอ (Bank Case ID) เพื่อเป็นหลักฐานว่าธนาคารได้รับข้อร้องเรียนไว้แล้ว และให้ธนาคารระงับบัญชีปลายทางที่เงินเราถูกโอนไป

          

          2. ในช่วง 72 ชั่วโมงนี้ เราจะต้องแจ้งความกับตำรวจที่สาขาใดก็ได้ หรือผ่านทางตำรวจออนไลน์บนเว็บไซต์ (https://thaipoliceonline.com/) เพื่อให้ตำรวจทำงานร่วมกับธนาคาร ในการตรวจสอบเส้นทางการเงินและยืดเวลาระงับบัญชีต่อไปอีก 7 วัน โดยหากมีมูลเหตุเข้าข่ายการกระทำความผิด ตำรวจจะส่งหมายให้ธนาคารอายัดบัญชีจนกว่ากระบวนการสืบสวนจะแล้วเสร็จ

          

          3. เก็บข้อมูลและหลักฐานทั้งหมดก่อนรีเซตโทรศัพท์

 

          4. หากต้องการติดต่อสอบถามความคืบหน้าเพิ่มเติม ก็นำเลขที่คำขอไปสอบถามกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพนักงานธนาคารได้

ไม่ใช่เหยื่อแต่อย่าหลงกลจนกลายเป็นบัญชีม้า

 

          สำหรับบางคนไม่ได้คลิกลิงก์และก็ไม่ได้ดาวน์โหลดแอปฯ ปลอมเลย แต่ถูกดึงมาเกี่ยวข้องด้วยการใช้เป็นบัญชีม้า หากมีเงินโอนเข้า-ออกจากบัญชีของคุณโดยไม่รู้ที่มา ให้ทำตามขั้นตอนต่อไปนี้

 

          1. ถ้ามี SMS เข้ามาว่ามีการโอนเงินเข้า-ออกจากบัญชีของคุณพร้อมแนบลิงก์ให้กดดูรายละเอียด ห้ามกดลิงก์! เพราะธนาคารยกเลิกการส่งลิงก์ให้ลูกค้าผ่านทาง SMS และ e-mail ครบทุกแห่งแล้วตั้งแต่ 30 มิถุนายน 2566

 

          2. ถ้ามีคนโทรศัพท์มาบอกว่าโอนเงินผิด ขอให้โอนเงินกลับ อย่าเพิ่งโอน! หากเราโอนเงินต่อให้คนอื่น ทันทีบัญชีของเราอาจกลายเป็นเส้นทางหนึ่งของบัญชีม้า ควรติดต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อขอให้ธนาคารช่วยดำเนินการระงับวงเงินจำนวนเท่ากับที่มีคนโทรมาแจ้ง

 

          3. เข้าเว็บไซต์ thaipoliceonline.com เพื่อแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน ป้องกันการถูกกล่าวหาว่าไม่ยอมโอนเงินคืนเจ้าของเงินที่แท้จริง

punishment
pawas

Tag ที่เกี่ยวข้อง

The Knowledge ภัยทางการเงิน BOT Magazine Knowledge Corner