ธปท. กับเส้นทางการเปลี่ยนผ่าน

สู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

: Transition Path to

Environmental Sustainability

BOX10

ธปท. กับเส้นทางการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม : Transition Path to Environmental Sustainability

           ธปท. ในฐานะผู้ที่ดูแลเศรษฐกิจ สถาบันการเงิน และระบบการเงินของประเทศให้มีเสถียรภาพ จึงได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ภาคการเงินปรับตัวและช่วยสนับสนุนให้ระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างทันการณ์และไม่ส่งกระทบในวงกว้าง โดยต้องไม่เร่งเกินไปจนภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ปรับตัวไม่ทันและสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และไม่ช้าเกินไปจนเกิดความเสียหายและส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจ โดย ธปท. ได้กำหนดทิศทางการดำเนินงานที่มุ่งหวังผลลัพธ์ 3 ด้านดังนี้

          ผลลัพธ์ด้านแรก คือ ระบบสถาบันการเงินมีความมั่นคงและน่าเชื่อถือด้านความสามารถในการรับมือกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและด้านการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของระบบเศรษฐกิจไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยสถาบันการเงินมีการผนวกปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมในกระบวนการดำเนินธุรกิจที่ได้มาตรฐาน รวมถึงมีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมที่โปร่งใสและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล พร้อมทั้งมีเครื่องมือที่สามารถประเมินและรับมือกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย ธปท. คาดว่าจะออกแนวนโยบาย ธปท. เรื่อง การดำเนินธุรกิจสถาบันการเงินโดยคำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในเดือนมกราคม 2566 ซึ่งสถาบันการเงินจะนำไปใช้อ้างอิงเพื่อจัดทำคู่มือแนวปฏิบัติของภาคสถาบันการเงิน (industry handbook) เพื่อให้สามารถนำแนวนโยบายดังกล่าวไปปฏิบัติใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ภายในช่วงกลางปี 2566

          ผลลัพธ์ด้านที่สอง คือ ประเทศไทยมีระบบนิเวศ (ecosystem) ที่สนับสนุนการระดมทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (green finance) และการปรับตัวของภาคธุรกิจในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น (transition finance) โดยสามารถวัดและประเมินระดับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของแต่ละกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างมีมาตรฐาน มีระบบและฐานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมที่สถาบันการเงินและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถนำมาใช้ประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและสามารถประเมินโอกาสและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมได้  โดย ธปท. ได้ดำเนินการ (1) เข้าร่วมเป็นผู้แทนในคณะทำงาน Thailand Taxonomy เพื่อร่วมพัฒนามาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) ที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งจะช่วยให้ภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะสถาบันการเงินใช้อ้างอิงในการสนับสนุนเงินทุนให้ธุรกิจปรับตัวให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งคาดว่า Thailand Taxonomy สำหรับภาคพลังงานและขนส่งจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1 ปี 2566 และจะพัฒนาต่อยอดในภาคสำคัญอื่น ๆ ต่อไป (2) สร้างเครือข่ายข้อมูลกับหน่วยงานทั้งในและนอกภาคการเงินเพื่อแลกเปลี่ยนและใช้ประโยชน์ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างองค์กรได้อย่างทั่วถึง และ (3) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาศักยภาพบุคลากรภาคการเงิน โดยในปี 2566 จะให้ความสำคัญกับหลักสูตรอบรมเกี่ยวกับการประเมินผลกระทบผ่านการนำความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาเป็นปัจจัยในการประเมินสถานการณ์แบบจำลองและการทดสอบภาวะวิกฤต (climate scenario analysis and stress testing) และแนวปฏิบัติในการเปิดเผยข้อมูลตามแนวทางของ Task Force on Climate-Related Financial Disclosures (TCFD)

          ผลลัพธ์ด้านที่สาม คือ ภาคการเงินมีบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์การปรับตัวของภาคธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม โดยสถาบันการเงินมีการออกผลิตภัณฑ์และบริการทั้ง green และ transition products ที่ตอบโจทย์และช่วยสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจได้อย่างทั่วถึงและทันการณ์ ภายใต้ขอบเขตการประกอบธุรกิจของสถาบันการเงินและแรงจูงใจที่เหมาะสม เพื่อมิให้ก่อความเสี่ยงเพิ่มเติมจนกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน โดย ธปท. จะพิจารณาทบทวนกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น ขอบเขตการประกอบธุรกิจ เป็นต้น และร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งรวมถึงภาคสถาบันการเงินพิจารณาแนวทางการผลักดัน การจูงใจ และการช่วยเหลือภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ในการปรับตัว เช่น โครงการสินเชื่อเพื่อการปรับตัวซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำ การให้สถาบันการเงินมีบทบาทให้คำแนะนำอย่างเหมาะสม

          ทั้งนี้ การดำเนินการของ ธปท. ตามทิศทางข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการช่วยสนับสนุนระบบเศรษฐกิจไทยในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น  การผลักดันการดำเนินการเรื่องนี้ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมจำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือและการดำเนินการอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วนซึ่งภาครัฐต้องสื่อสารให้ทุกภาคส่วนเข้าใจและเห็นความจำเป็นในเรื่องนี้ และมีนโยบายที่ผลักดันให้ภาคธุรกิจ ภาคการเงิน และภาคประชาชนปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจและการใช้ชีวิตประจำวันให้อยู่บนเส้นทางการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

กระบวนการลงทุนที่คำนึงถึง ESG ในแบบ ธปท.


 

           ธปท. มีแนวทางการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศที่คำนึงถึงความยั่งยืน (sustainable investment)  โดยพิจารณาการดำเนินงานด้าน ESG ของผู้ร่วมตลาดประกอบการตัดสินใจลงทุน เพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาวควบคู่ไปกับการสร้างผลกระทบเชิงบวกหรือลดผลกระทบเชิงลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในโลกจริง ทั้งนี้ ธปท. พิจารณาปัจจัยด้าน ESG ในสองระดับ ได้แก่ การลงทุนในระดับประเทศ (top-down approach) และการลงทุนในระดับรายบริษัท (bottom-up approach) ในการลงทุนระดับประเทศ ธปท. พิจารณาปัจจัยด้านสังคมและธรรมาภิบาล ในการประเมินขีดความสามารถของแต่ละประเทศ เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน ในขณะที่ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความสำคัญของปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มีต่อเศรษฐกิจและการลงทุน ทั้งนี้ การพิจารณาจะประเมินจากขีดความสามารถของประเทศต่อการรับมือกับทั้งความเสี่ยงเชิงกายภาพ และความเสี่ยงในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยจะเน้นการลงทุนในประเทศที่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้ดีเพื่อช่วยลดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมให้กับกองทุนและทำให้กองทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น

           ในระดับบริษัท ธปท. อยู่ในระหว่างการศึกษาดัชนีอ้างอิงที่คำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG อาทิ การพิจารณาตัดกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการลงทุนโดยพิจารณาคะแนนด้าน ESG ของแต่ละบริษัทมาเป็นข้อกำหนดสัดส่วนการลงทุน นอกจากนี้ ธปท. ยังศึกษาการลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยตรงตามหลัก Sustainable Development Goals ขององค์การสหประชาชาติด้วย

BOX 10

  • ธปท. กับเส้นทางการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม : Transition Path to Environmental Sustainability