BOX 4 ความร่วมมือด้านการชำระเงินระหว่างประเทศ
ธปท. เห็นความสำคัญในการพัฒนาต่อยอดจากความสำเร็จของระบบการชำระเงินภายในประเทศ โดยได้ร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศภายใต้แผน ASEAN Payment Connectivity ผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินกับประเทศต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้บริการโดยเฉพาะรายย่อยให้มีทางเลือกที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และมีต้นทุนต่ำลง อีกทั้งช่วยสนับสนุนการค้าชายแดน การท่องเที่ยว และการโอนเงินของแรงงาน สอดคล้องกับเป้าหมายของไทยที่มุ่งพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
นับตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน ไทยได้เชื่อมโยงระบบการชำระเงินข้ามพรมแดนด้วย Cross-border QR payment แล้วกับ 7 ประเทศหรือเขตเศรษฐกิจทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินกับต่างประเทศมากที่สุดในโลก โดยได้เชื่อมระบบกับญี่ปุ่น กัมพูชา สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนามและล่าสุดคือฮ่องกง เพิ่มทางเลือกที่สะดวก รวดเร็วและปลอดภัยในการซื้อสินค้าและบริการ โดยที่ประชาชนไม่ต้องแลกเงินและพกพาเงินตราต่างประเทศจำนวนมาก รวมทั้งในด้านประสบการณ์ผู้ใช้งานสามารถทำรายการชำระเงินภายใต้แนวคิด "pay like a local" โดยใช้แอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือสแกน QR มาตรฐานของไทย และ QR มาตรฐานของประเทศหรือเขตเศรษฐกิจที่ร้านค้าแสดงไว้ ในขณะที่ร้านค้าจะได้รับเงินค่าสินค้าในทันทีซึ่งจะส่งผลสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจร่วมกันทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ ยังมีการเชื่อมโยงบริการโอนเงินแบบทันที หรือ Cross-border real-time remittance ระหว่างไทยกับสิงคโปร์ในชื่อโครงการ PromptPay-PayNow ซึ่งเป็นการโอนเงินระหว่างประเทศผ่านระบบ Fast Payment System เป็นคู่แรกของโลกอีกด้วย
สรุปการเชื่อมโยงบริการชำระเงินและโอนเงินข้ามพรมแดนด้วย QR ของไทย
ในภาพรวม การใช้บริการชำระเงินระหว่างประเทศยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ใช้งาน โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา PromptPay-PayNow มีจำนวนธุรกรรม 756,000 รายการ เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากปีก่อนหน้าและมีมูลค่าธุรกรรมรวม 4,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1 เท่าจากปีก่อนหน้า ในขณะเดียวกันบริการ Cross-border QR Payment มีจำนวนธุรกรรมรวม 720,000 รายการ ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 13 เท่าจากปีก่อนหน้า และมีมูลค่าธุรกรรมรวม 600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6 เท่าจากปีก่อนหน้า สืบเนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การเข้าร่วมเพิ่มเติมของผู้ให้บริการชำระเงิน ความร่วมมือประชาสัมพันธ์บริการอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ธปท. ยังคงดำเนินงานต่อเนื่องในการผลักดันการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ โดยอยู่ระหว่างเชื่อมโยงเพิ่มเติมกับลาว อินเดีย เกาหลีใต้ และสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงได้ร่วมกับธนาคารเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements: BIS) และธนาคารกลางของประเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ในโครงการ Nexus พัฒนาความเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในรูปแบบพหุภาคี เพื่อให้สามารถขยายความเชื่อมโยงการชำระเงินไปสู่ประเทศหรือเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดย ธปท. เชื่อว่าการขยายการเชื่อมโยงการชำระเงินข้ามพรมแดนเพิ่มเติม และการเชื่อมโยงการชำระเงินในรูปแบบใหม่ ๆ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันพฤติกรรมของประชาชนมุ่งสู่สังคมดิจิทัลต่อไปในอนาคต
การเปิดให้บริการชำระเงินข้ามพรมแดนด้วย QR ระหว่างไทยกับฮ่องกง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566