Policy Hackathon: อีกก้าวของการ "รับฟัง"

และการพัฒนาร่วมกับภาคประชาชน

BOX3

ดาวน์โหลดเอกสาร

 

โครงการ BOT Policy Hackathon เป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญที่จัดขึ้นในโอกาสที่ ธปท. ดำเนินงานครบรอบ 80 ปี เพื่อรับฟังความเห็นจากประชาชนทั่วไปและเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้นำเสนอความคิดในโจทย์งานสำคัญที่ส่งเสริมการพัฒนาระบบการชำระเงินของประเทศ 3 ด้าน คือ การเงินดิจิทัล การเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม และการแก้ปัญหาหนี้ ซึ่งเป็นนโยบายที่ ธปท. ให้ความสำคัญและอยู่ในแผนภูมิทัศน์ภาคการเงินไทย (financial landscape) ในอนาคต

 

          โครงการฯ ได้รับการตอบรับจากสาธารณชนเป็นอย่างดี มีผู้สมัครเข้าร่วมกว่า 145 ทีม รวม 387 คน โดยผู้เข้าแข่งขันมีความหลากหลาย ทั้งนิสิต นักศึกษา คนทำงานจากหลากหลายสาขาอาชีพ ทำให้ได้แนวคิดที่เปิดกว้าง เสนอแนวทางแก้ปัญหาที่เข้าใจใน pain point ของประชาชน

 

          BOT Policy Hackathon นับเป็นอีกก้าวสำคัญของ ธปท. ในการ "รับฟัง" และการพัฒนานโยบายร่วมกับประชาชน

จากประชาชนถึง ธปท. : ห้องทดลองในการทำนโยบายการเงินรูปแบบใหม่

 

          ผลผลิตสำคัญของโครงการ BOT Policy Hackathon คือ การให้ประชาชนได้ทดลองนำเสนอความคิดในการทำนโยบายจริง ซึ่งมีผลงานน่าสนใจหลายโครงการฯ

          สำหรับด้านการเงินดิจิทัล มีการนำเสนอผลงานที่มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีและข้อมูลมาสร้างและพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงิน รวมถึงการออกนโยบายการประกอบธุรกิจธนาคารเสมือนจริง (virtual bank) โดยทีม "ห้าให้" ซึ่งเป็นทีมที่ชนะเลิศได้เสนอแนวคิด "การสร้างแพลตฟอร์มการรับโอนข้อมูลจากปัจจัยอื่น (alternative data) เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการสินเชื่อ และส่งเสริมสิทธิเรื่อง data portability" โดยหัวใจสำคัญ คือ การสร้างแพลตฟอร์มกลาง (Data Portability Platform: DPP) ที่เจ้าของข้อมูลสามารถใช้สิทธิตามกฎหมายของ พรบ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ขอโอนข้อมูล alternative data เช่น ข้อมูลพฤติกรรมการชำระค่าสาธารณูปโภค การซื้อสินค้าและบริการ การถือครองประกันหรือรถยนต์ ไปยังผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลรายอื่นได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ให้บริการสินเชื่อนำข้อมูลไปประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้ และช่วยให้ผู้มีโอกาสน้อยสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น

          ด้านการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม ผู้เข้าแข่งขันนำเสนอแนวนโยบายที่สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาระบบนิเวศการเงินเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อร่วมสร้างเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) ในประเทศ เช่น การพัฒนาระบบเก็บข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม การสร้างระบบนิเวศที่สนับสนุนธุรกิจคาร์บอนต่ำ นโยบายส่งเสริมสินเชื่อคาร์บอน ทั้งนี้ ทีม "5P Policy Hacker" ได้นำเสนอนโยบาย 3Greens ได้แก่ (1) Green Thinking การเสริมสร้างความรู้ให้กับประชาชนเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ (2) Green Funding ส่งเสริมการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งกับธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดย่อมผ่านกองทุนต่าง ๆ และ (3) Green Database การพัฒนาระบบฐานข้อมูล ประกอบด้วย ข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจก โดยแกนการพัฒนาสำคัญทั้ง 3 ด้านจะสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ net zero ภายในปี 2608-2613 โดยสร้างการตระหนักรู้ให้ทุกภาคส่วนรู้สึกถึงการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนภารกิจสีเขียวนี้

          ด้านการแก้ปัญหาหนี้ มีการนำเสนอแนวนโยบายและการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนผ่านการให้ความรู้ การส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการสร้างฐานข้อมูลกลาง รวมถึงการพัฒนาเครื่องมือเพื่อช่วยวางแผนการเงิน โดยทีมชนะเลิศ "3 ส" ได้นำเสนอนโยบาย สอน-เสริม-สร้าง เพื่อเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับความรู้ทางการเงิน ควบคู่กับการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน

          แม้การแข่งขันโครงการ BOT Policy Hackathon จะเสร็จสิ้นลงแล้ว แต่ไอเดียที่ประชาชนมีส่วนร่วมจะยังได้รับการพัฒนาต่อ โจทย์สำคัญของ ธปท. คือ การผลักดันต่อยอดผลงานต่าง ๆ เพื่อนำมาปรับใช้ โดย ธปท. จะทำการหารือแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้เข้าแข่งขันแต่ละทีม รวมทั้งหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางในการพัฒนานโยบายและนวัตกรรมทางการเงินที่ตอบโจทย์บริบทสังคมไทย