รายงานการประเมินเสถียรภาพระบบการเงิน ประจำไตรมาส 2/2566

ภาพรวมระบบการเงิน

    ​ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้รายได้และฐานะการเงินโดยรวมของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจมีแนวโน้มปรับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้ายังมีความเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ (1) ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนและธุรกิจ โดยเฉพาะครัวเรือนบางส่วนที่ยังเปราะบางจากรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และ SMEs ที่อาจได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ชะลอลงตามเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจส่งผลให้คุณภาพสินเชื่อบางกลุ่มมีแนวโน้มด้อยลงบ้างแต่สถาบันการเงิน (สง.) ยังคงสามารถบริหารจัดการหรือดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ได้และจะไม่นำไปสู่หนี้เสียที่เพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด (NPL cliff) และ (2) ความสามารถในการระดมทุนของภาคธุรกิจผ่านตลาดตราสารหนี้จากความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ระดมทุนบางรายที่อาจสูงขึ้น โดยที่ผ่านมา ตลาดตราสารหนี้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการผิดนัดชำระหนี้ที่มีมูลค่าสูงกว่าปีก่อนและการเพิ่มขึ้นของจำนวนบริษัทที่ถูกปรับลด credit rating and outlook จึงต้องติดตามความสามารถในการระดมทุนของภาคธุรกิจผ่านตลาดตราสารหนี้ในระยะต่อไป

รายงานประจำไตรมาส 2 ปี 2566

2. ภาคธุรกิจ

- ธุรกิจขนาดใหญ่มีความสามารถในการชำระหนี้และทำกำไรปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากการส่งออกที่กลับมาฟื้นตัวในไตรมาสที่ 1 ตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะภาคการผลิต เช่น กลุ่มเหล็ก ปิโตรเคมี ที่อาจได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ปรับลดลง รวมถึงความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และภาคก่อสร้างที่ต้องติดตามนโยบายของภาครัฐ

- SMEs ฐานะการเงินยังเปราะบางจากผลกระทบที่ได้รับช่วง COVID-19 และอาจเผชิญความเสี่ยงจากเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะภาคการผลิต เช่น กลุ่มปิโตรเคมี เหล็ก ขนส่งสินค้า ที่อาจได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ปรับลดลง และยังต้องติดตามความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรม รวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์