ความก้าวหน้าโครงการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC)

annual report box5

โครงการ mBridge

 

เป็นโครงการเชื่อมต่อ CBDC ของไทยสู่นานาชาติ ที่ขยายขอบเขตการศึกษาจากโครงการ "Inthanon-LionRock" โดย mBridge มุ่งเน้นทดสอบการนำ CBDC ที่ออกโดยธนาคารกลาง มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพของการโอนเงินระหว่างประเทศของธนาคารพาณิชย์ (wholesale) ใน 4 สกุลเงินหลักได้แก่ เงินบาท เงินหยวน เงินดอลลาร์ฮ่องกง และเงินดีแรห์มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือกับธนาคารกลางฮ่องกง (HKMA) สถาบันศึกษาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (PBC DCI) ธนาคารกลางสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (CBUAE) ภายใต้การสนับสนุนจากศูนย์พัฒนานวัตกรรมของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS Innovation Hub : BISIH) ณ ฮ่องกง โดยปัจจุบันมีธนาคารกลางและองค์กรระหว่างประเทศมากกว่า 25 แห่ง เข้าร่วมเป็น observing members อาทิ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank Group)

 

จากการทดสอบของโครงการ mBridge ในปี 2565 พบว่า CBDC สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการโอนเงินระหว่างประเทศได้เมื่อเทียบกับระบบในปัจจุบันโดยช่วยลดระยะเวลาโอนเงินระหว่างประเทศเฉลี่ย 3-5 วันเหลือเพียงหลักวินาที ช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรมการโอนเงินได้มากถึง 40% ลดความเสี่ยงด้านการชำระดุล (settlement risk) และเอื้อให้เกิดการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการชำระเงินระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น

 

ในปี 2566 คณะทำงานพัฒนาระบบ mBridge ให้สามารถรองรับการทำธุรกรรมโอนเงินระหว่างประเทศได้จริงในรูปแบบ Minimum Viable Product (MVP) โดยครอบคลุม (1) ด้านธุรกิจ มีการพัฒนาคุณสมบัติด้านการบริหารจัดการเงิน การติดตามธุรกรรม และการทำงาน อัตโนมัติในการส่งคำสั่ง (2) ด้านเทคโนโลยี มีการติดตั้งระบบแบบกระจายศูนย์ (decentralized) ปรับระบบให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เช่น ISO 20022 และพัฒนาระบบให้สามารถรองรับธุรกรรมได้มากขึ้น (scalability) และ (3) ด้านกฎหมาย มีการกำหนดกรอบการดำเนินการกฎระเบียบ และเอกสารที่จำเป็นสำหรับการโอนเงินระหว่างประเทศบนระบบ mBridge

 

ในระยะต่อไป ธปท. จะทดสอบระบบ mBridge ในรูปแบบการใช้งานจริงภายใต้ขอบเขตจำกัด (Pre-MVP) และขยายขอบเขตประเทศและสกุลเงินที่จะทดสอบบนระบบ mBridge ต่อไป เพื่อให้มั่นใจว่าระบบ mBridge สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานได้จริง และครอบคลุมประเทศและสกุลเงินมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์และภาคธุรกิจมีช่องทางเลือกในการโอนเงินระหว่างประเทศ ที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมต่อไป

CBDC meeting
CBDC meeting

การประชุมระหว่าง ธปท. และสถาบันศึกษาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (PBC) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566

โครงการทดสอบ Retail CBDC

 

เป็นโครงการทดสอบการใช้งาน retail CBDC เพื่อศึกษาประโยชน์ ข้อจำกัดและโอกาสของ CBDC ในการเป็นทางเลือกของโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินรายย่อย ที่ผู้ให้บริการทางการเงินที่หลากหลายสามารถเข้าถึงได้ซึ่งช่วยเปิดโอกาสการแข่งขันทางธุรกิจ ส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการชำระเงินในอนาคต

 

ขอบเขตการศึกษาและทดสอบของโครงการครอบคลุมกระบวนการออก CBDC แบบ end-to-end ทั้งกระบวนการ และการนำ CBDC มาใช้ชำระค่าสินค้าและบริการในวงจำกัดกับกลุ่มผู้ใช้งานไม่เกิน 10,000 ราย ซึ่งกำหนดร่วมกันโดย ธปท. กับผู้ให้บริการ 3 ราย ได้แก่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด ระหว่างช่วงปลายปี 2565 ถึงเดือนตุลาคม 2566 นอกจากนี้ การทดสอบยังมีการนำกรณีใช้งานจริง (use cases) จากภาคเอกชนที่นำเสนอในงาน CBDC Hackathon มาเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดเงื่อนไขในการชำระเงิน (programmable payment) ร่วมกับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของภาคธุรกิจเพื่อพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานในอนาคตด้วย

 

ทั้งนี้ ธปท. อยู่ระหว่างประเมินผลลัพธ์และความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ จากการทดสอบ รวมถึงศึกษา use cases เพิ่มเติม เพื่อนำมาต่อยอดสำหรับการพัฒนาระบบชำระเงินของไทยในอนาคตต่อไป โดย ธปท. ยังไม่มีแผนการออกใช้งาน retail CBDC ในวงกว้างแต่อย่างใด


Tag ที่เกี่ยวข้อง

รายงานประจำปี สกุลเงินดิจิทัล CBDC FinTech