เศรษฐกิจไทยในชามก๋วยเตี๋ยว : “เงินเฟ้อ” กับปากท้องของคนไทย
(1)
ช่วงปี 2500 ก๋วยเตี่ยวชามละ 50 ตังค์ หรือชามละบาท จริงหรือครับ?
พอดีมานั่งดูทองเนื้อเก้าย้อนหลังทาง youtube อยู่ (กลับมาดูอีกรอบ แบบว่าคิดถึง)
ผมเกิดปี 252x อย่างตัวผมเองตอนเด็กถูกสุดที่เคยกินก็ชามละ 10 บาท ตามสั่ง 15 บาท
ช่วงนั้นจำความได้ว่าประมาณปี 2532-2535 พอปี 2540 ชามละ 20 พิเศษ 25
เห็นในละครทองเนื้อเก้า ตัวละครบอกว่า ยุคนั้นก๋วยเตี๋ยวชามละ 1 บาท
- พระเอกให้ลำยองกับลูกใช้เดือนละ 300 ก็บอกว่าเยอะแล้ว เงินเดือนนายร้อยยุคนั้นถ้าบอกว่า 300 เยอะ แปลว่าเงินเดือนไม่น่าถึงพันบาท (สัก 800ได้มั้ย)
- ลำยองขายลูกอภิชาติให้คุณกวง 3 หมื่นบาท ตีเป็นเงินปัจจุบัน 3 ล้านได้มั้ย?
เรื่องราวของละครทองเนื้อเก้าเกิดขึ้นในสมัย พ.ศ. 2505 หรือหนึ่งปีหลังจากที่ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 พ.ศ. 2504 ซึ่งมักถูกนับเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยสมัยใหม่ ในปี 2568 หรือ 64 ปีหลังจากนั้น ราคาก๋วยเตี๋ยวในประเทศไทยโดยทั่วไปจะอยู่ที่ 40-50 บาท และก็เป็นดังที่เจ้าของกระทู้บอกไว้ ราคาก๋วยเตี๋ยวไม่ได้เพิ่มขึ้นพรวดเดียวจาก 1 บาทเป็น 50 บาท หากแต่ทยอยปรับขึ้นเรื่อย ๆ ตลอด 64 ปี
ในความหมายอย่างง่ายที่สุด อาจเรียกสถานการณ์ที่ก๋วยเตี๋ยวราคาแพงขึ้น แต่ได้ปริมาณเท่าเดิมว่า “เงินเฟ้อ” (inflation)
ถ้าคุณผู้อ่านไปกินก๋วยเตี๋ยวเจ้าประจำและรู้สึกเช่นนี้ โปรดสังเกตให้ดี ก๋วยเตี๋ยวชามโปรดกำลังบอกเล่าบางเรื่องราวของเศรษฐกิจไทยได้อย่างน่าสนใจ
ในทางเศรษฐศาสตร์ เงินเฟ้อคือการวัดการเปลี่ยนแปลงราคาของสินค้าหรือบริการ แต่ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงแค่เพียงรายการเดียว เช่น ก๋วยเตี๋ยวขึ้นราคา แต่เป็นการดู “การเปลี่ยนแปลงราคาของสินค้าและบริการในภาพรวม” ที่ประชาชนใช้จ่ายอยู่เป็นประจำซึ่งย่อมมีทั้งที่ราคาแพงขึ้นและถูกลง โดยคำนวณถ่วงน้ำหนักตามสัดส่วนการใช้จ่ายจริงจากพฤติกรรมของ “คนทั่วไป”
สำหรับสินค้าและบริการที่คนทั่วไปใช้สอยเป็นประจำนั้น กระทรวงพาณิชย์ได้สำรวจสินค้าและบริการ 464 รายการ (ข้อมูล ณ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568) โดยแบ่งออกเป็น 7 หมวด ได้แก่ (1) หมวดอาหารและเครื่องดื่ม (2) หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า (3) หมวดเคหสถาน (4) หมวดตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล (5) หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร (6) หมวดการบันเทิง การอ่านและการศึกษา และ (7) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นข้อมูลที่จัดทำเป็น “ตะกร้าเงินเฟ้อ” เพื่อคำนวณว่า โดยรวมแล้วใน 1 เดือน คนไทยบริโภคอะไรบ้าง และแต่ละอย่างมีสัดส่วนเท่าไหร่ โดยโครงสร้างของตะกร้าเงินเฟ้อในปัจจุบันที่เริ่มใช้ปี 2566 พบว่า 3 หมวดแรกที่คนไทยบริโภค ได้แก่ (1) อาหารและเครื่องดื่ม (2) เคหสถาน และ (3) พาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร
ประเด็นสำคัญที่อยากทำความเข้าใจตั้งแต่ต้น คือ เงินเฟ้อไม่ใช่ดัชนีที่ใช้วัดค่าครองชีพ ดังนั้น ตัวเลขเงินเฟ้อที่ออกมาบางครั้งจึงอาจตรงกันข้ามกับ “ความรู้สึก” ของผู้คนที่คิดว่าข้าวของแพงและค่าครองชีพสูง เพราะคนจำนวนมากมักสับสนระหว่างเงินเฟ้อซึ่งสะท้อน “การเปลี่ยนแปลงของราคา” กับค่าครองชีพที่เป็นผลจาก “ระดับราคา”
ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงที่เงินเฟ้อไทยค่อนข้างต่ำ (สะท้อนราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นไม่มาก) แต่หลายคนกลับรู้สึกว่าค่าครองชีพสูง ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะราคาสินค้าหลายอย่างได้มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นสะสมต่อเนื่องมาตลอดหลายปี โดยเฉพาะในช่วงสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีความสำคัญของโลก ทำให้ราคาของสินค้าหลายอย่าง เช่น น้ำมัน ปุ๋ยเคมี ข้าว และอาหารสัตว์ ปรับแพงขึ้นและสูงค้างอยู่ในระดับเดิมในช่วงที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ความรู้สึกต่อเงินเฟ้อของคนแต่ละกลุ่มก็อาจจะแตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น กลุ่มรายได้น้อยซึ่งส่วนใหญ่ใช้จ่ายไปกับสิ่งของจำเป็น และได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาสินค้ามากกว่ากลุ่มรายได้สูง ที่สำคัญ เนื่องจากเงินเฟ้อเป็นคำนวณค่าเฉลี่ยการเปลี่ยนแปลงราคาในภาพรวมของประเทศ จึงอาจไม่สะท้อนสถานการณ์ในบางพื้นที่ อาทิ กรณีคนในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่รู้สึกถึง “ภาวะของแพง” มากกว่าพื้นที่อื่น เพราะราคาอาหารที่แพงขึ้นมากกว่าต่างจังหวัด
เมื่อก๋วยเตี๋ยวเจ้าประจำขึ้นราคา...
ถ้าหากร้านก๋วยเตี๋ยวเจ้าประจำของเราขึ้นราคาเพียงเจ้าเดียว ก็ยังไม่ถือว่าเป็นเงินเฟ้อ เพราะอาจเป็นการขึ้นราคาจากปัจจัยเฉพาะ เช่น ร้านมีลูกค้าประจำแน่นหนา เลยอยากขึ้นราคาเพื่อเพิ่มกำไร ฉะนั้น จุดสังเกตที่สำคัญที่จะเข้าข่ายว่าเป็น “เงินเฟ้อ” ก็คือ กรณีที่ราคาอาหารและเครื่องดื่มโดยรวมเพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง ดังนั้น การขึ้นราคาสินค้า จึงอาจไม่ใช่เงินเฟ้อเสมอไป แต่ต้องดูภาพรวมและปัจจัยอื่นประกอบด้วย
เมื่อร้านอาหารขอขึ้นราคา เพราะวัตถุดิบแพงขึ้น...
เวลาร้านก๋วยเตี๋ยวเจ้าประจำขึ้นราคา เมื่อลูกค้าถามหาเหตุผล คำตอบที่ได้มักจะคล้าย ๆ กันว่า “ต้นทุนสูงขึ้น” ไม่ว่าจะเป็นราคาเนื้อสัตว์ น้ำตาล น้ำมันพืช แก๊สหุงต้ม ค่าขนส่ง หรือค่าแรง ที่แพงขึ้น ซึ่งหากขยับจากชามก๋วยเตี๋ยวไปมองในภาพเศรษฐกิจระดับมหภาค ปรากฏการณ์นี้ก็คือสิ่งที่เรียกว่า เงินเฟ้อจากต้นทุน (Cost-push inflation) ซึ่งราคาสินค้าสูงขึ้น ลูกค้าต้องจ่ายแพงขึ้น เพราะต้นทุนสูงขึ้น แต่ความต้องการของผู้บริโภคไม่ได้เปลี่ยนแปลง ผู้คนยังอยากจับจ่ายเท่าเดิม
เมื่อร้านค้าขึ้นราคา เพราะมีคนอยากซื้อสินค้าจำนวนมาก…
เงินเฟ้อไม่ได้เกิดจากต้นทุนอย่างเดียว ในหลายกรณีเงินเฟ้อก็เป็นผลมาจาก “อุปสงค์” ที่เพิ่มขึ้นได้(Demand-pull inflation) ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตได้ดี ทำให้คนมีรายได้มากขึ้น กำลังซื้อสูงขึ้น ขณะที่ปริมาณสินค้าหรือบริการในตลาดยังเท่าเดิม ส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถขึ้นราคาได้ เพราะรู้ว่ามีคนพร้อมจะจ่ายมากขึ้น
อีกปรากฏการณ์ที่ต้องพูดถึง ซึ่งเป็นเรื่องที่คนส่วนมากนึกไม่ถึงก็คือ การคาดการณ์เงินเฟ้อ (Inflation Expectation) ที่ส่งผลต่อไปยังระดับเงินเฟ้อจริง กล่าวคือ ถ้าคนส่วนใหญ่ในระบบเศรษฐกิจคาดการณ์ว่า
ในอนาคตราคาสินค้าและบริการจะสูงขึ้น ฝั่งผู้บริโภคก็จะรีบสั่งซื้อสินค้า ผู้ประกอบการก็จะเร่งกักตุนวัตถุดิบ เพราะกลัวของแพงขึ้นอีก ขณะที่ลูกจ้างก็จะขอขึ้นเงินเดือนเพื่อให้เพียงพอต่อค่าครองชีพที่คิดว่าจะสูงกว่าเดิม ผู้ประกอบการก็ต้องปรับขึ้นราคาสินค้าตามต้นทุนวัตถุดิบและค่าจ้างที่มากขึ้นด้วย ในท้ายที่สุด ระดับเงินเฟ้อก็จะปรับเพิ่มขึ้นไปในทิศทางเดียวกันกับคาดการณ์เงินเฟ้อในที่สุด
ด้วยเหตุนี้ ธนาคารกลางของทุกประเทศ รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงให้ความสำคัญอย่างมากกับการ “บริหารการคาดการณ์” ของผู้คนในระบบเศรษฐกิจ ให้ยึดโยงและสอดคล้องกับเป้าหมายเงินเฟ้อที่วางเอาไว้ เพราะต่อให้เศรษฐกิจจริงยังไม่ได้ร้อนแรงนัก หากความเชื่อของผู้คนหลุดจากกรอบที่ควรจะเป็น ก็อาจจุดชนวนให้เกิดเงินเฟ้อที่ไม่พึงประสงค์ขึ้นมาได้
ในโลกความเป็นจริง “เงินเฟ้อ” ไม่ได้แสดงออกแค่ในรูปแบบของราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นเสมอไป เพราะหลายครั้งเวลาที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นราคาวัตถุดิบ ค่าแรง หรือค่าขนส่ง พวกเขาอาจเลือกปรับตัวด้วยวิธีอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การขึ้นราคาโดยตรง ยกตัวอย่างเช่น การลดปริมาณสินค้า (เรียกว่า Shrinkflation) การลดคุณภาพ เปลี่ยนแปลงส่วนประกอบของสินค้า หรือปรับรูปแบบของบริการ (เรียกว่า Skimpflation) เพื่อให้ยังสามารถขายในราคาเท่าเดิมได้
สาเหตุที่ผู้ผลิตไม่ขึ้นราคาทันทีก็เพราะในแง่ของการตลาด “ราคา” คือสิ่งที่ไวต่อความรู้สึกของผู้บริโภคมากที่สุด การเปลี่ยนตัวเลขบนป้ายราคาอาจทำให้ลูกค้าถอยห่างได้ง่ายกว่าการเปลี่ยนปริมาณหรือคุณภาพเล็กน้อย จึงเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ผู้ประกอบการมักนำมาใช้ก่อนที่จะมีการปรับราคา
อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นในช่วงหลังคือ Cheapflation เป็นกรณีที่สินค้าชนิดเดียวกัน กลุ่มที่ราคาถูกกว่าปรับราคาเพิ่มขึ้นเร็วกว่ากลุ่มที่มีราคาแพง ซึ่งส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำของราคาสินค้า ขึ้นอยู่กับกลุ่มสินค้าที่ผู้บริโภคเลือกซื้อ เพราะคนที่มีรายได้น้อยมักพึ่งพาสินค้าราคาถูกในชีวิตประจำวัน ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากกว่าคนที่มีรายได้สูง สอดคล้องกับงานวิจัยที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของ The Centre for Economic Policy Research (CEPR)1 ที่พบว่า ผู้บริโภคบางกลุ่มที่พยายามปรับตัว เช่น หันมาเลือกสินค้าราคาประหยัดลงเพื่อประคองคุณภาพชีวิต แต่กลับพบว่าสินค้ากลุ่มนี้ขึ้นราคาแรงกว่าสินค้าพรีเมียม ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้เห็นได้ชัดเจนเป็นพิเศษในกรณีของร้านอาหาร จากการที่ร้านอาหารหรูจะสามารถดูดซับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้มากกว่าเพราะมีอัตรากำไรอยู่ในระดับสูง จึงอาจไม่จำเป็นต้องรีบขึ้นราคา ซึ่งตรงกันข้ามกับร้านก๋วยเตี๋ยวริมทางที่แม้จะไม่อยากขึ้นราคาไม่อยากลดปริมาณ หรือลดคุณภาพ เพราะกลัวลูกค้าจะหาย แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้
แน่นอนว่าเงินเฟ้อที่สูงเกินไปไม่ใช่สิ่งที่ใครต้องการ แต่ลองนึกภาพตามว่า ถ้าคุณกินก๋วยเตี๋ยวร้านเดิมมาตลอด 20 ปี โดยที่ราคายังเท่าเดิมไม่เคยเปลี่ยนเลย อาจมีบางอย่างที่ดูแปลกใช่ไหม?
ในทางเศรษฐศาสตร์ เงินเฟ้ออ่อน ๆ ที่อยู่ในระดับไม่เกิน 3% และไม่ผันผวนจนเกินไป มักถือเป็นสัญญาณบวก เพราะแสดงว่าเศรษฐกิจกำลังมีชีวิตชีวา ความต้องการในสินค้าและบริการยังคงเติบโตอยู่ ซึ่งส่งผลให้ราคาค่อย ๆ ขยับขึ้นอย่างพอดี ไม่รุนแรง ไม่หวือหวา ซึ่งการมี “เสถียรภาพของราคา” เช่นนี้ ทำให้ทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการสามารถวางแผนล่วงหน้าได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจับจ่ายใช้สอย ออมเงิน หรือลงทุนเพื่อขยับขยายกิจการ และทั้งหมดนี้ก็เป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจที่จะเติบโตอย่างยั่งยืน
ดังนั้น หากราคาก๋วยเตี๋ยวเพิ่มขึ้นนิดหน่อย ด้วยเหตุผลที่สมเหตุสมผล และไม่ได้แพงจนเกินเอื้อม ก็อาจเป็นสัญญาณที่ดีว่าเศรษฐกิจกำลังเดินหน้า คนมีรายได้และกำลังซื้อเพิ่มขึ้น และวงจรของการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจก็ยังทำงานอย่างราบรื่น
ในทางกลับกัน หลายท่านอาจมีความกังวลว่าเงินเฟ้อที่ต่ำต่อเนื่อง ก็อาจนำไปสู่ภาวะเงินฝืด หรือที่เรียกว่า deflation ซึ่งในความเป็นจริงจะดูว่าน่ากังวลหรือไม่ต้องประเมินลึกลงไปถึงที่มาของเงินเฟ้อต่ำว่าเป็นผลมาจากอะไร โดยหากเกิดจากปัจจัยด้านอุปสงค์ที่ผู้คนไม่กล้าใช้จ่าย ไม่กล้าลงทุน เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นช่วงต้นทศวรรษ 1990 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรง และลากยาวมานับสิบปีก็ถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะความเชื่อมั่นของทั้งประชาชนและภาคธุรกิจที่ถดถอย ทำให้ธุรกิจชะงัก การผลิตน้อยลง คนตกงานมากขึ้น และเศรษฐกิจก็เข้าสู่วงจรลบที่ยากจะฟื้นตัว ซึ่งตรงกันข้ามกับกรณีเงินเฟ้อไทยที่ต่ำในช่วงที่ผ่านที่ไม่ได้น่ากังวล เพราะเป็นผลมาจากปัจจัยอุปทานที่ราคาต้นทุนการผลิตลดลง แต่การบริโภคในประเทศยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง (อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความ “ปลดล็อกความเข้าใจ เงินเฟ้อไทย ทำไมถึงต่ำ” https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/bot-magazine/Phrasiam-68-2/theknowledge-lowinflation.html)
ดังนั้น หน้าที่สำคัญของธนาคารกลางจึงไม่ใช่การทำให้ราคาสินค้าถูกที่สุดหรือแพงที่สุด แต่คือการประคับประคองเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่พอดี คือ ไม่สูงเกินไปจนคนอยู่ไม่ได้ และไม่ต่ำเกินไปจนเศรษฐกิจไม่ขยับ ซึ่งจะต้องอิงกับโครงสร้างและศักยภาพการเติบโตของประเทศนั้น ๆ เป็นหลัก
ฉะนั้น ครั้งต่อไปที่คุณนั่งหน้าชามก๋วยเตี๋ยว ลองค่อย ๆ ลิ้มรส บางทีคุณอาจจะไม่ได้แค่รสชาติของน้ำซุป แต่อาจกำลังรับรู้ถึง "อุณหภูมิของเศรษฐกิจ" ที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่เงียบ ๆ ในชามตรงหน้า
ในโลกที่เศรษฐกิจไทยถูกเล่าผ่านร้านก๋วยเตี๋ยว ธปท. เปรียบเสมือน “ผู้จัดการศูนย์อาหาร” ที่มีหน้าที่ดูแลทั้งระบบให้ดำเนินไปอย่างสมดุล เช่น ไม่ให้ร้านค้าทยอยขึ้นราคามาก ๆ พร้อมกันจนน่าตกใจ หรือปล่อยให้ราคานิ่งเกินไปจนร้านอยู่ไม่ได้ เป้าหมายของผู้จัดการศูนย์อาหารคนนี้คือ ดูแลรักษาให้ร้านค้าขายของได้ ผู้บริโภคพอใจ และศูนย์อาหารมีความมั่นคงในระยะยาว
ธปท. ดำเนินนโยบายในลักษณะเดียวกัน โดยตั้งเป้าหมายให้อัตราเงินเฟ้อในระยะกลางอยู่ที่ 1–3% ซึ่งสะท้อนถึงเศรษฐกิจที่โตพอดี ไม่ร้อนแรงจนเกินไปและไม่เย็นชืดจนเกินควร ที่ผ่านมาประเทศไทยถือว่าควบคุมเงินเฟ้อได้ดีพอสมควร เพราะในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2% และแม้จะมีช่วงหนึ่งที่เงินเฟ้อสูงขึ้นจากปัจจัยด้านอุปทานบ้าง อย่างในปี 2565 แต่ก็สามารถดึงกลับเข้าสู่กรอบได้ภายในเวลาเพียง 7 เดือน ต่างจากอีกหลายประเทศที่ในช่วงต้นปี 2568 ก็ยังไม่สามารถดึงระดับเงินเฟ้อกลับมาได้
หลายคนอาจคิดว่า ถ้าเงินเฟ้อสูงหรือต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย ธนาคารกลางควรรีบ “หมุนวาล์ว” แก้ปัญหาทันที เช่น ขึ้นหรือลดดอกเบี้ยนโยบาย แต่ในความเป็นจริง ผู้จัดการศูนย์อาหารอย่าง ธปท. ต้องมองไปไกลกว่านั้น เพราะเป้าหมายที่แท้จริงคือ “ความเสถียรของราคา” ไม่ใช่การทำให้ตัวเลขอยู่ในกรอบทุกเดือน หรือทุกปี การดำเนินนโยบายการเงินจึงต้องพิจารณาบริบทของประเทศในแต่ละช่วง และรักษาความยืดหยุ่นเอาไว้ เพื่อให้สามารถดูแลทั้งเงินเฟ้อ ระบบการเงิน และการเติบโตของเศรษฐกิจควบคู่กันไป
ในทางปฏิบัติ การขึ้นหรือลดดอกเบี้ยนโยบายจึงต้องดูให้แน่ชัดว่า “สาเหตุของราคาก๋วยเตี๋ยวที่เพิ่มขึ้น” มาจากอะไร ถ้ามาจากอุปสงค์ เช่น คนแห่กินก๋วยเตี๋ยวจนร้านทำไม่ทัน ดอกเบี้ยก็สามารถใช้เป็นเครื่องมือควบคุมได้ เพราะการขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น ผู้คนอาจชะลอการใช้จ่ายและการลงทุนลง ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันด้านราคาได้ โดยผลลัพธ์ของการปรับดอกเบี้ยจะค่อย ๆ ซึมเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยใช้เวลาประมาณ 6-8 ไตรมาสกว่าจะเห็นผลได้เต็มที่
ในทางกลับกัน ถ้าราคาก๋วยเตี๋ยวเพิ่มขึ้นเพราะวัตถุดิบอย่างหมู หรือราคาเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นในช่วงสั้น ๆ การขึ้นดอกเบี้ยก็อาจไม่ใช่คำตอบ เพราะต้นเหตุไม่ได้มาจากฝั่งผู้บริโภค แต่เป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุม หากใช้นโยบายแรงเกินไปก็อาจกระทบเศรษฐกิจโดยไม่จำเป็น
อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการศูนย์อาหารยังต้องจับตา “การคาดการณ์” ของร้านค้าและลูกค้าให้ดี เพราะหากทุกฝ่ายเริ่มเชื่อว่าในอนาคตราคาจะต้องขึ้นแน่นอน ร้านค้าก็อาจขึ้นราคาก่อนล่วงหน้า และลูกค้าก็จะรีบมาซื้อก่อนของจะแพง กลายเป็นว่า “แค่เชื่อ” ก็ทำให้ราคาพุ่งขึ้นจริง ๆ นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ธนาคารกลางต้องควบคุมไม่ให้ “เงินเฟ้อคาดการณ์” หลุดกรอบ
ในกรณีของไทย ถึงแม้จะเคยมีช่วงที่เงินเฟ้อออกนอกกรอบบ้างจากปัจจัยด้านอุปทาน แต่ “ผู้จัดการศูนย์อาหาร” อย่าง ธปท. ก็ดูแลภาพรวมของตลาดให้เหมาะสม และพยายามสร้างความเชื่อมั่นให้สังคมทั้งประชาชนและภาคธุรกิจ เพื่อให้ราคาก๋วยเตี๋ยวยังอยู่ในระดับที่กินได้ไหว ไม่แพงเกินไป ไม่ถูกเกินไป และไม่หลุดสมดุล