Regulatory Impact Assessment (RIA):

การใช้หลัก "คิดรอบ ตอบได้"

ในการกำกับดูแล

ผู้ให้บริการทางการเงินในโลกใหม่

BOX5

ดาวน์โหลดเอกสาร

 

1. สถานการณ์

          ระบบเศรษฐกิจการเงินกำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่โลกดิจิทัล เทคโนโลยีจึงเป็นปัจจัยเร่งให้ผู้ให้บริการทางการเงินต้องปรับตัวในการดำเนินธุรกิจเพื่อเข้าถึงประชาชนในวงกว้างและรวดเร็วมากขึ้น ธปท. ในฐานะผู้ออกหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินและผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (non-bank) จึงได้ทบทวนหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเป็นระยะ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนานวัตกรรมและส่งเสริมการปรับตัวของธุรกิจ

 

          "Regulatory Impact Assessment" (RIA)' เป็นเครื่องมือสำคัญที่ ธปท. นำมาใช้ในการประเมินและทบทวนหลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยใช้หลักการ "คิดรอบ ตอบได้" (ขั้นตอนการดำเนินการตามแผนภาพ) มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้การกำกับดูแลเหมาะสมกับภูมิทัศน์ของภาคการเงิน (financial landscape) ในระยะถัดไป ซึ่งหัวใจสำคัญของการปรับหลักเกณฑ์การกำกับดูแลคือ เพื่อลด ละ เลิก หลักเกณฑ์ที่เป็นภาระแก่ภาคธุรกิจและประชาชนมากเกินจำเป็น และเพิ่มประสิทธิภาพการประกอบธุรกิจของสถาบันการเงินและ non-bank ในการให้บริการแก่ประชาชนและผู้ประกอบการ

 

          การใช้ RIA จะช่วยให้ผู้ออกนโยบายกำกับดูแล รับฟัง และแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ตัดสินใจโดยคำนึงถึงผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบของแต่ละทางเลือก เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้ อย่างรอบคอบและรอบด้านมากขึ้น

2. จาก"กฎเกณฑ์" สู่  "หลักการ" : การกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินภายใต้โลกใหม่

 

          ที่ผ่านมา ธปท. ได้จัดทำแบบสอบถามและประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคจากการบังคับใช้หลักเกณฑ์ ผลกระทบที่เกิดขึ้น และข้อเสนอแนะหรือแนวทางการปรับปรุงหลักเกณฑ์และกระบวนการทำงานจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายใน ธปท. และภายนอก อาทิ สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ สมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ และตัวแทนผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อย เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์ทางเลือกและกำหนดแนวทางปรับปรุงหลักเกณฑ์และกระบวนการทำงานให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้

 

          จากการรับฟังความคิดเห็น ธปท. พบว่าประเด็นปัญหาอุปสรรคสำคัญของหลักเกณฑ์เป็นเรื่องการจำกัดขอบเขตธุรกิจและรูปแบบการลงทุนของธนาคารพาณิชย์ที่ ธปท. ยังเน้นให้ทธุรกิจในภาคการเงินเป็นหลัก โดยการกำกับดูแลแบบใช้ "กฎเกณฑ์เป็นที่ตั้ง" (rule-based) ที่อาจเข้มงวดเกินไปในบางเรื่องจนทำให้การให้บริการไม่ยืดหยุ่นพอที่จะรองรับการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำกับดูแลทุกประเภทธุรกิจในรูปแบบเดียวกัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับพื้นฐานต้นทุนการดำเนินงาน และความเสี่ยงของธุรกิจที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ หลักเกณฑ์ที่ซ้ำซ้อนกับผู้กำกับดูแล/กฎหมายอื่น เช่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ยังเป็นภาระให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องปฏิบัติตามอีกด้วย

 

          ดังนั้น ธปท. จึงมุ่งเน้นที่จะผลักดันหลักเกณฑ์การกำกับดูแลโดยใช้ "หลักการเป็นที่ตั้ง (principle-based)" มากขึ้น เพื่อให้การบังคับใช้มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ควบคู่กับการใช้ "หลักกำกับดูแลตามระดับความเสี่ยง (risk-proportionated)" เพื่อให้เหมาะสมกับความเสี่ยงของธุรกิจแต่ละประเภทมากขึ้น นอกจากนี้ ยังคำนึงถึงการแข่งขันที่เท่าเทียมและสมดุลของธุรกิจแต่ละประเภท (level of playing field) เพื่อให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ภายใต้การกำกับดูแลที่ต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสมและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินให้ได้รับความเป็นธรรมด้วย

 

          การกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินในโลกใหม่เป็นเรื่องที่มีความท้าทายอย่างยิ่ง และจำเป็นต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายอย่างใกล้ชิด เพื่อหาสมดุลของเป้าหมายด้านต่าง ๆ ในปี 2566 ธปท. จึงมีแผนที่จะรับฟังความคิดเห็นจากภาคธุรกิจและผู้แทนประชาชนเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยให้การตัดสินใจในแต่ละประเด็นเป็นไปอย่าง "คิดรอบ ตอบได้" และบรรลุเป้าหมายร่วมกัน

 

3.  ธปท. อยากเห็นอะไร

 

          ธปท. คาดหวังว่าการทบทวนและปรับปรุงหลักเกณฑ์ตามโครงการ RIA นี้จะทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจเข้าถึงบริการทางการเงินที่หลากหลาย ด้วยต้นทุนทางการเงินที่เหมาะสมสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในทำธุรกิจ ลดต้นทุนจากการกำกับดูแลที่เข้มงวดเกินจำเป็น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสถาบันการเงินและ non-bank ทำให้ภาคธุรกิจสามารถจัดสรรทรัพยากรและพัฒนาต่อยอดธุรกิจเพื่อรองรับโลกทางการเงินในอนาคตได้ โดยยังรักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินได้อย่างเหมาะสม