ธปท. กับการช่วยเหลือประชาชนเพื่อรับมือกับ

ภัยทางการเงินอย่างครบวงจร

ดาวน์โหลดเอกสาร

 

ปัจจุบันประชาชนได้รับผลกระทบจากภัยทางการเงินเป็นวงกว้าง เช่น ข้อความสั้น (SMS) แอบอ้างเป็นธนาคารหรือหน่วยงานรัฐลวงให้ทำธุรกรรม แก๊งคอลเซนเตอร์โทรมาหลอกโอนเงิน ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น สมาคมธนาคารไทย บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์ สํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปรามปรามการฟอกเงินแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม บูรณาการความร่วมมือในการรับมือภัยทางการเงินต่าง ๆ ตั้งแต่การป้องกัน ตรวจจับ ตอบสนอง และเตือนภัยแก่ประชาชน รวมถึงให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเสียหายโดย ธปท. ได้ดำเนินการในเรื่องสำคัญต่อเนื่องดังต่อไปนี้

 

1)  การป้องกันและตรวจจับ

  • เผยแพร่รายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อที่ได้รับใบอนุญาตจาก ธปท. พร้อมทั้งรายละเอียดช่องทางการให้บริการและช่องทางการติดต่อเป็นรายสถาบันผ่านเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบและเข้าถึงผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อที่น่าเชื่อถือ และป้องกันการถูกหลอกลวงแอบอ้างเป็นผู้ประกอบธุรกิจในการกู้เงินหรือลงทุน
  • แก้ปัญหาการหลอกลวงผ่านเครือข่ายโทรศัพท์ ช่องทาง SMS และคอลเซนเตอร์อย่างเป็นระบบ ได้แก่ การลงทะเบียนชื่อผู้ส่ง SMS ในภาคธนาคาร การแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซนเตอร์จากต่างประเทศ และการสื่อสารให้ความรู้แก่ประชาชน โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง ธปท. สำนักงาน กสทช. และบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์
  • ยกระดับการบริหารจัดการภัยทุจริตของผู้ให้บริการทางการเงินทั้งสถาบันการเงินและที่มิใช่สถาบันการเงิน โดยออกแนวนโยบายการบริหารจัดการภัยทุจริตจากการทำธุรกรรมทางการเงิน ครอบคลุมตั้งแต่การป้องกันและรับมือภัยทุจริตที่เป็นความเสี่ยงสำคัญขององค์กร ธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการภัยทุจริต การดูแลคุ้มครองผู้ใช้บริการ และการสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเชิงรุก

 

2)  การตอบสนองเมื่อเกิดเหตุ

  • มีศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินผ่านสายด่วน 1213 เพื่อให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียนด้านบริการทางการเงินแก่ประชาชน
  • สนับสนุนและผลักดันให้มีการพัฒนาช่องทางการรับแจ้งความออนไลน์ โดย ธปท. ผลักดันความร่วมมือระหว่างกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและธนาคารไทย 21 แห่ง เพื่อให้เกิดช่องทางการรับแจ้งความออนไลน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และการประสานงานที่รวดเร็วระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติและภาคธนาคาร

 

3)  ความร่วมมือ

          ธปท. บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานและภาคธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ หน่วยงานในภาคการเงิน ภาคโทรคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัล สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และอื่น ๆ เพื่อผลักดันให้เกิดมาตรการรับมือในเชิงนโยบาย การแก้ไขกฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องในด้านการหลอกลวงและภัยทางการเงิน

 

4)  บทบาทด้านการสื่อสารเตือนภัย

          ธปท. ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ผ่านช่องทางของ ธปท. และช่องทางของหน่วยงานพันธมิตร เพื่อป้องกันและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวง เช่น วิธีการใช้บริการทางการเงินที่ปลอดภัย รวมถึงแนวทางการแก้ปัญหากรณีตกเป็นเหยื่อ