7 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการดำเนินงานของ ธปท.

BOX4

ค่าเงิน 


1.  ธปท. กำหนดค่าเงินได้ (ตามใจชอบ) => ค่าเงินบาทขึ้นกับปัจจัยภายนอกเป็นหลัก
 

  • ไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ (managed floating exchange rate) ซึ่งค่าเงินจะถูกกำหนดจากกลไกตลาดตามปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงแรงซื้อขายในตลาดการเงินเป็นสำคัญ โดย ธปท. จะเข้าดูแลไม่ให้ค่าเงินผันผวนสูงจนเป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจ หรือส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินเท่านั้น
  • ประเทศที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเช่นเดียวกับไทย ได้แก่ เกาหลีใต้ บราซิล มาเลเซีย อินโดนีเซีย

 

2.  การเปลี่ยนแปลงของเงินสำรองระหว่างประเทศ (เงินสำรองฯ) เกิดจากการดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทเท่านั้น => เงินสำรองฯ อาจเปลี่ยนแปลงจากผลตอบแทนและการตีมูลค่าสินทรัพย์ด้วย
 

  • มูลค่าเงินสำรองฯ สามารถเปลี่ยนแปลงจาก 3 ปัจจัยคือ ผลตอบแทนการลงทุน การตีมูลค่าของสินทรัพย์ (mark-to-market) และการดำเนินนโยบายค่าเงินของ ธปท.
  • เงินสำรองฯ ไม่ได้เป็นสินทรัพย์ที่เก็บไว้เฉย ๆ แต่มีการนำไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศที่มีความมั่นคงสูง มีสภาพคล่องดี และมีการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสม โดย ธปท. ยึดหลักการบริหาร 3 ด้าน ได้แก่ (1) รักษามูลค่าของเงินสำรองระหว่างประเทศในรูปเงินตราต่างประเทศ (security) (2) มีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน (liquidity) และ (3) ได้รับผลตอบแทนสูงสุดภายใต้ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (risk-adjusted return)
  • ในปี 2565 การลดลงของเงินสำรองฯ ส่วนใหญ่เป็นผลจากการตีมูลค่าสินทรัพย์ที่ลงทุนมาเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงที่เงินดอลลาร์สหรัฐปรับแข็งค่า เมื่อเทียบกับสกุลอื่น ๆ ทั่วโลก ย่อมส่งผลให้มูลค่าการถือครองสินทรัพย์ในสกุลเงินอื่น ๆ ปรับลดลง

 

3.  เงินบาทอ่อนค่าลงมาก สะท้อนเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยน่ากังวล => การอ่อนค่าของเงินบาทขึ้นอยู่กับทั้งปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ ขณะที่เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยยังแข็งแกร่งและสูงกว่าเกณฑ์สากลในหลายมิติ

 

  • เงินบาทที่อ่อนค่าลงเป็นผลจากปัจจัยจากต่างประเทศเป็นหลัก โดยข้อมูลอัตราแลกเปลี่ยนชี้ว่า การอ่อนค่าของเงินบาทในปี 2565 เป็นผลมาจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก สอดคล้องกับทิศทางค่าเงินของประเทศอื่น ๆ
  • การพิจารณาเสถียรภาพด้านต่างประเทศต้องพิจารณาตัวชี้วัดทั้งด้านสินทรัพย์และหนี้สินประกอบกัน เช่น เงินสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศ
  • ปัจจุบันไทยมีเสถียรภาพด้านต่างประเทศที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยมีเงินสำรองฯ สุทธิ (ณ สิ้นปี 2565) 246 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 49% ของ GDP ซึ่งสูงเป็นอันดับ 11 และ 6 ของโลกตามลำดับ ด้านหนี้ต่างประเทศคิดเป็น 37% ของ GDP ซึ่งต่ำเป็นอันดับ 8 ของโลก นอกจากนี้ เงินสำรองฯ อยู่ในระดับที่สูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นเกิน 3 เท่า (สูงกว่าเกณฑ์สากลขั้นต่ำที่ 1 เท่า) รวมทั้งยังมีเงินสำรองฯ ครอบคลุมมูลค่าการนำเข้าได้เกือบ 10 เดือน (มากกว่าเกณฑ์สากลขั้นต่ำที่ 3 เดือน)

 

4.  เงินเฟ้อสูงขึ้นเกิดจากเงินบาทที่อ่อนค่าเป็นหลัก => เงินเฟ้อเป็นผลมาจากราคาสินค้าและราคาพลังงานในตลาดโลก การอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลต่อเงินเฟ้อไม่มากนัก
 

  • การปรับอ่อนค่าของค่าเงินอาจส่งผลให้การนำเข้าสินค้าและบริการจากต่างประเทศมีราคาสูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อโดยรวมได้
  • สำหรับไทย ผลกระทบจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงต่อเงินเฟ้อเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากปัจจุบันไทยมีสัดส่วนสินค้านำเข้าในตะกร้าเงินเฟ้อค่อนข้างต่ำ (16%) โดยส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในหมวดพลังงาน ซึ่งมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนตามราคาในตลาดโลก แต่ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลมีการออกมาตรการดูแลภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน ขณะที่ปัจจัยพื้นฐานอื่น อาทิ อาหาร และเครื่องนุ่งห่มที่คนไทยส่วนใหญ่ยังคงนิยมใช้สินค้าที่ผลิตขึ้นภายในประเทศเป็นหลัก จึงส่งผลให้การอ่อนค่าของเงินบาทกระทบต่อเงินเฟ้อโดยรวมของไทยได้อย่างจำกัด

 

5.  ค่าเงินบาทเป็นตัวชี้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก => ดัชนีเงินบาทสำคัญกว่าค่าเงินบาท และการส่งออกขึ้นกับเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ามากกว่าค่าเงินบาท
 

  • ค่าเงินบาทที่คนส่วนใหญ่พูดถึงคือ อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบระหว่าง 2 สกุลเงิน (bilateral exchange rate) อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีการค้าขายและแข่งขันกับหลายประเทศ ดังนั้น ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของไทยควรพิจารณาจากดัชนีค่าเงินบาท (NEER) และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบค่าเงินบาทกับค่าเงินของประเทศคู่ค้าและคู่แข่งมากกว่า โดยดัชนีค่าเงินบาทอาจเคลื่อนไหวแตกต่างจากเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ เช่นปี 2565 ที่ค่าเงินบาทอ่อนค่า 3.6% แต่ดัชนีค่าเงินบาทปรับแข็งค่า 2.9% ซึ่งหมายความว่าแม้ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่แข็งกว่าสกุลเงินคู่ค้าและคู่แข่ง ซึ่งทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของไทยลดลงเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง
  • การศึกษาข้อมูลระดับมหภาคพบว่า มูลค่าการส่งออกส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อของประเทศคู่ค้ามากกว่า ส่งผลให้ยอดมูลค่าการส่งออกอาจเคลื่อนไหวไม่สอดคล้องกับค่าเงินบาทได้ อาทิ ปี  2553-2554 ที่แม้เงินบาทมีทิศทางแข็งค่า แต่การส่งออกยังขยายตัวได้ ตรงข้ามกับปี 2557-2559 ที่เงินบาทปรับอ่อนค่า แต่การส่งออกกลับหดตัวลง ซึ่งล้วนแต่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของกำลังซื้อจากต่างประเทศ

 

เงินทุนเคลื่อนย้าย


 

6.  ส่วนต่างดอกเบี้ยติดลบจะทำให้มีเงินทุนไหลออก => ส่วนต่างดอกเบี้ยมีส่วนทำให้เงินทุนไหลออก แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้เงินทุนเคลื่อนย้าย
 

  • แม้ส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างประเทศจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุน แต่นักลงทุนยังพิจารณาประกอบกับปัจจัยอื่นด้วย อาทิ การคาดการณ์ส่วนต่างดอกเบี้ย แนวโน้มของราคาสินทรัพย์และความเสี่ยงของประเทศที่ลงทุน

 

  • ในปี 2565 อินเดียและอินโดนีเซียเป็นประเทศที่ยังมีดอกเบี้ยนโยบายสูงกว่าสหรัฐฯ (ส่วนต่างดอกเบี้ยเป็นบวก) แต่กลับมีเงินทุนไหลออกสุทธิ ขณะที่ไทยและเกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีดอกเบี้ยนโยบายต่ำกว่าสหรัฐฯ (ส่วนต่างดอกเบี้ยติดลบ) แต่ยังมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ ซึ่งสะท้อนว่า นักลงทุนต่างชาติพิจารณาปัจจัยอื่นร่วมด้วย

 

ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย


7.  แบงก์ชาติควรกำหนดอัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) ของธนาคารพาณิชย์ไหม =>ไม่ควรเนื่องจากหากกำหนด NIM จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการ ความเป็นอิสระและแรงจูงใจในการแข่งขันของธนาคาร รวมถึงความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อของลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่มี credit cost สูง

 

          NIM (Net Interest Margin) เป็นเพียงเครื่องชี้หนึ่งในการวัดผลกำไรเบื้องต้นจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเท่านั้น ซึ่งไม่ได้ครอบคลุมรายได้และค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อ โดยเฉพาะค่าความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ (credit cost) และค่าใช้จ่ายดำเนินงานอื่นซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายพนักงานและเครือข่ายสาขา เพราะธนาคารแต่ละแห่งมีลักษณะธุรกิจ กลยุทธ์การดำเนินกิจการ และกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน

BOX 4

  • 7 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการดำเนินงานของ ธปท.