ชีวิตหนี้คนไทย เมื่อเวลาผ่านไป 30 ปี 

debt

“ทำยังไงได้ก็ไม่ได้เกิดมาบนกองทอง
พ่อแม่พี่น้องทุกคนก็ประชาชนเดินดิน

หากชีวิตนี้ไม่สิ้น ก็ดิ้นกันไป
ชีวิตนี้ใช้หนี้อย่างเดียว”

 

เพลงชีวิตหนี้ ศิลปิน เสือ-ธนพล อินทฤทธิ์

ชีวิตหนี้คนไทย 30 ปีให้หลังเพลงชีวิตหนี้

 

“แบกชีวิต พอเกิดมาก็เป็นหนี้” เสือ-ธนพล เริ่มต้นเพลงชีวิตหนี้ไว้แบบนั้น

 

ในปี 2537 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เพลง “ชีวิตหนี้” เผยแพร่สู่สาธารณะ ตอนนั้นหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทย อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 40% เท่านั้น แต่เพลงก็โดนใจคนไปทั้งประเทศแล้ว

 

หากย้อนกลับไปดูบริบทช่วงนั้น แม้เศรษฐกิจไทยจะยังอยู่ในยุคทองก่อนวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง 2540 แต่โจทย์ใหญ่ของประเทศตอนนั้นคือ การแก้ปัญหาความยากจนในประเทศ ในช่วงเวลานั้นรายได้ต่อหัวเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ประมาณ 90,000 บาทต่อปีเท่านั้น คนที่ใช้ชีวิตอยู่ใต้เส้นความยากจน (น้อยกว่า 828 บาทต่อเดือน) ในช่วงเวลานั้น ยังมีมากกว่า 10 ล้านคน หรือคิดเป็น 19% ของประชากรทั้งประเทศ

 

เวลาผ่านไปเกือบ 30 ปี เศรษฐกิจและสังคมไทยเปลี่ยนไปอย่างมาก แม้คนไทยจำนวนมากจะยังไม่ได้เกิดมาบนกองทอง แต่คุณภาพชีวิตโดยรวมของคนไทยก็ยกระดับขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

ในปี 2566 รายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนไทยอยู่ที่ประมาณ 280,000 บาทต่อปี จำนวนคนยากจน (ภายใต้เส้นความยากจนที่ 2,802 บาทต่อคนต่อเดือน) ลดลงเหลือราว 4 ล้านคน หรือคิดเป็น 5.43% ของประชากรไทย

 

อย่างไรก็ตาม ชีวิตของคนไทยก็ยังคงเป็น “ชีวิตหนี้” อยู่ เพียงแต่ว่า “ชีวิตหนี้” ของคนไทยทุกวันนี้ กลับมีลักษณะและความน่ากังวลที่แตกต่างออกไปจากเดิม 

30 years later

หนี้ครัวเรือนไทยเป็นอย่างไรในปัจจุบัน

 

ในปี 2566 หนี้ครัวเรือนไทยต่อจีดีพี อยู่ที่ระดับกว่า 90% นับเป็นอัตราส่วนที่สูงในช่วงการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่ของไทย

 

นอกจากนี้ “ความเยอะ” ของหนี้ครัวเรือนไทยสามารถแบ่งได้เป็น 3 มิติ

(1) คนไทยจำนวนมากมีหนี้ โดยประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรมีหนี้ในระบบ

(2) คนไทยมีหนี้สูง โดยมูลค่าหนี้เฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 539,291 บาท และ

(3) คนไทยมีหนี้หลายบัญชี โดยเฉลี่ย 3.3 บัญชี

 

อันที่จริง การมีหนี้เยอะไม่ได้เป็นปัญหาในตัวเอง แต่ขึ้นอยู่กับลักษณะของการเป็นหนี้ด้วย โดยทั่วไปเราสามารถแบ่งหนี้ได้เป็นสองแบบคือ หนี้ที่สามารถสร้างรายได้ หรือ “หนี้ดี” และ หนี้ที่อาจไม่สร้างรายได้ หรือ “หนี้พึงระวัง”

debt of thai people
cause of debt

ข่าวร้ายของเศรษฐกิจไทยมีอยู่ว่า กว่า 67% ของหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่ของไทยเป็นหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ และกว่า 1 ใน 5 ของผู้ที่เป็นหนี้กำลังมีหนี้เสีย

 

นอกจากนี้ กลุ่มวัยเริ่มทำงาน (อายุ 20-35 ปี) ยังมีสัดส่วนหนี้อาจไม่สร้างรายได้สูงที่สุด และมีสัดส่วนผู้กู้ที่มีหนี้เสียสูงที่สุดด้วย (27%) อีกทั้งเกษตรกรและกลุ่มผู้มีรายได้น้อยก็มีความเสี่ยงสูงที่อาจจะชำระหนี้ไม่ได้ และต้องตกอยู่ในวังวนของหนี้

หนี้ครัวเรือน กับ สังคมเศรษฐกิจภาพใหญ่

 

ความสัมพันธ์ระหว่าง “การเป็นหนี้” กับ “เศรษฐกิจภาพใหญ่” ไม่เคยตรงไปตรงมา เพราะการเป็นหนี้ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจแย่เสมอไป

 

ผู้อ่านหลายคนคงทราบดีอยู่แล้วว่า “หนี้ดี” นั้นมีศักยภาพที่จะนำมาซึ่งการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต ในหลายประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก มีหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้บ้านและหนี้เพื่อการลงทุน ซึ่งมักจะเป็น “หนี้ดี”

 

แม้กระทั่ง “หนี้พึงระวัง” กับ “เศรษฐกิจภาพใหญ่” ก็ไม่ได้ตรงไปตรงมาเช่นกัน แต่ขึ้นอยู่กับบริบทในการกู้ยืม เช่น การกู้ในภาวะวิกฤต ซึ่งมีความจำเป็นและช่วยประคับประคองให้ผ่านภาวะที่ยากลำบากที่สุด อาจส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว หากช่วยให้ผู้กู้กลับมาตั้งหลักใหม่ในชีวิตได้

 

ในขณะที่การกู้เพื่อการบริโภค เอาเข้าจริงแล้วก็อาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นได้ด้วยซ้ำ แต่ที่ใช้คำว่า “พึงระวัง” เพราะในระยะยาวแล้วอาจส่งผลเสียต่อทั้งตัวผู้กู้ และเศรษฐกิจภาพใหญ่ได้ กล่าวคือ ภาวะหนี้ครัวเรือนระดับสูงอาจฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพราะรายได้ส่วนใหญ่ต้องเอาไปจ่ายคืนหนี้แทนการเอาไปใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการ หรือลงทุน ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ไม่พึงประสงค์อย่างยิ่ง เพราะจะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยที่กำลังมีปัญหาเชิงโครงสร้างจากการสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันและการขาดแคลนแรงงานเนื่องจากเข้าสู่สังคมสูงวัย จนทำให้ศักยภาพในการเติบโตลดต่ำลง

 

นอกจากนี้ การมีหนี้ที่อาจไม่ก่อให้เกิดรายได้ในสัดส่วนที่สูงยังสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน กล่าวคือ หากลูกหนี้จำนวนมากชำระหนี้ไม่ได้พร้อม ๆ กัน ก็อาจกระทบฐานะการเงินของเจ้าหนี้ นั่นก็คือ สถาบันการเงิน

 

ที่สำคัญที่สุดคือ การติดหล่มอยู่ในกับดักหนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อความสุขและคุณภาพชีวิตลูกหนี้โดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาสุขภาพจิตของลูกหนี้ ซึ่งหากปัญหามีความรุนแรงมาก ย่อมส่งผลกระทบต่อปัญหาทางสังคมอื่น ๆ ที่จะตามมา

“ชีวิตนี้ไม่จำเป็นต้องใช้หนี้อย่างเดียว” เรายังมีหวังในการแก้หนี้ยั่งยืน

 

ธปท. ตระหนักถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยเป็นอย่างดีและมุ่งแก้ไขอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับ “สมดุล” ระหว่างการบรรเทาความเดือดร้อนของลูกหนี้ โดยเฉพาะในยามได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด และการรักษาเสถียรภาพและศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว 

 

ในช่วงวิกฤตโควิด ธปท. ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ ตั้งแต่การออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้แบบปูพรมในช่วงแรก ๆ เพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ก่อนที่จะปรับเป็นการช่วยเหลือแบบเฉพาะจุดหลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ทั้งนี้  ธปท. ระมัดระวังการปรับนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ลูกหนี้สามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสม

 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย มิได้มีสาเหตุมาจากวิกฤตโควิดเพียงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานาน จึงต้องใช้เวลานานในการแก้ไขด้วยเช่นกัน ในปี 2566 ธปท. ได้จัดทำ “แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน” เพื่อสะท้อนข้อมูลเชิงลึกของหนี้ครัวเรือนไทยและสื่อสารหลักการในการแก้ปัญหาหนี้ให้ได้อย่างครบวงจร เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางต่อเนื่อง ผ่านทั้งมาตรการเดิมและมาตรการใหม่ ให้ครอบคลุมไปถึงการแก้หนี้เรื้อรัง และการคิดค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยที่เป็นธรรมยิ่งขึ้น โดยมีรายละเอียดซึ่งมียุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน ดังนี้

 

ช่วยลูกหนี้ต่อเนื่องด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ : สำหรับลูกหนี้ที่มีหนี้เสียในปัจจุบัน มีการเร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้ตามมาตรการแก้หนี้ระยะยาว โดยกำหนดให้เจ้าหนี้ต้องมีบริการให้คำปรึกษาแก้หนี้ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกหนี้ รวมถึงสร้างตัวช่วยให้ลูกหนี้ โดยมีคนกลางทำหน้าที่ให้คำแนะนำเรื่องแก้หนี้และไกล่เกลี่ยหนี้ และการผลักดันให้มีกฎหมายที่ช่วยให้ลูกหนี้รายย่อยทั่วไปที่ผ่อนไม่ไหวให้เข้ากระบวนการฟื้นฟูหรือขอล้มละลายได้ด้วยตนเอง

 

ช่วยลูกหนี้เรื้อรังกลุ่มเปราะบางให้สามารถปิดจบหนี้ได้ภายใน 5 ปี : ลูกหนี้เรื้อรังคือ ลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ประเภทสินเชื่อหมุนเวียน ที่ไม่ได้เป็นหนี้เสีย แต่จ่ายดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เริ่มจากหนี้บัตรกดเงินสดที่เป็นหนี้เรื้อรังของลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง มีรายได้น้อย และมีปัญหาทางการเงินรุนแรงก่อน โดยจะผลักดันให้เจ้าหนี้มีแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกับลูกหนี้ ผ่านการวางแผนปรับโครงสร้างหนี้เพื่อชำระหนี้ให้หมดภายใน 5 ปี ซึ่งจะปรับอัตราดอกเบี้ยลง จากเดิมที่ไม่เกิน 25% เหลือไม่เกิน 15% ต่อปี เพื่อให้ลูกหนี้สามารถปิดจบหนี้ได้ตามกำหนด

 

คุ้มครองสิทธิลูกหนี้ให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น : ลูกหนี้จะได้รับการดูแลเรื่องการคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น เช่น ไม่ถูกคิดค่าปรับไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด (prepayment fee) ของสินเชื่อส่วนบุคคล ไม่ถูกคิดดอกเบี้ยบนดอกเบี้ยของสินเชื่อรายย่อยทั้งหมด รวมถึงกำหนดให้ผู้ให้บริการให้ข้อมูลลูกหนี้อย่างครบถ้วน

 

ปัจจุบัน ข้อมูลหนี้ครัวเรือนที่ ธปท. เผยแพร่ได้รวมไปถึงหนี้ กยศ. และสหกรณ์บ้างแล้ว แต่ยังมีหนี้ที่ข้อมูลไม่ครอบคลุมถึง อาทิ หนี้นอกระบบ หนี้ที่ครัวเรือนกู้ยืมกันเอง และหนี้ที่ครัวเรือนยืมจากภาคธุรกิจ โดยจะมีการติดตามข้อมูลให้ครอบคลุมลูกหนี้ต่าง ๆ มากขึ้น และผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลต่าง ๆ ในการประเมินและติดตามสินเชื่อ อาทิ ข้อมูลพฤติกรรมการจ่ายเงินค่าน้ำ ค่าไฟ เพื่อให้ลูกหนี้เข้าถึงสินเชื่อในระบบมากขึ้น (ตามนโยบายการใช้ประโยชน์จากข้อมูลตามสิทธิของผู้ใช้บริการ หรือ Open Banking Data)

 

 

สุดท้ายนี้ การแก้ปัญหาหนี้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งการสนับสนุนจากภาครัฐ ความร่วมมือจากเอกชน เจ้าหนี้ที่รับผิดชอบ รวมทั้งลูกหนี้ต้องมีวินัย การแก้หนี้ของคนไทยจึงจะเป็นไปได้อย่างยั่งยืน

 

มาตรการช่วยเหลือของ ธปท. ที่ครอบคลุมหลายกลุ่ม จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ลูกหนี้มีทางออก เพื่อให้ชีวิตหนี้ของคนไทยไม่เป็นเหมือนท่อนฮุกของเพลง “ชีวิตไม่สิ้น ก็คงต้องดิ้นกันไป” เพราะชีวิตนี้ “ไม่จำเป็นต้องใช้หนี้อย่างเดียว”
อีกต่อไป

life without debt

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ #แก้หนี้ยั่งยืน ได้ที่…

https://www.bot.or.th/th/debtsolution.html

 

 

เรื่อง : กองบรรณาธิการ วารสารพระสยาม

Tag ที่เกี่ยวข้อง

BOT Magazine Highlight แก้หนี้ยั่งยืน มาตรการแก้หนี้ระยะยาว