เพราะประเทศไทยไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ :
ความเป็นอยู่ของคนทั่วไทย ไม่มีใครสำคัญน้อยกว่ากัน

annual report box3

ทำไมประเทศไทยไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ?

 

แม้การเติบโตทางเศรษฐกิจจะมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเทพฯ ภาคกลาง และภาคตะวันออก สูงถึง 3 ใน 4 ของประเทศ ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคเหนือ อีสานและใต้มีเพียง 1 ใน 4 ของประเทศ แต่รู้หรือไม่ว่า "คน" 2 ใน 3 ของประเทศอยู่ที่ภาคเหนือ อีสาน และใต้ นอกจากนี้ ทั้ง 3 ภาคยังมีความสำคัญมากในบางมิติ เช่น กว่า 80% ของแรงงานเกษตรทั้งประเทศอยู่ที่ 3 ภูมิภาค และภาคใต้เพียงแห่งเดียวรับรายได้และนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนสูงถึงประมาณ 1 ใน 3 ของประเทศ จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายหน่วยงาน รวมถึง ธปท. ต้องมีสาขาอยู่ที่ภูมิภาคด้วย โดยสำนักงานภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา เป็นแห่งแรกที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2507 รวมอายุ 60 ปี ถ้าเป็นคนก็เกษียณพอดี แต่แบงก์ชาติเกษียณไม่ได้ กลับต้องเปลี่ยนแปลงการทำงานให้เร็วขึ้น เผชิญความท้าทายมากขึ้น และพบปะผู้คนให้หลากหลายขึ้นเหมือนคนที่ยังหนุ่มสาว

 

ในปีที่ผ่านมา ทั้ง 3 สำนักงานภาคได้ปรับการทำงานเป็นด่านหน้าลงพื้นที่รับฟัง พูดคุยกับผู้คนในท้องถิ่นหลัก ๆ ใน 3 ระดับ

1. ระดับประชาชน

 

ยอมรับว่าที่ผ่านมายังมีช่องว่างอยู่มาก โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ห่างไกลยังไม่ค่อยรู้จัก ธปท. ในปีที่ผ่านมา สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือจึงร่วมกับธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ลงพื้นที่กองทุนหมู่บ้านในจังหวัดหนองบัวลำภู ครบทั้ง 717 หมู่บ้าน เพื่อให้ความรู้ทางการเงินและการแก้หนี้รวมถึงเดือนภัยทางการเงินให้แก่ชาวบ้านด้วย ขณะที่สำนักงานภาคเหนือได้ให้ความรู้กับประธานเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง 17 จังหวัด และเจ้าหน้าที่คลังจังหวัดใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ซึ่งเป็นผู้ที่ใกล้ชิดและสามารถให้คำแนะนำประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี และจะขยายผลไปภาคเหนือตอนล่างในปี 2567ทางด้านสำนักงานภาคใต้ก็มีการให้ความรู้ทางการเงินผ่านคลังจังหวัดครอบคลุมทั้ง 14 จังหวัดด้วยเช่นกัน

field trip Songkla

ธปท. ลงพื้นที่ให้ความรู้ทางการเงินในโครงการจัดการเงินดีเพื่อชุมชนที่ จ.สงขลา

ด้านภัยทางการเงิน ชาวบ้านมักตกเป็นเหยื่อผ่านการคลิกลิงก์ปลอมที่หลอกว่าส่งมาจากหน่วยงานรัฐหรือสถาบันการเงินแล้วโดนดูดเงินออกจากบัญชี เพราะชาวบ้านค่อนข้างกลัวหน่วยงานภาครัฐ พอเป็นแบบนี้จึงต้องยิ่งสื่อสารเรื่องภัยการเงิน โดยให้ความสำคัญกับการสื่อสารที่เข้าถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ได้แก่ (1) ใช้ภาษาถิ่น อู้คำเมืองแหลงใต้ (2) ใช้ influencer ที่เข้าถึงชาวบ้าน เช่น ภาคใต้มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่เยอะก็ใช้ influencer ที่เป็นคนมุสลิมด้วยกัน ทางภาคเหนือสื่อสารผ่านพระสงฆ์ ซึ่งเป็นที่นับถือและเข้าถึงชาวบ้าน เช่น พระอาจารย์พบโชค วัดห้วยปลากั้ง ตุ๊ลุงสมศักดิ์ พระนักเทศน์ รวมทั้งถวาย "คัมภีร์ใบลาน" ให้กับพระสงฆ์ตามวัดต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลเตือนภัยประชาชน (3) ช่องทางที่เข้าถึงคนในพื้นที่ เช่น วิทยุหมู่บ้านอาสาสมัครประชาสัมพันธ์ประจำหมู่บ้านและชุมชน (อป. มช.) และ TikTok ซึ่งกำลังได้รับความนิยม

monk

ธปท. ถวายข้อมูลและสื่อประชาสัมพันธ์เรื่องภัยทางการเงินแด่พระนักเทศน์วัดห้วยปลากั้ง จ.เชียงราย

field trip Nongbualumpoo

ธปท. ลงพื้นที่กองทุนหมู่บ้านใน จ.หนองบัวลำภู เพื่อให้ความรู้เรื่องภัยของการเงิน

2. ระดับธุรกิจ

 

ธปท. ให้ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ต่อคนทำธุรกิจมาอย่างยาวนาน โดยในปี 2566 ที่ผ่านมาได้เพิ่มความเข้มข้นขึ้นอีก 2 เรื่อง ได้แก่ (1) การทำประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาค เพื่อให้ธุรกิจใช้ประกอบการวางแผนธุรกิจในปีถัดไป และพัฒนาดัชนีความเป็นอยู่ของคนในภูมิภาค (well-being Index) และ (2) การเป็นคนกลางสร้างเครือข่ายให้คนในพื้นที่ เช่น สำนักงานภาคใต้จัดเวิร์กช็อป ให้คนปลูกทุเรียนมาแลกเปลี่ยนความรู้ หลังจากเกษตรกรมาฟังแล้วก็ชวนกันไปดูงานต่อที่สวนทุเรียนในภาคตะวันออก เพราะอยากไปเรียนรู้เพิ่มเติม ขณะเดียวกันก็มีนักวิชาการที่ทำวิจัยเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีโดรนเพื่อวิเคราะห์โรคพืช แล้วยังไม่รู้ว่าจะเผยแพร่ในวงกว้างได้อย่างไร แต่หลังจากที่ได้มาร่วมงานดังกล่าว ก็มีโอกาสลงพื้นที่ไปแลกเปลี่ยนความรู้กับชาวสวนตัวจริง

3. ระดับองค์กร

 

เป็นอีกเรื่องที่ ธปท. ทำมาอย่างต่อเนื่อง โดย stakeholders ในพื้นที่ให้การยอมรับว่า ธปท. มีความเป็นกลาง จึงขอฟังความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ เช่น แนวทางการพัฒนาเชิงพื้นที่ในด้านธุรกิจ แม้สำนักงานภาคทั้ง 3 แห่งของ ธปท. ไม่สามารถรู้และเข้าใจได้เท่ากับภาคธุรกิจ แต่ใช้จุดแข็ง คือเห็นข้อมูลทางเศรษฐกิจและวิเคราะห์ลงรายละเอียดในแต่ละภาคเศรษฐกิจได้ ด้วยเหตุนี้ สำนักงานภาคจึงต้องทำการศึกษาเชิงพื้นที่อยู่ตลอด เช่น ภาคเหนือ ศึกษา "โอกาสทางเศรษฐกิจภาคเหนือจากการเข้ามาของ digital nomad" เพราะเชียงใหม่ติดอันดับ 3 ของโลกในการเป็นเมืองที่เหมาะกับการทำงานแบบไร้ออฟฟิศ และอันดับที่ 16 ของโลกของเมืองที่ digital nomad ให้ความสนใจ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ธปท. ลงพื้นที่รับฟังคนท้องถิ่นเพื่อนำความคิดเห็นอันมีค่ามาปรับใช้ในการทำงานและสำนักงานภาคจะยังดำเนินการโครงการต่าง ๆ ต่อไปเพื่อให้เข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมากยิ่งขึ้น และนำกลับมาพัฒนาหรือปรับนโยบายของ ธปท. เพื่อดูแลความเป็นอยู่ของคนในทุกภูมิภาค


Tag ที่เกี่ยวข้อง

รายงานประจำปี ภาวะเศรษฐกิจ เศรษฐกิจภูมิภาค