"เปลี่ยนแปลงเพื่อยืนหยัด ปฏิบัติให้เท่าทัน ร่วมกันพัฒนา"
80 ปี ธปท. สานต่อพันธกิจเพื่อคนไทยในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง
ปี 2565 เป็นปีที่ ธปท. ดำเนินงานมาครบ 80 ปี นับตั้งแต่ทำพิธีเปิดอาคารสำนักงานใหญ่ที่ถนนสี่พระยา เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2485 แม้ว่าเมื่อเทียบกับธนาคารกลางอื่น ๆ ในโลกแล้ว ตัวเลข 80 ปีอาจจะไม่ได้ยาวนานนัก แต่เมื่อเทียบกับธนาคารกลางอื่น ๆ ในเอเชีย ธปท. ก็เป็นธนาคารกลางที่ก่อตั้งมายาวนานเป็นลำดับที่สาม รองจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (140 ปี) และธนาคารกลางอินเดีย (87 ปี)
ตลอดช่วงเวลา 80 ปีที่ผ่านมา ธปท. ต้องเผชิญกับความท้าทายหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่วิกฤตค่าเงินบาทที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง การขาดแคลนธนบัตร วิกฤตการณ์ราชาเงินทุน วิกฤตต้มยำกุ้ง จนมาถึงวิกฤตเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด 19 และ ธปท. ก็ได้ยืนหยัดทำงานเพื่อรักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศมาโดยตลอด
ในโอกาสครบรอบ 80 ปี ธปท. ได้จัดกิจกรรมหลากหลายที่ไม่เพียงแต่เป็นการรำลึกและเฉลิมฉลองให้กับสถาบันที่ทำหน้าที่ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจแห่งนี้ หากแต่ยังเป็นการย้อนกลับไปสำรวจบทบาท คุณค่า และความหมายของ ธปท. ในวันที่เศรษฐกิจการเงินไทยกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายใหญ่ เพื่อเตรียมให้ ธปท. พร้อมสำหรับตอบโจทย์เศรษฐกิจการเงินไทยในอนาคต
เปลี่ยนแปลงเพื่อยืนหยัด
หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของปีนี้ คืองาน "เหลียวหลัง แลหน้า กับผู้ว่าการ ธปท." ซึ่งเป็นโอกาสที่อดีตผู้ว่าการที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2540-2563 ถึงหกท่าน ได้มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และมุมมองในการทำหน้าที่ธนาคารกลางในแต่ละยุคสมัย เพื่อส่งต่อภูมิปัญญาและหลักคิดสำหรับการสร้างรากฐานที่มั่นคงในการดำเนินงานตามพันธกิจของ ธปท. และการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของประเทศต่อไป
แม้ว่าความท้าทายจะต่างกันไปตามยุคสมัย สภาพสังคม ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี แต่อดีตผู้ว่าการทุกท่านก็มีโจทย์สำคัญเดียวกัน คือ การทำให้ ธปท. สามารถทำหน้าที่ธนาคารกลางได้อย่างเต็มความสามารถ และนำเอาประสบการณ์ องค์ความรู้ ที่ ธปท. สั่งสมมาใช้อย่างเหมาะสม พร้อมกันนั้นก็ต้องทำให้ ธปท. ปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้
"เปลี่ยนแปลงเพื่อยืนหยัด" นี่คือหัวใจของการรักษาความสามารถในการทำตามพันธกิจของ ธปท. ในฐานะธนาคารกลาง
ปฏิบัติให้เท่าทัน
นอกจากการถอดบทเรียนและประสบการณ์ในอดีตแล้ว ธปท. ยังผลักดันการพัฒนาระบบเศรษฐกิจการเงินไทยอย่างต่อเนื่อง ผ่านงานเสวนาวิชาการที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยในปี 2565 มีงาน "BOT Symposium 2022: ก้าวสู่ยุคใหม่เศรษฐกิจการเงินไทย" เป็น "เวทีความรู้" ให้นักวิชาการและนักวิจัย ทั้งภายในและภายนอก ธปท. มาร่วมกันหา "คำตอบใหม่" ให้กับเศรษฐกิจการเงินไทย ซึ่งจะช่วยให้ ธปท. นำพาเศรษฐกิจไทยก้าวผ่านทศวรรษถัดไปได้อย่างมั่นคง อีกหนึ่งไฮไลต์คือ งาน "BOT Digital Finance Conference 2022" เวทีแลกเปลี่ยนความรู้ว่าด้วยการวางรากฐานและพัฒนาภาคการเงินดิจิทัล ซึ่งนอกจากการเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญทั้งไทยและต่างประเทศแล้ว ยังมีการจัดแสดงเทคโนโลยีทางการเงินให้ผู้สนใจได้เรียนรู้ด้วย
ในวาระครบรอบ 80 ปี ธปท. ยังได้ร่วมมือกับธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlement: BIS) จัดงาน BOT-BIS Conference โดยได้รับเกียรติจากผู้ว่าการธนาคารกลางมากกว่า 10 ประเทศทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรระหว่างประเทศและในประเทศ มาร่วมหารือเกี่ยวกับการทำหน้าที่ตามพันธกิจหลักของธนาคารกลาง ท่ามกลางบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้ ธปท. สามารถ "ปฏิบัติให้เท่าทัน" ในวันที่โลกหมุนแรงและเร็วขึ้นมากกว่าเดิม
ร่วมกันพัฒนา
โลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว มาพร้อมกับความท้าทายที่ซับซ้อนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายฝ่าย ธปท. ตระหนักดีว่า การทำงานเพียงลำพังอาจไม่สามารถทำตามพันธกิจได้อย่างเต็มที่ จึงให้ความสำคัญกับการสื่อสาร การรับฟังความเห็น และการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ ด้วยเชื่อมั่นว่า การร่วมมือกันจะช่วยหาคำตอบที่ "ดีที่สุด" ให้กับสังคมเศรษฐกิจไทย
ช่วงต้นปี ธปท. ได้ออกรายงาน "ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย (Financial Landscape)" ที่จะทำหน้าที่เป็นแผนแม่บทให้กับการพัฒนาภาคการเงินของประเทศ และทยอยเผยแพร่เอกสารทิศทางและนโยบายต่าง ๆ เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากสาธารณชน รวมถึงจัดงานที่ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีโอกาสพูดคุยถึงภาพรวมของภาคการเงินไทยในอนาคต
นอกจากการเปิดรับฟังความเห็นแล้ว เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วมแก้โจทย์เชิงนโยบาย ธปท. จึงจัดงาน hackathon ขึ้นสองงาน คืองาน BOT Policy Hackathon และ CBDC Hackathon ที่ให้ผู้เข้าร่วมได้เสนอแนวคิดในการพัฒนาการเงินดิจิทัล การเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม การแก้ปัญหาหนี้ รวมถึงการประยุกต์ใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางเพื่อต่อยอดนวัตกรรมทางการเงินและธุรกิจ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ ธปท. จัดการแข่งขันประเภท hackathon ขึ้น โดยได้รับการตอบรับอย่างดี มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมจำนวนมาก โดยทั้ง 2 โครงการมีผู้สมัครรวมทั้งสิ้น 247 ทีม หรือ 647 คน
"การร่วมกันพัฒนา" นอกจากจะทำให้ ธปท. ได้แนวคิดใหม่ ๆ มาปรับใช้ในการดำเนินนโยบายแล้ว ยังทำให้ผู้ที่สนใจได้เรียนรู้เกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ดำเนินนโยบายโดยตรงอีกด้วย