มองหนี้ครัวเรือนระดับโลก :
แบบไหนที่เป็นปัญหาและจะแก้ปัญหาอย่างไร

debt

จริงหรือไม่ที่ “คนที่มีหนี้มาก มีแต่คนรวย”

 

จากรายงาน Allianz Global Wealth Report 2023 ชี้ว่า คนสวิตเซอร์แลนด์มีสินทรัพย์เฉลี่ยต่อหัวสูงที่สุดในโลก อยู่ที่ 356,310 ยูโร (ประมาณ 13.3 ล้านบาท) แต่ในขณะเดียวกันข้อมูลจากธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ชี้ว่า คนสวิตเซอร์แลนด์ก็มีหนี้ครัวเรือนเฉลี่ยต่อหัวสูงถึง 159,160 ยูโร (ประมาณ 6 ล้านบาท) สวิตเซอร์แลนด์จึงเป็นประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี สูงถึง 128% ซึ่งสูงที่สุดในโลก

 

หรือคนที่มีหนี้มากจะมีแต่คนรวยจริง ๆ

 

หากดูประเทศที่มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงที่สุดในโลก 10 อันดับแรก ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และยังเป็นประเทศที่มักได้รับการยกย่องชื่นชมว่าประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีเยี่ยม โดยมีเพียงไทยซึ่งอยู่ในอันดับที่ 7 ที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา

 

 

10 อันดับประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนสูงที่สุดในปี 2566

สวิตเซอร์แลนด์ (128%) ออสเตรเลีย (111%) แคนาดา (103%) เกาหลีใต้ (102%) ฮ่องกง (96%)
นิวซีแลนด์ (93%) เนเธอร์แลนด์ (91%) ไทย (91%) สวีเดน (85%) และเดนมาร์ก (84%)

 

10 อันดับประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนน้อยที่สุดในโลกในปี 2566

อาร์เจนตินา (4%) ตุรเคีย (11.8%) ซาอุดิอาระเบีย (16%) เม็กซิโก (16.2%) ฮังการี (17.6%)
รัสเซีย (21.8%) ลิธัวเนีย (21.91%) โปแลนด์ (24.4%) ไอร์แลนด์ (25.4%) โคลัมเบีย (27.72%)

 

ที่มาข้อมูล : Trading Economics, 2023

 

ในทางกลับกัน หากไปดูประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี น้อยที่สุดในโลก (ไม่นับประเทศที่ไม่มีข้อมูล) ประเทศเหล่านี้ล้วนแต่เป็นประเทศกำลังพัฒนาเสียเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นซาอุดิอาระเบียที่ร่ำรวยจากการขายน้ำมัน

 

ตัวเลขนี้สะท้อนว่า การเป็นหนี้อาจไม่ใช่ปัญหา

 

อันที่จริง นักเศรษฐศาสตร์ไม่ได้มองการเป็นหนี้ในทางลบ หากแต่มองในทางบวกด้วยซ้ำ เพราะหนี้ถือเป็นกลไกสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในระบบเศรษฐกิจ ที่ช่วยดึงทรัพยากรจากคนที่มีเงินออม (ผู้ให้กู้) ไปให้คนที่ต้องการใช้เงิน (ผู้กู้) ซึ่งทำให้ระบบจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

คำถามที่สำคัญกว่าคือ กู้ หรือ เป็นหนี้ ไปเพื่ออะไร?

หนี้ครัวเรือนในประเทศพัฒนาแล้ว : หนี้สูง แต่เป็นหนี้เพื่ออนาคต

 

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย แคนาดา สวีเดน และเดนมาร์ก หนี้ครัวเรือนเป็นหนี้ที่เกิดจากการซื้อที่อยู่อาศัยเป็นหลัก ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์ถือว่าเป็นการลงทุนแบบหนึ่ง เพราะนอกจากจะได้อยู่อาศัยแล้ว ในบริบทของประเทศเหล่านี้ มูลค่าของบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นมากกว่าอัตราดอกเบี้ยในระยะยาวด้วย

 

แม้ดูเหมือนการเป็นหนี้เพื่ออนาคตจะไม่ค่อยน่ากังวล แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจเลย เพราะอย่างไรการเป็นหนี้ย่อมทำให้รายได้ที่ใช้จ่ายได้จริง (disposable income) น้อยลง เราจึงมักเห็นรายงานออกมาเรื่อย ๆ ว่า กลุ่มคนเปราะบางในประเทศเหล่านี้ก็มีปัญหาผิดนัดชำระหนี้ และประสบความยากลำบากในการดำเนินชีวิตไม่ต่างจากประเทศกำลังพัฒนา

 

นอกจากนี้ ระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงเกินไปยังส่งผลกระทบต่อศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย ซึ่งจากงานวิจัยของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements: BIS) ที่วิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจของ 54 ประเทศ ชี้ให้เห็นว่า หนี้ครัวเรือนที่สูงเกิน 80% ต่อจีดีพีมีแนวโน้มจะทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวลดลง โดยหนี้ที่เพิ่มขึ้น 1% อาจทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงได้มากถึง 0.1%

switzerland

หนี้ครัวเรือนในประเทศกำลังพัฒนา : หนี้ที่ยึดโยงกับพลวัตของเศรษฐกิจภายใน

 

แม้หนี้ครัวเรือนในประเทศพัฒนาแล้ว อาจจะไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า หนี้ครัวเรือนในประเทศกำลังพัฒนาต้องน่ากังวลเสมอไป ตัวอย่างที่ดีที่สุดในเรื่องนี้คือ มาเลเซีย เพื่อนบ้านของไทยเรานั่นเอง

 

มาเลเซียมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี อยู่ที่ 81% ซึ่งเป็นอันดับที่สองในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนารองจากไทย แต่หนี้ส่วนใหญ่กว่า 70% เป็นการลงทุนเพื่ออนาคต ได้แก่ หนี้ที่อยู่อาศัย (60%) หนี้สินทรัพย์ที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย (5.5%) และหนี้เพื่อการลงทุนในตราสาร (4.5%) ในขณะที่หนี้เพื่อการบริโภค ซึ่งไม่ก่อให้เกิดรายได้ในอนาคตมีสัดส่วนเพียงประมาณ 30% เท่านั้น

 

นอกจากนี้ เศรษฐกิจมาเลเซียยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 4-5% ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้รายได้ต่อหัวของคนมาเลเซียสูงขึ้นตามไปด้วย โดยในปี 2565 คนมาเลเซียมีรายได้ต่อหัวเฉลี่ยประมาณ 12,471 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ประมาณ 446,000 บาท) และหากสามารถรักษาศักยภาพในการเติบโตได้ มาเลเซียก็จะขยับขึ้นมาเป็นประเทศรายได้สูงได้ภายในปี 2570 ในแง่นี้ การเป็นหนี้ของคนมาเลเซียจึงไม่ได้เป็นปัญหาเปราะบาง เพราะรายได้ยังคงเติบโตต่อเนื่องและมากพอที่จะชำระหนี้ได้ สะท้อนจากหนี้เสียของมาเลเซียที่ค่อนข้างต่ำมากเพียง 1.7-1.8% เท่านั้น

 

จีนก็เป็นตัวอย่างสำคัญที่มักถูกจับตามองเรื่องหนี้ครัวเรือน เพราะมีหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 62% ต่อจีดีพี
ซึ่งปัญหาของจีนไม่ใช่ระดับของหนี้ แต่เป็นอัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่เร่งขึ้นมาก เฉลี่ยปีละ 25% ในช่วงปี 2552–2565 และแม้เศรษฐกิจจีนจะเติบโตในอัตราที่สูงมาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่ทันการเติบโตของหนี้ ปรากฏการณ์นี้ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของจีนสูงขึ้นกว่า 2 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

 

แม้หนี้ครัวเรือนจีนจะถูกมองว่าเป็นปัญหาที่จัดการได้ จากสมมติฐานที่ว่าเศรษฐกิจจีนจะยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและไม่สะดุดปัญหาอะไร แต่กระนั้นก็มีเสียงเตือนถึงปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์อยู่เป็นระยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อหนี้ครัวเรือนกว่า 60% เป็นหนี้อสังหาริมทรัพย์ จึงได้เห็นข่าวปัญหาอสังหาริมทรัพย์จีนบ่อยครั้งในช่วงปีที่ผ่านมา

 

บทเรียนจากจีนทำให้เห็นว่า แม้หนี้ที่เกิดจากการซื้อที่อยู่อาศัยจะดูเหมือนเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า  แต่หากบริหารจัดการได้ไม่ดี ก็ส่งผลต่อเศรษฐกิจภาพรวมได้เช่นกัน

evergrande

ที่มาภาพ : Reuters

บทเรียนจากหนี้ครัวเรือนโลก เราควรต้องดูอะไรบ้าง

 

1. ระดับหนี้ (level of debt) การมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงเป็นเรื่องที่ควรต้องใส่ใจ เพราะระดับหนี้ที่สูงย่อมทำให้รายได้ที่ใช้จ่ายได้จริงลดลงไป อย่างไรก็ตาม การมีระดับหนี้ที่สูงยังไม่เป็นเหตุที่ต้องตื่นตระหนก เพราะการเป็นหนี้มากไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังมีปัญหาแต่อย่างใด แต่ต้องดูปัจจัยอื่นประกอบด้วย ในทางตรงกันข้าม การมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่ต่ำ แม้จะชวนให้เบาใจ แต่การมีหนี้ที่ต่ำเกินไปอาจหมายถึงปัญหาอื่น ๆ ในระบบเศรษฐกิจได้ เช่น คนอาจเข้าไม่ถึงสินเชื่อ

 

2. องค์ประกอบของหนี้ (composition of debt) ประเภทของหนี้คือ ตัวชี้วัดสำคัญที่จะบอกว่าหนี้มีปัญหาหรือไม่ หากหนี้มีศักยภาพที่จะนำมาซึ่งรายได้ในอนาคต (เช่น หนี้บ้าน หนี้เพื่อการศึกษา และหนี้เพื่อการทำงาน) หนี้นั้นก็อาจไม่ได้เป็นปัญหาที่น่าหนักใจ

 

3. เงื่อนไขทางเศรษฐกิจ (economic condition) ภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสภาพปัญหาของหนี้อย่างมีนัยสำคัญ หากเศรษฐกิจเติบโตในอัตราที่สูงและมีเสถียรภาพ ครัวเรือนก็มีแนวโน้มที่จะสามารถบริหารจัดการหนี้ได้ดี แต่หากเศรษฐกิจเติบโตต่ำ หรือเกิดวิกฤต ปัญหาหนี้ครัวเรือนก็มีโอกาสที่จะขยายตัวรุนแรงขึ้น หรือกระทั่งลุกลามกลายไปเป็นวิกฤตเสียเอง

 

lesson learn

หนี้ครัวเรือนไทย ทำไมจึงน่ากังวล

 

บทเรียนจากหนี้ครัวเรือนโลกกำลังบอกเราว่า หนี้ครัวเรือนของไทยเราเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะจากการศึกษาข้อมูลสินเชื่อจากเครดิตบูโรของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ชี้ให้เห็นว่า หนี้ครัวเรือนของไทยเกือบ 70% เป็นหนี้ประเภทที่อาจไม่สร้างรายได้ในอนาคต (non-productive loan) อย่างสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต ซึ่งใช้เพื่ออุปโภคบริโภคแล้วหมดไป จึงไม่ช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งยังเป็นหนี้ที่มีภาระผ่อนต่อเดือนสูง เพราะมีระยะผ่อนสั้นแต่ดอกเบี้ยสูง ในทางกลับกัน คนไทยมีหนี้บ้าน ซึ่งเป็นหนึ่งในหนี้ที่ช่วยเสริมสร้างความมั่นคง ในสัดส่วนเพียง 35% ของมูลค่าหนี้ทั้งหมด ซึ่งต่ำกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพี ใกล้เคียงกับไทย เช่น ญี่ปุ่น (62%) และสหรัฐอเมริกา (73%) ค่อนข้างมาก

 

ที่น่ากังวลมากไปกว่านั้นคือ 1 ใน 5 ของคนไทย (ประมาณ 5.8 ล้านคน) ที่เป็นหนี้ มีความเสี่ยงที่กำลังจะมีหนี้เสีย! โดยเฉพาะคนที่อายุ 20-35 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่เพิ่งเริ่มทำงาน คิดเป็น 1 ใน 4 ของหนี้เสียทั้งหมด นอกจากนี้  ไทยเรายังมีกลุ่มเปราะบางที่สุ่มเสี่ยงจะชำระหนี้ไม่ได้ อย่างกลุ่มเกษตรกรและกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ด้วยภาระหนี้ที่สูงถึง 40% ของรายได้

 

ที่สำคัญปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยยังถูกซ้ำเติมจากการเติบโตของเศรษฐกิจที่ต่ำต่อเนื่อง จากผลของปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งในเรื่องสังคมสูงวัย คุณภาพแรงงาน และพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่ทำให้ภาคท่องเที่ยวและบริการไม่สามารถกลับมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่อย่างในอดีต และทำให้ไทยเราสูญเสียความสามารถในการแข่งขันไป ซึ่งหากไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ ความเสี่ยงที่ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะลุกลามขยายตัวก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้

 

หนี้ครัวเรือนแก้อย่างไร

 

เมื่อลองถอดบทเรียนในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนในหลายประเทศ  อาจสามารถสรุปแนวคิดในการแก้ปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนที่สำคัญ ได้เป็น 4 ข้อ

 

ข้อแรก การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนควรหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการในลักษณะหว่านแหที่มีผลกระทบในวงกว้าง แต่ควรเน้นการแก้ปัญหาให้ “ตรงจุด” โดยออกแบบให้เหมาะกับสถานการณ์และปัญหาของลูกหนี้แต่ละกลุ่มโดยเฉพาะ (targeted policy and measures) เพื่อไม่ให้นโยบายส่งผลต่อภาคส่วนที่ไม่ได้มีปัญหา และเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากที่สุด ซึ่งในหลายประเทศ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน หรือเดนมาร์ก ก็เน้นการใช้มาตรการเฉพาะที่มุ่งเป้าหมายไปที่กลุ่มเปราะบางที่มีปัญหาในการผิดนัดชำระหนี้เป็นหลัก

 

ข้อที่สอง ปัญหาหนี้ครัวเรือนไม่มีมาตรการหรือนโยบายที่เป็นสูตรสำเร็จ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแลจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกรอบคิดและยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน (clear regulatory framework and strategy) เพื่อให้นโยบายและมาตรการต่าง ๆ สอดคล้องและเดินไปในทิศทางเดียวกัน

 

ข้อที่สาม การดำเนินนโยบายหรือมาตรการเพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ต้องไม่สร้างปัญหาซ้ำเติมให้กับเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ หรือไปบั่นทอนศักยภาพในการเติบโต ที่สำคัญจะต้องเป็นธรรมทั้งกับลูกหนี้และเจ้าหนี้ด้วย

 

ข้อสุดท้าย นโยบายเศรษฐกิจในระดับมหภาคช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่สามารถทำให้ปัญหาหมดไปได้ การแก้ไขปัญหาจึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐอื่นที่เกี่ยวข้อง สถาบันการเงิน และรวมถึงตัวลูกหนี้เองด้วย

solutions

ข้อมูลอ้างอิง :

1.   The real effects of household debt in the short and long run | BIS

2.   Rising Household Debt: What It Means for Growth and Stability | IMF

3.   Household Debt and Aging in Japan | Asian Growth Research Institute

4.   Understanding the Macro-Financial Effects of Household Debt: A Global Perspective | IMF

5.   Debt countries: which countries have the biggest problem with debt? | invezz.com

6.   Why do nearly half of Swiss households have debts? | thelocal.ch

7.   หนี้ครัวเรือนไทยวิกฤตแค่ไหน ทำไมถึงไม่ควรมองข้าม? | PIER

 

เรื่อง : กองบรรณาธิการ วารสารพระสยาม

Tag ที่เกี่ยวข้อง

BOT Magazine แก้หนี้ยั่งยืน มาตรการแก้หนี้ระยะยาว Global Trend