Behind the BANKNOTE
ผู้บันทึกประวัติศาสตร์ไทยลงในธนบัตร
คุณค่าของธนบัตรไทยมิใช่เป็นเพียงสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเท่านั้น แต่ทุกลวดลายบนธนบัตรทุกแบบมีที่มาของเรื่องราว เปรียบเสมือนการบันทึกประวัติศาสตร์ไว้บนธนบัตร ทุกองค์ประกอบจึงต้องถูกกลั่นกรองอย่างถี่ถ้วน และออกแบบอย่างวิจิตรบรรจงลงบนลายเส้นกว่า 1 ล้านเส้น เพื่อถ่ายทอดเอกลักษณ์ความเป็นไทยสู่สายตาชาวไทยและชาวโลก
พระสยาม BOT MAGAZINE ขอพาทุกท่านไปพูดคุยกับกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังการออกแบบธนบัตรไทยที่น้อยคนจะรู้จัก แต่ผลงานของพวกเขาเป็นที่ประจักษ์อยู่ในมือของคนไทยทุกคน
ธนบัตรที่เราใช้กันทุกวันนี้ประกอบด้วยองค์ประกอบจำนวนมาก ทั้งวัสดุใช้พิมพ์ (substrate) ลักษณะต่อต้านการปลอมแปลง (security feature) หมึกพิมพ์ภาพประธาน ภาพพื้นหลัง ลายไทย และตัวเลขต่าง ๆ กว่าธนบัตรแต่ละแบบจะสมบูรณ์ได้ ต้องผ่านกระบวนการจัดทำตั้งแต่กระบวนการคิด การออกแบบ การเตรียมภาพต้นฉบับ การวาดลวดลายสำหรับแกะแม่พิมพ์ จนถึงการพิมพ์ธนบัตร ซึ่งได้รับการดูแลโดยทีมงานหลายส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ตามที่ คุณกุนที กรีประเสริฐกุล ผู้จัดการส่วน ส่วนผลิต 1-2 โรงพิมพ์ธนบัตร ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงต่าง ๆ ในธนบัตร รวมถึงเทคนิคต่าง ๆ ในกระบวนการผลิต ซึ่งมีประสบการณ์กว่า 33 ปีใน ธปท. ได้สรุปภาพรวมเบื้องหลังการทำงานธนบัตรไว้ว่า
“ทำงานมาตั้งแต่ปี 2534 ต้องศึกษาและดูแลตั้งแต่การออกแบบ การเลือกใช้ลักษณะต่อต้านการปลอมแปลง ไปจนถึงกระบวนการผลิต เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในกระบวนการผลิต ทุกครั้งที่ทำงานด้านการออกแบบธนบัตรไม่ว่าจะเป็นแบบหมุนเวียนหรือที่ระลึก จะต้องวางแผนการทำงานร่วมกันในทีมออกแบบและส่วนงานที่เกี่ยวข้องล่วงหน้าเป็นเวลานานถึง 18-24 เดือน ที่สำคัญคือ ต้องมีนักประวัติศาสตร์ที่จะช่วยหาข้อมูลเพื่อนำเสนอว่าอะไรที่เหมาะสมที่จะปรากฏบนธนบัตรบ้าง และมีเจ้าหน้าที่ออกแบบในการออกแบบลายเส้นและองค์ประกอบต่าง ๆ โดยสิ่งที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญคือ โจทย์ที่ได้รับ เพื่อให้งานที่ออกมามีความสมบูรณ์แบบมากที่สุด”
สิ่งที่น้อยคนจะทราบคือ ในการออกแบบธนบัตรแต่ละครั้งนอกจากจะต้องมีผู้ดูแลการผลิตในภาพรวมแล้ว ยังจำเป็นต้องมีทั้งนักประวัติศาสตร์และนักออกแบบทำงานสอดประสานกันในการถ่ายทอดเรื่องราว เพื่อศึกษาค้นคว้าเรื่องราวและตรวจสอบความถูกต้องของทุกองค์ประกอบที่จะปรากฏบนธนบัตร ไม่ว่าจะเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ ฉลองพระองค์ ภาพเรื่องราวที่จะนำมาประกอบ ลายไทย และอื่น ๆ เรียกได้ว่าทุกองค์ประกอบจะต้องถูกต้องและสอดคล้องกันทั้งหมด ฃ
คุณพรทิพย์ ไทยถิ่นงาม นักประวัติศาสตร์ประจำโรงพิมพ์ธนบัตร ซึ่งเรียนจบด้านประวัติศาสตร์มาโดยตรง ได้ถ่ายทอดความภูมิใจในการทำงานว่า
“ในการทำงานเกี่ยวกับธนบัตรมากว่า 28 ปี หน้าที่ของนักประวัติศาสตร์คือ การศึกษาค้นคว้าเรื่องราวที่จะนำมาประกอบการออกแบบธนบัตร ซึ่งต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องของเรื่องราวและ องค์ประกอบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นภาพ เรื่องราว ตราสัญลักษณ์ต่าง ๆ พระราชดำรัส พระปฐมบรมราชโองการ ปีที่พระมหากษัตริย์แต่ละราชวงศ์เสด็จพระราชสมภพและเสด็จสวรรคต ซึ่งต้องศึกษาค้นคว้าจากเอกสารทางราชการ ราชกิจจานุเบกษา หลักฐานชั้นต้นจากสำนักพระราชวัง สำนักราชเลขาธิการ บางครั้งก็ต้องตรวจสอบกับราชบัณฑิตและผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เพราะธนบัตรมิใช่เพียงสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน แต่เป็นทูตทางวัฒนธรรมที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของชาติไทยและเป็นการบันทึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการบันทึกประวัติศาสตร์ลงบนธนบัตรไทย”
อีกส่วนงานที่ขาดไม่ได้ คือทีมนักออกแบบ แม้ว่าปัจจุบัน ธปท. จะนำเทคโนโลยีสำหรับการออกแบบและแกะโลหะมาช่วยเพิ่มความแม่นยำและลดระยะเวลาการทำงานลงไปได้ แต่สิ่งที่น่าสนใจและถือเป็น legacy ของโรงพิมพ์ธนบัตรที่มีเพียงที่เดียวในประเทศไทยก็คือ การแกะลวดลายธนบัตรลงบนโลหะด้วยมือ ที่ต้องสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นและผ่านการฝึกฝนอย่างยาวนาน คุณทินกร สุวรรณวรรธ เจ้าหน้าที่ออกแบบและแกะโลหะชำนาญงาน ที่ทำงานออกแบบธนบัตรมาตั้งแต่ปี 2536 เล่าว่า
“สมัยก่อนเราวาดและแกะแผ่นโลหะด้วยมือ แต่ตอนนี้เราออกแบบบนคอมพิวเตอร์ และแกะโลหะด้วยเลเซอร์ มันบ่งบอกถึงวิวัฒนาการที่ทันสมัย แต่ส่วนตัวก็ยังชอบการแกะโลหะด้วยมือ เพราะรู้สึกถึงความวิจิตร ชอบที่ได้ถ่ายทอดจิตวิญญาณลงไปในทุกลายเส้นและทุกจุด ถ้านับดูแล้วบนธนบัตรแต่ละใบก็มีเป็นล้าน ๆ เส้น”
ในวาระพิเศษเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ธปท. ได้จัดทำธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เมื่อทีมงานได้รับโจทย์ล่วงหน้าก็ใช้เวลากว่า 2 ปีในการออกแบบและจัดทำ คุณพรทิพย์เล่าว่า โจทย์ของธนบัตรที่ระลึกฉบับนี้ต้องการให้มีความสวยงามและสมพระเกียรติ จึงเน้นไปที่ความสง่างามของพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แวดล้อมไปด้วยองค์ประกอบที่มีความเชื่อมโยงกับพระองค์ เช่น โทนสีเหลือง ซึ่งเป็นสีแห่งวันพระบรมราชสมภพ ดอกรวงผึ้งซึ่งเป็นดอกไม้ประจำพระองค์ ดอกราชพฤกษ์ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำชาติไทย ดอกพิกุลที่เปรียบเสมือนดอกไม้จากสวรรค์ที่เป็นมงคลและสื่อถึงความรุ่งเรือง และเมื่อนำดอกพิกุลมาจัดวางไว้ในช่องใสรูป 8 เหลี่ยมก็จะสื่อถึงความเจริญรุ่งเรืองที่แผ่กระจายไปทั้ง 8 ทิศ
นักออกแบบที่ร่วมกันออกแบบธนบัตรนี้มี 4 คน ซึ่งมีทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะทางที่แตกต่างกัน เริ่มที่ คุณโอม ชนิตราภิรักษ์ ผู้เขียนลายเส้นภาพประธานด้านหน้า เล่าถึงความภูมิใจว่า
“ในการออกแบบธนบัตรที่ระลึกครั้งนี้ ผมได้รับหน้าที่ให้เขียนลายเส้นภาพประธานด้านหน้า ความท้าทายของงานนี้คือ เราจะต้องเขียนลายเส้นแบบไหนให้พระบรมสาทิสลักษณ์มีความสง่างาม มีรายละเอียดที่ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยเทคนิคการทำงานในตอนนี้เปลี่ยนจากการแกะโลหะด้วยมือมาเป็นการเขียนลายเส้นด้วยโปรแกรมดิจิทัล ซึ่งมีรายละเอียดในการทำงานที่แตกต่างกัน แต่ก็มีพื้นฐานในการทำงานร่วมกันที่สำคัญอยู่ ผมรู้สึกภูมิใจมาก พวกเราทุกคนเต็มที่กับธนบัตรที่ระลึกนี้มาก ๆ และภูมิใจที่ประชาชนจะได้เห็นธนบัตรนี้”
คุณวิระศักดิ์ มนต์แก้ว ผู้เขียนลายเส้นภาพประธานด้านหลัง กล่าวเสริมว่า
“ในการเขียนลายเส้นภาพประธานด้านหลัง ก่อนอื่นต้องหาภาพที่จะนำมาใช้ เพื่อให้สมพระเกียรติกับวาระพิเศษที่จะออกธนบัตรที่ระลึก แล้วนำมาเขียนรูป กว่าจะได้งานที่สมบูรณ์เราปรับแก้กันหลายรอบ เนื่องจากการนำงานเขียนไปพิมพ์ก็อาจจะไม่ได้งานที่ตรงกับที่เขียน แต่เมื่อได้เห็นธนบัตรที่ออกมาแล้วก็รู้สึกภูมิใจอย่างมาก ยิ่งประชาชนทุกคนได้เห็นถึงความสวยงามของธนบัตร เรายิ่งรู้สึกภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบ เพราะน้อยคนนักที่จะได้อยู่ตรงนี้ ถือเป็นความภาคภูมิใจสูงสุด”
ขณะที่ คุณธีธัช สุขสว่างผล ผู้ออกแบบลายไทยและลายประกอบด้านหน้าและด้านหลัง พูดถึงความท้าทายในการออกแบบธนบัตรฉบับนี้ว่า
“เมื่อมีโอกาสได้ออกแบบธนบัตร ผมคิดเสมอว่าเราต้องรู้ว่าธนบัตรควรบรรจุสิ่งใดลงไป เพื่อให้ผู้ใช้รู้ว่านี่คือธนบัตรไทย จึงนึกถึงลายไทยเป็นอันดับแรก เพราะมีความสวยงามและโดดเด่น เนื่องจากผมเรียนจิตรกรรม ภาควิชาศิลปะไทยมาด้วย แต่ความยากคือโดยพื้นฐานศิลปะแล้วเราใช้ศาสตร์เดียว เราต้องการความงามเหมือนกัน เพียงแค่วิธีการแตกต่าง ปกติเราคิดอะไรเราก็ทำ แต่การออกแบบธนบัตรสิ่งที่เราคิดมันมีกรอบบางอย่างอยู่ คือ ความงามกับความถูกต้องต้องไปทางเดียวกัน เพราะธนบัตรเป็นเหมือนพงศาวดารที่เราถือไว้ในมือ”
คุณศฐา ศรีวิโรจน์ ผู้ออกแบบลายเส้นและลายประกอบด้านหน้าและด้านหลัง กล่าวถึงความรู้สึกในการออกแบบธนบัตรครั้งนี้ว่า
“ผมเรียนจบมาจากวิทยาลัยช่างศิลปนครศรีธรรมราช งานที่ผมทำคือ การทำแพตเทิร์นลายเส้นที่แปลงมาจากลายไทย เพื่อส่งเสริมให้ธนบัตรทั้งฉบับมีองค์ประกอบที่สมบูรณ์ขึ้น ซึ่งในการทำงานบางครั้งเราต้องตัดทอนรายละเอียดของลายไทยต่าง ๆ ลง แล้วนำมาประกอบกันใหม่เพื่อให้ช่วยส่งเสริมองค์ประกอบอื่น ๆ ผมดีใจที่งานที่ผมทำช่วยส่งเสริมให้ธนบัตรทุกแบบมีความสมบูรณ์และสวยงามครับ ปกติก็ใช้ธนบัตรในชีวิตประจำวัน ไม่คิดเลยว่าวันหนึ่งจะได้บอกคนอื่นว่าเราออกแบบส่วนนี้นะ ภูมิใจมากครับ”
“ความประทับใจในการมีส่วนร่วมในการทำธนบัตรครั้งนี้คือ ความภูมิใจ น้อยคนนักที่จะได้อยู่ ณ จุดนี้ มันยากที่จะหาคำพูดมาอธิบายให้เป็นรูปธรรม นอกเสียจากธนบัตรที่ทุกท่านกำลังจะได้เห็น มันเป็นความตื้นตันใจ เราเองก็เปรียบเสมือนเทียนเล่มเล็ก ๆ เล่มหนึ่ง ที่ส่องสว่างรวมกับเทียนอีกหลาย ๆ เล่มทั่วประเทศไทย เพื่อแสดงถึงความเทิดทูนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ การทำงานตรงนี้นับเป็นเกียรติประวัติสูงสุดของชีวิตการทำงาน” คุณทินกรกล่าวปิดท้าย
จะเห็นได้ว่าทีมงานผู้ออกแบบธนบัตรที่ระลึกครั้งนี้ต่างก็มีหน้าที่และความรับผิดชอบในแต่ละองค์ประกอบที่แตกต่างกัน แต่ถึงกระนั้นทุกองค์ประกอบจำเป็นที่จะต้องถูกต้อง สอดคล้อง เชื่อมโยง และส่งเสริมกันเพื่อให้ธนบัตรมีความถูกต้องและสวยงาม นับเป็นการทำงานที่ต้องอาศัยความสามัคคีกันอย่างมาก และสิ่งหนึ่งที่ทีมงานทุกท่านรู้สึกเหมือนกันคือ “ความภูมิใจ” ที่ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ฉบับนี้
หนึ่งในผู้ออกแบบธนบัตรที่ระลึกนี้ เป็นทายาทโดยสายเลือดของผู้ออกแบบธนบัตรไทย ที่ได้ร่วมออกแบบธนบัตรมาหลายต่อหลายรุ่น นั่นก็คือ คุณโอม ชนิตราภิรักษ์ ผู้เขียนลายเส้นพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ภาพประธานด้านหน้าธนบัตร ซึ่งเป็นบุตรชายของคุณประสิทธิ์ ชนิตราภิรักษ์ ศิลปินนักออกแบบธนบัตรผู้เคยแกะแม่พิมพ์โลหะพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 บนธนบัตรหลายแบบตลอดช่วงระยะเวลาการทำงาน
คุณโอมเล่าว่า คุณพ่อเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานของเขา เพราะตั้งแต่จำความได้ก็เห็นคุณพ่อเป็นช่างแกะโลหะของ ธปท. แล้ว
“ผมเห็นพ่อนั่งทำงานตั้งแต่เช้าจรดเย็นในวันเสาร์และอาทิตย์ ผมก็สงสัยมาตั้งแต่เด็กว่าพ่อทำไปได้ยังไง นั่งทำอยู่อย่างนั้นทั้งวัน แต่พอมาถึงวันนี้ผมเข้าใจแล้วว่าสิ่งที่พ่อทำทั้งหมดนั้น มันส่งผลยังไงต่อชีวิตผม”
ถึงแม้ตัวคุณโอมเองจะเคยตั้งคำถามเกี่ยวกับงานของคุณพ่ออยู่บ่อยครั้ง แต่ทั้งหมดที่คุณพ่อทำให้เห็นล้วนส่งอิทธิพลมาถึงคุณโอมโดยที่ไม่รู้ตัว ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นแรงผลักดันให้เข้าเรียนด้านศิลปะ รวมถึงการเข้ามาทำงานที่ ธปท. ในบทบาทหน้าที่เดียวกันกับคุณพ่อของเขาอีกด้วย
“ผมเข้าทำงานที่ ธปท. และได้ทำงานร่วมกับพ่อสองปีกว่า ๆ ไม่คิดเลยว่าจะมีภาพนี้เกิดขึ้น ได้มานั่งทำงานข้าง ๆ คุณพ่อ โต๊ะทำงานอยู่ติดกันเลย แรก ๆ ผมก็รู้สึกเกร็ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผมเริ่มปรับตัวกับการทำงานร่วมกับคุณพ่อได้แล้ว กลับกลายเป็นรู้สึกเหมือนเราอยู่บ้าน ได้อยู่ใกล้คุณพ่อและทำงานได้อย่างสบายใจ”
ครั้งหนึ่งคุณโอมเคยได้รับมอบหมายให้เขียนลายเส้นภาพประธานด้านหลังของธนบัตรที่ระลึก ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ชนิดราคา 50 บาท โดยขณะนั้นคุณพ่อของเขาก็เริ่มมีอาการป่วยและได้ลาออกจากงานเพื่อไปรักษาตัว แต่ถึงแม้คุณพ่อจะป่วย แต่คุณพ่อก็ยังให้คำแนะนำที่ดีในการทำงานแก่คุณโอมอยู่เสมอ จนทำให้คุณโอมสามารถสร้างสรรค์ธนบัตรดังกล่าวขึ้นมาได้อย่างสมบูรณ์ และคุณพ่อของเขาก็เสียชีวิตลงในเวลาต่อมา
ทุกงานที่คุณโอมสร้างสรรค์ล้วนเป็นผลงานชิ้นสำคัญในชีวิตของเขา ซึ่งหมายรวมไปถึงการออกแบบธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบนี้ด้วย นอกจากความภาคภูมิใจในการทำงานชิ้นสำคัญที่สำเร็จลุล่วงลงได้จากการร่วมมือกันของทีมงานหลายฝ่ายแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญสำหรับคุณโอมคือการระลึกถึงคุณพ่อของเขา
“เมื่อทำงานนี้เสร็จผมกลับบ้านไปบอกพ่อว่า พ่อไม่ต้องห่วงอะไรผมแล้วนะ ถึงแม้ครั้งนี้จะเป็นการบอกผ่านรูปภาพ แต่ผมก็ขอบคุณพ่ออยู่เสมอ เพราะผมได้รับเอาสิ่งที่ท่านเคยถ่ายทอดให้ไปสานต่อแล้ว พ่อเคยพูดว่าพ่อไม่เป็นห่วงอะไรผมแล้ว แค่ได้อยู่ทันเห็นผมทำงานเขาก็ภูมิใจมาก ๆ แล้ว ผมคิดว่าวันนี้เองพ่อก็คงจะภูมิใจในตัวผมมาก ๆ อยู่เหมือนกัน”
คุณโอม ผู้มีสายเลือดแห่งศิลปินผู้ออกแบบธนบัตรกล่าวอย่างตื้นตัน
สุดท้ายนี้ ธปท. มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้อยู่เบื้องหลังการจัดทำธนบัตรที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ในครั้งนี้ ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวสุดแสนประทับใจ และความทุ่มเทของทีมงานที่สะท้อนผ่านลายเส้น ซึ่งจะถูกจารึกเป็นประวัติศาสตร์ ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นมิ่งขวัญของปวงพสกนิกรชาวไทย
ทั้งนี้ ธนบัตรที่ระลึกนี้จะเริ่มจ่ายแลกให้แก่ประชาชนในวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป