สินเชื่อรายย่อย ตัวช่วยสำคัญเมื่อเงินขาดมือ

 

retail loan

“เงินตึงมือ ขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินมาจ่ายในยามจำเป็น” จะต้องทำอย่างไร เมื่อค่าใช้จ่ายของครอบครัวก็รออยู่ ไหนจะต้องการเงินทุนไปหมุนให้ร้านค้าของตัวเองอีก

เมื่อปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้น เราก็มักจะมองหา “แหล่งเงินทุน” ที่สามารถเข้าถึงได้เร็ว เหมาะกับความต้องการ และความสามารถในการจ่ายหนี้ ซึ่งมีตั้งแต่การหยิบยืมครอบครัว คนรู้จัก หรือบางคนอาจใช้วิธีนำทรัพย์สินที่มีอยู่ไปจำนำ จำนอง หรือมองหาเงินกู้จากแหล่งต่าง ๆ

 

บทความนี้ จึงอยากชวนมาทำความรู้จัก “สินเชื่อรายย่อย” 4 ประเภท ที่อาจจะตอบโจทย์ความต้องการ เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ที่สนใจเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และความสามารถของแต่ละคน

retail loan

1. คนที่มี “รถ”

 

สำหรับคนที่มีรถ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถบรรทุก รถที่ใช้ในการทำเกษตร หรือรถประเภทอื่น ๆ แหล่งสินเชื่อทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจคือ สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน[1] ซึ่งออกแบบมาสำหรับคนที่เป็นเจ้าของรถ โดยระหว่างขอสินเชื่อจะยังมีสถานะเป็นเจ้าของรถอยู่ และยังสามารถนำรถไปใช้งานได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องนำเล่มทะเบียนรถมาวางไว้กับผู้ให้สินเชื่อเพื่อเป็นหลักประกัน

 

สำหรับวงเงินสินเชื่อที่ได้รับนั้น จะขึ้นอยู่กับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ไม่เกิน 24% ต่อปี

retail loan

2. คนที่ไม่มีหรือไม่อยากใช้ “ทรัพย์สิน” ค้ำประกัน

 

สำหรับสินเชื่อประเภทที่ลูกหนี้ไม่จำเป็นต้องมีทรัพย์สินมาวางเป็นหลักประกัน หรือที่เรียกว่า สินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน[2] นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ลูกหนี้นำไปใช้ในการประกอบอาชีพ หรืออุปโภคบริโภค ผู้ให้สินเชื่อจะพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้จากหลักฐานทางการเงินต่าง ๆ เช่น สลิปเงินเดือน หรือเงินฝากที่ฝากเข้าบัญชีอย่างสม่ำเสมอ

 

ทั้งนี้ วงเงินสินเชื่อที่ได้รับจะขึ้นอยู่กับรายได้ของลูกหนี้ โดยลูกหนี้ที่มีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาทต่อเดือน จะได้รับวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้ ขณะที่ลูกหนี้ที่มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาทต่อเดือน จะได้รับวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ โดย ธปท. กำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยของทั้งสองกลุ่มไว้ไม่เกิน 25% ต่อปี

retail loan

3. คนที่ “ไม่มีหลักฐานทางการเงิน”

 

สำหรับบางคนที่อาจมีแหล่งรายได้และหลักฐานทางการเงินไม่ชัดเจน สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล อาจเป็นตัวเลือกที่ออกแบบมาเพื่อคุณ เพราะเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่ต้องมีหลักประกัน แต่ผู้ให้สินเชื่อจะใช้เทคโนโลยีและข้อมูลทางเลือกอื่น ๆ เช่น การชำระค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ หรือพฤติกรรมการซื้อขายของออนไลน์ เพื่อมาวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้แทน

 

สินเชื่อประเภทนี้จะมีวงเงินสินเชื่อที่ได้รับไม่เกิน 2 หมื่นบาท โดยต้องชำระคืนภายใน 6 เดือน และมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ไม่เกิน 25% ต่อปี

retail loan

4. คนที่ “ต้องการเงินเพื่อประกอบอาชีพ”

 

สินเชื่อที่ให้กับคนที่ต้องการเงินไปประกอบอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลทั่วไป หรือธุรกิจ SMEs ก็คือ สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ หรือที่รู้จักในชื่อ นาโน และพิโก ไฟแนนซ์ โดยไม่ต้องมีทรัพย์สินมาวางเป็นหลักประกัน

 

สำหรับวงเงินสินเชื่อที่ได้รับจะไม่เกิน 1 แสนบาท ขึ้นอยู่กับลักษณะของการประกอบอาชีพและธุรกิจ ผลการดำเนินงาน และความสามารถในการชำระหนี้ โดยมีอัตราดอกเบี้ยรวมค่าธรรมเนียมอยู่ที่ไม่เกิน 33% ต่อปี

debt solution

แม้ว่าสินเชื่อทั้ง 4 แบบนี้จะเป็นแหล่งเงินทุนเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องในยามจำเป็นได้ แต่อย่าลืมว่าก็จะมีดอกเบี้ยตามมาด้วย ดังนั้น จึงควรตัดสินใจกู้เมื่อ “มีความจำเป็นและจ่ายไหว” เท่านั้น ที่สำคัญ! อย่าลืมทำความเข้าใจผลิตภัณฑ์สินเชื่อต่าง ๆ อย่างรอบคอบ เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดและหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจจะตามมาในภายหลังด้วย

license check

[1] ชื่อทางการ คือ สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน

 

[2] ชื่อทางการ คือ สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มิใช่สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน

เรื่อง : ฝ่ายนโยบายการกำกับสถาบันการเงิน

Tag ที่เกี่ยวข้อง

BOT Magazine แก้หนี้ยั่งยืน จัดการหนี้ Financial Wisdom ความรู้ทางการเงิน